“ก็ลองใช้คอมมอนเซนส์ทำงานนี้ดูสิ”
“ทำไมเด็กสมัยนี้ไม่มีคอมมอนเซนต์เลยนะ”
เคยเจอไหมสถานการณ์ที่เราก็ทำสิ่งที่เราคุ้นเคยเป็นปกติ แต่พออยู่ในสังคมใหม่ สิ่งที่เราเชื่อหรือคุ้นเคยกลับไม่เป็นที่ยอมรับ ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าที่บอกให้เราใช้คอมมอนเซนส์ในการทำงาน หรือแม่ที่ตำหนิเรื่องการพาเพื่อนขึ้นห้องนอน สารพัดปัญหาที่ถูกตั้งกระทู้ถามบนอินเทอร์เน็ต หลายครั้งที่คอมมอนเซนส์ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นจำเลยอยู่บ่อยครั้ง จนอดสงสัยไม่ได้ว่าเจ้าคอมมอนเซนส์มีหน้าตาเป็นแบบไหนนะ แล้วใครเป็นคนกำหนด?
คอมมอนเซนส์ (Common Sense) หรือสามัญสำนึก เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราสามารถปรับตัวอยู่ร่วมกับคนรอบข้างได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะเข้าใจคอมมอนเซนส์ไปทางเดียวกันเสมอไป มีงานวิจัยยืนยันว่าคอมมอนเซนส์ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นกับทุกคน และการเชื่อคอมมอนเซนส์มากเกินไปก็อาจส่งผลกระทบได้มากกว่าที่คิด แล้วนอกจากช่วยให้เราใช้ชีวิตในสังคม ยังมีอะไรที่แฝงมากับการใช้คอมมอนเซนส์ในการตัดสินใจอีกบ้าง วันนี้ The MATTER เลยชวนทุกคนไปรู้จักอีกด้านหนึ่งของคอมมอนเซนส์มากขึ้นกัน
คอมมอนเซนส์คืออะไร?
นิยามของคอมมอนเซนส์ถูกปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เรารู้จักสิ่งนี้ได้ยังไงคงต้องย้อนกลับไปราวสองพันปีก่อน คำนี้ถูก อริสโตเติล นักปรัชญาชาวกรีก อธิบายว่า สามัญสำนึกเป็นความสามารถที่มีอยู่ในสัตว์ (รวมมนุษย์ด้วย) ในการใช้ประสาทสัมผัสประมวลความรู้สึก ความทรงจำ และจินตนาการ เพื่อให้สามารถคิดและตัดสินใจขั้นพื้นฐานได้
ต่อมาเมื่อสังคมขยายตัว สามัญสำนึกถูกตีความให้ลึกขึ้น และครอบคลุมถึงความเฉลียวใจที่คนทั่วไปควรจะต้องรู้และตัดสินใจถูกต้องสอดคล้องกับสถานการณ์ โดยไม่จำเป็นต้องได้รับคำชี้แนะสั่งสอน และคนทั่วไปใช้ปฏิบัติร่วมกันเพื่อความดีงามของส่วนรวม
พูดง่ายๆ ก็คือเริ่มแรกคอมมอนเซนส์ถูกมองว่าเป็นเรื่องของการตัดสินใจแต่ละคนเท่านั้น แต่ปัจจุบันเริ่มมีสังคมเข้ามาเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจนั้นด้วย
สอดคล้องกับงานวิจัยของ มาร์ก ไวติง (Mark Whiting) และ ดันแคน วัตส์ (Duncan Watts) ศาสตราจารย์ด้านวิศกรรม จากมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ได้เสนอวิธีการวัดระดับคอมมอนเซนส์ทั้งระดับบุคคลและกลุ่มไว้ว่า เป็นชุดความเชื่อที่สังคมตกลงร่วมกันว่าเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผล
นอกจากนี้งานวิจัยทางจิตวิทยาก็ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า การใช้คอมมอนเซนส์นั้นเป็นการผสมผสานระหว่างการใช้สัญชาตญาณและการคิดอย่างมีเหตุผล ตามทฤษฏีทางจิตวิทยาที่ว่าด้วยการตัดสินใจและการใช้เหตุผล (Cognitive Continuum Theory)
เรียกได้ว่าการมีอยู่ของคอมมอนเซนส์เป็นสิ่งที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิด และจำเป็นต่อการใช้ชีวิตในสังคม เพราะเป็นการคิดที่ยืดหยุ่นได้ทั้งฝั่งเหตุผลและสัญชาตญาณ จึงไม่แปลกหากหลายครั้งเราจะใช้คอมมอนเซนส์ตัดสินใจ เพราะนั่นเป็นสิ่งคนในสังคมตกลงร่วมกัน
ทำไมคอมมอนเซนส์ของเราถึงต่างกัน?
อย่างที่บอกว่าคอมมอนเซนส์เกิดขึ้นจากการใช้เหตุผลและสัญชาตญานของแต่ละคน สิ่งที่ถือว่าเป็นสามัญสำนึกในกลุ่มหนึ่ง อาจเป็นสิ่งแปลกในอีกกลุ่มหนึ่ง เช่น บางครั้งในงานเลี้ยง เราอาจไม่ซื้อของมาฝากในงานหนึ่งเราอาจทำถูกเพราะเจ้าภาพก็เกรงใจไม่ต้องการให้ซื้อมาจริงๆ แต่บางงานเราอาจถูกโกรธเพราะไม่ยอมแสดงความมีน้ำใจ
แม้คนในสังคมจะเห็นพ้องต้องกัน แต่บางครั้งเมื่ออยู่ในสังคมใหม่ สิ่งที่เคยเป็นคอมมอนเซนส์ก็อาจจะเปลี่ยนไปก็ได้ ซึ่งความแตกต่างเหล่านี้บางครั้งอาจหล่อหลอมมาจากประสบการณ์ส่วนตัว วัฒนธรรม และภาษา ชาร์ลส์ อัลเดย์ (Charles Alday) นักจัดการทรัพยากรมนุษย์ระบุว่า เรามีการสร้างความรับรู้ต่างกัน และทำให้มีคอมมอนเซนส์ต่างกันไปด้วย จาก 3 ปัจจัย ได้แก่
- เรารับข้อมูลมาจากประสาทสัมผัส: เรารับรู้ความเป็นจริงในแบบของตัวเองผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 เมื่อแต่ละคนจากต่างที่มีประสบการณ์ต่างกันก็ทำให้ความเข้าใจต่างกันด้วย เช่น ความสุข แม้จะเป็นอารมณ์พื้นฐาน แต่ละคนก็อาจตีความได้ต่างกันไป รวมถึงวิธีการทำให้มีความสุขก็ต่างกันไปด้วย
- เราประมวลผลข้อมูลจากข้อมูลที่เราได้รับ: เมื่อเรารับรู้ข้อมูลบางอย่างแล้ว เราจะประมวลผลข้อมูล และจัดเรียงตามหมวดหมู่ ได้แก่ เรียงลำดับ จัดลำดับความสำคัญ และจัดเก็บ (หรือลืม) แต่ละคนมีความรู้ที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่ความสำคัญ ความสนใจ และประสบการณ์ของแต่ละคน
- เราพัฒนาการแก้ปัญหาและสร้างข้อสรุปด้วยตัวเอง: แต่ละคนจะสร้างกลยุทธ์แก้ปัญหาของตัวเอง เมื่อเราทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งสำเร็จเราก็มักทำสิ่งนั้นอยู่เรื่อยๆ หรือหากทำไม่สำเร็จก็จะเปลี่ยนวิธีใหม่ เช่น ทารกที่เรียนรู้ว่าเขาจะได้กินนมเมื่อร้องไห้ แต่หากการร้องไห้ไม่ได้ผลก็อาจเปลี่ยนวิธีอื่น เช่นเดียวกับคอมมอนเซนส์ หากเราไม่สามารถใช้วิธีเดิมแก้ปัญหา เราก็อาจจะต้องลองหาวิธีใหม่ๆ แทนโดยอิงจากประสบการณ์ในตัวเรา และปรับไปตามจังหวะตามสถานการณ์ที่เผชิญ
การวัดระดับคอมมอนเซนส์
แม้คอมมอนเซนส์ ถึงจะมีความหมายของคำว่าธรรมดาทั่วไปอยู่ แต่สาเหตุที่เราไม่ควรมองว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าใจเหมือนกัน นอกจากเพราะการที่แต่ละคนรับรู้ความจริงของโลกต่างกันแล้ว งานวิจัยจากมาร์กและดันแคนที่เรากล่าวไปตอนต้น ก็ช่วยยืนยันว่าคนส่วนใหญ่ไม่ได้มีคอมมอนเซนส์เหมือนที่เราเข้าใจด้วย
งานวิจัยนี้ให้ผู้เข้าร่วม 2,046 ระบุว่ามีอะไรบ้างที่เป็นสิ่งที่ผู้คนตกลงร่วมกัน และคิดว่าคนอื่นตระหนักถึงชุดความเชื่อนี้มากน้อยเพียงใด จากนั้นให้ผู้เข้าร่วมประเมินชุดความเชื่อที่รวบรวมมาจำนวน 4,407 ข้อว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ ซึ่งมีตั้งแต่คำกล่าวทางปรัชญา เช่น มนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน จนถึงสิ่งที่ปฏิบัติในชีวิตประจำวัน อย่าง เราไม่ควรสัมผัสหรืออยู่ใกล้ผู้ป่วย
สิ่งที่น่าสนใจจากงานวิจัยพบว่า ความสามารถในการเข้าใจความคิดของผู้อื่น มีความสัมพันธ์กับระดับคอมมอนเซนส์มากกว่า เรื่องอายุ เพศ หรือการศึกษา ส่วนหัวข้อที่คนเชื่อว่าเป็นคอมมอนเซนส์มากที่สุดคือเรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ขณะที่ประวัติศาสตร์และปรัชญากลายเป็นสิ่งที่คนมีคอมมอนเซนส์ร่วมกันน้อยที่สุด
นอกจากนี้ในคอมมอนเซนส์ระดับกลุ่มยังพบว่า ยิ่งกลุ่มใหญ่ขึ้น ความเชื่อร่วมกันยิ่งน้อยลง จากผู้เข้าร่วมอย่างน้อย 75% พบว่ามีเพียง 44% เท่านั้นที่มองว่าชุดความเชื่อที่ให้มาเป็นคอมมอนเซนส์ ยิ่งแสดงให้เห็นว่าสามัญสำนึกเป็นสิ่งถูกเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ง่าย
ผลของการพึ่งพาคอมมอนเซนส์
ไม่เพียงเท่านั้น ผลของจากงานวิจัยที่ว่ามายังสอดคล้องกับคำอธิบายของคริสโตเฟอร์ ดไวเออร์ (Christopher Dwyer) อาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแชนนอน ที่บอกว่าบางครั้งผู้คนที่เชื่อคอมมอนเซนส์มักมี “ความเห็นพ้องที่ผิดพลาด (false consensus)” หมายถึงอคติทางความคิดที่เราประเมินความเห็นพ้องต้องกันของผู้คนที่มีต่อมุมมองและทัศนคติของเราสูงเกินไป มุมมองของเราซึ่งมักเข้าใจว่าเป็นข้อเท็จจริง อาจเป็นมุมมองส่วนน้อยก็ได้
มีหลายครั้งที่เราตีความผิดจากความเห็นพ้องที่ผิดพลาด เช่น เรามักเชื่อว่าเหตุการณ์ที่เราเห็นบนอินเทอร์เน็ตเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วไปในสังคม แต่จากกรณี ice bucket challenge เมื่อปี 2014 จากผลสำรวจในสหรัฐอเมริกา พบว่ามีเพียงราว 3-4% ของสหรัฐเท่านั้นที่ทำชาเลนจ์นี้ หรือด้านการเมืองที่คนส่วนใหญ่มักเชื่อว่าพรรคการเมืองที่ตัวเองชื่นชอบอยู่ในกลุ่มใหญ่ รวมไปถึงการคาดเดาเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันว่าคนอื่นต้องมีความเชื่อเช่นเดียวกับเรา แต่ความจริงกลับตรงกันข้าม นั่นจึงทำให้เรายังคงต้องใช้เหตุผลประกอบอื่นๆ เพื่อช่วยตีความนอกเหนือจากคอมมอนเซนส์ไปด้วย
อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าเราไม่ควรเชื่อคอมมอนเซนส์ทั้งหมด เพราะบางครั้งคอมมอนเซนส์ที่มีร่วมกันของคนในกลุ่ม ก็ช่วยให้เราเรียนรู้และปรับตัวไปตามประสบการณ์ที่เราพบเจอ ทำความเข้าใจ และตัดสินใจสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้นเช่นกัน แต่ถึงแบบนั้น การคาดหวังว่าคนอื่นต้องเข้าใจเหมือนกันก็อาจเป็นการปิดประตูที่จะได้ทำความเข้าใจกันก็ได้ บางทีเราก็อาจต้องเหลือพื้นที่ให้สิ่งใหม่ และสื่อสารอย่างชัดเจนว่าเราต้องการอะไรก็เป็นวิธีที่ดีในการหลีกเลี่ยงความเข้าใจผิดที่เกิดขึ้นกับคนรอบตัวด้วยนะ
อ้างอิงจาก