ตอนที่ ‘Common Sense’ ของโธมัส เพน (Thomas Paine) ยังไม่ได้รับการแปลและจัดพิมพ์ในโลกภาษาไทย หนังสือเล่มนี้ก็เป็นเพียงหนึ่งในงานคลาสสิกของนักคิดจากศตวรรษที่ 18 ที่มีให้หาอ่านกันได้โดยทั่วไปในโลกออนไลน์และออฟไลน์ ทว่าก็เป็นข้อเขียนซึ่งคล้ายจะเป็นเรื่องไกลตัว ที่ว่าด้วยการเมืองการปกครองของประเทศอังกฤษ-อเมริกาในยุคอาณานิคม และออกจะเป็นงานเฉพาะทางมากๆ สำหรับผู้อ่านโดยทั่วไป กล่าวได้ว่า นอกจากกำแพงภาษาแล้ว ยังมีกำแพงแห่งกาลเวลา และบริบททางสังคมที่เราๆ ท่านๆ ต้องปีนข้าม เพื่อจะทำความเข้าใจ
จนเมื่อต้นปีที่ผ่านมานี้ (เดือนมกราคม ค.ศ.2020) Common Sense จึงได้รับการแปลและจัดพิมพ์ออกมาในชื่อว่า สามัญสำนึก (โดยมีภัควดี วีระภาสพงษ์ เป็นผู้แปล) ติดตามมาด้วยระลอกความเคลื่อนไหวทางเรียกร้องของนักเรียน-นักศึกษาที่ส่งผลให้ สามัญสำนึก ของเพนกลายเป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่ง ที่ทำให้เราตั้งคำถามและตามหา ‘สามัญสำนึก’ ของตัวเราเองต่อระบอบการเมืองในปัจจุบัน และเรื่องราวที่เหมือนจะเรื่องของ ‘คนอื่น’ และ ‘ที่อื่น’ ก็กลับกลายเป็นเรื่องใกล้ตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อวิจารณ์ต่อความเป็น ‘สถาบันกษัตริย์’ ที่ดูราวกับเป็น ‘เรื่องจริงวันนี้’ ของเราทุกคน
สามัญสำนึก ตีพิมพ์ครั้งแรกในเดือนมกราคม ค.ศ.1776 ในรูปแบบของจุลสาร หรือแผ่นปลิว (pamphlet) ที่เป็นหนึ่งในสื่อเดินทางเร็วในห้วงเวลาดังกล่าว ซึ่งภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน ข้อเขียนชิ้นนี้ก็มียอดจำหน่ายหรือจ่ายแจกมากถึง 1 แสนฉบับ สิ่งที่ประวัติศาสตร์ได้จารึกเอาไว้ก็คือ สามัญสำนึก กลายเป็นหนึ่งในผลงานที่ส่งผลกระทบทางความคิดต่อชาวอาณานิคม
จนนำไปสู่การต่อสู้การเรียกร้องเอกราช
จากกษัตริย์และรัฐบาลอังกฤษในเวลาต่อมา
สามัญสำนึก ถกเถียงในประเด็นสำคัญๆ เช่น การเกิดขึ้นของสิ่งที่เรียกว่า ‘รัฐบาล’ การปกครองของอังกฤษภายใต้สถาบันกษัตริย์ และอนาคต หรือความเป็นไปได้ทางการเมืองของอเมริกา เฉพาะสองประเด็นแรกนั้นดูจะเป็นเรื่องที่เพนอภิปรายได้อย่างถึงพริกถึงขิงที่สุด โดยเริ่มตั้งแต่การแยกแยะให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างรัฐบาลกับสังคม ซึ่งอย่างแรกนั้นมักจะอ้างอย่างหลัง หรือทำให้เป็นเหมือนสิ่งเดียวกัน ดังที่เขาได้กล่าวไว้อย่างเฉียบคมว่า
“สังคมในทุกสภาวะคือสิ่งประเสริฐ แต่รัฐบาลแม้ในสภาวะที่ดีที่สุดก็เป็นแค่ความชั่วร้ายที่จำเป็น… รัฐบาลก็เฉกเช่นอาภรณ์ มันคือตราประทับของความบริสุทธิ์ที่สูญหาย วังกษัตริย์สร้างขึ้นบนซากปรักหักพังของร่มเงาแห่งสรวงสวรรค์ เพราะหากแรงกระตุ้นของมโนธรรมมีความแจ่มชัด เป็นหนึ่งเดียว และมีการปฏิบัติตามโดยมิขัดขืน มนุษย์ย่อมไม่จำเป็นต้องมีผู้บัญญัติกฎหมายอื่นใดอีก แต่เมื่อมิได้เป็นเช่นนั้น มนุษย์จึงพบว่ามีเหตุจำเป็นให้สละสมบัติบางส่วนเพื่อจัดหาเครื่องมือคุ้มครองสมบัติส่วนที่เหลือ” (สามัญสำนึก, 45-46)
นี่คือสิ่งที่เราเรียกว่า ‘รัฐบาล’ ที่แท้จริงแล้วมิได้ตั้งขึ้นมาเพื่อปกครองเรา แต่มีหน้าที่ดูแลสิ่งต่างๆ และรับประกันความปลอดภัยให้กับเรา นั่นทำให้เพนจำเป็นต้องทำการชำแหละและวิพากษ์รัฐธรรมนูญของอังกฤษ ซึ่งเขาพบว่าเต็มไปด้วยข้อขัดแย้งในตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการตรวจสอบถ่วงดุลและคานอำนาจ จนถึงองค์ประกอบแห่งความเป็นกษัตริย์ที่เพนได้วิจารณ์ไว้ว่า
“ในองค์ประกอบของสถาบันกษัตริย์มีบางอย่างน่าขันสิ้นดี แรกสุดมันแยกคนผู้หนึ่งออกจากหนทางแห่งการรับข้อมูลข่าวสาร กระนั้นกลับให้อำนาจเขากระทำการในกรณีต่างๆ ที่จำเป็นต้องมีวิจารณญาณสูงสุด สภาวะแห่งการเป็นกษัตริย์ปิดกั้นเขาจากโลก กระนั้นกิจธุระแห่งการเป็นกษัตริย์กลับเรียกร้องให้เขารู้จักโลกอย่างถ้วนถี่ ดังนั้น องค์ประกอบต่างๆ ที่เป็นปฏิปักษ์กันเองและทำลายกันเองอย่างขัดต่อธรรมชาติจึงเป็นข้อพิสูจน์ว่าลักษณะโดยรวมของสถาบันมีแต่ความไร้สาระและไร้ประโยชน์” (สามัญสำนึก, 52)
นำไปสู่ข้อวิพากษ์สำคัญในเรื่องของอำนาจของกษัตริย์ โดยที่เพนได้ชี้ให้เห็นว่า เบื้องแรกนั้นมนุษย์เกิดมาโดยเท่าเทียมกัน การเกิดขึ้นของกษัตริย์จึงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถจะใช้เหตุผลใดๆ มาอธิบายได้เลย ดังที่เขาได้กล่าวไว้ว่า
“ทว่าการแบ่งแยกสำคัญกว่าอีกประการซึ่งไม่มีเหตุผลทางศาสนา หรือเหตุผลตามธรรมชาติที่แท้จริงอธิบายได้เลย นั่นก็คือการแบ่งแยกมนุษย์ออกเป็น กษัตริย์ กับ ราษฎร ผู้ชายกับผู้หญิงเป็นการแบ่งโดยธรรมชาติ ดีกับเลวเป็นการแบ่งของสวรรค์ แต่เป็นไปได้อย่างไรที่มนุษย์เผ่าพันธุ์หนึ่งอุบัติมาบนโลกพร้อมกับความสูงส่งเหนือมนุษย์คนอื่นและแตกต่างออกไปราวกับเป็นสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่ ประเด็นนี้ควรค่าแก่การพิจารณา รวมทั้งตั้งคำถามว่ามันเป็นหนทางแห่งความสุขหรือความทุกข์ของมวลมนุษยชาติกันแน่” (สามัญสำนึก, 57)
ไม่เพียงเท่านั้นเพนยังได้ชี้ให้เห็นว่า การสืบทอดอำนาจผ่านสายเลือดของกษัตริย์นั้นเป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักธรรมชาติ และความสูงส่งของกษัตริย์ที่อ้างกันนั้น แท้จริงอาจเป็นไปในทางที่ตรงกันข้ามกับความเชื่อของเราทั้งหลาย ดังที่เขาได้กล่าวไว้ว่า
“มีความเชื่อกันว่ากษัตริย์ในโลกยุคปัจจุบันมีต้นตระกูลอันทรงเกียรติ ทัั้งๆ ที่เป็นไปได้อย่างยิ่งว่า ถ้าเราฉีกลอกความเก่าแก่โบราณเป็นม่านพรางมืดดำนั้นออก และสืบสาวกลับไปถึงการขึ้นครองอำนาจครั้งแรก เราอาจพบว่าต้นตระกูลของพวกเขาไม่ได้ดีกว่าหัวโจกทรชนสักก๊กหนึ่ง อุปนิสัยหยาบกร้านป่าเถื่อนหรือความเก่งกาจด้านเล่ห์กลทำให้เขาได้ตำแหน่งหัวหน้าซ่องโจร จากนั้นเขาก็แผ่ขยายอำนาจและขยายอาณาเขตปล้นสะดม กดขี่ผู้คนที่ไม่มีปากเสียงและไร้ทางสู้จนยอมซื้อความปลอดภัยด้วยการส่งส่วยบรรณาการเป็นประจำ” (สามัญสำนึก, 65)