เรามักเห็นอคติของคนอื่นแต่มองข้ามความลำเอียงของตัวเอง ทำไมคนถึงยอมเสียพลังงานถกเถียงปกป้องความเชื่อที่เรายังไม่แน่ใจ ทำไมข้อมูลที่เราได้มาก่อนถึงมีนํ้าหนักกว่าข้อมูลที่มาทีหลัง
เราโตมากับคำพูดหนึ่งของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ที่พูดว่า
“Common sense is the collection of prejudices acquired by age eighteen.”
(สามัญสำนึก คือชุดอคติที่เราเก็บสะสมไว้ตั้งแต่ก่อนอายุ 18)
คำพูดนี้เป็นคำขวัญประจำใจสมัยวัยรุ่นของเรา หลังจากนั้นเราจึงค่อยพบว่าจริงๆ แล้วประโยคนี้ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์อาจไม่ได้พูด เพราะเมื่อย้อนกลับไปดู ประโยคนี้เกิดขึ้นมาจากนักข่าวคนหนึ่งบันทึกว่าไอน์สไตน์เคยพูดกับเขา (แต่ไม่มีข้อมูลอื่นใดยืนยัน) โถ โลกช่างไม่แน่นอน แม้แต่คำคมที่เราชอบเรายังไม่แน่ใจเลยว่าใครพูด
มนุษย์รัก ‘อคติ’ ของตัวเอง เรามองเห็นอคติของผู้อื่นและทำหน้ายู่ กลอกลูกตา แต่เรามักเรียกอคติของเราเองให้น่ารักกรุบกริบขึ้นมาว่า ‘Common sense’ เป็นสามัญสำนึกที่เราได้เรียนรู้จากประสบการณ์
‘Common sense’ ไม่ไร้ประโยชน์เสมอไป เพราะช่วยให้ตัดสินใจว่องไวอาจทำให้ดำเนินชีวิตได้ง่าย ไม่เสียเวลาไปวิเคราะห์ทุกรายละเอียด จมไปกับข้อมูลมหาศาลทุกทิศทางเพื่อหาข้อสรุป แต่สามัญสำนึกที่เราทึกทักว่าเป็นเรื่องธรรมดาสามัญของเราและอาจเป็นแค่อคติที่เราหวงแหนไว้ไม่ยอมสลัดให้หลุดไป
หากฉันไม่เคยเห็นมันเป็นไปไม่ได้
มนุษย์ให้ความหมายและคุณค่ากับประสบการณ์ของตัวเองมาก จนสำหรับบางคน ประสบการณ์ส่วนตัวอยู่เหนือทุกคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ จากผลสำรวจ มีคนอเมริกัน 46% เชื่อว่า ทฤษฎีบิกแบงไม่มีจริง (Big Bang Theory) บางคนให้เหตุผลว่า “พวกเขาไม่ได้อยู่ตรงนั้นตอนที่มันเกิดขึ้นนี่” และทุกวันนี้ยังมีคนอีกมากที่เชื่อว่าโลกแบน โดยให้เหตุผลว่า “เพราะตัวเองยังไม่เคยเดินรอบโลก” เฮ้ย มันช่างน่าครุ่นคิดสงสัยว่าพวกเขาเชื่อใน ‘สัญญาณไวไฟ’ หรือไม่ หากไม่เคยเห็น
เมื่อมองดูผู้คนจมอยู่ในกองของความรู้สึก สงสัยว่าทำไมมนุษย์คนอื่นถึงชอบทึกทักมโนไปเอง ทำไมเพื่อนถึงมีความเชื่อแปลกๆ ที่ไม่มีเหตุผลเสียเลย ท้อใจที่โลกนี้เต็มไปด้วยอคติที่คนอื่นมองไม่เห็น (แต่เราเห็น) และเราต่างเชื่อว่าตัวเองเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเหตุผล
จากวารสารวิทยาศาสตร์การจัดการ ได้รวบรวมหลายงานวิจัยจากหลายสถาบัน พบว่าคนส่วนมากเชื่อใจว่าตัวเองนั้นเป็นกลาง ไม่มีอคติ จากการสำรวจ 661 คน มีเพียงคน 1 คนตอบว่าตัวเองมีอคติมากกว่าคนอื่น สิ่งนี้ไม่เกี่ยวกับสติปัญญา ความมั่นใจในตนเอง หรือทักษะในการตัดสินใจมาเกี่ยวข้อง แทบทุกคนมั่นใจในวิจารณญาณของตนเอง
เราต่างคิดว่าเรานั้นปลอดภัยจากอคติทั้งปวง กลับกลายเป็นว่า นั่นอาจเป็นอคติก้อนใหญ่ที่เรามี
คำถาม? ความรู้ที่เคยได้ยินกันมาต่อไปนี้ มีข้อใดเป็นข้อเท็จจริง
- คลื่นจากไมโครเวฟก่อให้เกิดมะเร็ง
- ปลาทองมีความทรงจำเพียง 5 วินาที
- สมองใหญ่กว่า = ฉลาดกว่า
- สมองซีกซ้ายซีกขวาทำหน้าที่คนละอย่าง ซีกซ้ายคุมฝั่งตรรกะ ซีกซ้ายคุมฝั่งความสร้างสรรค์
- คนเราใช้สมองของเราเพียง 10%
- เซลล์สมองมนุษย์มีจำกัด เกิดมามีเท่าไหนก็เท่านั้น ไม่เพิ่มอีกตลอดชีวิตมีแต่หมดไป
- คนต่างชาติพันธุ์มีพันธุกรรมที่ต่างกันอย่างชัดเจน
- เราต้องการนํ้าวันละ 8 แก้ว
คำตอบคือ ‘ไม่มีข้อไหนเป็นข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์เลย’
แต่อย่าเพิ่งเชื่อเรา ลองไปค้นหาเพิ่มเติมดู ความรู้นั้นอัปเดตได้อยู่เสมอไม่หยุดอยู่กับที่ ความรู้ที่เคยเรียนมาอาจล้าสมัยไปนานแล้วแต่เราไม่รู้ จงเตรียมใจไว้ว่า ชีวิตเราจะถูกล้มล้างความเชื่อไปอีกมากด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่ดำเนินต่อไปไม่หยุดยั้ง และวิทยาศาสตร์ไม่ใช่แค่เพียงข้อเท็จจริงสำเร็จรูป
ข้อเท็จจริง
- คลื่นจากไมโครเวฟไม่ได้ก่อให้เกิดมะเร็ง
- ปลาทองมีความทรงจำได้ถึง 5 เดือน
- ขนาดของสมองไม่มีผลกับสติปัญญา
- สมองซีกซ้ายซีกขวาไม่ได้แยกฝั่งระหว่างฝั่งตรรกะและความสร้างสรรค์
- คนเราไม่ได่ใช้สมองของเราเพียง 10%
- เซลล์สมองมนุษย์ไม่ได้มีจำกัด เพิ่มอีกได้ในวัยผู้ใหญ่ เรียกว่า Neurogenesis
- คนต่างชาติพันธุ์ไม่ได้มีพันธุกรรมที่ต่างกันอย่างชัดเจน
- เราไม่ได้ต้องการนํ้าวันละ 8 แก้ว
เรามักติดกับความประทับใจแรก
บางข้อมูลที่เราได้รับมาตั้งแต่ครั้งยังเยาว์วัย ไม่ว่าจะอ่านเจอหรือมีใครบอก อย่ามั่นใจว่าสิ่งนั้นถูกเสมอ แต่ข้อมูลใดที่ได้มาก่อนมักได้จับจองครอบครองพื้นที่ในสมองของเราก่อน
‘Irrational primary effect’ คือการที่คนเราให้นํ้าหนักกับข้อมูลแรกที่เราได้มามากกว่าข้อมูลที่ตามมาทีหลัง ความคิดความเชื่อแรกมักมีอิทธิพลกับเรามากเหลือเกินจนยากจะถอนออก ความประทับใจกลายเป็นติดทนนาน จดจำฝังใจตลอดไป ไม่สลัดออก
ความรู้หรือข้อมูลแรกที่ได้รับ ความคิดแรกที่ผุดขึ้นมา และความเชื่อดั้งเดิมที่เราเก็บไว้ เรามักเผลอโอบกอดอุ้มมันไว้โดยไม่รู้ตัว บางคนลืมตัวยินยอมพร้อมสละพลังงานและเวลามหาศาลมาแก้ต่างให้จุดยืน ทั้งที่ตอนแรกเราก็รีบเลือก ไม่ได้ศึกษาหรือเข้าใจสักเท่าไหร่ สูญเสียไปเท่าไหร่กับการสู้สุดใจเพียงเพราะและเราไม่อยากเสียหน้า เพื่อบอกโลกว่า ‘กูไม่ผิด’ แทนที่จะตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วยใจเป็นกลาง
จริงๆ แล้ว เราผิดบ้างก็ได้ ทุกครั้งที่เรายอมรับว่าเราผิด เราได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ หากเป็นเรื่องที่เราไม่คุ้นเคย แทนที่จะรีบเลือก ลองฟังความเห็นที่หลากหลาย สอบถาม สงสัยไว้ก่อน เราควรรับข้อมูลมาเก็บไว้ประกอบการตัดสินใจ เพราะเมื่อเราเลือกเชื่อทางใดทางหนึ่งไปแล้ว เราก็มักเผลอพยายามสุดกำลังตั้งใจที่จะปกป้องความคิดฝั่งของเราไว้เพียงเพราะเรารู้สึกว่ามัน ‘ใช่’
ในอีกมุมหนึ่ง การตัดสินใจได้อย่างฉับไวโดยใช้ความอารมณ์รู้สึกก็มีประโยชน์มหาศาลกับชีวิต ประหยัดเวลาและพลังงานในการคิดใคร่ครวญจนไม่เกิดผล ช่วยให้เราสามารถเอาตัวรอดและรู้จักระวังภัย เลือกสิ่งที่ชอบได้อยากรวดเร็ว เราอาจระแวดระวังชั่งใจเป็นพิเศษกับคนที่เรารู้สึกไม่ไว้ใจ ไม่ค่อยเชื่อคนที่เราคิดว่าไม่น่าเชื่อ รีบหนีเมื่อรู้สึกว่าตกอยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยง หรือแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ทันใจ
เราต่างเสาะหาความซํ้ามายํ้ายืนยันว่า ‘ฉันถูก’
‘Confirmation bias’ หรือ ความเอนเอียงเพื่อยืนยัน คืออคติจากการที่มักจะมองเห็นแต่ข้อมูลที่ตรงและสอดคล้องกับความเชื่อ หรือข้อสรุปที่เรามีอยู่แล้ว เมื่อเราเลือกที่จะเชื่อสิ่งใด เรามักตั้งใจมองหาและมองเห็นสิ่งที่ตรงกับสมมติฐานของเรา และอาจตาบอดต่อข้อมูลหรือประสบการณ์ที่ขัดแย้งกับความเชื่อของเรา เกิดเป็นความมั่นใจอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง อาจเพราะเราเองเลือกที่จะมองไม่เห็น
หากคุณพอมีเวลา จงเปิดใจให้เราไม่เห็นด้วยกับตัวเองบ้างเป็นบางครั้ง
ลองเปลี่ยนความคิดแทนที่จะมองหาเหตุการณ์ที่สอดคล้องกับความเชื่อของเราเพื่อยืนยันให้มั่นใจว่าเราถูก ลองเปลี่ยนมุมไปมองหาเหตุการณ์ที่มาค้านว่าเราอาจจะผิด เราอาจพบว่า ทฤษฎีโปรดที่เราตั้งขึ้นมาเองอาจไม่จริง ความคิดอาจทำให้เรามองเห็นและหลุดจากอคติเราได้ จงให้อภัยตัวเองหากเราเคยเข้าใจผิด ให้โอกาสเปลี่ยนใจหากได้ข้อมูลและหลักฐานใหม่ที่หักล้างชุดความคิดเดิมที่เรามี )
เพราะความไม่รู้จึงหลอน
ตอนฉันยังเด็ก ครูประถมคนหนึ่งพูดในชั้นเรียนกับเด็กทั้งห้องว่า
“ครูจะไม่บริจาคดวงตาหลังจากเสียชีวิต เพราะกลัวว่าตายไปจะกลายเป็นผีที่ตาบอด”
แม้ตอนนั้นฉันจะอายุ 7- 8 ขวบ ลืมชื่อและหน้าของครูคนนี้ไปแล้ว แต่ยังจำสาระนั้นได้ไม่รู้ลืม ไม่รู้ว่าผีมีจริงไหม แต่คนพิการทางสายตามีอยู่จริง นี่เป็นครั้งแรกๆ ในชีวิตที่ได้เจอความเห็นที่เป็นอคติจากคนที่เราคาดหวังว่าจะให้ความรู้อย่างมีเหตุผล ฉันได้เรียนรู้ว่าไม่ต้องเชื่อครูก็ได้ ฟังไว้แต่การตัดสินใจเป็นของเรา
เหตุการณ์ที่เราไม่รู้ไม่เข้าใจกระตุ้นให้เกิดความกลัวได้มากมาย ย้อนกลับไปมอง เช่น กลัวโลกแตกปี 2012, กลัวว่า CERN จะสร้างหลุมดำแล้วดูดโลกหายไป, กลัวว่าการฉีดวัคซีนจะทำให้เด็กเป็นออทิสติก, เหตุการณ์ Y2K ในปี 2000 และอีกมากมายที่เรากลัว
ปัจจัยสำคัญในการโน้มน้าวให้คนหันเหไปเชื่อทฤษฎีสมคบคิด คือกระตุ้นความกลัวและสร้างอารมณ์
- กลัวสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ ความรู้สึกว่าตัวเองไม่มีอำนาจ ไม่มีพลัง ฝั่งตรงข้ามมีอำนาจล้นพ้นในการจัดฉาก
- กลัวความซับซ้อน เพราะไม่เข้าใจหลักการพื้นฐานของวิทยาศาสตร์
- เชื่อผู้นำที่ดูน่าเชื่อถือ มีเสน่ห์ พูดจาดี กระตุ้นให้เกิดอารมณ์ สร้าง ’พวกเรา’ VS ‘พวกเขา’
หากกลัว ความซับซ้อนก็มักจะหลอนได้ง่าย มนุษย์พยายามหลีกเลี่ยงเรื่องที่ซับซ้อน (avoid complexity) เราหวังว่าวิทยาศาสตร์จะมีแต่คำอธิบายอันเรียบง่าย แต่ความจริงนั้นซับซ้อนและมีข้อยกเว้นมากมาย การเชื่อมโยงจึงเลือกแต่ข้อมูลที่สนับสนุนความเชื่อของเรา
ความเข้าใจในสถิติและความน่าจะเป็น ทำให้เข้าใจความเสี่ยงที่แท้จริง อาจช่วยบรรเทาจิตใจ เรามักกลัวเครื่องบินตกมากกว่าการเดินทางไกลด้วยรถยนต์ทั้งที่โอกาสตายด้วยรถยนต์สูงกว่าเป็นล้นพ้น และคนเรามักกลัวสภาวะที่ควบคุมไม่ได้ การขับรถทำให้รู้สึกว่าปลอดภัยว่าเราควบคุมได้มากกว่า คนมักเชื่อใจการควบคุมของตนเองมากกว่าคนอื่น
อย่าได้เชื่อความเห็นใดๆ เพียงแค่มีคำว่า ‘วิทยาศาสตร์’ แปะนำหน้าไว้ หากคิดเช่นนี้ วิทยาศาสตร์อาจจะกลายเป็นลัทธิไปได้
วิทยาศาสตร์คือการทดลองทุกทางเพื่อพิสูจน์ว่าสิ่งที่เราคิดนั้นอาจจะผิด
กระบวนวิทยาศาสตร์ (scientific method) ที่ถูกต้องใช้เวลายาวนาน การได้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่น่าเชื่อถือ ต้องผ่านการตรวจสอบอย่างเข้มงวดจากผู้รู้ในสาขานั้นๆ หลายแขนง งานวิจัยจำนวนมากถูกปฏิเสธไม่ให้ตีพิมพ์ นักวิจัยจึงประสบความล้มเหลวเป็นส่วนใหญ่มากกว่าความสำเร็จ
ในหนังสือ This Idea Must Die : Scientific Theories That Are Blocking Progress เอียน โบกอสต์ นักออกแบบเกมได้เขียนเตือนใจให้ระวังคำว่า ‘วิทยาศาสตร์’ เพราะการเกริ่นด้วยชุดคำว่า ‘นักวิทยาศาสตร์บอกว่า’ ‘ผลวิจัยชี้’ ‘นักวิจัยพบว่า’ ฯลฯ นั้นมีพลังชวนเชื่อมาก แต่หากถูกใช้ในการบิดเบือนข้อมูลเราก็อาจไม่รู้ตัวเลย อย่าได้เชื่อความเห็นใดๆ เพียงแค่มีคำว่า ‘วิทยาศาสตร์’ แปะนำหน้าไว้ หากคิดเช่นนี้ วิทยาศาสตร์อาจจะกลายเป็นลัทธิไปได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าให้เราละทิ้งวิทยาศาสตร์ แต่ให้เราตระหนักอ่านและวิเคราะห์ไตร่ตรอง ส่องลึกลงไปในรายละเอียด แล้วจะพบว่าวิทยาศาสตร์มีความจำเป็นต้องซับซ้อน
แต่คงจะน่าโศกเศร้า หากการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์กลับทำให้คนยิ่งหวาดกลัววิทยาศาสตร์ แทนที่จะช่วยสร้างความมั่นใจ สร้างความพยายามต่อยอดเข้าใจประเด็นที่ซับซ้อนยุ่งยาก การเรียนการสอนกลายเป็นการจดจำชื่อและประวัตินักวิทยาศาสตร์เอกของโลก หรือท่องจำชื่อธาตุในตารางได้ทุกธาตุ สิ่งเหล่านี้เสิร์ชกูเกิลเอาก็ได้ แต่กลับขาดทักษะในการให้เหตุผล มึนงงหลงทางอ้างว้างเมื่อต้องเจอชุดข้อมูลจริงในชีวิต
เราไม่ต้องสละความเป็นมนุษย์ที่ยืดหยุ่น หรือความเป็นคนมีความรู้สึก หรือมีศรัทธา มาประพฤติตนเป็นหุ่นยนต์ที่ดำเนินชีวิตด้วยชุดตรรกะและเหตุผลที่วางไว้อย่างเข้มงวด
เราไม่จำเป็นต้องทิ้งความรู้สึกหรือสัญชาตญาณ ทำลายความเชื่อให้สิ้นซาก แค่ระลึกไว้ว่าเราคือเครื่องจักรทางชีวภาพที่มีอคติมากกว่าที่เรารู้ตัว เตรียมใจไว้ว่าสิ่งที่เราคิดอาจผิดได้เสมอ ความเชื่อที่ฝังใจหากเราไม่สลัดไป อาจฝังกลบเราให้จมหายไปในโคลนตมแห่งความไม่รู้
อ้างอิงข้อมูลจาก
Researchers Find Everyone Has a Bias Blind Spot
This Idea Must Die : Scientific Theories That Are Blocking Progress
Denying to the Grave : Why We Ignore the Facts that Will Save Us