“ขอคำปรึกษาหน่อยค่ะ…”
“คิดยังไงกับ…”
“อยากรู้ว่าทุกคนเคย…”
คำถามที่ถามใครไม่ได้ เก็บไว้ก็คิดมากจนไม่รู้จะหาทางออกยังไงดี เพราะบางทีก็เป็นเรื่องที่ไม่อยากให้คนใกล้ตัวรู้นี่นา งั้นลองเริ่มต้นประโยคแบบนี้ แล้วถามพี่สาวชาวเน็ตเนี่ยแหละเวิร์กสุด
ถ้าเป็นเมื่อก่อนเวลามีเรื่องสงสัยอยากถามความเห็นหลายๆ คน เว็บบอร์ดถือเป็นตัวเลือกแรกๆ ที่หลายคนนึกถึง ไม่ว่าจะเป็นเว็บพันทิป เด็กดี หรือสยามโซน (แก่ไปไหม) แต่ถ้าเจนอัลฟ่าคนไหนนึกไม่ออกก็คงคล้ายๆ กับ Pillow Talk คอมมูนิตี้บน X (หรือทวิตเตอร์) หรือคอมมูนิตี้บนแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่มักมีคำถามถามความเห็นของชาวเน็ตอยู่บ่อยๆ
เรื่องที่หยิบยกมาพูดถึงก็มีตั้งแต่เรื่องทั่วๆ ไปในชีวิตประจำวัน อย่างช่วยแนะนำไม้แขวนผ้าใช้ดีหน่อยครับ ขอทริคการแต่งตัวสุดจึ้งยังไงก็ไม่มอมหน่อยค่ะ หรือเรื่องส่วนตัวสุดๆ อย่างคำปรึกษาเรื่องความสัมพันธ์ ทะเลาะกับแฟน คืนดีกับแม่ หรือแม้กระทั่งเรื่องเซ็กซ์ ที่บางครั้งยังไม่กล้าพูดกับเพื่อนเลยก็มี
อันที่จริงหัวข้อเหล่านี้ก็ใช่ว่าจะหาคนคุยด้วยในชีวิตประจำวันไม่ได้ หรือถ้าเสิร์ชกูเกิลแป๊ปเดียวก็คงเจอ แต่ทำไมหลายๆ คนถึงมักนำปัญหาของตัวเองมาปรึกษาคนบนโลกออนไลน์ มันแปลกไหมถ้าเราอยากปรึกษาคนแปลกหน้าบนอินเทอร์เน็ต แล้วเรื่องนี้ส่งผลต่อสุขภาพจิตของเรายังไงบ้าง?
เหตุผลที่หลายคนเลือกถามชาวเน็ต
ไม่ต้องกลัวว่าปัญหาที่เราถามจะเล็กน้อยจนไม่น่ามีคนตอบ เพราะคอนเทนต์ที่ผ่านหน้าฟีดของเรามาหลายครั้งก็พิสูจน์แล้วไม่ว่าเรื่องอะไร พี่สาวชาวเน็ตก็มีคำตอบให้เราเสมอ จนบางทีก็อาจได้ยินเสียงบ่นอุบตามหลังมาลอยๆ ว่า เรื่องแค่นี้ยังต้องถามชาวเน็ตอีกเหรอ?
แต่ความจริงที่คนส่วนใหญ่มักถามคำถามกับคนแปลกหน้าบนโลกออนไลน์ ไม่ใช่เพราะบางคนช่างสงสัยมากกว่าคนอื่นหรอกนะ เพราะจากงานวิจัยพบว่าหลายๆ คนก็ใช้โซเชียลมีเดียในการหาข้อมูลไม่ต่างจากการเสิร์ชหาข้อมูลเหมือนกัน
มีงานวิจัยในปี 2010 เกี่ยวกับศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมการถามคำถามของผู้คนบนโซเชียลมีเดีย โดยการสำรวจความเห็นคนจำนวน 624 คน ที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ เช่นเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ พบว่าผู้เข้าร่วมไม่ได้ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อความบันเทิงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังใช้เพื่อหาข้อมูลที่เป็นประโยชน์ด้วย โดยผู้ตอบแบบสอบถามกว่าครึ่งหรือ 50.6% มักใช้ข้อความแสดงสถานะ (เช่น ช่อง What’s on your mind? บนเฟซบุ๊ก) เพื่อถามคำถามคนอื่นๆ บนโซเชียลมีเดียด้วย
นอกจากนี้งานวิจัยยังศึกษาต่อไปว่าแล้วผู้คนมีแรงจูงใจแบบไหนในการตั้งคำถามบนโลกออนไลน์กันนะ? ซึ่งคำตอบช่างสมกับเป็นชาวเน็ต เพราะพวกเขาเชื่อคำตอบที่มาจากเพื่อนหรือคนบนโซเชียลมากกว่าการหาคำตอบเองจากการค้นหาบนกูเกิลนั่นเอง โดยเฉพาะคำถามประเภทที่ขึ้นอยู่กับมุมมองของแค่ละคน เช่น การขอความเห็น ขอคำแนะนำ หรือการอธิบายทั่วๆ ไป
โดย 21% บอกว่าการค้นหาคำตอบบนเว็บไซต์มักเป็นแค่การนำเสนอข้อมูลไม่ใช่ความเห็น (ซึ่งบางทีอาจจะผิดก็ได้ เพราะมักยังไม่เคยลอง) สิ่งที่พวกเขาอยากได้คือข้อมูลที่เฉพาะเจาะจงมากกว่านั้น ส่วนรองลงมา 15% บอกว่าไม่เชื่อว่าระบบเสิร์ชเอ็นจิ้นจะให้คำตอบได้ เพราะไม่มีข้อมูลที่อัพเดตมากพอ
นอกจากเหตุผลที่สรุปง่ายๆ ว่าอยากได้ความเห็นของหลายๆ คนแล้ว ยังมีเหตุผลที่น่าสนใจอีกอย่าง คือ 14% บอกว่าที่ตั้งคำถามในโซเชียลมีเดีย เพราะรู้ว่ามีกลุ่มผู้ชมแบบไหนมาให้คำตอบนั่นเอง เหมือนที่เรามักถามเรื่องเฉพาะเจาะจงมากๆ ในคอมมูนิตี้ออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นงานบ้าน ความสัมพันธ์ หรือการงาน เพราะรู้ว่าสุดท้ายจะมีคนที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางมาตอบได้ แถมการขอคำปรึกษาหรือถามคำถามเหล่านี้ยังสร้างความสัมพันธ์กับผู้คนในกลุ่มนั้นๆ เห็นด้วยว่าเราเองก็มีความสนใจหรือปัญหาแบบเดียวกันอยู่
ส่วนเหตุผลสุดท้ายอีกจำนวนเล็กน้อย บางคนบอกว่าเลือกจะถามคำถามในสังคมออนไลน์ เพราะเชื่อว่าจะได้คำตอบที่เร็วกว่าค้นหาเอง และถึงจะใช้เวลานานสักหน่อย พวกเขาก็ยังยอมรับได้ เพราะไม่ได้ต้องการคำตอบเร่งด่วนอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังรู้สึกว่าการถามคำถามกับชาวเน็ตเป็นเรื่องสนุกและง่ายกว่าอ่านเนื้อหาบนเว็บไซต์ที่เสิร์ชเอ็นจิ้นเลือกมาให้
จากเหตุผลในงานวิจัยที่ยกมา ก็ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมหลายคนถึงชอบคำตอบที่เตรียมไว้ให้จากเพื่อนๆ ชาวเน็ต เพราะมันทั้งสะดวกและตรงกับสิ่งที่ตามหาได้แบบพอดีเป๊ะนั่นเอง
เพราะการปรึกษาใครสักคนไม่ใช่เรื่องง่าย
ขณะที่ผู้คนมักเลือกถามคำถามหรือขอคำปรึกษากับผู้คนออนไลน์ ในทางจิตวิทยาก็สะท้อนให้เห็นว่า ได้ว่าบางทีการปรึกษาคนรอบข้างในชีวิตจริงอาจไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป
อย่างที่บอกว่าการถามคำถามกับคนบนอินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องง่ายกว่า แถมยังเลือกได้ว่าจะเปิดเผยหรือไม่เปิดเผยตัวตน เราจึงไม่ต้องคอยกังวลว่าเรื่องที่ถามไปจะทำให้อีกคนมองเราเปลี่ยนไปหรือเปล่า แต่พอเป็นชีวิตจริง หลายครั้งเมื่อเจอปัญหาจนอยากจะปรึกษาใครสักคน ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะมีความกดดันแบบอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น เราจะทำให้เขาลำบากใจไหม หรือนี่จะเป็นการเอาภาระไปให้เขาหนักใจเพิ่มหรือเปล่า เราจะกลายเป็นคนแปลกไหมที่ถามเรื่องนี้ หลายคนจึงเลือกเก็บปัญหานั้นไว้เอง และไม่ค่อยปรึกษาใครในชีวิตจริง
ลาริสซา ฮอฟ (Larissa Hoff) นักจิตวิเคราะห์ โค้ชผู้บริหาร และอาจารย์ด้านการพัฒนาภาวะผู้นำ อธิบายว่า มีหลายเหตุผลที่คนไม่กล้าขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเพราะกลัวคนอื่นมองว่าตัวเองอ่อนแอและไร้ความสามารถ ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กว่าต้องพึ่งพาตัวเองให้ได้ กลัวว่าจะเป็นการติดหนี้บุญคุณ หรือกลัวว่าขอความช่วยเหลือแล้วจะถูกปฏิเสธ นอกจากนี้บางคนอาจรู้สึกว่าตัวเองเป็นเหยื่อ จนไม่ควรได้รับความช่วยเหลือ เหตุผลเหล่านี้เองที่ทำให้เวลาเกิดปัญหามักไม่กล้าปรึกษาคนรอบข้าง
แต่นอกจากปัญหาส่วนตัวแล้ว การเข้าถึงคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญจริงๆ เพื่อแก้ปัญหาที่หนักอึ้งอยู่ในใจยังเป็นเรื่องยากลำบาก โดยเฉพาะในประเทศไทย จากรายงานสถานการณ์สุขภาพจิตคนไทย ปี 2023 พบว่าแม้จำนวนผู้ป่วยเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่คนไทยกลับยังเข้าถึงบริการดูแลสุขภาพจิตได้ไม่ทั่วถึงเท่าที่ควร เนื่องจากระบบปัจจุบันผู้ป่วยต้องได้รับการวินิจฉัยโดยจิตแพทย์ก่อน จึงจะเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาได้ ในขณะที่ไทยมีจิตแพทย์อยู่เพียง 845 คน หรือ 1.28 คนต่อแสนประชากรเท่านั้น ซึ่งนับไม่เพียงพอ ต่อจำนวนผู้ป่วย หลายคนจึงเลือกทางออกที่ง่ายกว่าอย่างการหันมาปรึกษาผู้คนบนโลกออนไลน์แทน
หลายครั้งที่เรามักสบายใจจากคำตอบของคนแปลกหน้าในโลกออนไลน์ และบางครั้งก็ช่วยไขความข้องใจให้เราได้จริงๆ จากงานวิจัยปี 2010 ชิ้นเดิม พบว่าหลายๆ คนเลือกตอบคำถามบนโซเชียลมีเดียส่วนใหญ่เพราะอยากแสดงความช่วยเหลือ หรือแสดงความเป็นมิตรกับคนอื่นๆ ในขณะที่อีกกลุ่มรองลงมามองว่าตัวเองมีความเชี่ยวชาญกับหัวข้อที่ถามนั่นเอง
จึงไม่แปลกหากหลายคนเลือกที่จะถามคำถามกับชาวเน็ต เพราะแม้จะเป็นคนกลัวขอคำปรึกษา แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่พร้อมจะช่วยเหลือ และเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดนั่นเอง
ถึงอย่างนั้นการปรึกษาผู้คนบนอินเตอร์เน็ตก็ยังมีข้อควรระวังอยู่บ้าง เพราะแม้จะช่วยให้คำปรึกษา หรือตอบคำถามที่เราสงสัยได้ แต่การใช้โซเชียลมีเดียมากไปก็อาจส่งผลต่อสุขภาพจิตด้วย
จากรายงานของ วิเวก เมอร์ธี (Vivek Murthy) นายแพทย์จากหน่วยบริการสาธารสุขของรัฐบาลสหรัฐ ชี้ให้เห็นว่าโซเชียลมีเดียเชื่อมโยงกับสุขภาพจิตที่แย่ลงในวัยรุ่น อ้างอิงจากการศึกษาวิจัยในปี 2019 พบว่าวัยรุ่นที่ใช้เวลากับโซเชียลมีเดียมากกว่าสามชั่วโมงต่อวัน ว่ามีความเสี่ยงประสบกับปัญหาสุขภาพจิต ถึง 2 เท่า รวมถึงอาการซึมเศร้าและวิตกกังวล จากการถูกละเลยและเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นอยู่ตลอดเวลา และความกังวลเหล่านี้ก็อาจกลายเป็นอีกหนึ่งคำถามที่เอามาถามคนบนโลกออนไลน์ไม่รู้จบก็ได้
อย่างไรก็ตามคงไม่ถือว่าเป็นเรื่องผิดหากบางครั้งเราอยากถามความเห็น ขอคำแนะนำ ข้อมูลที่หาไม่ได้บนเว็บไซต์ทั่วไปบ้าง เพราะแง่หนึ่งการถามคำถามก็เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้คนออนไลน์ แถมยังช่วยเราหาทางออกในวันที่ไม่รู้จะปรึกษาใครด้วยเหมือนกัน
แต่ในขณะเดียวกันต้องไม่ลืมว่าคำตอบที่เราได้มาอาจไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องเสมอไป ทางที่ดีอย่าลืมตรวจสอบข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือหรือขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้วยนะ
อ้างอิงจาก