เราต่างมี ‘คนนั้น’ ในใจ คนที่ทำอะไรก็ไม่เคยเข้าตา ยิ่งเห็นหน้ายิ่งไม่ชอบใจ
เหมือนกับฉันเองที่เห็นคนนั้นในสายตามาเสมอ แม้จะไม่อยากเห็นก็ตาม เราเรียนที่เดียวกันมาตั้งแต่มัธยมฯ ผมดำยาวถึงกลางหลังถูกมัดเป็นหางม้าส่ายไปมาเล็กน้อย ตอนเธอโบกมือทักทายใครสักคนด้วยความเฟรนลี่ที่พกมาเต็มกระเป๋า ชอบเธอเพราะหน้าตากันสินะ ใครๆ ก็อยากเข้าหาเธอเพราะแบบนั้นแน่ๆ ฉันเองไม่เคยคุยกับใครคนนั้นอย่างเป็นเรื่องเป็นราวหรอก เพราะแค่เห็นหน้าก็ไม่ชอบแล้ว จะคุยไปทำไม แม้ในช่วงมหาวิทยาลัย เธอจะมีกระบนสองแก้มจากการเล่นกีฬากลางแจ้ง เธอคนนั้นก็ยังมีคนเข้าหาไม่เปลี่ยน ออกจะมากขึ้นเสียด้วยซ้ำ กิจกรรมแบบนั้นน่าสนุกตรงไหนกัน นอนดูหนังฟังเพลงที่บ้านแบบฉันสิ ดีจะตาย
ดูเหมือนว่าไลฟ์สไตล์ของฉันและใครคนนั้นจะอยู่บนเส้นขนาน พาให้วงสังคมของเราทั้งคู่ไม่เคยมีโอกาสมาใกล้ชิดกัน เวลาล่วงเลยไป ฉันหลงลืมเรื่องเธอคนนั้นไปบ้าง แต่เมื่อเจอเธอในโซเชียลมีเดีย หรือชื่อของเธอโผล่มาในวงสนทนา ความชิงชังในใจของฉันกลับไม่เคยลดลงไปเลย และยังคงมีเหตุผลมากมายที่จะเกลียดใครคนนั้นอยู่เสมอ (แม้มันจะฟังขึ้นบ้างไม่ขึ้นบ้างก็ตาม)
อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่าฉันไปจองล้างจองผลาญชีวิตใครเข้าให้แล้วล่ะ มีแค่ความรู้สึกไม่ชอบอยู่ในใจเท่านั้นแหละ ไม่กล้าแม้แต่จะบอกใครด้วยซ้ำ จะกล้าไปพูดได้ยังไงว่าฉันไม่อยากเห็นเธอคนนั้นมีชีวิตที่ดีขนาดไหน เรียนเก่งตั้งแต่เด็ก โตมามีหน้าที่การงานที่ดี มีรสนิยมในแบบที่ฉันไปไม่ถึง ราวกับชีวิตของเธอไม่เคยต้องพบเจอกับเรื่องแย่ๆ เลย นั่นสิ หมายความว่าความเกลียดในใจของฉันไม่เคยไปถึงเธอคนนั้นเลย มีเพียงฉันเองต่างหากที่ต้องนั่งจมอยู่กับความเกลียดที่เผาไหม้ในใจ จนเผลอคิดกับตัวเองไม่ได้เลยว่า อะไรที่ทำให้ฉันเกลียดใครคนนั้นได้มากขนาดนี้?
ความเกลียดเกิดขึ้นได้ แต่อะไรทำให้เราเกลียดกัน?
ไลฟ์สไตล์ตรงข้ามกัน ความคิดขัดแย้ง หรือจะแค่น่าหมั่นไส้ แค่นี้ก็ตอบได้แล้วว่าเกลียดกันเพราะอะไร แต่ยังหรอกนะ หากแกะรอยเหตุผลร้อยแปดที่มี เราอาจค้นพบว่าความเกลียดมีเบื้องหลังที่ใหญ่กว่านั้นมาก ซึ่งสิ่งที่จะมาตอบเรื่องนี้ได้คือ ปัจจัยทางสังคมและวัฒนธรรม และปัจจัยทางจิตวิทยาและอารมณ์
ปัจจัยทางสังคมและวัฒนธรรม
ความเกลียดชังมักได้รับอิทธิพลจากปัจจัยทางสังคมที่หล่อหลอมความเชื่อและทัศนคติของเรา การเลี้ยงดู ภูมิหลังทางวัฒนธรรม และสังคมของเรามีบทบาทสำคัญในการเพาะเมล็ดพันธุ์ความเกลียดชังของเราว่ามันจะออกมาหน้าตาแบบไหน ด้วยความที่มนุษย์เป็นสัตว์สังคม แม้จะรู้สึกว่าฉันมันหมาป่าเดียวดาย อยู่คนเดียวได้ไม่ง้อใคร แต่ด้วยสัญชาตญาณก็ยังต้องพึ่งพาการอยู่เป็นกลุ่มก้อนอยู่ดี แล้วทำยังไงถึงจะอยู่แบบกลุ่มก้อนได้ ก็ต้องได้รับการยอมรับเข้ากลุ่มเสียก่อน นั่นหมายความว่า อาจเกิดเหตุการณ์ที่เราไม่อยากเข้ากลุ่มนั้น หรือโดนเตะออกมาจากกลุ่มได้เช่นกัน แล้วเหตุการณ์เหล่านี้เองมันทำให้เรารู้ว่าใครชอบหรือไม่ชอบอะไรในตัวเรา แล้วเราเองต้องมองหากลุ่มแบบไหนให้ตัวเอง
พอมีกลุ่มที่พอจะเข้าขา หรือเกิดความเชื่อมโยงกันกับคนอื่นได้แล้ว ก็เกิดการแบ่งแยกระหว่างกลุ่มว่านี่พวกฉัน นั่นพวกเขา เมื่อการรวมเป็นกลุ่มเป็นก้อนมันทรงพลัง ความต้องการที่จะมีที่ยืนในกลุ่มจึงสามารถนำไปสู่ความเกลียดชังได้ ไม่ว่าจะเป็นคนเข้ากลุ่มมาใหม่ หากเราอยากแสดงถึงอำนาจ อยากแสดงว่าพื้นที่นี้คือกลุ่มของฉัน คนแบบเธอไม่เหมาะที่จะเข้ามา ก็จะสรรหาวิธีที่ทำให้คนนั้นกระเด็นออกจากกลุ่มไป (ซึ่งเชื้อไฟของสิ่งนี้ก็คือความเกลียดชัง)สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่กลุ่มเพื่อนสมัยเรียน ใครจะนั่งกินข้าวกับใคร ทำโครงงานกับใคร แต่ออกจะเป็นเรื่องมหภาค เช่น เชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม หรือเรื่องของการอยู่รอดเป็นกลุ่ม
ปัจจัยทางจิตวิทยาและอารมณ์
หากอธิบายเมล็ดพันธุ์แห่งความเกลียดชังในเชิงจิตวิทยา ต้องบอกเลยว่าค่อนข้างซับซ้อนและมีหลายแง่มุม แต่ถ้าง่ายที่สุดคงต้องบอกว่าสิ่งเหล่านี้มักมาจากประสบการณ์แง่ลบส่วนตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตัวตนหรือความเชื่อของเรานั้นถูกโจมตี อย่างการถูกหักหลัง รังแก ทำร้าย ทั้งทางร่างกายและจิตใจ เหล่านั้นสามารถพัฒนาไปเป็นความโกรธ ความขุ่นเคือง และความกลัวได้
ทว่าสิ่งที่ทำให้เราเลือกจะเกลียดอย่างมีเป้าหมายว่าต้องเป็นคนนั้นคนนี้เท่านั้น นั่นเพราะ เราต่างมีแพะรับบาปให้กับความรู้สึกของตัวเองเสมอ (เป็นสาเหตุว่าทำไมเราถึงมีใครคนนั้นเป็นของตัวเองไงล่ะ) อย่างการเห็นไอ้หนุ่มนั่นมาจีบคุณคนสวยของเรา แน่นอนว่าเราจะไม่โทษรูปร่างหน้าตา หน้าที่การงาน หรืออะไรในตัวของตัวเองที่สู้ไอ้หนุ่มนั่นไม่ได้ แต่เราเลือกที่จะโทษความแอคอาร์ตสมาร์ตด็อกของไอหมอนั่นแทน เพราะสิ่งนี้มันทำง่ายกว่าและรู้สึกดีกว่าเมื่อเราได้แปะป้ายว่าอะไรเป็นต้นเหตุของเรื่อง (แน่นอนว่าต้องไม่ใช่เรา)
บางครั้งความรู้สึกด้านลบของเราก็เป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว เช่นเดียวกับเวลาเราไปเจอใครที่ไม่เข้าตา ดีกว่าเราในทุกด้าน หรือไม่มีอะไรเหมือนเราสักอย่าง มันจะเริ่มคันยุกยิกในใจ รหัสแดงส่งสัญญาณปิ๊บๆ ในหัวว่าไม่ขอต้อนรับคนนี้เข้ามาในชีวิต แต่ยิ่งเราทำแบบนั้นยิ่งแสดงชัดถึงความกังวลที่เกิดขึ้นเวลาเรารู้สึกไม่มั่นคงในใจ กลัวว่าคนนี้จะดีกว่า จะเก่งกว่า ใช่แล้วล่ะ นั่นเพราะเรากำลังเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น มนุษย์เราเป็นแบบนี้เสมอแหละ
ความเกลียดเผาไหม้ในใจ แล้วทำอะไรกับสมองบ้าง?
เรามาอธิบายสิ่งนี้กันด้วยหนังสือ Why Your Brain Hates Other People ของโรเบิร์ต ซาโปลสกี (Robert Sapolsky) นักประสาทวิทยาและนักวานรวิทยาได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า เมื่อความเกลียดชังก่อตัวขึ้นมันไม่ได้ซุกซ่อนอยู่แค่ในความคิดจิตใจของเราเท่านั้น แต่ยังทำงานกับสมองของเราด้วย โดยเฉพาะในส่วน ‘อมิกดาลา’ (amygdala) ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการตอบสนองความรู้สึกโดยตรง สิ่งที่ถูกกระตุ้นขึ้นมานั้นไม่ใช่ความพึงใจ หรือความอภิรมย์ใดๆ แต่เป็นความก้าวร้าวและความกลัว ซึ่งสามารถกลายร่างเป็นการตอบสนองระยะยาวของเราได้
เมื่อมีใครสักคนทำให้เราเจ็บช้ำน้ำใจ ความกลัวที่จะต้องพบเจอ กลัวจะต้องเจ็บอีก ก็วนเวียนอยู่ในหัวของเรา เรามีใครคนนั้นเป็นสาเหตุของความว้าวุ่นนี้ ความรู้สึกแง่ลบของเราทับถมสูงขึ้น จนในกระตุ้น ‘fight-or-flight’ ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นเมื่อเรากำลังเผชิญกับความเครียดหรืออันตราย (ทั้งทางกายและใจ) ซึ่งขออธิบายอย่างรวบรัดว่า ร่างกายของเราจะหลั่งฮอร์โมนเพื่อเตรียมเผชิญกับปัญหาตรงหน้า ไม่ว่าเราจะเลือกหนีหรือสู้ก็ตาม แต่ความน่าสนใจคือเจ้าปฏิกิริยานี้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยไม่สนว่าเรากำลังโดนไล่ล่าจริงๆ หรือแค่ต้องเจอคนที่เราเกลียดขี้หน้าเท่านั้น
เราอาจรู้สึกตื่นเต้นและกังวลเหมือนเผชิญหน้าอยู่กับสิ่งอันตรายทุกครั้งที่เห็นหน้าใครคนนั้น (ที่เราเกลียด) บนโซเชียลมีเดีย ความเกลียดที่มาพร้อมกับความกลัว กระตุ้นให้สัญชาตญาณป้องกันตัวเองของเราตื่นขึ้น ขับเคี่ยวความเครียดให้เข้มข้น สงสัยระแวดระวังในทุกการกระทำของใครคนนั้น แม้ว่าเขาจะใช้ชีวิตของเขาไปตามเรื่อง ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวอะไรกับเรา หรือทำอะไรที่ออกจะเป็นแง่บวกเสียด้วยซ้ำ เราก็จะไม่วางความระวังนี้ลง แม้ฟังดูเหมือนเราจะรู้สึกเกลียดชังเขาคนนั้นอย่างเข้าไส้ แต่ทั้งหมดที่เล่ามานั้นเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในเสี้ยวความคิด และเป็นไปตามสัญชาตญาณของเราเอง
ปัญหาคือสิ่งนี้มันเกิดขึ้นเป็นงูกินหาง เมื่อเรารู้สึกไม่ดีกับใครคนนั้นไม่ว่าเพราะอะไรก็ตาม สมองของเราไม่สนใจหรอกว่าเหตุผลจะฟังขึ้นแค่ไหน มันรู้แค่ว่าสมองในส่วนอมิกดาลาถูกกระตุ้นซ้ำๆ ด้วยความไม่พอใจจนต้องเปิดโหมด fight-or-flight ไว้ก่อนไม่สนลูกใคร จนร่างกายเราจดจำไปแล้วว่าไอ้ตัวต้นเรื่องนั้นทำให้เราต้องเครียด ยิ่งเครียดยิ่งสู้ ยิ่งสู้ยิ่งเครียด ยิ่งเกลียดยิ่งรู้สึกแย่ ยิ่งแย่ก็ยิ่งเกลียดตัวต้นเรื่องที่ทำให้เราเครียด วนแบบนี้ซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ นั่นจึงอาจเป็นคำตอบว่าทำไมแค่เห็นหน้านิดเดียว เรากลับเอาเรื่องคนนั้นมาคิดซ้ำๆ ไม่มูฟออนไปไหน
ความเกลียดที่เผาไหม้ ส่งผลยังไงกับร่างกายและใจเรา
สมองเป็นอีกส่วนของร่างกายที่ใช้พลังงานมากกว่าที่เราคิด ยิ่งความเกลียดที่เป็นอารมณ์อันเข้มข้น เป็นส่วนผสมของหลายความรู้สึก ไม่ว่าจะความกลัว กังวล โกรธ อิจฉา ดูถูก รังเกียจ และอื่นๆ อารมณ์อันซับซ้อนนี้ต้องใช้พลังงานทางอารมณ์มากเป็นพิเศษ สิ่งที่ตามมาหลังจากเราเปิดโหมด fight-or-flight บ่อยเกินไป คือความเครียดเรื้อรัง และคำว่าเครียดนี้นี่แหละที่จะตามมาด้วยปัญหาอื่นๆ อย่างพฤติกรรมการกินที่เปลี่ยนไปหรือนอนไม่หลับ
ทั้งนี้ร่างกายของเราก็จะหาทางให้ความเครียดลดลง แต่หนทางที่จะเยียวยาให้กลับมาอารมณ์ดีได้นั้นมักจะเป็นพฤติกรรมที่ไม่ดีกับสุขภาพสักเท่าไร เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ การกินอาหารตามใจปาก และมีแนวโน้มที่จะปลีกตัวจากกิจกรรมที่ดูเข้าท่ามากกว่า อย่างการออกกำลังกายระบายความเครียด หรือเอาปัญหาไปปรึกษาใครสักคน
รู้อย่างนี้แล้ว ความเกลียดไหนไม่จำเป็นกับใจก็ปล่อยมันไปเถอะนะ
ทำไมเราเลือกแบกความเกลียดไว้ให้เผาใจเราเอง
เราใช้ชีวิตอยู่บนความเกลียดมานานแค่ไหนกัน เราเองก็อาจลืมมันไปแล้วว่ามันเริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่ ลืมไปเสียด้วยซ้ำว่าใครคนนั้นเคยทำไม่ดีกับเราหรือเปล่า เรารู้แค่มันเคยเกิดขึ้นด้วยสาเหตุบางอย่าง เราเชื่อในเหตุผลของตัวเองเพื่อคงความเกลียดชังนั้นไว้ โดยที่เราไม่ต้องรู้สึกผิดว่าไปเกลียดใครโดยไม่มีสาเหตุ หรือเราไม่เคยสนสาเหตุของมันกันแน่
อีกมุมหนึ่งที่เราเอาความเกลียดนั้นออกไปจากใจไม่ได้ เพราะสาเหตุของมันไม่เคยถูกแก้ไขเลย เราอาจเกลียดเขาเพราะเราไม่มั่นใจในตัวเอง เขาช่างดีพร้อมทุกอย่างจนเรารู้สึกแย่กับตัวเองเสียเอง จนไม่อยากยอมรับว่าเราเองก็อยากเป็นอย่างเขา แต่เราไม่เคยทำได้ เราอาจเกลียดเขา เพราะเขายืนอยู่ตรงข้ามกับความชอบของเรา คิดไม่เหมือนกัน ทำไม่เหมือนกัน จนรู้สึกว่าไม่อาจเข้าพวกร่วมกลุ่มกันได้เลย
เมื่อความเกลียดจุดประกายขึ้นมา เราจึงไม่ได้สนใจที่มาของมันอีกต่อไปแล้ว แค่อยากดื่มเลือดศัตรูในใจไปเรื่อยๆ เพราะทำให้เราไม่ต้องรู้สึกแย่กับตัวเอง เราเลยไม่เลือกแก้ปมที่จะต้องยอมรับว่าเขาเองไม่ได้ทำอะไรให้เราสักนิด มีแต่เราต่างหากที่อยากเห็นเขาล้มลงในสักวัน ได้แต่ให้ความเกลียดนั้นทับถม self-esteem ในใจเราไปเรื่อยๆ
หากวันนี้ค้นพบแล้วว่าความเกลียดที่เผาในใจเราไม่เคยทำให้ใครคนนั้นมอดไหม้ไปมากกว่าตัวเราเอง งั้นลองมาวางเรื่องนี้ลงทั้งหมด แล้ว ให้โอกาสตัวเองแก้ปมในใจตัวเองกันเถอะ
- ยอมรับความจริง ว่าเขาไม่เคยทำอะไรให้เรา เราเองต่างหากที่ยังรู้สึกไม่ดีกับตัวเองมากพอ หรือเหตุผลอะไรก็ตามที่ทำให้เราโทษใครคนนั้นอยู่เสมอ แกะป้ายแพะรับบาปให้ใครคนนั้นแล้วพลิกมาดูเบื้องหลังว่ามันซ่อนอะไรอยู่กันแน่ ความไม่มั่นใจ ความอิจฉา หรือแค่ความไม่เข้าพวกเท่านั้น การยอมรับความจริงจึงเป็นเหมือนกุญแจสำคัญที่ทำให้เราได้สำรวจความรู้สึกตัวเองและก้าวต่อไปได้
- รักตัวเองให้มากขึ้น เราต่างรู้ดีว่าเมื่อความเกลียดทำงาน จิตใจของเราร้อนรุ่มขนาดไหน แม้ความเกลียดชังจะมอบความสะใจให้เรา แต่มันเองก็ทิ้งร่องรอยเผาไหม้เอาไว้ไม่น้อย อย่าปล่อยให้ความรู้สึกเพียงชั่วครู่มาแลกกับสภาพจิตใจในวันนั้นของเราเอง
- ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ไม่ต้องรู้สึกแย่กับตัวเองว่าเราเกลียดใครคนนั้นมากจนต้องพบนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์เลยเหรอ เพราะอะไรที่เราแก้ไม่ได้ให้ผู้เชี่ยวชาญแก้น่ะถูกแล้ว โดยเขาจะพาเราไปสำรวจความรู้สึกตัวเองแบบมีคนนำทาง ไม่ต้องคิดสะเปะสะปะอย่างที่เคยทำ และหาทางออกให้กับความสัมพันธ์อันเป็นพิษนี้
ในวันนั้นเราอาจเคยเลือกทางออกของปัญหาด้วยอารมณ์แง่ลบ เพราะทุกอย่างมันง่ายและไม่ต้องรู้สึกแย่กับตัวเอง แต่เมื่อเรารู้แล้วว่าสิ่งที่ความเกลียดมอบให้มีแต่ความเผาไหม้ในใจเรา ไม่ได้หมายความว่าเราต้องเลือกสิ่งนั้นตลอดไป ในวันนี้ที่เรามองอะไรกว้างขึ้นแล้ววางเรื่องทุกอย่างลงได้ ไม่ถึงกับต้องกลายเป็นเพื่อนซี้แสนดีต่อใครคนนั้น แค่ปล่อยให้เขาเป็นเพียงคนหนึ่งที่ไม่ส่งผลอะไรกับใจเราเหมือนกับคนอื่นก็พอแล้ว
เราไม่ได้แค่ปล่อยใครคนนั้นออกไปจากความเกลียด แต่เราปล่อยตัวเองจากกองไฟในใจเราด้วยเหมือนกัน
อ้างอิงจาก