ตัวเลขที่น่าสนใจจากหนังสือ How We Work: Live Your Purpose, Reclaim Your Sanity, and Embrace the Daily Grind โดย ลีอาห์ ไวซ์ (Leah Weiss) บอกว่า 94% ของคนเราเนี่ย เครียดกับงานอยู่เป็นประจำ และอีกจำนวนไม่น้อยที่บอกว่า ไม่ได้แค่ระดับเครียดธรรมดา แต่เครียดเอามากๆ เราเลยได้เห็นหลายบริษัท คอยเสิร์ฟทุกสรรพสิ่งที่ช่วยสร้างความบันเทิงเริงใจให้กับพนักงาน ตั้งแต่สภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี หน้าตาสวยงาม มีสิ่งอำนวยความสะดวก อาหารเครื่องดื่มครบครัน พื้นที่พักผ่อนที่รองรับทุกคน
ฟังดูแทบจะไม่ใช่ออฟฟิศแล้ว แทบจะเป็นสวรรค์บนดินแล้ว คงจะดีไม่น้อยที่บริษัทใส่ใจกับความสุขของพนักงานขนาดนี้ แต่ทว่า เอ็มม่า บรุดเนอร์ (Emma Brudner) ฝ่ายบุคคลจาก Reggora กระซิบมาว่าการคอยวิ่งไล่ตามความสุขของพนักงานไปเรื่อยๆ อาจไม่ใช่วิถีทางที่ดีสำหรับองค์กรเท่าไหร่นัก เพราะองค์กรใส่ใจความสุขของพนักงาน มักจะเอาคำว่า ‘ความสุข’ เป็นที่ตั้งมากเกินไป เพราะตัวความสุขเองนั้น มันไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ให้เราคอยเติมมันให้เต็มได้ง่ายๆ เหมือนเติมน้ำมัน
เพราะความสุขของแต่ละคนนั้นไม่ได้เหมือนกันทั้งหมด (และอาจจะไม่เหมือนกันเลยสักนิด) คนนึงอาจจะอยากได้ออฟฟิศสวยๆ สภาพแวดล้อมเป็นใจให้ทำงาน อีกคนอาจจะอยากได้พื้นที่ไว้เดินเล่น ผ่อนคลาย อีกคนอาจจะอยากได้เครื่องดื่มยามบ่ายที่ครบครัน คงต้องเดินไล่ถามทุกโต๊ะว่าพวกเขาต้องการอะไร แล้วสร้างมันขึ้นมาพร้อมๆ กัน พนักงานจึงจะมีความสุข ‘ทุกคน’ จริงๆ แน่นอนว่าในความจริงเราอาจทำแบบนั้นไม่ได้
และที่สำคัญ ความสุขของแต่ละคนอาจเปลี่ยนไปได้ทุกวัน วันนี้มีความสุขกับการได้ถ่ายรูปมุมสวยๆ ในออฟฟิศ พรุ่งนี้อาจจะอยากได้โซฟาแสนสบายที่ออฟฟิศไม่มี หากเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ องค์กรจะวิ่งไล่ตามความสุขของพนักงานไปเรื่อยๆ หรือเปล่า แล้วมันจะไปจบลงที่ไหนกัน แต่นี่ก็ไม่ใช่ว่าจะต้องไม่ให้อะไรเลยกับพนักงาน สิ่งที่กล่าวมาก็ยังคงเป็นความสะดวกสบาย เป็นสวัสดิการ ที่พนักงานควรได้ แต่ไอเดียของเรื่องนี้ คือ ไม่ควรวิ่งไล่ตามเพื่อปรนเปรอความสุขของพนักงานจนเกินไป
สิ่งที่เอ็มม่าแนะนำให้ไปโฟกัสมากกว่า คือ การเติมเต็ม
การเติมเต็มที่ว่ามีใจความสำคัญอยู่ 2 อย่าง คือ บริษัทสามารถเป็นแบบที่คาดหวังไว้ในตอนสัมภาษณ์ และ พนักงานเรียนรู้และเติบโตขึ้น แต่ก็ต้องเติมดอกจันตัวใหญ่ๆ ไว้ว่า การเติมเต็มก็เป็นเรื่องปัจเจกเช่นกัน อยู่ที่ว่าพนักงานต้องการถูกเติมเต็มในด้านไหนมากกว่า ต้องการให้องค์กรช่วยเหลือ สนับสนุนเขาในด้านใด
เอ็มม่ามองว่า ไอเดียของความสุขจะอยู่กับพนักงานเพียงระยะสั้นๆ พนักงานสามารถมีความสุขในชั่วครู่ และมันสามารถหายไปได้ แต่การเติมเต็มนั้น สิ่งนั้นจะอยู่กับพนักงานได้ยั่งยืนมากกว่า แม้การเติมเต็มนั้นอาจทำให้พนักงานรู้สึกไม่มีความสุขอยู่บ้างในบางครั้ง ที่ต้องเติบโตและเรียนรู้หน้าที่ที่ก้าวขึ้นไปอีกขั้น ซึ่งดีกับทั้งตัวพนักงานและองค์กรด้วย
สิ่งที่ต้องโฟกัสในเชิงนโยบายขององค์กร จึงไม่ใช่แค่การไล่ตามความสุขของพนักงาน ว่าพวกเขาต้องได้ทุกอย่างที่อยากได้ มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน แต่ควรเป็นการเติมเต็ม ที่องค์กรเองต้องรักษาสัญญาที่เคยให้ไว้ในตอนสัมภาษณ์ ก่อนที่พวกเขาจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเรา เราเคยเสนอ เคยหยิบยื่นอะไรให้ เมื่อเขาก้าวเข้ามาแล้วก็ต้องเติมเต็มสิ่งนั้นให้ได้ และการสนับสนุนให้พนักงานเรียนรู้และเติบโตอยู่เสมอ
เราเลยไม่ควรยิงคำถามในเชิงว่า “คุณมีความสุขในที่ทำงานไหม?” เพื่อฟังเสียงพนักงาน ลองเป็นคำถามเหล่านี้ดูสิ
- คุณมีแนวโน้มจะแนะนำบริษัทนี้กับผู้อื่นมากแค่ไหน?
- คุณเติบโตแค่ไหนในหน้าที่ของคุณในบริษัท?
- สิ่งที่คุณคาดหวังไว้ตอนสัมภาษณ์กับความเป็นจริง มันไปด้วยกันหรือเปล่า?
ยังคงมีสิ่งอื่นๆ ที่สามารถเติมเต็มพนักงานได้เช่นกัน อย่าง การจัดลำดับความสำคัญของงาน ค่าตอบแทนที่เหมาะสม วัฒนธรรมองค์กรที่ดี เป็นต้น การมีความสุขกับสิ่งที่ยั่งยืนอาจช่วยให้องค์กรได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากพนักงาน มากกว่าการโฟกัสแต่ความสุขเพียงอย่างเดียว
อ้างอิงข้อมูลจาก