ปัญหาอ่านช้า อ่านไม่ตอบ ได้แต่นั่งคอยว่าอีกฝั่งเขาทำอะไรอยู่นะ จะตอบกลับมาเมื่อไหร่ ไม่ได้มีแค่ในความสัมพันธ์โรแมนติก ในความสัมพันธ์ชาวออฟฟิศก็มีสิ่งนี้เกิดขึ้นเช่นกัน พูดคุยทวงถามถึงงานแต่ละครั้ง ส่งไปตั้งนาน ยังไม่เปิดอ่านสักที แล้ววันนี้จะได้งานหรือเปล่านะ เป็นแบบนี้มากๆ เข้าก็กดดันกันทั้งคนส่งและคนรับ อีกฝั่งก็เฝ้ารอคำตอบ อีกฝั่งก็เป็นท้อ ต้องตอบทุกคนให้ไวดั่งใจ เห็นแจ้งเตือนทีไรก็ผวา กลัวตอบช้าแล้วอีกฝั่งจะรอนาน
หากเป็นในที่ออฟฟิศที่เรายังพอเจอหน้ากันได้ ปัญหานี้คงแก้ได้ด้วยการลุกไปถามเจ้าตัวแบบได้คำตอบจากปาก ไม่ต้องรอคำตอบอยู่ที่หน้าจอ แต่โลกการทำงานที่เปลี่ยนไป ออฟฟิศส่วนใหญ่มีนโยบายให้พนักงานทำงานที่บ้านมากันสักพัก ไม่ว่าจะ Hybrid Work ที่ให้พนักงานเลือกเข้าออฟฟิศในบางวัน หรือจะ Remote Work ที่ให้ทำงานจากที่บ้านแบบเต็มตัว สิ่งนี้นี่แหละที่ทำให้เรายังคงต้องคอยคำตอบหน้าจอในวันทำงานอยู่เสมอ ยิ่งไปกว่านั้น หากเราอยู่ในองค์กรระหว่างประเทศ ที่ต้องติดต่อกับผู้คนจากทั่วทุกมุมโลก ไทม์โซนที่ไม่ตรงกันอาจทำให้เรามีเวลาพูดคุยกันไม่กี่ชั่วโมง นั่นยิ่งทำให้เดดไลน์คำตอบยิ่งสั้นลง
ผลสำรวจจาก McKinsey & Company บริษัทให้คำปรึกษาด้านการจัดการ บอกว่า พนักงานต้องการความยืดหยุ่นในเวลาทำงาน มากกว่าความยืดหยุ่นในสถานที่ โอเค พวกเขาก็มีความสุขกับการทำงานแบบ Remote Work มีความโปรดักทีฟ มีความสุขมากขึ้น แต่พวกเขาก็ต้องการความยืดหยุ่นในการจัดการเวลามากขึ้นด้วยเช่นกัน
ตราบใดที่ยังต้องทำงานที่บ้าน ปัญหาจะไม่ได้หยุดอยู่แค่ความเบื่อหน่ายที่ต้องรอคำตอบหน้าจอ เมื่อต้องย้ายการทำงานไปไว้ที่บ้าน โดยยึดชั่วโมงการทำงานแบบ 9-5 เหมือนอยู่ที่ออฟฟิศ แต่ออฟฟิศก็คือออฟฟิศ บ้านก็คือบ้าน เมื่อถูกผนวกเข้าด้วยกันมันไม่ได้ง่ายเหมือนจับวางอย่างที่ตั้งใจไว้ บางครอบครัวมีลูกเล็ก บางครอบครัวมีพ่อแม่พี่น้องอาศัยอยู่ใต้ชายคาเดียวกัน รับผิดชอบงานแล้วก็ต้องรับผิดชอบงานบ้าน สารพัด Task ปะปนอยู่ในหัวไม่ว่างเว้น อะไรเหล่านี้ทำให้พวกเขาต้องคอยปรับชีวิตให้เข้ากับการทำงาน และจบลงที่การทำงานในช่วงเวลาแปลกประหลาด อย่างการทำงานในช่วงเช้า ดูแลลูกเล็กในช่วงบ่าย และกลับมาทำงานอีกทีในช่วงเย็น
ทีนี้ เราอาจจะพอเห็นภาพแล้วว่า การทำงานจากที่ไหนก็ได้ อาจไม่ใช่ความยืดหยุ่นเดียวที่เราแสวงหาอีกต่อไป สิ่งที่พวกเขาต้องการคือ การจัดการงานให้เข้ากับชีวิตของพวกเขามากกว่า
ยังไงก็ตาม ปัญหานี้ไม่เกิดขึ้นกับ แมต มุลเลนเวก (Matt Mullenweg) CEO ของ Automattic ผู้อยู่เบื้องหลังการทำงานของ WordPress.com ด้วยการทำงานที่ต้องติดต่อสื่อสารกับพนักงานในหลายประเทศ ทำให้ปัญหาในการคาดหวังคำตอบจากคนละไทม์โซนกลายเป็น pain point เขาจึงได้หยิบเอาความยืดหยุ่นมาเป็นคีย์หลักในการดูแลพนักงานตั้งแต่ปีค.ศ. 2005 (การทำงานที่บ้านในช่วง pandemic จึงไม่ได้ส่งผลกระทบเท่าไหร่นัก) เพื่อให้พนักงานของเขานั้น สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ ในช่วงเวลาใดก็ได้ ด้วย ‘Asynchronous Work’
อธิบายให้ง่ายที่สุด ‘Asynchronous Work’ คือ การทำงานแบบร่วมกัน พูดคุยสื่อสารกัน ในช่วงเวลาของตัวเอง โดยไม่คาดหวังอีกฝ่ายจะต้องตอบสนองเราในทันที การทำงานในรูปแบบนี้ จึงไม่ได้บังคับให้พนักงานทุกคนต้องมาออนไลน์พร้อมกัน หรือประชุมในเวลาเดียวกันอย่างสม่ำเสมอ โดยไม่สนใจไทม์โซนของแต่ละคน
แล้วมันจะช่วยให้เราทำงานจากที่ไหนก็ได้ ในเวลาไหนก็ได้ ได้อย่างไร?
ก่อนอื่นเราก็ต้องสร้างวิธีการทำงานที่เอื้ออำนวยให้เราสามารถสื่อสารกันแบบ ‘Asynchronous Work’ ได้ ก็คือการทำงานที่สามารถปล่อยให้พนักงานแต่ละคน ไปทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างอิสระ ขอเพียงแค่คงคุณภาพของงานและตรงตามเวลาที่กำหนด เช่น การประชุมเพียงครั้งเดียวต่อสัปดาห์ โดยแจกแจงงานอย่างละเอียด หรือกำหนดไทม์ไลน์การทำงานอย่างชัดเจนว่า ต้องการชิ้นนี้หรือเห็นขั้นตอนนี้เสร็จเรียบร้อยในเวลาใด ที่เหลือก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของพนักงานไปรับผิดชอบงานของตัวเอง
กุญแจสำคัญก็คือ ‘ความไว้เนื้อเชื่อใจ’ ที่จะทำให้องค์กรเองสามารถปล่อยวางให้พนักงานของตัวเองนั้น ทำงานตามขั้นตอนของตัวเองอย่างอิสระ การทำงานแบบ ‘Asynchronous Work’ จึงช่วยลดปัญหาของการเฝ้ารอคำตอบหน้าจอ ในช่วงทำงานที่บ้านอย่างง่ายที่สุด ด้วยการติดต่อกันเท่าที่จำเป็น ปล่อยให้แต่ละคนทำงานของตัวเองอย่างอิสระ ไม่ต้องมาเฝ้ารอว่าต้องคอยเข้าประชุมเวลานี้เป็นประจำทุกวัน ต้องคอยตอบทุกคำถามที่ต่อคิวยาวเหยียดในช่องแชต จนไม่เป็นอันทำอย่างอื่น มันจึงช่วยให้เราสามารถโฟกัสกับงานในมือได้มากขึ้น ด้วยการลดการสื่อสารที่ไม่จำเป็นลง ทำให้เราสามารถเลือกเวลาทำงานที่เหมาะสมกับชีวิตประจำวันของเราได้ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องไทม์โซนในการติดต่อกัน
ถามว่า ‘Asynchronous Work’ เหมาะกับบริษัททุกที่เลยหรือเปล่า? ก็คงไม่ใช่ แต่เหมาะที่สุดก็คงเป็นบริษัทระหว่างประเทศ ที่ต้องอาศัยการทำงานแบบพูดคุยกับผู้คนในประเทศอื่นๆ ที่อาจจะอยู่กันคนละไทม์โซน การส่งข้อความไปขอประชุมหรือทวงถามงานในตอนบ่ายของเรา อาจเป็นห้าทุ่มของที่นั่น คงไม่ใช่เรื่องดีสำหรับอีกฝ่ายเท่าไหร่นัก ‘Asynchronous Work’ จึงต้องเข้ามาช่วยให้ทุกฝ่าย สามารถทำงานของตัวเองในเวลาที่เหมาะสม ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับเนื้องาน รูปแบบการทำงาน วัฒนธรรมองค์กร ว่าจะเอื้ออำนวยให้สามารถทำได้มากแค่ไหน ควรเลือกรูปแบบการทำงานให้เหมาะสมกับองค์กรด้วย
หากความไว้เนื้อเชื่อใจให้พนักงานทำงานได้อย่างอิสระ เป็นกุญแจสำคัญของบริษัท นั่นหมายความว่า ความรับผิดชอบก็เป็นกุญสำคัญของพนักงานด้วยเช่นกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก