ลองนึกภาพทีมกำลังประชุมกันพร้อมหน้า เจ้านายเข้ามาพร้อมกับคำชมสำหรับคนที่ผลงานโดดเด่น แล้วเก็บคำติเอาไว้คุยส่วนตัวกับคนที่ทำพลาด กับเจ้านายที่เข้ามาพร้อมคำด่ากราด ใครผิดมากผิดน้อยแค่ไหน แจกแจงให้รู้โดยทั่วกัน คำชมหรอ อย่าหวังจะได้ยิน คิดว่าคนอยากทำงานกับเจ้านายแบบไหนมากกว่ากัน?
ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ใครๆ ต่างอยากได้รับคำชื่นชม โดยเฉพาะจากเจ้านาย เพราะนั่นหมายความว่าเราทำงานได้ดีเข้าตา และไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ไม่มีใครอยากโดนด่าด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะต่อหน้าเพื่อนร่วมงานหรือในที่สาธารณะ เพราะมันหมายถึงการไม่เคารพ ไม่ให้เกียรติกัน เราจึงมักได้ยินคำว่า “Praise in Public; Criticize in Private” เป็นคติที่คอยเบรคไม่ให้เจ้านายตะบี้ตะบันด่าลูกน้องในทุกครั้งที่อยากทำ
ผลสำรวจจาก The American Institute of Stress บอกว่า คนทำงานกว่า 29% ถูกตะคอก ขึ้นเสียงเพราะความเครียดในที่ทำงาน และอีก 42% ก็เคยตะคอกใครสักคนในที่ทำงานเพราะความเครียดเช่นกัน เรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นปัญหาที่หลายคนน่าจะเจอกันมาบ้างแล้ว หากเป็นการรับมือกับเพื่อนร่วมงาน อาจจะมีทางที่สามารถตกลงกันได้ โดยไม่มีอำนาจใดๆ มาค้ำคอ แต่พอเป็นเจ้านายหรือหัวหน้าแล้ว การรับมือก็ยากขึ้นมาอีกระดับ
Praise in Public; Criticize in Private จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจง่าย หากได้รับคำชม โดยเฉพาะคำชมที่ใครๆ ก็ได้รับรู้ร่วมกัน ช่วยเพิ่ม self-esteem ให้กับเหล่าคนทำงาน ในทางกลับกัน การถูกด่าทอหรือพูดความผิดพลาดต่อหน้าคนอื่น ก็เป็นการลด self-esteem ของอีกฝ่าย หากถูกพูดด้วยอารมณ์และคำพูดที่รุนแรง อาจลามไปถึงการลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ของอีกฝ่ายด้วย จึงเป็นสภาพแวดล้อมในฝันร้ายที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นกับตัวเอง
นอกจากนั้นยังมีคำพูดที่ไม่น่าฟังในอีกหลายกรณี เช่น การถูกกระแนะกระแหน เสียดสี แม้จะด้วยคำที่สุภาพทุกคำ แต่ก็ไม่ช่วยให้มันน่าฟังมากขึ้นเท่าไหร่นัก การรับมือกับสิ่งนี้จึงไม่ใช่การรับมือกับระดับของความหยาบคายว่าเรารับได้แค่ไหน กับคำไหน แต่มันคือการรับมือกับอารมณ์ที่แฝงมาอยู่กับความร้ายกาจของคำพูดเหล่านั้น
แม้ไม่อยากให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นกับเราแค่ไหน แต่ในการทำงาน เราไม่อาจรู้ได้ว่าเรื่องเหล่านี้จะเกิดขึ้นกับตัวเราเมื่อไหร่ มาดูกันว่า ถ้าเราต้องเผชิญกับการด่าทอต่อหน้าผู้อื่นเราจะรับมือกับเรื่องนี้ได้อย่างไรบ้าง
ยิ่งแรงมายิ่งอ่อนกลับไป
เมื่อเรารู้อยู่แล้ว่วา คำพูดแสนร้ายกาจของเขา สร้างความเจ็บปวดได้มากแค่ไหน เราไม่จำเป็นต้องเกรี้ยวกราดตามเขาไปด้วย เพราะอาจยิ่งทำให้เรื่องไปกันใหญ่ เขาอาจจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ได้ ว่าตัวเองกำลังใช้คำพูดผิดที่ผิดทาง แต่เขาสัมผัสได้แน่นอนถ้าหากเขาเป็นฝ่ายถูกกระทำ และเรื่องจะกลับตาลปัตรกลายเป็นความไม่สุภาพของเราเสียเอง
ลองตอบกลับไปด้วยความสุภาพ ให้เขาเห็นอย่างชัดเจนว่า เรากำลังใจเย็นและควบคุมทุกอย่างให้มันอยู่ในโทนที่ไม่เกรี้ยวกราด เขาจะรู้ตัวเมื่อบรรยากาศนั้นขัดกับกับสิ่งที่เขากำลังแสดงออกไป
คิดไว้เสมอว่าเรากำลังอยู่ท่ามกลางพยาน
อย่าเพิ่งคิดว่าเรากำลังโดดเดี่ยว ไม่ว่าเรากำลังโดนอะไรอยู่ มีคนรู้คนเห็นอย่างแน่นอน แม้คนอื่นจะไม่ได้โดนด่าไปพร้อมกับเรา แต่เราก็มีพยานมากพอที่จะยืนยันกับ HR หรือคนที่มีตำแหน่งสูงกว่าได้ว่า เจ้านายของเรากำลังมีพฤติกรรมแบบไหน เพราะเสียงของคนหลายคนที่มีประสบการณ์ร่วมกัน ย่อมมีน้ำหนักมากกว่าเสียงของเราคนเดียวแน่นอน
รายงานเรื่องนี้กับผู้มีอำนาจโดยตรง
หากไม่อยากต้องมานั่งเล่นเกมการเมืองในออฟฟิศ ไม่อยากทำให้มันกลายเป็นสงครามประสาท การไปรายงานเรื่องนี้กับคนที่มีอำนาจโดยตรงก็เป็นอีกทางเลือกที่ดี อาจจะเป็น HR หรือคนที่มีตำแหน่งสูงกว่า หากมีคนร่วมชะตากรรมไปยืนยันด้วยย่อมช่วยให้คำพูดของเรามีน้ำหนักมาขึ้น
แต่ถ้าหากเราฉายเดี่ยวก็ใช่ว่าจะฟังไม่ขึ้นเสมอไป อย่างน้อยก็เป็นการเปิดแผลให้กับเรื่องนี้ว่ากำลังมีคนที่เดือดร้อนอยู่จริงๆ
แม้จะเกิดความผิดพลาดขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องถูกตราหน้า ลดคุณค่า ต่อหน้าผู้อื่น เพื่อชดเชยกับความผิดที่เราได้ทำลงไป ในทางกลับกัน เจ้านายที่ฉลาดทางอารมณ์มากพอ จะรู้ว่าควรหยิบเรื่องไหนมาพูดในที่ลับหรือในที่แจ้ง
อ้างอิงจาก