ท่ามกลางความวุ่นวายและเร่งรีบในโลกการทำงานปัจจุบัน แน่นอนว่าการตั้งใจทำงานหนัก จะสามารถพัฒนาความสามารถ พร้อมกับทักษะหลากหลายในการทำงาน และพาเราไปถึงจุดหมายที่ใฝ่ฝันไว้ได้ แต่รู้ไหมว่า ‘ความขี้เกียจ’ ก็อาจมีผลดีกับการทำงานของเราได้เช่นกัน วันนี้ The MATTER ชวนเข้าใจข้อดีของความขี้เกียจ ที่อาจมีประโยชน์มากกว่าที่เราคิด!
เราสรุปมาให้เป็นข้อๆ ดังนี้นะ
1 ความขี้เกียจอาจทำให้เราสนใจเป้าหมายระยะยาวได้ดีขึ้น
หนึ่งในคำอธิบายของประเด็นดังกล่าวคือ เมื่อเราปล่อยให้จิตใจล่องลอยนั้น เราจะคิดถึงอนาคตและเป้าหมายระยะยาวของเราบ่อยกว่าเวลาเราบังคับตัวเองให้เพ่งสมาธิถึง 14 เท่า! ในงานวิจัยเกี่ยวกับการปล่อยวาง ที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Consciousness and Cognition ระบุว่าความคิดที่ไม่เกี่ยวข้องกับงาน ซึ่งมักเกิดขึ้นในระหว่างที่เราพักผ่อน หรือทำงานแบบไม่ใช้สมาธิมากนัก ทำให้เราสามารถจัดการเป้าหมายระยะยาวได้ดีขึ้น
พูดง่ายๆ ก็คือในขณะที่เรากำลังขี้เกียจและปล่อยวางจากปัจจุบันนั้น เราจะมีพื้นที่ในการพิจารณาผลตอบแทนทางเศรษฐกิจจากการทำงาน ที่สอดคล้องเป้าหมายส่วนตัวได้มากขึ้น
2 บางคนอาจตั้งใจขี้เกียจและผัดวันประกันพรุ่ง เพราะชอบทำงานภายใต้ความกดดันมากกว่า
อีกหนึ่งสาเหตุคือ ความขี้เกียจอาจเป็นหนึ่งในรูปแบบของการผัดวันประกันพรุ่งเชิงรุก (Active procrastination) โดยงานวิจัยจาก The Journal of Social Psychology ระบุว่าพฤติกรรมการผัดวันประกันพรุ่งไม่ได้นำไปสู่ผลเสียซะทั้งหมด! โดยการผัดวันประกันพรุ่งเชิงรุกนั้น มีความหมายในเชิงบวก ในแง่ที่เป็นพฤติกรรมของผู้ที่ชอบทำงานภายใต้ ‘ความกดดัน’ ทำให้เขาตั้งใจผัดวันประกันพรุ่ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของตัวเองนั่นเอง
3 การปล่อยให้ตัวเองพักบ้าง สามารถป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในอนาคตได้
อีกหนึ่งประเด็นที่มองข้ามไม่ได้เลย คือความขี้เกียจก็มีผลดีต่อสุขภาพจิตของเรา โดยการทำงานในเงื่อนไขการทำงานที่ไม่เหมาะสม ซึ่งรวมถึงความกดดันและภาระงานที่หนักเกินไป อาจนำไปสู่ ‘ภาวะหมดไฟ’ (Burnout) ที่ทำให้เราเหนื่อยล้า ไม่มีพลังกายและใจในการทำงาน นำไปสู่ความเย็นชา และความรู้สึกเมินเฉยต่องานที่ทำ จนทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง และเกิดปัญหาสุขภาพจิตหลายประการ
4 ความขี้เกียจกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ของเราได้!
ฟังแล้วอาจจะไม่น่าเชื่อ แต่บทความจากสถาบัน INSEAD (Institut Européen d’Administration des Affaires) เสนอว่า ‘การไม่ทำอะไรเลย’ ซึ่งเชื่อมโยงกับการไตร่ตรองและสำรวจตัวเอง สามารถสร้างภาวะทางจิตใจที่หล่อเลี้ยงจินตนาการของเรา อีกทั้งการทำตัวให้ยุ่งอยู่ตลอดเวลา อาจกดความรู้สึกหรือความกังวลที่แท้จริงของเราไว้ และขัดขวางความคิดสร้างสรรค์อันเป็นอิสระของเรา
เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่อธิบายว่า ทำไมความขี้เกียจก็มีผลดีกับการทำงานของเราได้ แต่เราต้องไม่ลืมว่าไม่ใช่ทุกคน ที่จะสามารถทิ้งภาระหน้าที่ของตัวเองเพื่อพักผ่อนได้อย่างง่ายดาย ด้วยเงื่อนไขทางสังคมและเศรษฐกิจอะไร ที่ไม่ปล่อยให้เราได้ขี้เกียจหรือพักผ่อน เพื่อสร้างชีวิตการทำงานที่สมดุล และเสริมสร้างสุขภาพกายและใจที่แข็งแรง?
อ้างอิงจาก