การใช้ชีวิตคือการบาลานซ์หลากหลายแง่มุมของมันให้พอดีกับตัวเราเองมากที่สุด
ไม่ว่าจะงาน การพักผ่อน ครอบครัว สุขภาพจิต ความสัมพันธ์ ฯลฯ ซึ่งหลายครั้ง บางมิติของชีวิตอาจหนักหนาขึ้นกว่าปกติ งานอาจหนักกว่าช่วงอื่นเพราะรับโปรเจ็กต์ใหม่มา สุขภาพจิตของเรากำลังย่ำแย่ หรือที่บ้านเราอาจมีปัญหา ชีวิตเรียกร้องการบาลานซ์ใหม่เสมอ
คำถามถัดมาคือเมื่อเราต้องบาลานซ์ชีวิตใหม่ตามสถานการณ์ ถ้าเรื่องส่วนตัวของเราต้องการความสนใจมากกว่าที่เคย เราควรเปิดเผยให้หัวหน้าและที่ทำงานของเรารึเปล่า? บอกไปจะได้อะไร? และถ้าบอกจริงๆ มันจะไปกระทบกับ ‘ความเป็นมืออาชีพ’ ในการทำงานของเราหรือเปล่า?
ไม่ว่าเราจะเป็นใครที่บ้านหรือที่ทำงาน แต่สิ่งที่เราเป็นอย่างปฏิเสธไม่ได้คือมนุษย์ ไม่ว่าจะใส่หมวกใดอยู่ในช่วงเวลาไหน
หากเราต้องซ่อมรถโดยเปลี่ยนแค่ยางอย่างเดียวโดยไม่ถ่ายน้ำมันเครื่องหรือเปลี่ยนโช๊ค รถคันนั้นคงวิ่งได้ไม่นานและดีเท่าที่ควร เพราะทุกอย่างมีความเชื่อมโยงต่อกันและกัน มนุษย์เองก็ไม่ต่างจากสิ่งอื่นในโลกตรงที่เขาต้องการการซ่อมบำรุงในหลากหลายส่วน และหากเราดูแลมิติต่างๆ แยกกันโดยสิ้นเชิง อาจไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพของเราที่สุด
เส้นแบ่งระหว่างเรื่องส่วนตัวและการงานไม่ได้ห่างไกลเท่าที่เราถูกทำให้เชื่อ แน่นอนว่าช่องว่างเหล่านั้นมีอยู่ เช่นการไม่ใช้อารมณ์ความรู้สึกส่วนตัวตัดสินใจในการทำงานมากกว่าเหตุผลหรือระบบการทำงาน หรือการจัดระดับความสัมพันธ์ระหว่างคนในออฟฟิศเองก็คือหนทางของการคงไว้ซึ่งช่องว่างตรงนั้นเพื่อการทำงานอย่างราบรื่นที่สุด
แต่หากมองมุมกลับแล้ว การไม่นำเรื่องส่วนตัวเข้าสู่ที่ทำงานเลยโดยสิ้นเชิงนั้นก็อาจก่อความไม่ราบรื่นได้เช่นกัน ในงานวิจัยเกี่ยวกับปัจจัยที่กระทบสมรรถภาพการทำงานของพนักงานธุรกิจธนาคารภายปากีสถานโดยนักวิจัยจากสถาบัน COMSATS ปากีสถานกล่าวว่า หนึ่งในปัจจัยใหญ่ที่กระทบต่อสมรรถภาพการทำงานคือปัญหาส่วนตัว โดยผู้วิจัยตั้งสมมติฐานว่า พนักงานที่ได้รับผลกระทบมาจากปัญหาครอบครัวหรือสภาพจิตใจไม่ดีจะไม่อาจทำงานได้อย่างเต็มที่ได้ และผลการวิจัยพบความเชื่อมโยงของทั้งสองอย่างจริง
หนึ่งในเหตุผลที่พนักงานอาจไม่แชร์เรื่องส่วนตัวอาจมีส่วนมาจากความเชื่อว่าการไม่แยกเรื่องส่วนตัวและงานออกจากกันคือความไม่เป็นมืออาชีพ แต่จริงรึเปล่า?
“เป็นที่เข้าใจทั่วกันว่าความเป็นมืออาชีพคือความสามารถในการอยู่ในกรอบของมาตรฐาน จรรยาบรรณ หรือคุณค่าที่เป็นที่ยอมรับในกิจกรรมหรืองานนั้นๆ” องค์กร Universities UK ให้ความหมายแก่ความเป็นมืออาชีพ (Professionalism) ไว้ ซึ่งแปลว่าความเป็นมืออาชีพนั้นไม่ได้เกิดขึ้นและมีอยู่ด้วยตัวของมันเอง แต่ขึ้นอยู่กับบรรทัดฐานบางอย่างรอบๆ ตัวมัน ไม่ว่าจะจรรยาบรรณวิชาชีพหรือวัฒนธรรมองค์กร
นั่นอาจแปลว่าความหมายของการเป็นมืออาชีพอาจเปลี่ยนไปตามกาลเวลาและบริบทได้ บริษัทสมัยใหม่จำนวนมากเริ่มให้ความสำคัญสุขภาพจิตพนักงานและมุ่งเน้นการสร้างความสัมพันธ์ภายในออฟฟิศมากขึ้น อาจผ่านการปรับวัฒนธรรมองค์กร สวัสดิการและนโยบายที่ครอบคลุมเรื่องปัญหาสุขภาพจิต หัวหน้าที่เข้าใจ ฯลฯ เช่นนั้นแล้วในปัจจุบันความหมายของ ‘ความเป็นมืออาชีพ’ อาจไม่ได้แปลว่าการละทิ้งความเป็นมนุษย์เอาไว้เมื่อเข้างานแล้วก็ได้
ยกตัวอย่างเช่น สมชายกำลังอยู่ในช่วงการสร้างบ้านหลังใหม่กับครอบครัว ความเครียดเรื่องการเงินเกิดขึ้นพร้อมกับความต้องการที่แตกต่างกันระหว่างสมาชิกในบ้านที่วิวัฒนาการกลายเป็นการทะเลาะกันทุกครั้งที่เจอหน้ากัน แปลว่าหลังจากเลิกงานกลับไปบ้านเขาไม่มีโอกาสพักผ่อนจิตใจเลย แต่ในขณะนั้น หัวหน้าเดินเข้ามาหาพร้อมกับโปรเจ็กต์ใหม่ที่เขาจะได้เป็นผู้นำโปรเจ็กต์พอดี
ตัวเลือกแรกของสมชายคือการรับโปรเจ็กต์นั้นมาโดยไม่มีคำถามใดๆ เพิ่มเติม ทุกอย่างอาจเป็นไปอย่างราบรื่นก็ได้ แต่โหลดงานที่เพิ่มขึ้นพร้อมปัญหาส่วนตัวอาจหนักอึ้งอาจนำไปสู่คุณภาพงานที่ต่ำลง หรือย่ำแย่กว่านั้นอาจนำไปสู่ภาวะเบิร์นเอาต์ได้กลางโปรเจ็กต์ที่อาจนำไปสู่การต้องจัดการโครงสร้างและแผนงานใหม่ และภาวะนี้ไม่ได้อยู่กับเราแค่ชั่วครู่ชั่วคราว แต่อยู่ยาวนานได้เป็นปีๆ เลยทีเดียว
อีกตัวเลือกคือการปรึกษาหัวหน้าว่าในตอนนี้สมชายกำลังเจออะไรอยู่บ้าง และอาจไม่สามารถรับโปรเจ็กต์นี้ในฐานะผู้นำโปรเจ็กต์ได้ แต่สามารถช่วยเล็กๆ น้อยๆ ได้ตามที่เขาจะรับได้ในขณะนี้ ส่งผลให้หัวหน้าวางแผนใหม่โดยคำนึงถึงปัจจัยนอกเหนือจากในที่ทำงาน นี่เองก็อาจแปลได้ว่าสมชายมีความเป็นมืออาชีพในรูปแบบหนึ่งได้หรือเปล่า? ฉะนั้นแล้วแต่สถานการณ์ การบอกเรื่องส่วนตัวอาจแก่หัวหน้าอาจส่งผลดีในระยะยาวกว่าก็เป็นได้
แต่ความเป็นมืออาชีพก็ไม่ใช่สิ่งเดียวที่ค้ำคอไม่ให้เราพูดเรื่องส่วนตัวกับที่ออฟฟิศ แต่อีกสิ่งอาจเป็นความรู้สึกทำตัวไม่ถูกทั้งจากตัวพนักงานเองและหัวหน้าด้วย จะบอกยังไง? ต้องบอกแค่ไหน? ถ้าคำตอบที่เขาให้มันทำให้ทุกอย่างแย่กว่าเดิมล่ะ? ฯลฯ
ในการแจ้งปัญหาส่วนตัวให้แก่หัวหน้าอาจมีข้อที่ต้องคำนึงอยู่บ้าง ปัจจัยใหญ่ๆ ที่ต้องคิดถึงคือบริษัทสามารถสนับสนุนอะไรเราได้บ้างตามนโยบาย อย่าง Google มีนโยบายในการสนับสนุนพนักงาน เช่น การจัดกิจกรรม T.E.A. Check-ins ที่สร้างโฟกัสระหว่างวันทำงานของพนักงาน มีวัฒนธรรมองค์กรให้ตัดขาดจากงานเมื่ออยู่นอกเวลางานหรือเวลาที่เลือกจะไม่ทำงานที่พนักงานกำหนดเอง และหัวหน้าจะเป็นคนที่เข้าหาพนักงานเพื่อถามเกี่ยวกับความเป็นอยู่ที่ดีของพวกเขาเองเวลาคุย 1:1 เพื่อส่งเสริมการเปิดกว้างเรื่องส่วนตัวเท่าที่ต้องการเปิด การรู้เรื่องเหล่านี้ก่อนเข้าหาหัวหน้าอาจนำไปสู่การคิดแก้ปัญหาร่วมกัน
เชลลี่ เซลิส (Shelley Zalis) ซีอีโอของ The Female Quotient บริษัทบริการด้านการเป็นที่ปรึกษาธุรกิจที่มุ่งเน้นการสร้างความเท่าเทียมแก่ผู้หญิงในที่ทำงานเขียนในบทความเกี่ยวกับวิธีการบอกหัวหน้าเกี่ยวกับปัญหาส่วนตัว โดยเธอให้คำแนะนำ 5 ข้อ
ข้อแรกคือคิดก่อนว่าจากปัญหาที่เจออยู่นั้นมีทางออกแบบไหนได้บ้าง ข้อที่ 2 คือในขณะนี้สิ่งที่ต้องการที่สุดคืออะไร โดยเธออธิบายว่าในขณะที่การเคลียร์ทุกอย่างให้เสร็จมากที่สุดเป็นเรื่องสำคัญ สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือความต้องการที่แท้จริงภายในใจของพนักงานขณะนั้น
ข้อที่ 3 เธอเสนอว่าให้พนักงานเปิดเผยจากใจได้ โดยเธอสร้างวัฒนธรรมในการเปิดใจระหว่างกันและกันภายในองค์กรของเธอมาตั้งแต่ต้น แต่ในข้อถัดมาเธอก็ยังบอกว่าไม่ว่ายังไงก็ยังต้องสร้างขอบเขตต่อกันและกัน การแจ้งปัญหาส่วนตัวนั้นควรแจ้งให้อยู่ภายในขอบเขตที่สามารถนำไปเป็นหนทางการสนับสนุนได้ ไม่จำเป็นต้องลงลึกถึงรายละเอียดที่เล็กที่สุด รวมถึงหัวหน้างานเองก็ไม่ควรถามไปจนดีเทลที่ไม่จำเป็นอีกด้วย และข้อสุดท้ายคือการให้ความสนับสนุนแบบที่ลิสต์มาเหล่านี้ให้แก่เพื่อร่วมงานคนอื่นๆ ด้วยหากพวกเขาต้องการ
ปัญหาส่วนตัวเป็นเรื่องที่เราไม่อาจแยกออกจากตัวเองได้และขอบเขตของมันและส่วนอื่นๆ ในชีวิตอาจไม่ได้ชัดเจนมากเท่าไรนัก
ฉะนั้นการเรียนรู้ถึงวิธีการบอกเล่า รับฟัง และการทำความรู้จักในขอบเขตของมันเป็นเรื่องสำคัญในการมีชีวิตการทำงานที่ไม่เป็นพิษ
อ้างอิงข้อมูลจาก