ช่วงต้นปีพ.ศ. 2563 หลายออฟฟิศออกนโยบาย ‘Work From Home’ เพื่อรักษาระยะห่างระหว่างผู้คน จนหลายคนปรับตัวในการทำงานรูปแบบใหม่นี้ไม่ทัน จะว่าสะดวกสบายก็ใช่ แต่ถามว่าขาดอะไรไปไหมก็ใช่เหมือนกัน
ในตอนนั้น มนุษย์ออฟฟิศคิดถึงความวุ่นวาย จอแจ ของบรรยากาศในออฟฟิศ จนเกิดเป็นเว็บไซต์จำลองเสียงบรรยากาศในออฟฟิศแบบสมจริง อย่าง imisstheoffice.eu และ soundofcolleagues.com ขึ้นมา เพื่อย้ำเตือนว่าเราเคยคิดถึงความจอแจในวันที่เราไม่สัมผัสมันมากขนาดไหน
แต่พอต้องกลับไปใช้ชีวิตในออฟฟิศจริงๆ เสียงจอแจที่เราเคยคิดถึงนั้น หากมันมากเกินไป อย่างการพูดคุยออกรส จนกลายเป็นตะโกนข้ามโต๊ะ เสียงเจาะผนังซ่อมแล้วซ่อมอีกของชั้นบน ประตูที่ถูกเปิดปิดตลอดเวลา เรากลับรำคาญมันอย่างอดเสียไม่ได้
แม้จะคิดถึงแค่ไหน แต่พอมาอยู่ท่ามกลางความวุ่นวายจริงๆ เรากลับรู้สึกว่ามันยากที่จะมีสมาธิทำงานได้ แล้วเราจะทำยังไงให้เราเลือกโฟกัสกับสิ่งตรงหน้า ทั้งที่อยู่ท่ามกลางความวุ่นวายนี้?
หากเรารู้สึกว่าสิ่งแวดล้อม หรือบรรยากาศรอบข้างเรามันวุ่นวายเกินกว่าจะโฟกัสกับอะไรได้ แล้วเราจะสามารถมานั่งเลือกว่าจะโฟกัสกับงานเพียงอย่างเดียวได้จริงหรอ? คำตอบคือได้สิ แต่อาจไม่ 100% เรามีสิ่งที่เรียกว่า ‘Selective Attention’ หรือการเลือกสนใจอะไรสักอย่าง ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่มี objects มากมายไปหมด
ถ้าจะให้เห็นภาพง่ายที่สุด ลองนึกถึงตอนเราอยู่ในปาร์ตี้สักแห่ง ที่มีทั้งผู้คนตะโกนโหวกเหวก วงสนทนาดังข้ามโต๊ะ เสียงดนตรีกระหึ่ม ไม่รวมเสียงเล็กๆ น้อยๆ อย่างอื่นที่ประกอบกันเป็นเสียงในที่แห่งนั้น หากเราอยากสนุกไปกับเพลง เราก็พอจะตั้งใจฟังที่เพลงได้ อยากคุยกับเพื่อน ก็พอจะพูดคุยกันได้ หรือได้ยินเสียงคนเรียกชื่อเราท่ามกลางความวุ่นวายนั้นได้เหมือนกัน นั่นเพราะเราเลือกที่จะสนใจอะไรสักอย่างได้จริงๆ แม้รอบข้างจะวุ่นวายแค่ไหนก็ตาม
แต่ความสนใจของเราเป็นทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด หากเราใช้ไปกับอะไรสักอย่างแล้ว ก็ยากที่จะใช้กับอีกอย่างไปพร้อมๆ กัน กลับไปที่ปาร์ตี้ แม้เสียงเพลงจะดังแค่ไหน หากเราอยากคุยกับเพื่อน เราก็จะโฟกัสที่เสียงของเพื่อนเรามากกว่าเพลงที่ดังกระหึ่มอยู่ด้านหลัง หรือถ้าอยากโฟกัสกับเพลง เราก็จะได้ยินเพลงเต็มสองหู ไม่ว่าเพื่อนที่นั่งข้างๆ จะพูดคุยดังแค่ไหนก็ตาม เสียงที่เราไม่ได้ตั้งใจฟังนั้นก็จะกลายไปเป็นเสียงพื้นหลังที่ค่อยๆ ละลายไปจนคล้ายกับว่าจะไม่ได้ยินมันแล้ว
เมื่ออยู่ในออฟฟิศ งานตรงหน้าควรจะเป็นตัวเลือกอันดับแรกสำหรับความสนใจที่มีอยู่จำกัดของเราจะดีกว่า แต่ถ้าหากออฟฟิศมีสิ่งรบกวนเกินกว่าจะใช้เพียงสมาธิในการโฟกัสได้ เรามีเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ จาก Harvard Business Review และวิธีที่เราใช้เองมาแนะนำ
คุยกับใครให้นั่งตรงนั้น
เวลาทำงานร่วมกัน ไม่แปลกที่จะต้องมีการพูดคุย ถกเถียง ปรึกษาหารือกัน แต่ว่าจะหันหน้าคุยข้ามโต๊ะกันตลอด เพราะขี้เกียจเดิน คุยนิดเดียวน่า สองสามประโยค แต่นั่นก็อาจเป็นการทำลายฟางสมาธิเส้นสุดท้ายของเพื่อนร่วมห้องเช่นกัน
การจัดตำแหน่งที่นั่งที่เอาผู้คนที่มีความจำเป็นต้องทำงานร่วมกัน พูดคุยกันบ่อยๆ มานั่งด้วยกัน เป็นอีกทางที่ช่วยลดปัญหาเสียงจอแจในออฟฟิศ เพียงแค่หันหน้าไปคุยกัน เดินแค่สองสามก้าว ขยับเก้าอี้ไปไม่กี่เมตร ก็สามารถคุยกันถึงโต๊ะได้ แบบไม่ต้องตะโกนให้คนอื่นได้ยินด้วย
วิธีนี้อาจจะต้องได้รับความร่วมมือจากหัวหน้าด้วยเช่นกัน ว่าจะสามารถจัดที่นั่งในรูปแบบนั้นได้มั้ย เพื่อให้ทุกคนเองสะดวกใจที่จะย้าย และมั่นใจว่าพวกเขาไม่ได้ถือวิสาสะย้ายโต๊ะเองตามอำเภอใจ แต่ถ้าหากออฟฟิศไหนใช้ระบบ hot seat อาจจะหมดปัญหาข้อนี้ไปเลยก็ได้
หลบมาตรงพื้นที่ส่วนกลาง
นอกจากโต๊ะทำงานประจำของแต่ละคนแล้ว หลายออฟฟิศมีพื้นที่ส่วนกลางอย่างห้องประชุม พื้นที่นั่งเล่น เอาไว้ให้ทุกคนมีสิทธิ์ใช้อย่างเท่าเทียมกัน หากเรารู้สึกว่าในออฟฟิศมีบรรยากาศที่จอแจเกินกว่าเราจะไปขวางได้
ลองปลีกตัวออกมาสักมุมที่สงบ อาจจะเป็นมุมโซฟาในออฟฟิศ หรือพื้นที่ส่วนกลางที่ออฟฟิศมีให้ เพื่อหลบหลีกผู้คนจำนวนมากที่อาจกำลังสนุกกับบทสนทนายามบ่าย หรือการพูดคุยเรื่องโปรเจ็กต์สำคัญอย่างเคร่งขรึม เมื่อการพูดคุยเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การย้ายมุมเพื่อที่จะได้ทำงานต่ออาจจะทำได้ไวและได้ผลมากกว่า
ลองหูฟังที่มี noise-canceling ดูสิ
หากยังไม่เคยลอง บอกเลยว่ามันเปิดโลกมาก และคุ้มค่ากับเงินที่เสียไปแน่นอน หูฟังที่มีฟังก์ชั่น noise-canceling จะช่วยให้เราตัดเสียงรอบข้างออกไปเพียงการสวมใส่ครั้งเดียว ไม่ว่าจะเป็นวันที่มีเสียงเพียงเล็กน้อย พอประมาณ หากใส่ไว้เฉยๆ ก็พอจะเบาเสียงรอบข้างลงได้ในระดับหนึ่ง
แต่ถ้าหากเป็นวันที่มีความอึกทึกครึกโครม ใส่ไว้เฉยๆ อาจจะไม่พอ ลองใช้แอพพลิเคชั่นเข้าช่วย อย่างแอพฯ ที่มีเสียงดนตรีบรรเลง ช่วยเสริมสร้าง meditation อย่าง Calm, Headspace หรือ Tide ที่มีฟังก์ชั่นช่วยเสริมสร้างสมาธิง่ายๆ เพียงปลายนิ้ว ซึ่งเราและนำมากกว่าการฟังเพลงเฉยๆ เพราะจะได้ไม่ต้องแบ่งสมาธิไปกับเนื้อเพลง และคอยข้ามเพลงที่ไม่ชอบ จนใช้เวลากับมันมากเกินไป
อาจจะมองว่า นี่เราต้องลงทุนเพื่อกลบเสียงรอบข้างขนาดนี้เลยหรอ แต่หูฟังที่มี noise-canceling สามารถใช้ได้ในทุกโอกาส มากกว่าการตัดเสียงรบกวนในออฟฟิศ หากเราต้องใช้หูฟังกันเป็นปกติอยู่แล้ว เชื่อเถอะว่า noise-canceling เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าแน่นอน
แบ่งงานเป็นส่วนๆ แล้วมาประกอบกัน
หากเราอยู่ในออฟฟิศที่ไม่สามารถลุกไปไหนได้ตามใจ (เศร้าเนอะ) ลองใช้วิธีทำงานเป็นส่วนๆ ดู ก่อนจะลงมือทำงาน กางแผนงานออกมาเลยว่าเราต้องทำอะไรบ้าง ตรงไหนที่ดูเป็นส่วนที่ยาก ต้องใช้สมาธิ ลองแบ่งมันเป็นส่วนๆ แล้วค่อยๆ ทำไปทีละนิด
อาจจะเริ่มจากส่วนที่ง่ายที่สุด น้อยที่สุด สำคัญที่สุด เรียงลำดับไป แล้วนำมาประกอบกันทีหลัง อาจจะอาศัยเวลามากขึ้นหน่อย ทำส่วนนี้เสร็จ ออกไปพักข้างนอก หลบหลีกความวุ่นวายสักครู่แล้วมาทำต่อก็ยังได้ โดยไม่ต้องฝืนทำโปรเจ็กต์ใหญ่แบบม้วนเดียวจบ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยเอาเสียเลย
การแบ่งงานเป็นส่วนๆ แบบนี้ต้องอาศัยความเข้าใจในตัวงาน และสามารถประเมินความสามารถของเราเองได้ด้วย ไม่เช่นนั้นอาจใช้เวลามากเกินไปจนเกินไทม์ไลน์ หรือไม่สามารถประกอบงานเป็นชิ้นเดียวกันได้ จะกลายเป็นว่า วิธีนี้ก็ไม่เวิร์กเช่นเดียวกับการทำรวดเดียวจบเหมือนกัน
เสียงออฟฟิศที่จอแจเกินไป มักจะสร้างปัญหาเรื่องสมาธิให้เราอยู่เสมอ ลองเลือกสักวิธีที่เหมาะกับเราแล้วนำไปปรับใช้ตามความเหมาะสมของสถานการณ์ แต่ออฟฟิศที่เงียบเกินไปหรือการนั่งทำงานที่อื่นจนลืมเลือนเสียงออฟฟิศไปเลย ก็ชวนให้เหงาจนเราต้องมีเสียงออฟฟิศปลอมๆ ตามเว็บไซต์ข้างต้นนั้นอยู่ดี (เอ๊ะ)
อ้างอิงข้อมูลจาก