รู้หรือไม่ว่า ต้นเหตุของการที่เด็กนับล้านคน ต้องหลุดจากระบบการศึกษา อาจไม่ใช่แค่เรื่องของปัญหาด้านทุนทรัพย์หรือความยากจนเสมอไป แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ ‘การศึกษาในระบบ’ ไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของเด็กๆ เหล่านี้ได้
เพราะจากข้อมูลจาก กสศ. รายงานว่า ปัญหาความยากจน เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของปัญหาอื่นๆ ที่ตามมาอีกมากมาย โดยหนึ่งในนั้น ประเด็นสำคัญคือความพร้อม ความสนใจในการเรียนรู้ และเงื่อนไขชีวิต ที่เด็กๆ แต่ละคนอาจมีไม่เท่ากัน แต่จริงๆ แล้ว เด็กทุกคนยังมีศักยภาพในการเรียนรู้ เพียงแต่การเข้าถึงการศึกษาปกติ อาจยังไม่ตอบโจทย์พวกเขา ณ เวลานั้นๆ
จึงทำให้เกิด ‘Mobile School เข้าเรียนไม่ได้ ให้โรงเรียนไปหา’ โดยความร่วมมือของ กสศ. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เครือข่ายศูนย์การเรียนโดยสถาบันทางสังคม ตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และภาคีเครือข่าย เป็นต้นแบบของการศึกษายืดหยุ่น ที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบการศึกษาในระบบให้เหมาะสมกับความต้องการของเด็กแต่ละคน โดยมีหัวใจสำคัญคือเมื่อเรียนจบ เด็กทุกคนสามารถเทียบโอนวุฒิเดิมและมีสิทธิ์ได้รับวุฒิการศึกษาเช่นเดียวกัน
ลองไปถอดเบื้องหลังแนวคิดของโมเดลนี้ไปพร้อมๆ กัน
เพราะเด็กทุกคนมีเงื่อนไขต่างกัน รูปแบบการศึกษาจึงต้องไม่เหมือนกัน
รูปแบบของการศึกษาในระบบตั้งแต่เดิมมา เกณฑ์ในการวัดผล มีเรื่องของการนับเวลาเข้าเรียนในสถานที่ศึกษาหรือโรงเรียนต่างๆ ตามที่กำหนด รวมไปถึงตัวชี้วัดต่างๆ ผ่านการสอบที่กำหนดขึ้น แม้ว่าในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาจะลดข้อจำกัดเรื่องสถานที่เรียนให้เป็นออนไลน์มากขึ้น แต่ก็ยังประสบกับปัญหาเรื่องการวัดผลที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ และที่สำคัญคือหลักสูตรเรียนรู้ ที่อาจไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคน ได้อย่างครอบคลุมและหลากหลายมากเพียงพอ
ด้วยข้อจำกัดต่างๆ เหล่านี้ สำหรับเด็กที่มีปัญหาความยากจนเป็นทุนเดิม สภาพแวดล้อมและเงื่อนไขต่างๆ อาจไม่ได้เอื้อให้เด็กคนนั้นสามารถไปเข้าเรียนในโรงเรียนได้เช่นเดียวกับเด็กปกติทั่วไป ลองนึกถึงเด็กสักคนที่ต้องแบกรับภาระในการหาเงินของครอบครัว ทำให้ไม่มีเวลาไปเรียนหรือแม้กระทั่งทำการบ้าน ยังไม่ต้องคิดถึงเรื่องอนาคต ว่าความถนัดของเขาจะนำพาไปสู่สายอาชีพแบบไหน ลำพังแค่การหารายได้ในชีวิตประจำวันก็แทบจะไม่เพียงพอแล้ว เป้าหมายไกลที่สุดของเด็กคนนั้น อาจจะเป็นแค่การเลี้ยงปากท้องตัวเองและครอบครัวให้อยู่รอดเท่านั้น ก่อนที่ภาวะทุกอย่างบีบให้เด็กคนนั้นต้องหลุดจากระบบการศึกษาในที่สุด จะด้วยความสมัครใจหรือไม่สมัครใจก็ตามแต่
Mobile School ทำงานอย่างไร
จากข้อจำกัดต่างๆ ที่กล่าวไปข้างต้น จะเห็นได้ว่าอุปสรรคสำคัญคือการที่เด็กไม่สามารถเดินทางไปเรียนในโรงเรียนหรือสถานศึกษาได้ จึงทำให้เกิดไอเดีย ‘โรงเรียนอยู่ที่ไหนก็ได้’ เพื่อทลายข้อจำกัดด้านการศึกษาให้มีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น เปลี่ยนทุกสถานที่ ทุกเวลา ให้กลายเป็นห้องเรียนที่เปิดกว้างทุกการเรียนรู้ ทั้งรูปแบบ Online และ Onsite ความน่าสนใจคือการมีครูพี่เลี้ยงที่ทำหน้าที่เป็น Learning Designer ช่วยแนะแนว ให้คำปรึกษา และร่วมออกแบบแผนการศึกษาให้กับเด็กแบบรายคนเลยทีเดียว โดยสำรวจจากความถนัดและความสนใจ พร้อมทั้งทำงานร่วมกับผู้จัดการรายกรณีหรือ Case Manager ของเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษา คือมีการพัฒนาจากหลักสูตรปกติที่เป็นปัญหาให้สามารถเข้าถึงได้ง่ายยิ่งขึ้น
เป้าหมายของโครงการ จะเน้นไปที่เด็กอายุระหว่าง 7 -24 ปี ในช่วงชั้นป. 6, ม.3 และ ม.6 หรือช่วงชั้นที่เป็นรอยต่อของการศึกษา เด็กๆ สามารถเลือกเรียนวิชาต่างๆ ทั้งวิชาการ วิชาเลือกอิสระ ผ่านการเรียนออนไลน์ หรือจะเป็นวิชาชีพแบบลงมือปฏิบัติ ผ่านห้องเรียนชุมชนหรือประกอบอาชีพจริงๆ เลยก็ได้ โดยมีครูพี่เลี้ยงคอยดูแลและให้คำปรึกษา กินระยะเวลาในแต่ละภาคการศึกษาทั้งสิ้น 3 เดือน หรือ 1 ปีสำหรับช่วงชั้น จะต้องประเมินผลดำเนินการผ่านสิ่งที่เรียกว่า ‘โปรเจกต์เพื่อประเมินการจบการศึกษา’ ซึ่งเด็กๆ ที่สมัครเข้าเรียนต้องพัฒนาโปรเจกต์จากสิ่งที่ตัวเองชอบ พร้อมตอบคำถามว่าโปรเจกต์นั้นๆ สามารถตอบคุณค่าทั้งกับตัวเองและสังคมได้อย่างไร
เป้าหมายที่ไปไกลกว่าการได้วุฒิการศึกษา
อย่างที่ทราบกันว่า ‘วุฒิการศึกษา’ ในสังคมไทย ยังคงเป็นสิ่งจำเป็นหรือใบเบิกทางที่จะนำไปสู่การประกอบอาชีพที่ดีในอนาคตของเด็กๆ ได้ ซึ่งเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาส่วนใหญ่ ต้องเผชิญกับปัญหาลาออกกลางคัน ทำให้ผลการเรียนที่เคยผ่านไปแล้วหรือติดเรื่องเกรด เช่น 0, ร, มส. ต้องสูญเปล่า แต่สำหรับโครงการนี้สามารถนำวุฒิเดิมมาเทียบโอนได้ หรือเด็กที่ไม่เคยเข้าไปอยู่ในระบบการศึกษา ก็สามารถเทียบวุฒิจากประสบการณ์ ที่ผ่านการประเมินทั้งการสัมภาษณ์ การทำข้อสอบวัดระดับ หรือจากผลงานก็ได้เช่นกัน
ปลายทางที่โครงการมอบให้ ไม่ใช่แค่การเรียนเพื่อเพิ่มพูนทักษะความรู้ แต่ยังสามารถได้รับวุฒิการศึกษา ผ่านการสอบปลายภาคในเดือนที่ 4-5 พร้อมๆ กับมีเกณฑ์วัดจากผลงาน คะแนนความประพฤติ รวมทั้งโครงงานทั้งรายบุคคลและรายกลุ่ม เรียกว่ามีความเข้มข้นในการประเมินผลการเรียนไม่น้อยไปกว่าการเรียนในระบบปกติเลย
แม้ว่าเป้าหมายของโครงการ ‘Mobile School เข้าเรียนไม่ได้ ให้โรงเรียนไปหา’ จะสิ้นสุดที่เด็กๆ ได้รับวุฒิการศึกษาอย่างที่ต้องการ แต่เป้าหมายที่อาจไปได้ไกลกว่านั้น คือการที่เด็กๆ เหล่านี้ได้ค้นพบศักยภาพของตัวเอง เปิดทางไปสู่อาชีพใหม่ๆ และสามารถต่อยอดไปสู่อนาคตที่ดีกว่าได้