ตัวเลขกว่า 1.02 ล้านคน ของเด็กอายุระหว่าง 3-18 ปีที่หลุดไปจากระบบการศึกษา
จากรายงานของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. คือตัวเลขที่น่าตกใจไม่น้อย เพราะเป็นจำนวนที่ค่อนข้างมากและยังมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงปัญหาการศึกษาที่ฝังรากลึกลงไปในสังคมไทย
การไม่มีข้อมูลของเด็กๆ เหล่านี้ในระบบการศึกษา ล้วนมีสาเหตุและปัจจัยหลายอย่างประกอบเข้าด้วยกัน ตั้งแต่ความยากจน พฤติกรรมส่วนตัว สภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการเรียน ครูและสถานศึกษา และสำคัญที่สุดคือการที่เด็กไม่มีเป้าหมายด้านการศึกษาและอาชีพของตัวเองที่ชัดเจน ที่ค่อยๆ ผลักให้เด็กหลุดออกจากระบบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทางออกของปัญหาดังกล่าว คือสิ่งที่หลายฝ่ายเร่งแก้ไขมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา มีการนำเสนอทางแก้ใหม่ๆ หลายต่อหลายครั้ง แต่ที่น่าสนใจที่สุดคือแนวคิด ‘ระบบการศึกษายืดหยุ่น’ ที่มีหัวใจคือการทำความเข้าใจเงื่อนไขต่างๆ รวมไปถึงความต้องการของเด็กเอง เพื่อปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับชีวิตและสร้างแรงจูงใจให้เด็กๆ เหล่านี้ หวนกลับมาสู่ระบบการศึกษาได้อีกครั้ง
ต้นตอปัญหาจากความยากจน
หากลองดูตัวเลขสถานการณ์เด็กเยาวชนนอกระบบ อายุระหว่าง 3-18 ปี ที่ไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษา ปัจจุบันมีจำนวนมากถึง 1,025,514 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 8.41 ของเด็กและเยาวชนอายุ 3-18 ปีทั้งหมด ซึ่งมีจำนวน 12,200,105 คน ถือว่าเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างมาก และเมื่อลงมาดูในรายจังหวัดที่มีตัวเลขเด็กหลุดจากระบบการศึกษามากที่สุด คือจังหวัดกรุงเทพมหานคร โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงชั้นป.1 – ม.3 ก็ยิ่งน่าตกใจ เพราะการเป็นหัวเมืองใหญ่ที่เชื่อกันว่า เด็กๆ น่าจะได้เข้าถึงการศึกษาได้มากกว่าจังหวัดห่างไกล แต่กลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น สะท้อนถึงวิกฤตของการศึกษาในไทยที่กำลังเกิดขึ้น
เมื่อลงมาดูสาเหตุของการออกนอกระบบการศึกษาของเด็ก ก็พบว่าอันดับ 1 มาจากความยากจนที่มากถึงร้อยละ 46.70 ได้สะท้อนถึงคุณภาพชีวิตในสังคมเมืองที่เด็กๆ และครอบครัวต้องดิ้นรนอย่างหนักเพื่อปากท้อง ส่งผลให้เรื่องของการศึกษากลายเป็นปัจจัยรองๆ ที่ครอบครัวยากจนเหล่านี้ให้ความสำคัญ และยิ่งเมื่อลงไปในรายละเอียดเชิงลึกของแต่ละเคส ก็พบว่าปัญหาความยากจนเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของปัญหาอื่นๆ ที่ตามมา ลองจินตนาการถึงเด็กสักคนที่มีฐานะยากจน ที่ต้องแบ่งเวลาบางส่วนมาช่วยมาทำงานเพื่อหารายได้ จนไม่มีสมาธิในการเรียนอย่างเต็มที่ สภาพสังคมแวดล้อมที่เต็มไปด้วยยาเสพติดและความรุนแรง กระทั่งสถานศึกษาหรือโรงเรียนเอง ก็ไม่ได้เป็นสถานที่ที่เปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้อย่างถูกต้อง ส่งผลให้ทัศนคติของเด็กที่มีต่อระบบการศึกษาเป็นไปในเชิงลบ ท้ายที่สุด เด็กไม่สามารถมองเห็นอนาคตของตนเองในด้านการศึกษาและการประกอบอาชีพได้เลย
เข้าใจเงื่อนไข สร้างแรงจูงใจใหม่
จากต้นตอของปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าสาเหตุปัจจัยที่ทำให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษา เกิดขึ้นได้มากกว่า 1 ปัญหาเสมอ มีการเชื่อมโยงกันเป็นทอดๆ และมีความซับซ้อน จนกระทั่งทำให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษาในที่สุด การทำความเข้าใจถึงเงื่อนไขและความต้องการของเด็ก คือวิธีการที่ดีที่สุดในการช่วยให้เด็กกลับเข้ามาในระบบการศึกษาได้ โดยจากข้อเสนอแนะของทาง กสศ. ได้มีการวิเคราะห์ความต้องการของเด็กออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มเด็กที่ต้องการกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา และ กลุ่มเด็กที่ไม่มีความประสงค์จะเข้าสู่ระบบการศึกษา แต่มีความต้องการประกอบอาชีพ
โดยในแต่ละกลุ่มจะมีความต้องการแตกต่างกันออกไป สำหรับกลุ่มเด็กที่ต้องการกลับเข้าสู่ระบบ สามารถดำเนินการได้ไม่ยาก เพราะเด็กมีแรงจูงใจและความพร้อมในการเรียนอยู่แล้ว สำหรับกลุ่มเด็กที่ไม่มีความต้องการกลับเข้าระบบ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำความเข้าใจ เพราะความต้องการของเด็กคือการประกอบอาชีพเพื่อหารายได้เป็นหลัก ทำให้ขาดแรงจูงใจในการกลับไปเรียน ระบบการศึกษาที่ต้องเข้าเรียนเต็มเวลาแบบเดิมอาจไม่ตอบโจทย์ จึงทำให้เกิดแนวคิด ‘ระบบการศึกษายืดหยุ่น’ ที่สามารถปรับเปลี่ยนวิธีการเข้าถึงการศึกษาให้เป็นไปตามความต้องการของเด็กๆ ได้
ระบบการศึกษายืดหยุ่น หนทางสู่การกลับมาในระบบ
หัวใจสำคัญของระบบการศึกษายืดหยุ่น คือการเข้าใจความต้องการของเด็กที่มีความหลากหลาย ซึ่งแต่ละคนก็มีเงื่อนไขในการใช้ชีวิตที่ต่างกัน เพื่อให้ไม่ถูกกรอบไว้ด้วยรูปแบบการศึกษาแบบเก่า ที่มีเวลาการเข้าเรียนที่แน่นอน ต้องไปเรียนที่โรงเรียน หรือกระทั่งต้องเรียนวิชาบังคับต่างๆ กสศ. จึงได้นำเสนอการปรับเปลี่ยนรูปแบบการศึกษาอย่างยืดหยุ่น ใน 3 ประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้
Anywhere เรียนที่ไหนก็ได้ เพราะการเรียนรู้ต้องไม่ถูกจำกัดว่าต้องไปเรียนในห้องเรียน แต่สามารถใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์ในการเรียนออนไลน์ได้อย่างอิสระ
Anytime เรียนเมื่อไรก็ได้ เพราะเงื่อนไขเวลาคือสิ่งสำคัญที่ต้องมีความยืดหยุ่น โดยสามารถเปิดโอกาสให้เด็กสามารถเลือกเวลาเรียนเองได้ หรือสามารถเรียนย้อนหลังได้ตลอดเวลา
Anything เรียนอะไรก็ได้ที่สนใจ เพราะความสนใจและความฝันของเด็กแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน วิชาที่เรียนก็ไม่ควรถูกจำกัดด้วยระบบการศึกษาภาคบังคับ ซึ่งอาจทำให้เด็กๆ สามารถค้นพบศักยภาพใหม่ๆ จากวิชาที่เลือกเองได้
ทั้งหมด 3 ประเด็นดังกล่าว สามารถปรับเปลี่ยนให้เข้ากับ Anyone คือไม่ว่าเด็กคนไหนก็สามารถเข้าถึงระบบการศึกษายืดหยุ่นนี้ได้อย่างไม่มีข้อจำกัด โดยมีการพัฒนาระบบที่เป็นมาตรฐานรองรับอย่าง ธนาคารหน่วยกิต (Credit bank) เพื่อให้สามารถประเมินผลการเรียนหลังการเรียนตามที่กำหนด ได้รับหน่วยกิตเพื่อสะสมและใช้เทียบโอนคุณวุฒิการศึกษาสำหรับการสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานต่อไปได้ และเพื่อให้เด็กยังคงมีแรงจูงใจอยากที่จะเรียนต่อในระบบการศึกษาได้อีกครั้ง
อ้างอิงข้อมูลจาก
รายงานพิเศษ ‘ความจริงและเร่งด่วนปัญหาวิกฤตเด็กนอกระบบในประเทศไทย’ โดย กสศ.