การทำงานด้านสร้างเสริมสุขภาวะ เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพดี คือเป้าหมายหลักที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. แน่นอนว่า สสส. ไม่ได้ทำสำเร็จได้ด้วยองค์กรเดียว แต่ยังมีภาคีเครือข่ายอีกมากมายที่นำองค์ความรู้ไปต่อยอดในระดับต่างๆ
หัวใจสำคัญคือการพัฒนาสุขภาวะดังกล่าว คือเรื่องของการพัฒนาศักยภาพของ ‘คน’ ทำงานที่ดี จึงเกิดเป็น ThaiHealth Academy สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ หน่วยงานใหม่ที่ตั้งใจให้เป็นสถาบันที่ยกระดับให้ทุกคนเป็นนักสร้างเสริมสุขภาพมืออาชีพ ผ่านหลักสูตรฝึกอบรมที่พัฒนาขึ้นมาจากความต้องการของผู้เรียนจริงๆ
The MATTER ชวนไปคุยถึงแนวคิดเบื้องหลังในการออกแบบสถาบันฯ กับ รศ.ดร.นพ.นันทวัช สิทธิรักษ์ ผอ.สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กับเป้าหมายในการกระจายความรู้ด้านสุขภาวะ และพัฒนาขีดความสามารถของทั้งองค์กร หน่วยงาน และประชาชนได้อย่างทั่วถึง
ทุกวันนี้ปัญหาสุขภาวะในไทย อะไรเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ยังผลักดันได้ไม่เต็มที่
ปัญหาเกิดจากหลายๆ ปัจจัย ทั้งสภาพเศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง ความรู้ อย่างสภาพเศรษฐกิจตอนนี้ ก็มีผลกับการบริโภคของผู้คนค่อนข้างมาก สิ่งที่เราคิดว่าจะทำได้ เติมได้ เสริมได้ คือเติมพลังความรู้ พลังสติปัญญา ให้กับคนได้รู้เท่าทันในการจัดการปัญหา หรือออกแบบชีวิตให้มีสุขภาวะ แล้วขยายผลไปยังชุมชน ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง และจัดการปัญหาได้เอง สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยการประสานงานร่วมกันในเชิงนโยบาย การเมือง การปกครอง ถ้าทั้งหมดนี้ไปด้วยกันได้ ก็ทำให้การจัดการสุขภาวะดีขึ้น
แต่ขณะเดียวกันปัญหาในโลกนี้ก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ประชากรมากขึ้น เศรษฐกิจเป็นทุนนิยมมากขึ้น มีอุตสาหกรรมมากขึ้น ก็ส่งผลกระทบต่อประชาชนทั้งหมดอยู่ดี หรือในเรื่องของการสื่อสารที่ง่ายขึ้น เร็วขึ้น ก็ส่งผลต่อพฤติกรรมของมนุษย์ เราจึงต้องตามให้ทัน และรู้จักวางแผนดักทางให้ทันด้วยเช่นกัน เพราะทุกปัญหาอาจจะเปลี่ยนรูปแบบไปอีกก็ได้ แต่ทักษะในการจัดการปัญหาเป็นสิ่งที่สามารถพัฒนาได้ ถึงปัญหาจะเปลี่ยนรูปแบบไปยังไง ถ้าเรามีทักษะพื้นฐานที่สำคัญ เชื่อว่าเราจะมีภูมิคุ้มกันที่ไปจัดการกับปัญหาใหม่ๆ ได้สำเร็จ เพราะทุกอย่างขับเคลื่อนด้วยมนุษย์ โครงสร้างพวกนี้ก็เป็นโครงสร้างที่มนุษย์สร้างขึ้นมา ถ้าเรารู้เท่าทัน จัดการได้ เราก็จะอยู่กับมันได้อย่างมีความสุขเช่นกัน
แนวคิดเริ่มต้นของ ThaiHealth Academy สถาบันเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ เกิดขึ้นจากอะไร
ต้องย้อนไปดูประวัติศาสตร์ของ สสส. ที่ได้สั่งสมทั้งความรู้และความผิดพลาด ซึ่งเราได้เก็บมาระหว่างทางที่ผ่านมา ก็พบว่าการพัฒนาศักยภาพของภาคีเครือข่าย เป็นปัจจัยสำคัญมากอย่างหนึ่ง หรือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดด้วยซ้ำไป ทำให้การทำงานด้านการสร้างเสริมสุขภาวะสำเร็จได้ เพราะ สสส. มีโมเดลไตรพลัง คน ชุมชน และนโยบาย พูดง่ายๆ คือคนนี่เอง เป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่สุด เพราะฉะนั้นถ้าพัฒนาศักยภาพของคน ที่ทำงานด้านสร้างเสริมสุขภาวะให้ดี ก็สามารถทำให้เกิดนโยบายดีๆ เพื่อสังคมได้
ซึ่งรูปแบบการทำงานโดยทั่วไปแต่ก่อน สสส. จะเป็นผู้ให้ทุนคนอื่นทำเรื่องนี้ให้ ก็จะมีระยะเวลาและมีสัญญาที่หมดไป แต่เราอยากจะทำให้ยั่งยืนขึ้น ก็เลยใช้วิธีการดึงกลับมาทำเองภายใน เพราะเป้าหมายของ สสส. คือ หนึ่ง เน้นเรื่องการพัฒนาศักยภาพและขับเคลื่อนด้านสุขภาวะ สอง ต้องการขยายฐานออกไปมากกว่าภาคีของ สสส. ทั้ง องค์กรเอกชน ภาครัฐ NGO และประชาชนทั่วไปด้วย ทำให้เกิดเป็นหน่วยงานใหม่ โดยทำงานด้านการพัฒนาหลักสูตรสร้างเสริมศักยภาพและพัฒนาด้านสุขภาวะ
การวางโครงสร้างเป็นรูปแบบสถาบันเรียนรู้ ถือว่ามีจุดแข็งอย่างไร
การที่มี Academy หรือสถาบัน เป็นการทำให้ความรู้ยั่งยืน พัฒนา และต่อยอดได้ ทั้งในแง่ของงานวิชาการ งานวิจัย หรืองานศึกษาด้านอื่นๆ ซึ่งจริงๆ แล้ว สสส. ตั้งใจว่าให้สถาบันนี้ สร้างประโยชน์ กระจายส่งไปให้ถึงคนทุกคนในสังคมได้อย่างชัดเจนมากขึ้น โดยการสร้างสุขภาวะ จะไม่เน้นแค่เรื่องเดียว แต่เน้นเป็นธีมใหญ่ไปเลย ทำให้ สสส. และภาคีมีชีวิต เพราะเป็นการสั่งสมประสบการณ์ และสามารถดึงหน่วยงานของ สสส. ที่มีองค์ความรู้จากการทำงานต่างๆ ให้สามารถใช้ต้นทุนเหล่านี้มาออกแบบพัฒนาหลักสูตร อัปเดตเนื้อหาให้ตรงกับผู้รับประโยชน์โดยตรงได้ เป้าหมายของเราคืออยากให้หลักสูตรยั่งยืน แปลว่าต้องตอบโจทย์ มีประโยชน์ในการช่วยพัฒนาความสามารถให้กับภาคี องค์กรต่างๆ และประชาชน ไม่ใช่เป็นหลักสูตรที่ใครๆ ก็อยากสร้างขึ้นมาแล้วไม่ตอบโจทย์
ข้อดีของการทำที่ต่อเนื่อง จะทำให้หลักสูตรมีชีวิต บางประเด็นเกิดขึ้นเมื่อ 20 ที่แล้วถือว่ายังสำคัญอยู่ แต่บางประเด็นก็เพิ่งมาใหม่ อย่างเช่นเรื่องโควิด หรือ PM2.5 สมัยก่อนก็ไม่มี เมื่อเกิดปัญหาใหม่ๆ ขึ้นมา สสส. เองที่มีองค์ความรู้ก็จะช่วยภาคีหรือคนที่ทำงานด้านสร้างเสริมสุขภาวะ ให้มีทักษะในการจัดการ บริหารโครงการ และผลักดันนโยบาย ให้สังคมหรือทำให้ตัวเขาเองมีสุขภาวะมากขึ้น สามารถจัดการเรื่องเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ก่อนหน้านี้ความต้องการของภาคีต่างๆ เป็นไปในรูปแบบไหน และสถาบันฯ ได้เข้าไปตอบโจทย์ความต้องการนี้อย่างไร
หลักสูตรพื้นฐานจริงๆ ที่ภาคีต้องการเบื้องต้นส่วนใหญ่ ในเรื่องการทำงาน คือเรื่องทักษะในการเขียนโครงการ การนำเสนอโครงการ การตั้งค่าตัวชี้วัดในโครงการ และการประเมินคุณภาพโครงการ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ นอกจากนั้นคือเรื่องของการทำงานเครือข่าย เพราะภาคีจะทำงานลอยๆ คนเดียวไม่ได้ ต้องประสานงานกับส่วนต่างๆ หลักสูตรเหล่านี้ก็จะตอบโจทย์ รวมถึงหลักสูตร Soft skill และ Leadership skill การสร้างองค์กรให้คนทำงานเกิดแรงบันดาลใจ อยากทำงานสร้างสุข ทำงานแล้วเติบโตขึ้น เติมเต็มขึ้น ทำให้องค์กรของเขาเองมีความยั่งยืน และสามารถพัฒนาขึ้นไปได้เรื่อยๆ
รูปแบบเดิมจะเป็นเพียงคอร์สสั้นๆ ประมาณสัก 2-3 วันจบ พออบรมเสร็จก็มีการประเมินผล ทั้งการออกแบบหลักสูตร วิธีการเรียนการสอน ผลลัพธ์ที่ได้ ว่าตอบโจทย์หรือเปล่า ผู้มาเรียนได้ประโยชน์ไหม นำไปใช้ประโยชน์ต่อยอดได้จริงอย่างไร แต่สำหรับแนวคิดในการออกแบบหลักสูตรใหม่ ทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วม มีคนทำงานที่รู้ถึงความต้องการจริงๆ รู้ข้อบกพร่องของเขา ว่าสิ่งที่ควรจะต้องเติมคืออะไร เป้าหมายและความฝันของเขาคืออะไร เราจะช่วยเขาไปถึงฝันนั้นได้ยังไง ไม่ใช่การยัดเยียดหลักสูตรให้ เราต้องทำงานร่วมกับเขา ให้ได้มีส่วนร่วมในการออกแบบตั้งแต่ต้น ร่วมกับวิทยากรจากทั้งภายในและภายนอกของ สสส. ด้วย มาช่วยกันออกแบบหลักสูตรและวางแผนพัฒนาอบรมร่วมกัน
อยากให้อธิบายถึง 5+2 Core Competency ที่ใช้เป็นต้นแบบให้กับภาคีนำไปใช้ ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง
เป็นหลักการพื้นฐานที่ สสส. วางไว้เป็นต้นแบบในการพัฒนาองค์ความรู้ ที่คนทำงานด้านสุขภาวะต้องมี ประกอบไปด้วย 5 สมรรถนะหลัก คือ การสร้างเสริมสุขภาวะ, การบริหารโครงการสุขภาวะ, การสื่อสารเพื่อสังคมสุขภาวะ, การสร้างและบริหารเครือข่าย, ผู้นำและทักษะในการจัดการในงานสุขภาวะ ส่วนอีก 2 สมรรถนะที่เติมเข้าไป คือเรื่องของการจัดการความรู้ โดยให้ความรู้ในองค์กรนั้น งอกงามเติบโตขึ้นมาได้ คนในองค์กรได้ประโยชน์ร่วมกัน และการจัดการความยั่งยืน ให้องค์กรหรือหน่วยงานที่ทำงานอยู่ได้ในระยะยาว ซึ่งเป็น 5+2 หลักสูตร ที่ สสส. จัดให้ภาคีเป็นประจำ ภาคีเองก็จะใช้ความรู้พื้นฐานนี้ไปทำงาน ในการขับเคลื่อนและพัฒนาต่อไป
สถาบันฯ มีแผนที่จะให้บริการกับภาคีต่างประเทศไหม
สสส. มีเครือข่ายต่างประเทศค่อนข้างเยอะ ปีหนึ่งจะมีหน่วยงานมาดูงานที่ สสส. ประมาณ 200-300 หน่วยงาน ซึ่งจริงๆ ThaiHealth Academy เองก็ถูกคาดหวังและวางแผนให้รับงานด้านต่างประเทศด้วย ถ้าเป็นงานในประเทศ เราก็จะมีพื้นที่ที่ภาคีของ สสส. สร้างผลงานให้คนต่างชาติได้เห็น ว่าในบริบทไทย สังคมไทย วัฒนธรรมไทย สามารถทำประเด็นนี้ออกมาในรูปแบบไหนได้บ้าง รวมถึงการพัฒนาหลักสูตร สำหรับองค์กรต่างชาติที่อยากจะมาทำงานในประเทศไทย ที่ต้องพบเจอกับปัญหาเรื่องวัฒนธรรม แล้วอยากให้ช่วย เราก็ทำตรงนั้นด้วย ขณะเดียวกันทางสถาบัน ก็สามารถจัดคอร์สไปดูงานต่างประเทศได้ด้วย ว่าในต่างประเทศที่ทำเรื่องพัฒนาสุขภาวะ เขาทำกันยังไง เราจะได้อัปเดตองค์ความรู้ที่ทันสมัย อยู่ในกระแสโลกได้ คือทำได้ทั้งสองทาง เพราะการดูแลสุขภาวะของมนุษย์ มีความเป็นสากลอยู่ วัฒนธรรมอาจจะมีความแตกต่างหลากหลาย แต่มนุษย์ก็มีความพื้นฐานที่คล้ายๆ กัน ทำให้ความเป็นสากลอยู่ในเนื้อหาโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว
วางแผนในระยะสั้นกับระยะยาวของสถาบันฯ ไว้อย่างไร
ระยะสั้นในช่วงแรก ด้วยความที่หน่วยงานของเราตั้งใหม่ สิ่งที่สำคัญมากคือต้องพัฒนาตัวองค์กร ให้คนที่ทำงานในองค์กรมีความสุข ตื่นมาทำงานตอนเช้าต้องมีแรงบันดาลใจในการทำงาน บรรยากาศในองค์กรต้องสื่อสารกันได้ รู้สึกปลอดภัย มีความไว้วางใจกัน มีการพูดคุยแบ่งปันกัน และที่เราเน้นคือ ทุกคนในองค์กรต้องเติบโต ได้เติมเต็ม ได้ทำงานเพื่อตนเองและเพื่อสังคม เพื่อเป้าหมายอันยิ่งใหญ่กว่าตัวเขาเอง เราคาดหวังว่า ThaiHealth Academy จะตอบโจทย์ทำงานให้สังคม ประชาชนได้อย่างยาวไกลเลย ซึ่งเริ่มต้นจากวัฒนธรรมองค์กร ส่วนในแง่หลักสูตร เบื้องต้นเราคงยังทำหลักสูตรต่อเนื่องให้ภาคีเป็นสำคัญ ทั้งพัฒนาต่อยอดหลักสูตร ปรับปรุงหลักสูตร และเติมหลักสูตรใหม่ๆ เข้าไป
ในระยะยาว เราจะขยับขยายฐานผู้รับประโยชน์ เป็นองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม มีการทำ MOU ร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ และสุดท้ายที่คือภาคประชาชน ที่ต้องทำทั้งระยะสั้นและยาวไปด้วยกัน หัวใจหลักเราก็คือพัฒนาศักยภาพการทำงานด้านสร้างเสริมสุขภาวะ โดยเป้าหมายคือคนทุกคนจะได้รับประโยชน์จาก ThaiHealth Academy ไม่เว้นใครเลยไว้สักคนหนึ่ง ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม
สถาบันตอนนี้ ตั้งอยู่ที่ตึก SM tower ชั้น 34 ตรงสนามเป้า เป็นพื้นที่ออฟฟิศเดิมของ สสส. เก่า มีการทำพื้นที่ใหม่ ให้เป็นแพลตฟอร์มที่เป็นกายภาพ ไม่ได้มีแค่อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มหรือโซเชียลมีเดียเท่านั้น แต่ยังมี Co-working Space มีพื้นที่ให้จัดเวทีวิชาการ สัมมนาได้ มีห้องประชุมและห้องอบรม รวมทั้งมีบริการจัดอบรมแบบ Onsite ให้บริการด้านให้คำปรึกษา ติดตามพัฒนาศักยภาพในระยะยาว ซึ่งทั้งหมดเป็นบริการของสถาบัน เพื่อให้ทักษะการเรียนรู้ไปถึงผู้มาเรียนจริงๆ และสามารถนำไปขับเคลื่อนตัวเขาเอง ชุมชน สังคมให้เกิดประโยชน์กับคนหมู่มากได้ในที่สุด
อะไรคือเป้าหมายสูงสุดของสถาบันฯ ที่อยากทำให้สุขภาวะเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน
ความฝันจริงๆ คือเราอยากให้ผลลัพธ์กระจายไปไม่ใช่แค่เฉพาะในคนไทย แต่อยากให้กระทบไปทั้งโลก เพราะความรู้เป็นสากลอยู่แล้ว ทุกคนบนโลกนี้มีโอกาสได้รับประโยชน์จาก ThaiHealth Academy ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง โดยทางอ้อมจะผ่านองค์กรหรือหน่วยงาน ส่วนทางตรงเขาก็สามารถเข้ามาเรียนรู้ได้ ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น นี่คือเป้าหมายสูงสุดอย่างหนึ่งของสถาบัน เราไม่ต้องการเป็นสถาบันที่แข็ง ดูน่าเกรงขาม แต่เราต้องการอะไรที่ตอบโจทย์ปัญหาในยุคใหม่ได้จริงๆ เช่น ปัญหาเรื่องการเรียนออนไลน์หรือเรื่องโซเชียลมีเดีย เป็นสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้น ซึ่งต้องใช้ทักษะใหม่ๆ เข้าไปจัดการ
สถาบันก็อยากจะมีส่วนในการกระจายความรู้ เสริมศักยภาพ พัฒนาขีดความสามารถของทั้งองค์กร หน่วยงานและประชาชน ในการที่จะจัดการกับสิ่งเหล่านี้ได้อย่างมีสุขภาวะและยั่งยืนที่สุด