ประเด็นการเสริมสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับคนไทย คือเป้าหมายสำคัญที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ศูนย์กิจการสร้างสุข หรือ SOOK Enterprise หน่วยงานน้องใหม่ของ สสส. เกิดขึ้นผ่านการขับเคลื่อนงานสุขภาวะในรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม startup เน้นความคล่องตัว สร้างสรรค์ และเปิดกว้างมากขึ้น
เรียกว่าเป็นครั้งแรกที่นำโครงสร้างทางธุรกิจมาปรับใช้แบบเต็มตัว โดยเฉพาะความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน และคนทำงานทางสังคม ซึ่งเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนประเด็นสุขภาวะไปสู่วงกว้างได้
The MATTER ชวนไปทำความรู้จัก SOOK Enterprise กับ ภาสวรรณ สังฆสุบรรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์กิจการสร้างสุข สสส. ถึงมุมมองในการปรับเปลี่ยนการดำเนินงานในรูปแบบใหม่ ด้วยโมเดลทางธุรกิจที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมได้อย่างยั่งยืน
อยากให้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของ SOOK Enterprise ว่าเกิดขึ้นจากแนวคิดอะไร
แต่ก่อนมีเพียงคำว่า SOOK ซึ่งเป็นเพียงหน่วยงานย่อย ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ ซึ่งเป็นสำนักหนึ่งของ สสส. โดย SOOK ทำหน้าที่สื่อสารกับประชาชน ผ่าน 3 ส่วนงาน ได้แก่
1. SOOK Publishing คือ การนำองค์ความรู้ของ สสส. มาออกแบบในรูปแบบสื่อสิ่งพิมพ์ และหนังสือ
2. กิจกรรมสร้างเสริมความรู้ด้านสุขภาพ อาทิ เวิร์คชอป งานเสวนา เพื่อส่งเสริมประเด็นสุขภาพต่างๆ และ
3. SOOK Shop สำหรับจำหน่ายผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมต่างๆ เพื่อสังคม ที่ได้พัฒนามาจากแนวทางการดูแลสุขภาพของ สสส.
สสส. เห็นว่า SOOK มีศักยภาพในการขยายฐานกลุ่มเป้าหมายให้เกิดการเข้าถึงความรู้ทางสุขภาวะมากขึ้น จึงมีแนวคิดในการตั้งหน่วยงานพิเศษขึ้นมา เพื่อขับเคลื่อนการทำงานของ สสส. และภาคีเครือข่ายในรูปแบบของโมเดลธุรกิจ ให้เกิดความคล่องตัว และสร้างความร่วมมือใหม่ๆ กับภาคธุรกิจ เน้นการยกระดับคุณค่าจากการทำงานของภาคีเครือข่ายสู่สังคมในวงกว้าง
โครงสร้างของการบริหารในรูปแบบใหม่เป็นอย่างไร
มีกระบวนการในเชิงธุรกิจ ที่เราจะสร้างแพลตฟอร์มความร่วมมือ โดยแบ่งความร่วมมือเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ กลุ่มภาคีของ สสส. และกลุ่มคนภายนอกที่ไม่เคยทำงานร่วมกับ สสส. มาก่อน เช่น คนรุ่นใหม่ คนที่มีไอเดียแนวคิดใหม่ๆ กลุ่มองค์กรเอกชนขนาดใหญ่ที่มีฐานผู้ใช้บริการของตนเอง กลุ่ม SMEs กลุ่มนักศึกษา หน่วยงานภาครัฐ ทั้งในไทยและต่างประเทศ ที่มีเป้าหมายในทิศทางเดียวกัน คือ การส่งเสริมสุขภาวะให้แก่สังคม เราเปิดโอกาสให้เขาสามารถมีส่วนร่วมใน SOOK Enterprise ในการนำองค์ความรู้ นวัตกรรมสินค้าต่างๆ มาร่วมจัดทำเป็นรูปแบบการให้บริการหรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพโดยใช้ในรูปแบบการแบ่งปันผลกำไร
ในด้านของการสร้าง Community หรือแพลตฟอร์มความร่วมมือที่ว่า ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง
แพลตฟอร์มแบ่งเป็น 4 ส่วนคือ Collaboration platform, Learning platform, Solution platform และ Innovation platform โดย Collaboration platform คือพื้นที่สำหรับการค้นหาเครือข่ายภาคีใหม่ๆ และยังเป็นแหล่งที่ไว้สำหรับระดมไอเดียต่างๆ รวมไปถึงระดมทุน จากภาคธุรกิจ ภาคสังคม ภาครัฐ เข้าไว้ด้วยกัน สำหรับ Learning platform เป็นการรวมคนที่เก่งเรื่องของการทำเวิร์คชอปหลักสูตร หยิบองค์ความรู้ของ สสส. มาดีไซน์เป็นหลักสูตรที่มีลักษณะการวางเป็นซีรีส์ สามารถเลือกเรียนได้ โดยไม่จำเป็นต้องเริ่มจาก Ep.1 ก่อน สามารถข้ามไปเรียนที่ Ep.3 หรือ 4 ได้เลย เพราะปัญหาของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสุขภาพ ถ้าเขาไม่อิน ไม่เห็นว่าเป็นกิจวัตรประวัน ก็ปรับเปลี่ยนได้ค่อนข้างยาก ซึ่งในอนาคตเรามองไปถึงขั้นการ incubate มีการทำ business matching หานักลงทุนให้กับเขาได้
Solution platform เริ่มต้นจากการทำสำรวจวัฒนธรรมของแต่ละองค์กรที่ไม่เหมือนกัน เพื่อรู้ก่อนว่าเขามีปัญหาอะไร และเริ่มออกแบบผ่านกระบวนการ Design thinking แล้วถึงจะมาดำเนินการในรูปแบบกิจกรรมหรือเป็นที่ปรึกษาให้ เพราะเราต้องการสร้างให้เกิดความยั่งยืนจริงๆ สุดท้ายคือ Innovation platform เป็นส่วนที่เราจะรวบรวมข้อมูล พัฒนาสินค้า และบริการนวัตกรรมเพื่อสุขภาพที่ผ่านการคัดสรร ทั้งคุณภาพ และคุณประโยชน์ ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ จากโครงการของภาคี สสส. และบุคคลภายนอกมานำเสนอบน แพลตฟอร์ม e-Commerce ของเรา
เกณฑ์การคัดเลือกสินค้าอีกรูปแบบ คือ เป็นสินค้าจากกลุ่มธุรกิจเพื่อสังคม หรือมีเป้าหมายเพื่อช่วยสังคม อาทิ สินค้าจาก Artstory ซึ่งเป็นสินค้าจากการออกแบบของกลุ่มเด็กออทิสติกจากจินตนาการและลายเส้นศิลปะโดยการสนับสนุนของมูลนิธิออทิสติกไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในภาคีสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ หรือการพัฒนานวัตกรรมใหม่ล่าสุด แอปพลิเคชัน “Me Books” ที่ได้ร่วมงานกับประเทศมาเลเซีย ผลิตนิทาน 4 ภาษา ส่งเสริมการอ่านกลุ่มเด็ก เยาวชน ครอบครัว เราจึงถือเป็นตัวกลางเชื่อมระหว่าง สสส. กับสังคมและผู้คนในวงกว้าง นอกจากนี้ เรามีแผนจะพัฒนาช่องทางให้ผู้ใช้งานได้สามารถสนับสนุนสินค้าเพื่อมอบแก่มูลนิธิต่างๆ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมสุขภาวะ
นอกจากเรื่องของภาคีที่ SOOK Enterprise เข้าไปทำงานร่วมด้วยแล้ว ปลายทางจะนำพาประเด็นสุขภาวะไปสู่ประชาชนทั่วไปได้อย่างไร
เราต้องทำคอนเซปต์โมเดล Business to Business to Consumer (B to B to C) โดยเริ่มต้นแบบ B to B ผ่านธุรกิจอย่าง กลุ่มโรงพยาบาล ประกัน สถานศึกษา หน่วยงานรัฐ ที่มีความพร้อมในการทำ B to C เพื่อเข้าถึงประชาชนทั่วโลก ที่ผ่านมา SOOK Enterprise ได้ร่วมกับ สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) หาไอเดียใหม่ๆ เกี่ยวเรื่องของ Workplace crisis เพราะว่าคนเราทำงาน work from home ทำให้มีความตึงเครียด เพราะฉะนั้นเราก็เลยใช้โจทย์นี้ในการแฮคเอาความสุขกลับคืนสู่องค์กร โดยจัดเป็น hackathon ขึ้นมา โดยมีกว่า 40 บริษัทที่เข้ามามีส่วนร่วมเริ่มธุรกิจ startup จากไอเดียที่เกิดขึ้น
วางแผนในระยะสั้นของ SOOK Enterprise ไว้อย่างไร
เป้าหมาย 3 ปี จะรวบรวมภาคีที่ได้พัฒนาองค์ความรู้ บริการ และสินค้านวัตกรรม นำไปพัฒนาสู่โมเดลธุรกิจเพื่อสังคม และต่อยอดเป็นโปรเจกต์ที่ยั่งยืน ในขณะเดียวกันจะพัฒนาการทำงานในรูปแบบของ Business to Business มากขึ้น เพื่อให้เกิดการขยายฐานผู้รับประโยชน์ได้กว้างขึ้น และตั้งเป้าในการนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างเต็มรูปแบบในการขับเคลื่อนธุรกิจ ทั้งด้าน CRM และการสร้างแพลตฟอร์มคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์คนยุคใหม่มากยิ่งขึ้น เช่น หนังสือพัฒนาการอ่านและการเรียนรู้ของเด็กที่ผ่านการพัฒนาจากภาคีของ สสส. เป็นรูปเล่ม พัฒนาเป็น Digital interactive book ที่ทำให้การเผยแพร่ไปได้กว้างขึ้นในต่างประเทศ
มองว่าความยั่งยืนในระยะยาวของการสร้างสุขภาวะ จะเกิดขึ้นผ่านโมเดลใหม่อย่างไร
เราสร้าง Business Model ของ SOOK Enterprise ให้เป็น Ecosystem ที่ยั่งยืนของการสร้างเสริมสุขภาพ ผ่านการให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบเพื่อตอบโจทย์การสร้างเสริมสุขภาพ เราตั้งต้นด้วยการทำความเข้าใจความต้องการ Solutions ของผู้คนในด้านสุขภาพที่สามารถใช้งานได้จริง และตอบโจทย์ในด้านไลฟ์สไตล์ โดยใช้กระบวนการ Design thinking ที่นำความเข้าอกเข้าใจปัญหาและความมีส่วนร่วมของผู้ใช้งานเข้ามาในขั้นตอนการออกแบบ นอกจากนี้แล้วเรายังส่งเสริมให้ภาคีธุรกิจเข้ามาสู่กระบวนการในมิติต่างๆ อย่างไรก็ดี ขั้นตอนต่างๆ เหล่านี้ไม่อาจประสบความสำเร็จ หากปราศจากองค์ความรู้และคุณค่าจาก สสส. ที่สั่งสมมาเป็นระยะเวลากว่า 2 ทศวรรษ
หาก Solutions ด้านสุขภาพ ถูกออกแบบให้ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของแต่ละคน ผ่านการสร้าง Ecosystem ที่เหมาะสม ผู้คนส่วนใหญ่จะเห็นถึงประโยชน์ในการเลือกไลฟ์สไตล์เพื่อสุขภาพที่เชื่อมโยงกับคุณค่าในชีวิตประจำวัน
อยากฝากอะไรถึงผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ที่อยากจะมาร่วมสร้างนวัตกรรมกับ SOOK Enterprise
คนที่อยากจะมาร่วมสร้างนวัตกรรมสุขภาพกับ SOOK Enterprise ขอให้มี passion มีความชัดเจน คิดสร้างสรรค์ มีเป้าหมายที่จะสร้างนวัตกรรมสุขภาพเพื่อสังคม ทำให้เกิดผู้รับประโยชน์ที่มีความสุขโดยแท้จริง หากสนใจเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมสุขภาวะ ติดต่อเข้ามาที่ www.sooklife.com