“ไปหลงทางด้วยกันไหม?”
นับถอยหลังอีกแค่ไม่กี่วัน พิพิธภัณฑ์ดิจิทัลล้วนๆ แห่งแรกบนโลกของ teamLab จะเปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการแล้วที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ด้วยคอนเซ็ปต์โลกไร้พรมแดน ที่ประสบการณ์มากมายจะถูกสร้างขึ้นผ่านศิลปะแบบดิจิทัล
ลองนึกถึงภาพ ร่างกายเราถูกห้อมล้อมด้วยแสงไฟมากมาย โคมห้อยจากเพดานเปลี่ยนสีตามจังหวะการก้าวเดิน ห้องที่เต็มไปด้วยลำแสงมหัศจรรย์บิดเบนทิศทางได้อย่างอิสระ ผีเสื้อที่บินข้ามจากกำแพงห้องหนึ่งไปสู่อีกห้องหนึ่ง หรือน้ำตกซึ่งถูกจำลองขึ้นมาด้วยศิลปะแห่งดิจิทัลล้วนๆ จนต้องหยิกแก้มตัวเอง เพื่อทดสอบว่านี่ไม่ใช่ความฝัน
The MATTER ได้มีโอกาสไปทัวร์ (จริงๆ คือหลงทางกว่า 3 ชั่วโมง) ใน ‘Mori Building Digital Art Museum’ ซึ่งมีพื้นที่กว่า 10,000 ตารางเมตร วันนี้เราจึงขอชวนทุกคนซ้อม ‘หลงทาง’ ไปด้วยกัน ก่อนที่พิพิธภัณฑ์จะเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 21 มิถุนายนนี้
หลงทางในป่าดิจิทัล สัมผัสธรรมชาติจากเทคโนโลยี
พิพิธภัณฑ์เริ่มต้นด้วยทางเข้า 3 ประตู ไม่มีแผนที่เป็นคู่มือการเดินทาง เพื่อให้เราได้ใช้ความสงสัยสำรวจป่าเขาวงกตดิจิทัลได้อย่างเต็มที่ ทั้งเพดาน พื้น ผนัง และกระจกต่างๆ ถูกตกแต่งด้วยศิลปะแบบดิจิทัล เนรมิตให้กลายเป็นป่าหลากหลายฤดู พร้อมประดับด้วยดอกไม้นานาชนิด
คอนเซ็ปต์สำคัญคือการสัมผัสถึงฤดูกาลที่เปลี่ยนผัน ทุกอย่างมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่เสมอ โลกในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีจึงสิ่งใหม่ๆ ให้เราเห็นได้ในทุกนาที
teamLAB ออกแบบให้ห้องโซนนี้ให้ผู้เข้าชมสามารถมีส่วนร่วมกับศิลปะดิจิทัลต่างๆ ได้ เช่น ถ้าหากเรายืนอยู่บนพื้นนิ่งๆ สักพักหนึ่ง ตรงจุดที่เรายืนจะมีดอกไม้ผุดขึ้นมาและเบ่งบานเติบโต หรือถ้าเราก้าวเท้าหรือเอื้อมมือไปแตะ ดอกไม้เหล่านั้นก็จะกระจายตัวออก
ห้องแห่งโคมไฟ เปลี่ยนสีตามจังหวะก้าวเดิน
จุดมุ่งหมายใหญ่ๆ ของโปรเจ็กต์ ‘teamLab Borderless’ คือการเชื้อชวนให้ผู้เข้าชมมีส่วนร่วมกับงานศิลปะที่ถูกจัดแสดงขึ้นจริงๆ อีกทั้งยังสามารถเชื่อมต่อกับผู้เข้าชมงานคนอื่นๆ ได้
ห้องแห่งโคมไฟ (Forest of Resonating Lamps) คือหนึ่งในความพยายามช่วยให้ร่างกายของเรา เข้าไปมีส่วนร่วม-เป็นส่วนหนึ่งของชิ้นงานศิลปะ
ภายในห้องกระจกนี้ ถูกประดับด้วยโคมไฟที่ห้อยลงมานับชิ้นไม่ถ้วน แม้เริ่มแรก สีของแต่ละโคมไฟจะเป็นสีเดียวกันหมด แต่ทันทีที่เราก้าวเท้าเข้าไป โคมไฟจะเริ่มเปลี่ยนสีไปทีละจุด (ด้วยเซ็นเซอร์ที่คอยจับตำแหน่งของผู้เข้าชม) จากหนึ่งจุดเป็นสอง จากสองเป็นสาม จากสามเป็นจำนวนมากมาย จนหันหน้ามองอีกที ทั้งห้องก็กลายเป็นสีสันหลากหลายไปแล้ว
ทีมงานเล่าให้เราฟังว่า ความสนุกในห้องนี้คือ ยิ่งมีผู้คนเข้าไปเยอะๆ มีการเคลื่อนไหวเยอะๆ แสงไฟในห้องก็จะยิ่งหลากหลายและสวยงามมากไปอีกระดับ
น้ำตกเสมือนจริง แสงสีประกอบสร้างธรรมชาติ
ถ้าพูดถึงน้ำตก หลายครั้งเราก็มักเห็นผลงานศิลปะที่มักถ่ายทอดผ่านการวาดรูปในกรอบ อย่างไรก็ดี หนึ่งในห้องไฮไลต์ของ ‘teamLab Borderless’ คือน้ำตกขนาดใหญ่ ที่ให้เราได้ปีนป่ายพื้นที่ลาดชัน ขึ้นไปลองสำรวจน้ำตกที่เคลื่อนไหวแบบเรียลไทม์
‘คุโด้ ทาคาชิ’ Communication Director ของ teamLAB เล่าให้เราฟังถึงแนวทางการทำเสนอศิลปะลักษณะนี้ว่า พวกเขาอยากให้ศิลปะมันไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ แต่มีการเคลื่อนไหวได้อยู่เสมอ เพราะเชื่อว่า ศิลปะในรูปแบบใหม่ๆ นี้ มันจะสามารถช่วยให้ผู้เข้าชมสามารถขยายขอบเขตจินตนาการของตัวเองได้ไม่มากก็น้อย
ศิลปะดิจิทัล (แบบเรียลไทม์) ในมุมของ teamLAB จึงไม่ใช่สิ่งที่แน่นิ่ง หากแต่เปลี่ยนแปลงไปได้ตลอดเวลา ในช่วงเวลาหนึ่งเราอาจเสพมันด้วยความรู้สึกเฉพาะรูปแบบหนึ่ง แต่ถ้ากลับมาชมมันอีกครั้ง เราก็อาจได้อารมณ์ความรู้สึกชนิดใหม่กลับไปก็ได้ เนื่องงานตัวชิ้นงานมันได้เปลี่ยนแปลงจากไปจากเดิมแล้ว
the Nest นอนบนรังของนก ชื่นชมศิลปะบนเพดาน
นี่เป็นห้องที่ทำให้กลุ่มผู้เข้าชมใจสั่นมากที่สุดห้องหนึ่ง ไม่เพียงแค่ต้องปีนป่ายบนทางเดินที่สั่นไหว เรายังได้เดินเข้าไปบนที่นอนคล้าย ‘รังนก’ ที่สูงขึ้นจากพื้นห้องหลายสิบเมตร
หากเอาชนะความกลัวที่สูงได้ แล้วปล่อยใจนอนดูภาพเคลื่อนไหวชุด ‘Crows are Chased and the Chasing Crows are Destined to be Chased as well’ เราก็จะได้รับความรู้สึกที่แม้จะยากในการอธิบายเป็นคำพูด แต่มันก็เหมือนเป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่ไม่น้อย
ลองดูตัวอย่างได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=H1moI-v8rLQ
บรรเลงงานศิลปะผ่านแสงไฟ
“นี่คือห้องโปรดของผม” คุโด้ ทาคาชิ จาก teamLAB บอกกับเราระหว่างที่พาเดินเข้ามาในห้องสี่เหลี่ยมลักษณะแปลกๆ ที่เต็มไปด้วยแสงไฟจากที่ยิงจากอุปกรณ์จากแทบทุกมุม
ทันทีที่ทีมงานเริ่มให้แสงไฟเริ่มเคลื่อนไหว เราก็มั่นใจว่า สิ่งที่คุโด้ซังพูดนั้นคือเรื่องจริง จากแสงที่ยิงออกมาทื่อๆ ไม่มีรายละเอียดเป็นพิเศษ พวกมันเริ่มฟอร์มเป็นรูปร่าง สร้างเป็นองค์ประกอบคล้ายรูปทรงทางสถาปัตยกรรมขึ้นมาเหนือร่างกายของพวกเราอย่างโดดเด่น
ไม่เพียงแค่นั้น ในช่วงหนึ่งของการแสดง เรายังสามารถเอาร่างกายเข้าไปมีส่วนร่วมกับแสงไฟเหล่านั้นได้ด้วย เช่น ถ้ามือของเราเข้าไปใกล้กับแสงที่ยิงออกมา มันก็จะเคลื่อนที่หนีห่างเราออกไป ราวกับผีเสื้อที่รู้ตัวว่ากำลังจะถูกจับจากมนุษย์
นี่ก็เป็นหนึ่งในวิธีที่ teamLAB พยายามชวนให้งานศิลปะกับร่างกายผู้เข้าร่วมได้มีความสัมพันธ์กันจริงๆ
ดอกไม้ดิจิทัลที่เบ่งบานกลางถ้วยชา
ใจกลางพิพิธภัณฑ์ขนาด 10,000 ตารางเมตร มีห้องกาแฟขนาดกว้างขวางซ่อนตัวอยู่
ไฮไลต์ในห้องนี้ ไม่ได้มีแค่ได้ดื่มชา ‘EN TEA’ จากจังหวัดไฮเซนของญี่ปุ่นแล้ว ความพิเศษยังอยู่ตรงที่ลวดลายดอกไม้ที่จะเบ่งบานขึ้นโดยอัตโนมัติในถ้วยชา ผ่านการจับสัญญาณของอุปกรณ์บนเพดาน
สิ่งที่น่าตื่นเต้นมากๆ คือ ทุกถ้วยชาจะมีลวดลายของดอกไม้แตกต่างกันออกไป ตามการคำนวนของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และถ้าใครเผลอทำชาหก หรือกระเด็นออกไปข้างนอกถ้วย ดอกไม้ดิจิทัลเหล่านี้ ก็จะตามไปเบ่งบานบนชาพื้นที่หกบนโต๊ะด้วยเหมือนกัน
อย่างไรก็ดี ระหว่างที่ลิ้มรสชา ผู้เข้าชมอาจต้องชั่งใจกันอยู่บ้างพอสมควร เพราะถ้าหาดื่มชาหมด ดอกไม้ที่กำลังเบ่งบานเหล่านั้นก็ย่อมหายไป แม้จะเติมชาลงไปใหม่ให้เต็มแก้ว ดอกไม้ดอกเดิมก็อาจจะไม่กลับมาให้เห็นอีกแล้ว พูดให้ถึงที่สุด ดอกไม้ดิจิทัลเหล่านี้ กำลังบอกเราถึงความจริงในชีวิตว่า สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วนั้นยากจะกลับมาเหมือนเดิม และเวลาไม่เดินย้อนถอยหลัง
แม้ดอกไม้ที่เบ่งบานในถ้วย จะไม่ได้สัมพันธักับรสชาติของชา แต่ประสบการณ์เช่นนี้ก็ยากที่จะหาได้จากที่อื่นๆ บนโลก
Graffiti Nature ขยับร่างกายสร้างระบบนิเวศ
นี่คือโซนขนาดใหญ่ในพิพิธภัณฑ์ แต่ละบริเวณออกแบบมาให้ผู้เข้าชมได้ขยับเขยื้อนร่างกายโดยเฉพาะ แถมยังได้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบนิเวศทางธรรมชาติ
เพราะถ้าหากเรายืนอยู่กับที่นิ่งๆ ดอกไม้ก็จะเริ่มเบ่งบานบนพื้นที่เรายืน จากนั้น มันจะกลายเป็นผีเสื้อ แล้วผีเสื้อเหล่านั้นก็จะถูกกบที่วิ่งไปมาภายในห้อง กระโดดเข้ามากินอีกที เป็นนัยว่า ถ้าไม่อยากให้ผีเสื้อน่ารักๆ ถูกกิน พวกเราก็ต้องขยับร่างกาย เดินไปเรื่อยๆ ไม่มีหยุดกันไป (หรือถ้าใครโหดๆ หน่อยก็สามารถเดินตามไปล้างแค้น เหยียบกบที่มากินผีเสื้อได้อีกด้วย)
ในจุดกลางของห้อง ยังมีเนินบ่อน้ำดิจิทัล ที่ถ้าเราเข้าไปกอดเสานานๆ น้ำก็จะไหลออกมาจนเติมเต็มบ่อ กลายเป็นศูนย์กลางของระบบนิเวศที่เป็นประโยชน์ต่อสัตว์ต่างๆ ในห้องได้เช่นกัน