ก่อนหน้านี้ เราได้นำเสนอเรื่องเกี่ยวกับศิลปกรรมจากน้องจิ๋มอันอื้อฉาว ที่เหล่าบรรดาศิลปินหญิงใช้ท้าทายสังคมชายเป็นใหญ่อย่างห้าวหาญ หรือกระแสการต่อต้านการล่วงละเมิดและคุกคามทางเพศในวงการต่างๆ ที่ทำเอาบิ๊กเนมในวงการสร้างสรรค์และวงการศิลปะเสียรังวัดไปยกใหญ่กันไปแล้ว เพื่อเป็นการมองต่างมุม ในตอนนี้เราเลยจะขอนำเสนอเกี่ยวกับงานศิลปะที่มองเรื่องเพศเป็นเรื่องธรรมดาสามัญในชีวิตประจำวัน
ศิลปะประเภทนี้มีชื่อเรียกว่า ‘ชุงกะ’ (春画 Shunga) หรือศิลปะเชิงสังวาสของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหนึ่งในแขนงของศิลปะแบบประเพณีที่เรียกว่า อุกิโยเอะ โดยส่วนใหญ่จะถูกทำขึ้นมาด้วยกระบวนการของภาพพิมพ์ที่พิมพ์จากแม่พิมพ์ไม้ มีส่วนน้อยที่จะทำเป็นภาพวาดม้วน ซึ่งมีมาก่อนยุคของอุกิโยเอะ โดยชุงกะแปลตรงตัวได้ว่า ‘Spring Pictures’ หรือ ‘ภาพฤดูใบไม้ผลิ‘ ซึ่งเป็นคำสุภาพที่หมายถึงภาพของการร่วมเพศนั่นเอง
ชุงกะเป็นผลิตผลในช่วงศตวรรษที่สิบหกถึงศตวรรษที่สิบเก้า โดยถูกนำมาใช้เพื่อการตอบสนองความต้องการทางโลกีย์ เพื่อกระตุ้นเร้าอารมณ์ทางเพศหรือการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง แต่ก็ใช่ว่าภาพชุงกะเหล่านี้จะสามารถนำมาแสดงให้เห็นกันได้อย่างโจ่งแจ้ง เพราะเรื่องเพศไม่ใช่อะไรที่จะเอามาแสดงหรืออวดกันได้อย่างเปิดเผย ถึงจะไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าภาพชุงกะนั้นใช้สำหรับผู้ชายหรือผู้หญิงในการสร้างจินตนาการทางเพศ แต่ภาพชุงกะประมาณปี ค.ศ. 1810 ที่วาดภาพผู้หญิงที่นำภาพเชิงสังวาสไว้ใต้หมอน แล้วนอนหลับฝันถึงการร่วมเพศ โดยไม่รู้ตัวว่ามีคนแอบดูร่างกายส่วนล่างที่ผ้าผ่อนกระจัดกระจายจนเปิดทุกอย่างให้เห็นโล่งโจ้งอยู่ แต่อย่างไรก็ดี ภาพชุงกะเหล่านี้ก็ไม่น่าจะใช่คู่มือสำหรับการประกอบกามกิจ เพราะมีการเล่ากันว่าใครที่พยายามเลียนแบบท่าสังวาสในชุงกะ มักจะประสบกับปัญหาเส้นพลิก เคล็ดขัดยอก กันถ้วนหน้า
เดิมทีเชื่อกันว่าชุงกะได้แรงบันดาลใจมาจากภาพวาดในตำราเวชศาสตร์จีนโบราณที่พัฒนามาเป็นภาพเชิงสังวาสในเวลาต่อมา ในขณะที่รากศัพท์ของคำว่า ชุงกะ นั้นมาจากรูปย่อของคำว่า ชุงเคียวฮิกิกะ (春宮秘戯画 shunkyū-higi-ga) คำสะกดแบบญี่ปุ่นของภาพวาดจีน 12 ม้วนที่พรรณนาถึงท่าสังวาสต่างๆ ที่องค์ชายจีนต้องบำเพ็ญปฏิบัติเพื่อความสมดุลของหยินหยาง ส่วนในญี่ปุ่น ต้องย้อนกลับไปถึงยุคเฮอัน ภาพชุงกะได้ปรากฏอยู่ในชนชั้นสูงอย่างราชสำนัก ในรูปแบบของภาพวาดม้วนที่เล่าเรื่องอื้อฉาวทางเพศในราชสำนักหรือในสำนักสงฆ์ โดยมีตัวละครเป็นข้าราชสำนักและบรรดาพระนั่นเอง
ภาพชุงกะได้รับความนิยมสูงสุดในยุคเอโดะ (1603 – 1867) ด้วยอานิสงส์ของเทคนิคการพิมพ์จากแม่พิมพ์ไม้ในสมัยนั้นที่พัฒนาเป็นอย่างมาก ทำให้ชุงกะมีการผลิตเป็นจำนวนมากและมีราคาถูก โดยขายเป็นแผ่นๆ คล้ายใบปลิว หรือเย็บรวมเป็นเล่มหนังสือ ที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตทางโลกย์และกามารมย์ของคนเมือง โชนิน (ชนชั้นพ่อค้าหรือช่างฝีมือ) เกอิชา, โอยรัน (นางโลม), คาบูกิ, นักแสดงเต้นกินรำกิน บางครั้งก็มีชนชั้นสูงและชาวต่างชาติ, เรื่องราวในสถานบันเทิงเริงรมย์, การเสพสังวาสของชายหญิง, หญิงหญิง, ชายชาย, คนกับสัตว์ สิ่งของ, คนกับภูติผีปิศาจ, เซ็กซ์แบบพันธนาการมัดโยง, การบังคับขืนใจ, การสำเร็จความใคร่, เซ็กส์แบบเดี่ยว, แบบคู่, แบบสามคนอลเวง, แบบหลายคนครื้นเครง ไปจนถึงแฟนตาซีทางเพศอันหลากหลาย (เรียกว่าอยากได้แบบไหน ขอให้บอกมา) ถูกถ่ายทอดผ่านชุงกะเหล่านี้อย่างวิจิตรพิสดาร วิตถาร ไปจนถึงแปลกประหลาดอัศจรรย์พันลึกเลยก็มี ซึ่งภาพพิมพ์ชุงกะเหล่านี้ก็มีชื่อเรียกว่า มาคูระ (หมอน) นูเระ (เปียก) และ วาไรเอะ (ภาพชวนหัว) ตามแต่ศิลปินและผู้บริโภคจะเรียกขานกันไป ซึ่งก็ล้วนแล้วแต่แฝงนัยยะทางเพศทั้งสิ้น
ลักษณะอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์อีกประการของชุงกะก็คือการวาดภาพอวัยวะเพศชายหญิงขนาดใหญ่มหึมาเกินจริง จนบางครั้งดูเท่ากับศีรษะเลยทีเดียว ซึ่งการวาดในลักษณะนี้นอกจากจะเป็นการเน้นย้ำเนื้อหาทางเพศให้ชัดเจนจะแจ้งแล้ว อวัยวะเพศอันใหญ่โตเกินจริงยังเป็นตัวแทนของ ‘ใบหน้าที่สอง’ ที่แสดงออกถึงความปรารถนาภายในส่วนลึกของผู้คน ที่ถูกซ่อนไว้ภายใต้ใบหน้าปกติในการดำเนินชีวิต และปฏิบัติภาระหน้าที่ในชีวิตประจำวัน ดังนั้นมันจึงมีขนาดเท่ากับใบหน้าหรือศีรษะ และอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้เคียงกันอย่างผิดธรรมชาติ เพื่อแสดงถึงสภาวะอันกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของคนเหล่านั้นนั่นเอง
ถึงแม้ชุงกะจะถูกแบนหลายครั้งในบางยุคสมัย จนต้องผลิตกันหลบๆ ซ่อนๆ ใต้ดิน จึงอาจมองได้ว่ามันไม่ต่างอะไรกับหนังสือโป๊ในยุคโบราณ แต่อย่างไรก็ดีศิลปินอุกิโยเอะแทบทุกคนล้วนทำชุงกะออกมาในช่วงหนึ่งของอาชีพการงานทั้งสิ้น ซึ่งมันก็ไม่ได้ทำให้คุณค่าการเป็นศิลปินของพวกเขาลดน้อยถอยลงแต่อย่างใด เพราะญี่ปุ่นในสมัยนั้นยังไม่มีค่านิยมหรือจริยธรรมทางเพศแบบคริสเตียน ภาพสังวาสของญี่ปุ่นก็เลยไม่ได้ถูกจัดให้อยู่ในฐานะของภาพลามกอนาจาร (Pornography) แต่เป็นเพียงแค่เรื่องทะลึ่งตึงตังเสียมากกว่า ซึ่งภาพชุงกะเหล่านี้ก็มีคุณค่าในเชิงศิลปะไม่แพ้อุกิโยเอะในรูปแบบอื่นๆ เลย
ศิลปินภาพชุงกะที่โดดเด่นก็มีอาทิ อุตามาโร หรือ คิตะกาวะ อุตามาโร (喜多川 歌麿 Kitagawa Utamaro) ภาพชุงกะของเขามีความโดดเด่นด้วยรายละเอียดของรูปร่างหน้าตาที่งดงามลงตัวของคู่รักหญิงชาย เสื้อผ้าอาภรณ์ที่มีสีสันลวดลายสวยงามวิจิตรและลีลากามกิจที่วาบหวามรัญจวนและเรื่องราวเพ้อฝันประโลมโลกทางเพศ ผลงานที่โด่งดังที่สุดของเขาคือ อุตามาคูระ (歌まくらUtamakura) หรือ กวีข้างหมอน (1788) หนังสือรวมภาพพิมพ์ชุงกะและบทกวีเชิงสังวาส 12 ภาพ ที่แสดงภาพกิจกามอันเปิดเผยจะแจ้งแต่ก็วิจิตรบรรจง
ศิลปินชุงกะที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักที่สุดก็คือ โฮะคุไซ หรือ คัทซึชิคะ โฮะคุไซ (葛飾 北斎 Katsushika Hokusai) ผู้ที่นอกจากจะเป็นปรมาจารย์แห่งภาพอุกิโยเอะแล้ว ด้วยผลงานภาพเชิงสังวาสที่พร้อมด้วยรายละเอียดและองค์ประกอบอันงดงามเปี่ยมสุนทรียะชั้นครูและบทอัศจรรย์อันจะแจ้งและวิจิตรพิสดารพันลึก ทำให้เขายังเป็นปรมาจารย์แห่งภาพชุงกะอีกด้วย
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาพ The Dream of the Fisherman’s Wife (蛸と海女 Tako to ama) (1814) หรือที่รู้จักในชื่อ ‘นักประดาน้ําและหมึกยักษ์’ เป็นภาพพิมพ์จากแม่พิมพ์ไม้ที่แสดงถึงการร่วมเพศระหว่างคนกับสัตว์ (zoophilia) งานชุดนี้ถูกทําข้ึนในช่วงที่เขามีอายุ 50 กว่าปี ซึ่งเขาเลิกใช้ชื่อเดิมและเปลี่ยนเป็นชื่อ ไตโตะ รวมถึงผลิตงานท่ีมีลายเซ็นว่า คัทซึชิคะ โฮะคุไซ ไตโตะ อันเป็นชื่อที่คนรู้จักกันในปัจจุบัน (ทําให้คนเรียกช่วงเวลาน้ีของเขาว่า “ยุคไตโตะ”) โดยเขาทําหนังสือรวมภาพเชิงสังวาสหรือชุงกะชุด Kinoe no Komatsu (ต้นสนวัยเยาว์) ข้ึนในช่วงปี 1814 ซึ่งเป็นหนังสือชุงกะท่ีโด่งดังท่ีสุดของโฮะคุไซ ซึ่งภาพน้ีก็เป็นภาพท่ีโด่งดังที่สุดในหนังสือเล่มน้ีด้วย นี่ไม่ใช่ช่วงแรกที่เขาทํางานในหัวข้อน้ี แต่ในยุคนี้โฮะคุไซมีพัฒนาการอันยิ่งใหญ่ทั้งในด้านของคุณภาพและปริมาณของงานภาพพิมพ์เชิงสังวาส ซึ่งเป็นหัวข้อที่โดดเด่นท่ีสุดอย่างนึงของเขา และอย่างที่บอกว่าด้วยความที่สังคมในยุคนั้นยังไม่มีค่านิยมหรือจริยธรรมแบบคริสเตียนที่ต้องมีความอับอายหรือรู้สึกผิดเกี่ยวกับเรื่องเพศ เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ดังนั้นภาพกิจกรรมทางเพศจึงสามารถเช่ือมโยงกับกิจกรรมสามัญในชีวิตประจําวันอย่างการกินอาหาร ตกปลา ไปจนถึงกิจกรรมที่แฝงนัยยะทางเพศอย่าง การงมหอย หรือแม้แต่ภาพการร่วมเพศเองก็ตามที ทําให้ศิลปินสามารถถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้ออกมาได้อย่างอิสระเสรี
มันเป็นภาพของนักงมหอยสาวร่างเปลือยเปล่าที่กําลังถูกเกี่ยวกระหวัดรัดรึงเล้าโลมและเสพสมโดยหมึกยักษ์สองตัว ตัวเล็กกว่าทางซ้ายกําลังดูดดื่มริมฝีปาก และรัดรึงยอดถันของเธอด้วยหนวด ในขณะท่ีตัวใหญ่กว่าทางขวากําลังใช้หนวดรัดรึงร่างกายและโลมเลียอวัยวะเพศของเธออยู่ ตัวหนังสือบนภาพบรรยายถึงความสุขทางเพศที่เธอและพวกมันได้รับจากการนี้ นักวิชาการศิลปะบันทึกไว้ว่าภาพนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากตํานานพื้นบ้านของญี่ปุ่นที่เล่าเรื่องของสาวนักงมหอยท่ีดําน้ําลงไปขโมยอัญมณีจากวังของเทพเจ้ามังกรใต้ทะเล ซึ่งโด่งดังอย่างมากในยุคเอโดะ
ภาพน้ีเป็นต้นธารของงานศิลปวัฒนธรรมแนวหนึ่งของญี่ปุ่นท่ีนําเสนอเรื่องราวเชิงสังวาสของมนุษย์กับสัตวมีรยางค์ (Tentacle erotica) ซึ่งเป็นท่ีนิยมอย่างมากในวัฒนธรรมสมัยใหม่ของญี่ปุ่น อาทิเช่นใน อนิเมะ, มังงะ และอื่นๆ ผลงานชิ้นนี้ของโฮะคุไซส่งแรงบันดาลใจ ให้ศิลปินรุ่นหลังอีกมากมาย แม้แต่ศิลปินตะวันตกอย่าง เฟลิเซียน รอปส์ ( Félicien Rops), ออกุสต์ โรแดง (Auguste Rodin), หลุยส์ อูก็อก (Louis Aucoc), แฟร์ นองด์ ค์นอฟฟ์ (Fernand Khnopff) และ พาโบล ปิกัสโซ่ เป็นอาทิ ซึ่งปิกัสโซ่เอง ก็เคยวาดภาพ นักประดาน้ําและหมึกยักษ์ ในเวอร์ชั่นของตัวเอง และถูกนำไปจัดแสดงเคียงคู่กับภาพต้นฉบับของโฮะคุไซในนิทรรศการ ‘แรงบันดาลใจของศิลปินญี่ปุ่นในยุคศตวรรษที่ 19 ต่อผลงานของปิกัสโซ่’ ในปี 2003 อีกด้วย (อ่านเกี่ยวกับโฮะคุไซได้ที่นี่ https://goo.gl/84utB9, https://goo.gl/Tst7Cp )
หรือ ยานากาวะ ชิเกโนบุ (柳川 重信 Yanagawa Shigenobu) ลูกศิษย์ ลูกเขย และลูกบุญธรรมของปรมาจารย์โฮะคุไซ ผู้มีฝีมือเลื่องลือในการวาดภาพเกอิชาและบทอัศจรรย์ของเหล่านางโลมด้วยสีสันและเส้นสายที่เปี่ยมอารมณ์รัญจวนยวนใจเป็นอย่างยิ่ง
ชุงกะส่งอิทธิพลสืบเนื่องมาถึงยุคโชวะและเฮเซไปจนถึงยุคสมัยใหม่ ในทางหนึ่งมันพัฒนามาเป็นรูปแบบของสื่อเชิงสังวาสที่เป็นที่รู้จักกันทั่วโลกอย่าง เฮนไต (変態 Hentai) รวมถึงส่งอิทธิพลในเชิงสุนทรียะต่อศิลปินรุ่นหลังอีกมากมาย ด้วยความที่มันมีรูปแบบอันหลากหลายและเรื่องราวทางเพศอันกว้างไกลลึกล้ำไปจนถึงเลยเถิด โดยไม่มีกรอบของศีลธรรมมากำหนด ทำให้เมื่อหาดูภาพชุงกะหลายๆ ภาพเข้าก็ทำให้เราเข้าใจเลยว่า ทำไมสื่อเชิงสังวาสของญี่ปุ่นอย่างภาพโป๊, พิงก์ฟิล์ม, หนังเอวี, ไปจนถึงอนิเมะและมังงะเฮนไต ถึงได้เป็นอย่างที่มันเป็นอยู่ในทุกวันนี้ เพราะดูแล้วพูดได้คำเดียวว่า จิตนาการเพริดแพร้วเป็นล้นพ้นจริงๆ อะไรจริงอ่ะนะ!
อ้างอิงข้อมูลจาก
หนังสือ: Sex and the Floating World: Erotic Images in Japan 1700-1820 เขียนโดย Timon Screech
หนังสือ: Floating World: Japan in the Edo Period เขียนโดย John Reeve พิมพ์โดย BRITISH MUSEUM
หนังสือ: Hokusai by Gian Carlo Calza / Hokusai Katsushika สำนักพิมพ์ Phaidon, 2003, [2004]
หนังสือ: คัทซึชิคะ โฮะคุไซ โดย ชัยยศ อิษฏ์วรพันธุ์ สํานักพิมพ์ สารคดีภาพ, 2552
บทความพิเศษ: เมื่อไม่มีขน ฉันจึงเป็นศิลปะ (9) นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24 – 30 ธ.ค. 2553 เขียนโดย ธเนศ วงศ์ยานนาวา
บทความ: อุกิโยเอะ โดย ชัยยศ อิษฏ์วรพันธุ์ วารสาร ญี่ปุ่นสาร ฉบับที่ 71 กรกฎาคม – กันยายน 2011
การ์ตูน จิน หมอทะลุมิติ NED COMICS
https://en.wikipedia.org/wiki/Shunga
https://en.wikipedia.org/wiki/The_Dream_of_the_Fisherman%27s_Wife