ทุนนิยมนี่มันแย่จริงๆ
แต่สุดท้ายเราก็ตื่นมาบนโลกแห่งทุนนิยม และใช้ชีวิตไปตามวงจรของโลกทุนนิยม เราตื่นไปทำงานหาเงิน ได้เงินมาก็เอาไปซื้อข้าวของเครื่องใช้ ซึ่งไอ้เจ้าข้าวของที่เรามีเราใช้ก็ใช่ว่าจะสักแต่ใช้ประโยชน์เอามานุ่ง เอามากินให้อิ่มไปวันๆ แต่มันยังฟังก์ชั่นเป็น ‘สิ่งแสดงสถานะ’ ของเราด้วยว่าในสังคมทุนนิยมที่เราใช้ชีวิตหาเงินกันอยู่ทุกวันนี้ เรามีสถานะและฐานะระดับไหนนะ
นักวิชาการบอกว่าเมื่อเราเข้าสู่สังคมทุนนิยมสมัยใหม่ จากแต่เดิมชนชั้นอาจจะถูกแบ่งโดยสายเลือด โดยฐานันดรใดๆ แต่พอมาสู่ยุคแห่งการบริโภคแล้ว การบริโภคนี่แหละเป็นสิ่งที่เราใช้เพื่อแบ่งชนชั้นของพวกเรา คำอธิบายเรื่องการบริโภคที่ ‘โจ่งแจ้ง (conspicuous)’ ทำนองว่านี่ไง ฉันรวยนะ ฉันถือกระเป๋าแบบนี้ เข้าร้านอาหารแบบนี้ มันเป็นการบริโภคที่ต้องเห็นกันจะๆ กับตาไปเลยว่านี่คือความรวย ซึ่งดูเหมือนว่าจากยุคแห่งการบริโภคแบบโจ๋งครึ่มก่อนหน้า พอมาตอนนี้กระแสจะเริ่มไปสู่การแสดงความร่ำรวยในลักษณะซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิม คนรวยๆ เริ่มลงทุนไปกับ ‘วัฒนธรรม’ มากกว่า ‘ข้าวของ’ กันมากขึ้น
การแสดงออกของ ‘ฐานะ’ จากโจ่งแจ้งสู่เงียบเชียบ
สมัยที่นักวิชาการเสนอแนวคิดเรื่องการบริโภคเพื่อแสดงฐานะ นึกภาพสังคมที่ก้าวเข้าสู่สังคมเมืองใหม่ๆ ในเมืองเต็มไปด้วยผู้คน ดังนั้นการจะแสดงตัวตนหรือสถานะของตัวเองมันก็ต้องทำในลักษณะที่มองปราดเดียวก็รู้ว่า อ้อ คนนี้เป็นคนระดับไหนนะ ถ้าใส่เสื้อแบบนี้ ใส่หมวก ใส่รองเท้าส้นสูง กลัดกระดุม ก็เป็นการส่งสัญญาณว่า อย่างน้อยๆ ฉันไม่ได้ขุดถนนนะ เสื้อผ้าประมาณนี้มันต้องมีรายได้หรือรูปแบบการทำงานในระดับหนึ่งแหละถึงจะซื้อได้
Currid-Halkett เจ้าของหนังสือ ‘The Sum of Small Things: A Theory of the Aspirational Class’ บอกว่าร้อยปีหลังจากแนวคิดเรื่องการบริโภคเพื่อสถานะ มาถึงทุกวันนี้ โลกไม่ได้ต้องการความโจ่งแจ้งของการแต่งตัวหรือข้าวของที่ต้องมองปราดเดียวแล้วรู้ว่าหรูหราอีกแล้ว แต่กลุ่มคนที่มีรายได้สูงทั้งหลายเริ่มหันเหไปสู่การบริโภคที่มีความซับซ้อนไปกว่านั้น เริ่มลงทุนไปที่มิติทางวัฒนธรรม ให้ความสำคัญกับการศึกษา ศิลปะ การบริโภคที่มีความเฉพาะเจาะจงทำนองอาหารสุขภาพ การมีกิจกรรมยามว่างเก๋ๆ เช่น โยคะ พิลาทิส
นิยามใหม่ของความร่ำรวยอาจจะเรียกได้ว่าเป็น ‘ความรุ่มรวย’ มากกว่า คือคนรวยๆ เดี๋ยวนี้ก็จะไม่ได้ใส่เพชรตีผมโป่ง แต่อาจจะเป็นคนที่ใส่เสื้อผ้าสบายๆ (แต่ออร์แกนิก) ไม่ได้อยู่บ้านที่ถมด้วยหลุยส์ แต่เป็นบ้านที่เลี้ยงดูลูกๆ ด้วยแนวคิดพิเศษๆ เช่นพ่อแม่เลี้ยงเอง (แต่ก็ต้องจ้างพี่เลี้ยงแม่บ้านไว้ช่วย⏤ซึ่งการที่หนึ่งในพ่อแม่ต้องพักงานมาใช้เวลากับลูก ถ้าไม่รวยก็ทำไม่ได้เนอะ)
กระแสใหม่ของความ ‘แพง’
ในงานของ Currid-Halkett เน้นการสำรวจการใช้จ่ายเงินของกลุ่มคนที่มีรายได้สูงใหม่ๆ ของอเมริกาเป็นหลัก และบอกว่าคนรายได้สูงในอเมริกามีแนวโน้มจะลงทุนกับสิ่งอื่นๆ เช่นการศึกษามากกว่าความฟู่ฟ่าหรูหรา เธอเสนอว่าการบริโภคแบบโจ่งแจ้งที่เราคุ้นเคยเริ่มนำไปสู่การบริโภคแบบไม่โจ่งแจ้ง (conspicuous) เราอาจนึกถึงภาพคนๆ นึงจะมีกระเป๋าเบอร์กินเป็นโหลๆ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้รับรองได้ว่าคนๆ นั้นจะดูแพง ความแพงในโลกดิจิตอลอาจจะไม่จำเป็นต้องใส่ของแบบนี้ออกมาอีกแล้ว แต่เรามีการแสดงออกถึงรสนิยมและความสามารถในการเลือกสรรสิ่งต่างๆ ได้อย่างซับซ้อนมากขึ้น
เราอาจโพสรูป Egg Benedict เป็นอาหารเช้า รับประทานคู่กับ Quinoa อาหารเช้าสุขภาพแบบนี้กำลังบอกถึงความรู้และศักยภาพในการเลือกกินที่แสนจะไม่ธรรมดาของเรา เราอาจใส่ชุดออกกำลังแล้วเดินอยู่ที่ห้างหรู โดยนัยเป็นการบอกว่านี่ไง ฉันเป็นสมาชิกและรู้จักรูปแบบการออกกำลังกายใหม่ๆ แบบนี้นะ การแสดงออกถึงฐานะและสถานะทางสังคมจึงไม่ได้ต้องฟู่ฟ่าและโอ้อวดแบบชัดแจ้ง แต่คือการเข้ารหัสให้คนกลุ่มเดียวกันสามารถถอดรหัสและตีความถึงไลฟ์สไตล์และรายได้ที่อยู่เบื้องหลังความเรียบง่ายธรรมดาๆ ทั้งหลายเหล่านั้น
การลงทุนจากข้าวของที่เปลี่ยนไปสู่การลงทุนทางวัฒนธรรมสอดคล้องกับแนวคิดเรื่องทุนทางวัฒนธรรมของบูร์ดิเยอที่บอกว่าทุนทางวัฒนธรรมเป็นรูปแบบทางรสนิยมที่สูงกว่าทุนทางเศรษฐกิจ ความรู้ ความสามารถไฮโซๆ เช่น การอ่านออกเขียนได้ รสนิยมทางดนตรี รสนิยมทางวรรณกรรม มันเป็นสิ่งที่เราต้องเอาทุนทางเศรษฐกิจไปแลกมา และในที่สุดแล้วการที่คนคนหนึ่งมีทุนทางวัฒนธรรมสูง สามารถเข้าสังคมและทำงานในระดับสูงได้ มันก็นำมาซึ่งการสะสมทุนอื่นๆ เป็นบ่อเกิดของรายได้ต่างๆ ต่อไป
แถมพลังสำคัญของการแสดงออก/อวดทุนทางวัฒนธรรมมันมีความแนบเนียนมากกว่าการแสดงออกถึงความร่ำรวยด้วยสิ่งของเฉยๆ เช่น คนคนนึงสามารถคุยเรื่องอาหาร คุยเรื่องหนังสือ หรือเล่นเปียโนได้ เราก็จะรู้สึกชื่นชมว่า โห คนนี้ไม่ธรรมดา แต่ถ้าแค่อวดเพชรอวดทอง บางทีถ้าอวดอย่างไม่มีศิลปะ ก็อาจจะถูกหัวเราะเยาะได้ว่ามีแต่เงิน ไม่มีรสนิยม
Cover Illustration by Manaporn Srisudthayanon