Forbes Thailand รายงานว่าการบริโภคปลากระป๋องบ้านเราติดลบ 3% เป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี ถือว่าเป็นตัวชี้วัดว่าเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภคกำลังหดตัวลง เกษตรกรและผู้ซื้อในต่างจังหวัดมีกำลังซื้อลดลง ซึ่งแน่ล่ะถ้าขนาดปลากระป๋องยังไม่สามารถซื้อได้ แปลว่าสภาพเศรษฐกิจของผู้คนก็น่าจะฝืดเคืองระดับไม่ธรรมดา สำหรับสภาวะปัจจุบันของบ้านเราก็มีตัวเลขอื่นๆ ที่สอดรับกับการหดตัวของการบริโภคปลากระป๋อง
อาหารดูจะมีฐานะของมันเนอะ เรามีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มีปลากระป๋อง ในต่างชาติก็มี junk food เป็นพวกอาหารการกินที่ราคาถูก กินเอาอิ่ม ที่ในขณะเดียวกันก็ไม่ค่อยดีกับสุขภาพเท่าไหร่ ในทางเศรษฐกิจเรียกอาหารและสินค้าที่มีราคาถูกว่าเป็นสินค้าด้อย (Inferior goods) เป็น ‘อาหารทางเลือก’ ฉบับยามยาก เป็นของที่เราจะกินในช่วงที่เราจนๆ หน่อย ดังนั้นเช่นในโลกตะวันตกก็เริ่มมองว่า นี่ไงเพราะฐานะทางเศรษฐกิจแหละที่ทำให้คนจนต้องกินแต่พวกอาหารขยะที่มีราคาถูกกว่า เป็นผลสัมพันธ์กับปัญหาโรคอ้วนที่กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ผลการศึกษาฐานะกับการบริโภคอาหารขยะ ตีพิมพ์ใน Economics & Human Biology ให้ผลตรงข้ามกับความเข้าใจ คือปรากฏว่า อ้าว คนจนกลับบริโภคอาหารขยะน้อยกว่าและไม่บ่อยเท่าคนรวยๆ จากที่เราคิด่าคนรวยๆ น่าจะกินอาหารสุขภาพ แต่ปรากฏว่า การกินอาหารที่ไม่ค่อยดีกับสุขภาพไม่ได้สัมพันธ์กับสถานะทางเศรษฐกิจเท่าไหร่ ใครๆ ก็ชอบ
จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างชาวอเมริกันจากทุกช่วงฐานะพบว่า เฉลี่ยเกือบ 80% ของคนอเมริกันในทุกช่วงฐานะบริโภคอาหารขยะอย่างน้อย 1 ครั้งในช่วงสามสัปดาห์ที่ผ่านมา
ในทำนองเดียวกันพอถามว่าโดยเฉลี่ยแล้วกินอาหารขยะกี่ครั้งต่อสัปดาห์ ผลคือคนทุกฐานะโดยเฉลี่ยแล้วกินประมาณ 3-4 มื้อต่อสัปดาห์ กลุ่มผู้มีรายได้น้อยจริงๆ แล้วบริโภคอาหารขยะน้อยกว่าชนชั้นกลางเล็กน้อย ส่วนคนที่รวยที่สุด 10% ของสังคมก็กินอาหารขยะประมาณ 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ซึ่งก็ถือว่าไม่ได้ต่างกัน สถานะทางเศรษฐกิจดูจะไม่ค่อยเกี่ยวกับการบริโภคอาหารขยะเท่าไหร่
กลับมาที่บ้านเรา เราเองก็มีผลสำรวจว่าไทยเราเป็นประเทศที่บริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมากเป็นอันดับที่ 7 ของโลก และมีการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคจากกลุ่มตัวอย่าง 200 คน จากหลายฐานะก็พบว่า เหตุผลที่คนไทยเลือกบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหลักๆ คือ เพราะอยากกิน (30.9%) รองลงมาคือต้องการประหยัดเงิน (14.3%) และเพราะหิว (10.5)
บางทีอาหารที่ไม่ดีสุขภาพ แต่อร่อย แถมราคาถูกด้วย ก็อาจจะเป็นอาหารที่ใครๆ – ไม่ว่าจะรวยหรือจนก็ต่างบริโภคกันทั้งนั้น คนรวยๆ ก็อาจจะนั่งต้มบะหมี่ทำยำปลากระป๋องไม่ต่างกับคนที่มีรายได้น้อยกว่า ประเด็นเรื่องรสนิยม
ฐานะทางเศรษฐกิจและการบริโภคดูจะเป็นประเด็นที่เมื่อได้ลงสำรวจข้อมูลแล้ว อาจจะได้ผลสนุกๆ และน่าสนใจต่างกับที่เราเคยคิดจินตนาการกันก็ได้
อ้างอิงข้อมูลจาก