เมื่อเร็วๆ นี้นิด้าโพลเปิดเผยผลสำรวจที่ค่อนข้างน่าสนใจออกมา โดยพบว่าประชาชน 77.80 เปอร์เซ็นต์ ไม่ทราบว่าการเลือกตั้งรอบนี้จะต้องการบัตรลงคะแนนกี่ใบ
ท่ามกลางความสับสนมากมาย ไหนจะระบบเลือกตั้งชื่อแปลกๆ ไม่ค่อยคุ้นหูอย่าง ‘จัดสรรปันส่วนผสม’ ยังไม่นับรวมวิธีคิดคำนวณคะแนนเลือกตั้งที่ซับซ้อนในระดับข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัย ทำให้หลายคนจึงรู้สึกว่าการเลือกตั้งรอบนี้อาจเข้าใจยาก และไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากเราหย่อนบัตรกันไปแล้ว
The MATTER ติดต่อไปยัง รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญและติดตามเรื่องระบบเลือกตั้งไทยมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อคุยกันถึงกติกาการเลือกตั้งรอบนี้ และชวนให้วิเคราะห์ผลลัพธ์ที่น่าจะเกิดขึ้น
ระบบเลือกตั้งบ้านเราเปลี่ยนบ่อยมาก อยากรู้ว่าเวลาอาจารย์สอนเรื่องนี้ในชั้นเรียน อาจารย์อธิบายให้นิสิตฟังยังไงบ้าง
เราเชื่อมโยงให้เขาเห็นถึงความเปลี่ยแปลงที่เกิดขึ้นในอดีต ประเด็นหลักที่อยากให้เขาตั้งคำถามคือ ระบบเลือกตั้งมันเปลี่ยนไปเพราะอะไร เปลี่ยนแล้วใครได้ประโยชน์ และทำไมเราต้องทำความเข้าใจระบบเลือกตั้งใหม่และเก่า เราต้องต่อสู้กับเจตนารมณ์ที่มันเปลี่ยนไปของผู้ร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างไร
นอกจากนี้เราจะชวนนิสิตเปรียบเทียบว่า ประสบการณ์การเปลี่ยนระบบเลือกตั้งของต่างประเทศเป็นอย่างไร อะไรคือเหตุผลที่เขาต้องการเปลี่ยน แล้วของเราเปลี่ยนไปด้วยวัตถุประสงค์อะไร ซึ่งเราจะเห็นความเหมือนและความแตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญ
แล้วมันต่างกันตรงไหน
ของเราเปลี่ยนถี่กว่าประเทศอื่นมาก ประเทศส่วนใหญ่จะปฏิรูประบบเลือกตั้งเพื่อสร้างสถาบันพรรคการเมืองให้เข้มแข็ง เพราะมันคือตัวเชื่อมโยงระหว่างประชาชนกับระบบการเมือง แต่ในทางกลับกัน การเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้งของเราใน 3 ครั้งที่ผ่านมา มันมีเป้าหมายเพื่อทำลายระบบพรรคการเมือง และทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็งน้อยลง และก็ทำอย่างเป็นสถาบันผ่านระบบเลือกตั้งและรัฐธรรมนูญ
ระบบจัดสรรปันส่วนผสมที่เราใช้อยู่ มันไม่มีประเทศไหนใช้ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญอาจจะบอกว่าเป็นระบบที่ใช้ในรัฐหนึ่งของเยอรมัน แต่จริงๆ แล้วมันก็ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว ของเรามันเป็นระบบไฮบริด ผสมระหว่างระบบ MMP ของเยอรมัน กับระบบผสมคู่ขนานแบบที่ใช้ในญี่ปุ่นหรือประเทศจำนวนนึง
ซึ่งเป้าหมายของประเทศอื่นๆ เขาต้องการให้ระบบมันเข้มแข็งและสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน แต่ของเรามันกลับกัน มันทำให้ระบบพรรคการเมืองอ่อนแอ และเจตนารมณ์ของประชาชนบิดเบือนโดยอ้างเหตุผลว่าไม่ให้มีคะแนนเสียงตกน้ำ
เจตนาไม่ให้คะแนนเสียงตกน้ำ มันบิดเบือนความต้องการของประชาชนยังไง
เชื่อมั่นว่าเมื่อผลการเลือกตั้งครั้งนี้ออกมา มันก็จะยังมีคะแนนเสียงตกน้ำอยู่ดีและก็จะมีเยอะด้วย ไม่ได้น้อยไปกว่าครั้งที่แล้ว ตัวบ่งชี้นึงคือพรรคที่ไม่มีคะแนนถึง 70,000 โดยประมาณก็จะไม่ได้รับการจัดสรรที่นั่ง ถ้าไม่เรียกคะแนนเสียงตรงนี้ว่าตกน้ำ แล้วเราจะเรียกว่าอะไร มันจะมีเยอะด้วย เพราะการเลือกตั้งรอบนี้มีแนวโน้มที่จะพรรคซึ่งคะแนนได้ไม่ถึงเกณฑ์เยอะทีเดียว
แต่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญเชื่อว่า ที่ผ่านมาที่นั่งในสภาของพรรคเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์มันได้เกินคะแนนเสียงที่ได้ตามจริง เลยต้องออกแบบระบบนี้มาเพื่อแก้ปัญหา
ระบบการเลือกตั้งไทยในอดีตมันเอื้อให้กับพรรคการเมืองใหญ่จริงๆ เช่น ไทยรักไทยในสมัย 2544 ได้ที่นั่งเกินสัดส่วนคะแนนที่ได้รับกว่า 20 เปอร์เซ็นต์เลยด้วยซ้ำ และมันเป็นเรื่องจริงที่ประชาธิปัตย์หรือพรรคขนาดกลางได้ที่นั่งน้อยกว่าที่ควรจะได้ ซึ่งมันเป็นปัญหาควรจะแก้ไขจริงๆ
แต่ประเทศที่มีปัญหาเรื่องความไม่สมดุลระหว่างที่นั่งซึ่งได้รับการจัดสรร กับคะแนนเสียง มันแก้ได้โดยการใช้ระบบที่เรียกว่า MMP (Mixed-member proportional representation) ซึ่งก็ไม่ใช่ระบบที่แปลกปลอมอะไร ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับอาจารย์ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ก็เคยมีระบบนี้ซึ่งมันสามารถแก้ไขปัญหาที่ว่ามาได้ แต่มันถูกสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. โหวตคว่ำไป
แล้วระบบใหม่นี้มันต่างไปจากการเลือกตั้งเมื่อก่อนยังไงบ้าง
รัฐธรรมนูญกำหนดว่า การเลือกตั้งรอบนี้จะมีบัตรเลือกตั้งใบเดียว มันจะทำให้ไม่มีสิทธิเลือกพรรคการเมือง ต่างไปจากรัฐธรรมนูญ 2550 ที่เป็นคู่ขนาน ในทางทฤษฎีเราเรียกมันว่าระบบ ‘The best of two worlds’ คือ ดีทั้งสองโลก โลกแรกคือโลกที่เรามี ส.ส.เขตไว้ดูแลประชาชนในพื้นที่อย่างใกล้ชิด ส่วนโลกที่สองคือในระบบบัญชี ซึ่งมันกระตุ้นให้พรรคการเมืองต้องเสนอนโยบายและทำให้พรรคต้องจัดองค์กรที่เข้มแข็งเพื่อให้ได้คะแนนเสียงจากบัญชีรายชื่อ
ดังนั้น หลายประเทศที่เขาอยากคงไว้ซึ่งความเข้มแข็งของสถาบันพรรคการเมืองและตอบสนองเจตจำนงของประชาชนในพื้นที่ เขาก็จะใช้ระบบนี้
แต่ในระบบที่เรากำลังใช้อยู่มันเหลือบัตรเลือกตั้งใบเดียว คือบัตรเลือก ส.ส.เขต ซึ่งผลที่เกิดขึ้นแล้วคือ อำนาจต่อรองและค่าตัวของ ส.ส.เขตมันพุ่งสูงมาก มันจะเป็นการเลือกตั้งที่มีการย้ายพรรคระดับมโหฬาร ฐานเสียงของตัวบุคคลจะมีความสำคัญมาก พอไม่มีบัญชีรายชื่อ ความสำคัญของตัวพรรคการเมืองจะลดลง แต่มันก็คงจะไม่ลดลงไปในทันที เพราะเรามีการเลือกตั้งที่เน้นพรรคการเมืองมาหลายครั้งแล้ว
ถ้าเราใช้ระบบนี้ในระยะยาว ระบบพรรคการเมืองจะอ่อนแอ ถูกโจมตีได้ง่าย อำนาจต่อรองของ ส.ส. ทั้งก่อนและหลังเลือกตั้งจะสูงมาก
อีกหนึ่งสิ่งใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น คือช่วงเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคการเมืองจะต้องเสนอรายชื่อใครก็ได้ 3 คน เพื่อเป็นนายกฯ ซึ่งรายชื่อ 3 คนนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกของพรรคด้วย แต่ต้องได้รับความยินยอมจากพรรคและบุคคลนั้น มันก็จะทำให้ประชาชนไม่รู้เลยว่า คะแนนเสียงที่เราเลือกไปจะได้ใครมาเป็นนายกฯ
สิ่งนี้มันจะกลายเป็นปัญหาเรื่อง accountability หรือการรับผิดรับชอบทางการเมือง เพราะ 1 ใน 3 หรือทั้ง 3 ชื่อที่พรรคเสนอมาอาจเป็นคนที่เราไม่ชอบเลย ถ้ามองในด้านดี ประชาชนก็อาจจะเห็นว่าใครจะมาเป็นแคนดิเดตนายกฯ แต่สามชื่อนั้นอาจไม่ใช่คนที่ประชาชนชอบทั้งหมด
ถ้าเป็นแบบนี้จะเกิดปัญหาการทุ่มเงินลงไปแต่ละท้องที่มากขึ้นด้วยรึเปล่า
เยอะขึ้นมาก เชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีการใช้เงินสูงที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ เพราะจำนวนผู้สมัครก็เยอะมากขึ้น เนื่องจากระบบนี้ไม่จำเป็นต้องชนะเป็นอันดับหนึ่ง คุณอาจจะได้อันดับ 2, 3, 4 หรือ 5 แต่เมื่อเอาคะแนนมาบวกกันก็จะกลายเป็นคะแนนบัญชีรายชื่อ
ทีนี้ การที่คุณจะมีคะแนนบัญชีรายชื่อสูง เนื่องจากคุณไม่มีบัตรเลือกตั้งบัญชีรายชื่อ คุณก็ต้องส่งผู้สมัครเขตให้เยอะที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในการเลือกตั้งปี 2554 มีพรรคการเมืองกว่า 40 พรรค มาครั้งนี้อาจจะมีมากถึงกว่าห้าสิบก็ได้ ดังนั้น ประชาชนก็ต้องทำความรู้จักพรรคเยอะมาก ซึ่งจากที่สำรวจมาก ถ้าประชาชนไม่รู้จักพรรคไหน เขาก็จะไม่เลือกพรรคนั้น ในบางเขตเคยมีบางคนได้แค่ 6 คะแนนนะ ซึ่งน่าจะมาตัวเองและจากคนในครอบครัว ซึ่งเราจะเห็นอะไรแบบนี้ในการเลือกตั้งที่จะมาถึงด้วย
แล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป
พรรคใหญ่ๆ จะมีนักการเมืองหรือแกนนำคนสำคัญกลับมาลง ส.ส.เขต เพราะมั่นใจว่าชนะในเขตแน่ แต่ถ้าอยู่ในบัญชีรายชื่อ อาจทำให้พรรคได้ที่นั่งจากบัญชีรายชื่อน้อยลง แต่ถ้าเป็นพรรคขนาดกลาง หรือขนาดเล็ก ทุกคนจะแย่งกันลง ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพราะรู้ดีว่าไม่น่าจะได้ ส.ส.เขต
จะเห็นได้ว่าแต่ละพรรคก็จะมียุทธศาสตร์ที่ต่างกันไป พรรคใหญ่ กับพรรคขนาดกลางและเล็กจะวางแผนไม่เหมือนกัน
ซึ่งตอนนี้บรรดาพรรคใหญ่ก็น่าจะอ่านเกมกันออกแล้วรึเปล่า เราเลยเห็นการกระจายตัวของนักการเมืองเบอร์ใหญ่ๆ ออกไปอยู่พรรคใหม่ๆ กันมากขึ้น
ใช่ ทุกพรรครู้อยู่แล้ว ถ้าพรรคที่ไม่รู้ก็คงตามเกมไม่ทัน และโอกาสชนะก็จะน้อย ตรงนี้สำคัญมาก เพราะพรรคที่จะชนะเลือกตั้งต้องเข้าใจกลไกของระบบเลือกตั้งและตามมันทันด้วย
ยกตัวอย่าง พรรคใหญ่ก็จะกระจายผู้สมัครไปพรรคใหม่ ในกรณีที่ผู้สมัครคนนั้นไม่มีเขตลงแล้ว หรือถ้าคนนั้นอยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับท้ายๆ ลงมาก็อาจจะไม่ได้ที่นั่ง
ถ้ามองแบบนี้ เจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญที่อยากเห็นพรรคการเมือง มันกระจัดกระจายเป็นเบี้ยหัวแตก ก็เหมือนจะเป็นเจตนารมณ์ที่สำเร็จ แต่ส่วนตัวคิดว่ามันไม่น่าจะไปไกลถึงขนาดที่ทำให้พรรคขนาดใหญ่ไม่ชนะเลือกตั้งได้
เมื่อเจตนารมณ์แบบนี้ มันจะทำให้ประชาธิปไตยแบบรัฐสภาของไทย ได้รับผลกระทบยังไงบ้าง
หลังเลือกตั้งเราก็จะได้รัฐสภาที่อ่อนแอ เราจะมีรัฐบาลผสมที่ค่อนข้างอ่อนแอ ที่สำคัญคือมันจะเปิดโอกาสให้นักการเมืองฮั้ว และเกี๊ยะเซียะได้มากขึ้น ความไม่แน่นอนของการจัดตั้งพรรคร่วมรัฐบาลจะมีสูงมาก คือพูดง่ายๆ หลังเลือกตั้งไปแล้ว 1 เดือน เราอาจจะยังไม่รู้เลยว่าใครจะเป็นคนจัดตั้งรัฐบาล เพราะโอกาสที่พรรคซึ่งชนะในสภามากสุด สมมติว่าได้ 250 ที่นั่ง มันก็ยังไม่จบ เพราะต้องไปรวมกับคะแนนของสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. อีก 250
ผลกระทบในระยะยาวคืออะไร
ส่วนตัวเชื่อว่าการออกแบบสถาบันทางการเมือง และระบบที่ดีจะสามารถกำกับพฤติกรรมของนักการเมือง และประชาชนได้ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าเราอยากลดการฮั้ว หรือเกี๊ยะเซียะของนักการเมือง เราก็ต้องออกแบบระบบให้ชัดเจนว่าหลังเลือกตั้งจะจัดตั้งรัฐบาลอย่างไร
แต่พอเราออกแบบให้มันมีความไม่แน่นอนอย่างนี้ มันก็ยิ่งเป็นอัตราเร่งให้อิทธิพลของตัวบุคคล มีอำนาจเหนือพรรคการเมืองมากขึ้น ถ้ามองในระยะยาวแล้ว เจตนารมณ์แบบนี้เหมือนจะทำลายทั้งระบบพรรคการเมือง และระบบการเมืองไทยโดยรวม ระบบจะขาดเสถียรภาพ
นอกจากนี้ เรายังมีโอกาสที่จะเสี่ยงเจอวิกฤตทางการเมือง ความไม่แน่นอน และการยื้อผลการเลือกตั้งยาวๆ ไปจะเป็นไปได้สูง
ถ้าเรามองแบบแง่ดีมากๆ มันก็ไม่น่าจะมีใครตั้งใจออกแบบระบบให้การเมืองมันแย่รึเปล่า หรืออาจารย์มองว่าลึกๆ แล้วมันมีอะไรมากกว่านั้น
คิดว่าผู้มีอำนาจเขาไม่ไว้ใจนักการเมือง และพรรคการเมือง และมีเป้าหมายหลักคือไม่อยากเห็นพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่ผลข้างเคียงที่จะตามมาอาจไปไกลกว่าที่คนร่างรัฐธรรมนูญคิดก็ได้
เขามีขั้นตอนการออกแบบที่ค่อนข้างชัดเจน ก็คือพรรคฝั่งที่ไม่ใช่พรรคฐานเสียงมากสุดในอดีต ต้องการที่นั่งแค่ 126 ที่นั่ง เพื่อมารวมกับ ส.ว.เพื่อจัดตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งในขั้นตอนแรกนี้น่าจะเป็นไปได้ ถ้าไม่มีการพลิกแบบถล่มทลาย
แต่สิ่งที่เขาอาจจะลืมคิด หรือคิดไม่ตกก็คือ ถึงแม้คุณจะจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่คุณก็ไม่สามารถมีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ และบริหารประเทศได้เหมือนกัน เพราะเวลาต้องขอเสียงจากสภาเพื่อผ่านกฎหมายใดๆ ในสภา หรือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งถ้าคุณจัดตั้งรัฐบาลมาโดย ส.ว. และมีเพียง 126 เสียงในสภาผู้แทนราษฎร แม้คุณจะเป็นรัฐบาลได้ แต่คุณก็อยู่ไม่ได้
ถ้าให้ต้องเดาจริงๆ ก็จะคิดว่าคนออกแบบก็ตันเหมือนกัน เขาไม่ได้อยู่บนวิสัยทัศน์ระยะยาวในการมองระบบการเมืองของประเทศ จริงๆ แล้วมันสามารถสร้างระบบที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล ไม่มีพรรคการเมืองใดผูกขาดก็ได้ แต่ยังคงความไว้วางใจในพรรคการเมือง และสถาบันพรรคการเมืองอยู่ ซึ่งถ้าคุณไม่เอา ส.ว.มาร่วมโหวตนายกฯ มันก็จบได้ด้วยตัวมันเอง เพราะระบบเลือกตั้งอันนี้มันก็น่าจะพอที่จะไม่ทำให้พรรคใดผูกขาดอยู่แล้ว
อยากถามแบบกำปั้นทุบดินเลย อาจารย์คิดว่านี่คือความพยายามสืบทอดอำนาจของ คสช. รึเปล่า
คิดว่าชัดเจนนะ ตอนนี้ไม่มีอะไรปิดบังกันแล้ว ตัวอย่างเช่นพรรคพลังประชารัฐที่ใช้ชื่อเดียวกับนโยบายของรัฐบาล คนในระดับรัฐมนตรีเข้าไปเป็นแกนนำหลักในพรรคด้วย ไม่สามารถวิเคราะห์เป็นอื่นได้ อันนี้ชัดเจนแล้ว ขาดอย่างเดียวคือ คสช. ที่ว่านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จะลงเป็นนายกฯ หรือเป็นตัวแสดงอื่น
มีแนวโน้มแค่ไหนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะกลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้งตามระบบใหม่ที่เราคุยกันมา
กลไกทั้งหมดมันไม่ง่ายขนาดนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องได้รับความชอบธรรมจากประชาชน ขณะที่ประชาชนก็คงไม่อยากเห็น คสช. อยู่ในอำนาจยาวๆ อีกอย่างนึงคือเกมในสภาก็ไม่ง่าย อย่าลืมว่า คสช. เป็นรัฐบาลมา 4 ปี เราไม่มีฝ่ายค้านเลย แต่การเมืองในสภาเต็มรูปแบบมันไม่ใช่แบบนั้น
ทีนี้หลายๆ คนพอเห็นภาพอนาคตการเมืองไทยที่ดูไม่ค่อยสวยงามเท่าไหร่ เขาก็รู้สึกเบื่อและหันหน้าหนีการเมืองไปเลย อาจารย์มองว่าปรากฏการณ์แบบนี้มันน่ากลัวไหม
จริงๆ วัยรุ่นทั่วโลกก็เป็นแบบนี้ เช่นตอนอังกฤษโหวต Brexit คือมันเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมโลก คำถามคือเราจะเปลี่ยนมันยังไงดี ตัวอย่างที่สำคัญคือในสหรัฐฯ ช่วงที่โอบามาซึ่งทำให้คนรุ่นใหม่กลับมาสนใจ และหันมาเลือกตั้ง คือเราอาจจะต้องมีกระแสคนรุ่นใหม่แบบนี้
ซึ่งในบ้านเราก็เห็นได้ว่าทุกพรรคการเมืองก็กำลังโหนกระแสคนรุ่นใหม่ เราต้องทำความเข้าใจคนรุ่นใหม่ด้วยว่า โครงสร้างของสังคม และการศึกษาที่ผ่านมาเราไม่ได้กระตุ้นให้พวกเขาสนใจการเมืองเลย ประวัติศาสตร์ไทยส่วนใหญ่เน้นแต่ท่องจำ ไม่ได้คิดวิพากษ์ที่จะตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบ
แต่เอาจริงๆ เชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีกลุ่มวัยรุ่นไปออกเสียงไม่น้อยไปกว่าครั้งก่อน หรืออาจจะมากกว่าเดิมด้วย เพราะเขาเป็นกลุ่มที่อัดอั้นตันใจ เขาควรจะได้เลือกตั้งแต่เมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา เขาก็อยากจะแสดงออกตามเสียงที่เขาต้องการ
ขณะเดียวกัน หลายพรรคก็ชูกระแสคนรุ่นใหม่ และมีผู้แสดงหน้าใหม่ที่เข้ามาในระบบการเมืองซึ่งอาจจะตอบโจทย์ความคาดหวังของเขาได้มากกว่านักการเมืองเก่าๆ เราจึงต้องรอดู กลุ่มนี้ว่าจะทิ้งการเมืองไปจริงรึเปล่า
ที่น่าสนใจคือตัวระบบเลือกตั้งแบบใหม่นี้ มันก็ไม่ค่อยเอื้อให้คนรุ่นใหม่รู้สึกว่าตัวเองมีประสิทธิภาพทางการเมือง หรือบทบาทที่จะเลือกใครมาเป็นนายกฯ ถ้าเขาจะมีสิ่งเหล่านี้ได้ ระบบเลือกตั้งมันต้องไม่ใช้ระบบนี้
ระบบนี้การเลือกตั้งแบบนี้ มันทำให้เขารู้สึกว่า เขาไม่มีอำนาจโดยตรงที่จะเลือกใครเป็นายกฯ เพราะคนที่เขาชอบจะต้องถูกตัดสินกันอีกทีในสภา ซึ่งพรรคก็ยังเสนอได้ถึง 3 คน
ซึ่งคนตัดสินก็ไม่ใช่ ส.ส. ที่เราเลือกมาอีก เพราะมี ส.ว. มาตัดสินตัวนายกฯ ด้วย
ใช่ กลายเป็นว่าคนส่วนหนึ่งที่จะเลือกนายกฯ ไม่ได้มาจากอำนาจของคนเลือกตั้ง ถ้าโจทย์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญอยากให้ประชาชนมีประสิทธิภาพทางการเมือง และเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง ระบบเลือกตั้งแบบนี้ต้องถูกแก้ไข เพราะในระยะยาวมันจะยิ่งเป็นการบั่นทอนและลดทอนการอยากมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึงความคิดว่าประชาชนมีอำนาจต่อระบบการเมืองจริงๆ
การเลือกตั้งครั้งนี้มันจะเกิดขึ้นหลังจากเราอยู่รัฐบาลทหารมาแล้วหลายปี อาจารย์คิดว่า มันจะทำให้เดิมพันของมันต่างจากการเลือกตั้งทั่วไปแค่ไหน
ถึงแม้การเลือกตั้งครั้งนี้จะไม่ใช่ยาที่ช่วยแก้ปัญหาทุกอย่าง แต่การเลือกตั้งครั้งนี้มีเดิมพันสูงมาก มันจะเป็นหมุดหมายที่บอกว่า เราจะเปลี่ยนผ่านและก้าวพ้นระบอบอำนาจนิยมได้สำเร็จหรือไม่ หรือมันจะเป็นการเลือกตั้งที่ตอกย้ำอำนาจนิยมให้กลับคืนมาเหมือนเดิม นี่คือประการแรก พูดง่ายๆ คือถ้าเลือกฝั่งพลังประชารัฐ สนับสนุนอำนาจนิยม คสช.ก็อยู่ต่อ แต่ถ้าเลือกอีกฝั่งที่ไม่เอาการสืบทอดอำนาจก็จะเป็นอีกแบบ
ประการที่สองคือ หลังการเลือกตั้งแล้วเราจะก้าวพ้นวิกฤตการแบ่งขั้วได้รึเปล่า คือมันเป็นความท้าทายหลักเลยว่า จะมีความเป็นไปได้ไหมที่พรรคการเมือง 2 ขั้ว คือเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์จะสามารถจับมือกันในทางใดทางหนึ่ง ซึ่งอาจไม่ได้แปลว่าร่วมรัฐบาล แต่เพื่อต่อต้านสืบทอดอำนาจของ คสช. ถ้าทำได้มันจะเป็นหมุดหมายว่าการประนีประนอมในสังคมไทยมันเกิดขึ้นได้ในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง
การเลือกตั้งครั้งนี้จะจุดสำคัญทางประวัติศาสตร์ เพราะมันเป็นการเลือกตั้งเพื่อเปลี่ยนผ่านทางการเมือง ผลของมันจะบอกเราว่า เราจะเปลี่ยนผ่านจากระบบอำนาจนิยมได้รึเปล่า หรือเราเปลี่ยนไม่ผ่าน และย่ำอยู่กับมันเหมือนเดิม
ในสังคมเรายังมีความเชื่อว่า ถ้าเลือกไปก็มีนักการเมืองกลับมาโกงกินบ้านเมืองเหมือนเดิม เลือกไปก็ไม่มีอะไรดีขึ้นหรอก อาจารย์คิดว่าเราควรมองเรื่องนี้กันยังไง
มันก็เป็นแบบนั้นส่วนหนึ่ง เรื่องพวกนี้มันเป็นปัญหาจริง ทั้งเรื่องของการซื้อสิทธิขายเสียง และปัญหาที่นักการเมืองเอาผลประโยชน์คับแคบของตัวเองเป็นที่ตั้ง อันนี้ก็จริง แต่ถามว่า ถ้าเราเปรียบเทียบกับสภาพปัจจุบันที่เราไม่มีสิทธิอะไรเลย เราไม่มีทางเลือกผู้แทน คุณจะเอาอะไร
ถ้าคุณไปเลือก ส.ส. แม้ว่าจะไม่ได้คนที่ตรงใจนัก แต่อย่างน้อยในระบบรัฐสภาที่เปิด เราสามารถวิพากษ์วิจารณ์ และสร้างแรงกดดันได้ อย่าบอกว่าที่ผ่านมาเราเปลี่ยนอะไรไม่ได้ การประท้วงบนท้องถนนเปลี่ยนรัฐบาลมาหลายครั้งแล้ว
มันคืออำนาจที่เรามีเหนือนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง แต่เราไม่มีอำนาจนี้ เหนือนักการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง หลายปีที่ผ่านมา ถ้าเราคิดว่าได้เรียนรู้อะไรบางอย่างจากสภาพที่เป็นอยู่ เราก็ต้องเรียนรู้ไปกับมัน ค่อยๆ เปลี่ยน
โดยส่วนตัวเชื่อในการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ทั้งหมดนี้ เราสามารถแสดงพลังได้ด้วยการกดดันนักเมือง ที่ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนก็ตามให้เขาหันมาคุยกัน เบื้องต้นที่ต้องทำคือต้องทำให้นักการเมืองที่มีจากการเลือกตั้ง มีอำนาจเหนือนักการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก่อน แล้วเราก็ค่อยสร้างกลไกการตรวจสอบที่เข้มข้นขึ้น และพยายามคัดกรองนักการเมืองที่เราคิดว่าเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนทิ้งไปให้หมด
เทรนด์การโหวตในการเลือกตั้งครั้งนี้จะไปทางไหน เลือกเพราะคน หรือจากพรรคและนโยบายมากกว่ากัน
คำถามนี้ตอบยากมาก เพราะเราไม่ได้มีการเลือกตั้งมาแล้วกว่า 8 ปี โดยส่วนตัวคิดว่าแต่ละปัจจัยมันตอกย้ำกันและกัน จากการวิจัยบอกว่าบางพื้นที่ ไม่ว่าจะส่งใครลงก็ชนะได้แน่นอน เพราะปัจจัยเรื่องแบรนด์ของพรรคมาเป็นลำดับแรก อย่างไรก็ตาม ประชาชนก็ฉลาดนะ ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาเขาดูตลอดว่าอดีต ส.ส. เคยมาเยี่ยมเยียนหรือมาช่วยเหลือเขาบ้างไหม ซึ่งปัจจัยนี้ยังสำคัญอยู่
เราก็ยังมีคนรุ่นใหม่จำนวนมากประมาณ 7.5 ล้านคนที่จะได้ใช้สิทธิครั้งแรก ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่เนื่องจากทำงาน หรือเรียนในจังหวัดอื่น คนเหล่านี้ไม่ได้มีความผูกพันกับนักการเมืองและพรรคการเมืองในท้องถิ่น ถามว่าเวลาเลือกตั้งเขาจะเลือกใคร
ดังนั้นกระแสของพรรคการเมืองผ่านโซเชียลมีเดีย การพูดถึงในกลุ่มเพื่อนฝูงมีความสำคัญก็ถือเป็นตัวแปรเหมือนกัน เคยงานวิจัยที่พบว่า คนเหล่านี้เวลากลับไปเลือกตั้งที่จังหวัดตัวเอง ถ้าไม่รู้จักผู้สมัครคนไหนเลย พวกเขาก็จะถามคนในครอบครัว อิทธิพลของครอบครัวหรือเพื่อนก็จะสำคัญ เหล่านี้คือตัวแปรที่จะทำงานร่วมกันในการโหวต ขึ้นอยู่กับว่าในพื้นที่ต่างๆ นั้นตัวแปรไหนจะเข้มข้นมากกว่ากัน
แล้วถ้าเราจะเลือกผู้แทนสักคน เราควรพิจารณาจากปัจจัยอะไรบ้าง
สิ่งแรกที่ต้องดูเลย คือผู้แทนคนนั้นมีจุดยืนในการจัดตั้งรัฐบาลตรงกับเรารึเปล่า เช่น ผู้แทนบอกว่าจะสนับสนุนให้ คสช. อยู่ต่อหรือไม่เอา คสช. นี่คือจุดยืนที่สำคัญที่สุดว่าในอนาคตข้างหน้าทิศทางการเมืองจะเป็นแบบไหน ดังนั้น ถ้าใครอยากให้ คสช. อยู่ต่อก็เลือกผู้สมัครที่สนับสนุน คสช. หรือในทางกลับกันก็ได้
อีกข้อคือจุดยืนของพรรคที่ผู้สมัครคนนั้นสังกัด ว่าพรรคสนับสนุนการอยู่ต่อหรือไม่อยู่ต่อ ต่อมาคือนโยบายของพรรคที่ผู้สมัครคนนั้นสังกัด เพราะ ส.ส.แต่ละคนจะไม่มีนโยบายส่วนตัว
นอกจากนั้นก็จะมีรายละเอียดย่อยลงมา เราสามารถถามผู้สมัครได้ว่า เขามีจุดยืนเรื่องกัญชาถูกกฎหมาย การแต่งงานเพศเดียวกัน รวมถึงการยกเลิกเกณฑ์ทหารอย่างไร สิ่งเหล่านี้เป็น single issue ที่จะมีความสำคัญมากขึ้นในบริบทการเมืองไทย ซึ่งมันก็จะเกิดได้จากการสร้างบทสนทนาต่างๆ
เมื่อก่อนเราไม่มีบทสนทนาแบบนี้เท่าไหร่ ซึ่งจริงๆ แล้วเราควรจะถาม เพื่อให้ผู้สมัครไปถามพรรคอีกที ว่าพรรคมีจุดยืนอย่างไร นี่คือสิ่งที่คนรุ่นใหม่ทำได้
ประเด็นเหล่านี้คือสิ่งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง สามารถส่งสารกลับไปผ่านผู้สมัครและไปยังพรรคการเมืองได้ ที่ผ่านมา vote ของเราค่อนข้างจะ passive คือเราจะรอว่าพรรคการเมืองใหญ่ๆ จะเสนอนโยบายอะไรลงมา ซึ่งหลายคนไม่ได้ประโยชน์จากนโยบายพวกนั้น
เราไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสีย แต่เพราะเราไม่เคยส่งเสียงความต้องการของเรา ส่วนพรรคการเมืองก็ไม่เคยเปิดช่องให้เรา ซึ่งอันนี้ก็เป็นสิ่งที่พรรคการเมืองต้องปรับตัวให้ได้ และตอนนี้ที่เห็นคือทุกพรรคจะมีนโยบายที่เป็นแพ็กเกจใหญ่ๆ
คิดว่าการโหวตครั้งนี้มันสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง โดยเฉพาะในกรณีของคนรุ่นใหม่ที่กำลังจะได้ใช้สิทธิเป็นครั้งแรก
ความเปลี่ยนแปลงหลักๆ ที่จะเกิดขึ้น คนรุ่นใหม่สามารถมีอิทธิพลต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ได้ผ่านการแสดงออกซึ่งความต้องการของตัวเอง เพราะนี่คือกลุ่มที่มีเสน่ห์ที่สุดในตอนนี้แล้ว คุณเป็นกลุ่มคนที่มีพลังมากที่สุด และยังไม่มีใครรู้ว่าคุณคิดยังไง พลังของคุณจะเป็นพลังที่สดใหม่ จะเป็นที่ต้องการ เป็นความหวังของการเมืองไทย คุณไม่ได้อยู่ในความขัดแย้งเหลืองแดง หรือการเมืองสีเสื้อเท่ากับผู้ใหญ่
สิ่งที่คุณจะทำได้คือสื่อสารกับพรรคผ่านผู้สมัครต่างๆ ซึ่งประเด็นที่คุณต้องการอาจเป็นประเด็นเดียว เป็น single issue เช่น ยังเอาการเกณฑ์ทหารไหม หรือคิดอย่างไรกับการทำให้กัญชาถูกกฎหมาย หรือแม้แต่เรื่องการมีรถโรงเรียน เพราะในที่สุดแล้ว มันจะสะท้อนจุดยืนของผู้สมัครที่เราจะเลือก
ที่ผ่านมาเราไม่เคยมีคำถามถึงผู้สมัครมาก่อน เราจะแค่อนุมานว่าผู้สมัครจะมีจุดยืนเดียวกับพรรคการเมือง ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ใช่ คือเมื่อก่อนในตัวระบบของมันเองทำให้พรรคการเมืองครอบงำผู้สมัครมาตลอด แต่ในเมื่อระบบใหม่นี้มันเน้นตัวผู้สมัคร ดังนั้น เราควรจะเอาประเด็นตรงนี้ไปสื่อสารกับผู้สมัครให้มาก เพื่อให้ผู้สมัครกลับไปสื่อสารถึงจุดยืนของพรรคต่อไป
พูดอย่างนี้ได้ไหมว่า การเลือกตั้งครั้งนี้กลุ่มที่เป็น first time voters จะสำคัญมากที่สุดเมื่อเทียบกับหลายครั้งที่ผ่านมา
กลุ่ม first time voters จะสำคัญมากกว่าในอดีต เพราะเราไม่มีการเลือกตั้งนานมากคือ 8 ปี กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่จะได้เลือกตั้งครั้งแรกเลยมีเยอะ ประมาณ 7.5 ล้านคน ถ้าคำนวณโดยคร่าวๆ ก็น่าจะเท่ากับได้กำหนด ส.ส. เกือบ 100 คนในกรณีที่ออกไปใช้สิทธิกันเต็มที่
แม้ที่ผ่านมาคนกลุ่มนี้อาจเป็นกลุ่มที่ไปใช้สิทธิน้อย อาจจะด้วยเรื่องต้นทุนและเป็นกลุ่มที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่การเลือกตั้ง ต้นทุนอันนี้เลยทำให้เข้าใจได้ถึงการไม่ได้ออกไปใช้สิทธิ
แต่ช่วงเวลานี้ ทุกฝ่ายมองว่าคนกลุ่มอื่นมันอยู่ภายใต้ความขัดแย้งและตัดสินใจไปแล้ว คือไม่ต้องมีการหาเสียง เขาก็ตัดสินใจเลือกข้างไปแล้ว ไม่ใช่คนโสดทางการเมือง แต่คนรุ่นใหม่กลุ่มนี้คือคนโสดทางการเมือง ดังนั้นการตัดสินใจของคุณมันยากจะคาดเดา พร้อมกับจำนวนที่เยอะมาก แถมยังเป็นพลังใหม่ทางสังคม เป็นกลุ่มคนที่รับสารทางการเมืองต่างจากกลุ่มอื่น สารส่วนใหญ่จะมาจากโซเชียลมีเดียที่หลากหลายมากกว่า จริงอยู่ว่าอาจมีข่าวปลอมอยู่บ้าง แต่ด้วยตัวแปร 4 อย่าง ได้แก่ การเป็นกลุ่มใหม่ เป็นกลุ่มใหญ่ และไม่อยู่ภายใต้ความขัดแย้ง รับสารที่แปลกใหม่ไปกว่ากลุ่มอื่น
มันจะทำให้คนรุ่นใหม่กลุ่มนี้เป็นตัวแปรสำคัญที่เซ็กซี่มากๆ สำหรับทุกพรรคการเมือง ก็อยากให้คนรุ่นใหม่ฉกฉวยโอกาสนี้ไว้ให้ได้