ก่อนหน้านี้เรามีข่าวครึกโครมเรื่องการเปิดห้างใหม่จนเราเริ่มรู้สึกว่า ห้างใหม่อีกและ จะมีห้างอะไรเยอะแยะเนี่ย The MATTER ได้ชวนไปสำรวจความหมายและความซับซ้อนของห้างในฐานะพื้นที่หนึ่งในเมืองกันไปเรียบร้อย
ล่าสุด มีข่าวน่ายินดีสำหรับชาวกรุงเทพ เนื่องในโอกาสจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครบรอบ 100 ปี มหาวิทยาลัยเก่าแก่ใจกลางเมืองจึงได้มีการเปิด ‘โครงการอุทยานจุฬาฯ 100 ปี’ เป็นพื้นที่สวนขนาด 28 ไร่ ตรงแถวๆ สวนหลวง-สามย่าน สำหรับคนเมืองที่ไม่ค่อยมีที่ให้ไปไหนก็รู้สึกดีใจที่จะมีพื้นที่สีเขียวไว้ให้ไปใช้เวลาหย่อนใจบ้าง
ความเศร้าคือ พอเห็นมีสวนใหม่ๆ ก็ดูเหมือนจะไปอยู่พื้นที่ใกล้ๆ กันไปหมด และในความดีใจของเรามันก็มีความเศร้าแฝงอยู่เพราะว่าเราต่างรู้สึกว่าพื้นที่สีเขียวอย่างสวนสวยๆ มันมีน้อยเหลือเกิน พื้นที่ที่ให้เราได้ไปนั่งเล่น ไปวิ่งออกกำลัง พื้นที่ที่แสนจะดีงามสำหรับคนเมือง บางทีคุณภาพชีวิตของมนุษย์ออฟฟิศอย่างเราๆ ก็เริ่มต้นที่ตรงนี้
เราควรมีพื้นที่สีเขียวแค่ไหน
องค์การอนามัยโลก (World Health Organization- WHO) แนะนำว่าค่าเฉลี่ยอัตราพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรอยู่ที่ 9 ตารางเมตรต่อคน ในขณะที่กรุงเทพฯ มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 5.42 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ย (ไม่นับการกระจายตัวของสวนและความสะดวกในการเข้าถึงและเข้าใช้งานด้วย)
ประเด็นเรื่องพื้นที่สีเขียวเป็นประเด็นสำคัญที่เมืองทั้งหลายให้ความสนใจ เมืองที่น่าอยู่ส่วนหนึ่งก็อยู่ที่การจัดพื้นที่สีเขียวที่เข้าถึงได้ให้กับพลเมือง ‘เวียนนา’ ในฐานะเมืองที่ได้รับการจัดให้เป็นเมืองน่าอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก มีสัดส่วนสีเขียวถึง 51% ของเมือง
สวนสาธารณะกับการเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรม
ส่วนตัวก็รู้สึกเศร้าๆ เนอะว่าทำไมบ้านเราถึงไม่ค่อยมีสวนเหมือนบางที่โดยเฉพาะในยุโรป ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความแตกต่างทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ แนวคิดและการเกิดขึ้นของสวนสาธารณะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในอังกฤษ ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม เกิดขึ้นพร้อมๆ กับพื้นที่เมือง
วัฒนธรรมดั้งเดิมอย่างหนึ่งของทางโลกตะวันตกคือการล่าสัตว์ ซึ่งก็ทำให้เกิดพื้นที่สวนแห่งแรกๆ ของโลกขึ้นใน ‘ลอนดอน’ เป็นสวนกวางอันเป็นที่ที่เหล่าขุนนางและชนชั้นสูงจะเข้าไปเพื่อขี่ม้าล่าสัตว์กันในนั้น ดังนั้นสวนเหล่านี้จะมีรั้วรอบขอบชิดเพื่อป้องกันสัตว์ทั้งหลายในป่ารวมไปถึงรักษาความเป็นส่วนตัวของเหล่าชนชั้นสูงนั่นแหละ ด้วยวัฒนธรรมแบบนี้ ในพื้นที่รอบๆ คฤหาสน์หรือปราสาทจึงมักมีพื้นที่ป่ากว้างขวางเพื่อใช้สำหรับกิจกรรมยามว่าง
สวนสำคัญๆ เช่น Hyde Park ในลอนดอน เมื่อแรกก็ถูกสร้างหรือจัดพื้นที่ขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่สำหรับล่าสัตว์ของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 ในช่วงปี 1536 ซึ่งการใช้สวนนี้ก็ค่อยๆ ปรับไปตามกาลเวลา เช่นในรัชสมัยของพระเจ้าเจมส์ที่ 1 อนุญาตให้คนนอกเข้าไปล่าสัตว์ได้โดยเก็บค่าเข้า กระทั่งสุดท้ายในปี 1637 จึงได้เปิดให้เป็นสวนสำหรับสาธารณชน ซึ่งก่อนที่จะเกิดพื้นที่เมืองขึ้น ตามคฤหาสน์ขุนนางก็จะมีสวนป่าแบบนี้ ต่อมาเมื่อเกิดเป็นเมืองที่มีผู้คนหนาแน่นขึ้น สวนเหล่านี้ก็กลายเป็นพื้นที่สำหรับหย่อนใจ
ซึ่งนอกจากสวนป่าแล้ว ลองนึกภาพปราสาทราชวังในยุโรปที่มักจะต้องมีสวนประดับโดยถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรม การมีสวนที่อลังการ และการจัดวางอย่างสมมาตร มีสวนสวย น้ำพุ มีเขาวงกต ซึ่งสวนเหล่านี้ทำหน้าที่เหมือนเป็นภาพวาดเวลาที่มองออกมาจากตัวอาคาร ซึ่งการมีสวนดังกล่าวถือว่าเป็นเครื่องแสดงรสนิยมและความมั่งคั่งของขุนนางหรือราชวงศ์ผู้เป็นเจ้าของ ในหลายประเทศเราจะเห็นว่าสวนในพระราชวังหรือสถานที่สาธารณะเหล่านี้จะเปิดให้คนทั่วไปเข้าไปใช้ในฐานะสวนสาธารณะอย่างหนึ่ง ในพระราชวังใหญ่ๆ เช่น Schönbrunn ในเวียนนา หรือพระราชวัง Nymphenburg ในมิวนิก ส่วนที่เป็นสวนหรือภายนอกอาคารเปิดให้ประชาชนสามารถเข้าพักผ่อนและวิ่งออกกำลังกายได้
ด้วยความแตกต่างทางวัฒนธรรม เช่นการล่าสัตว์รวมไปถึงการมีสวนใหญ่ๆ (แล้วต่อมากลายเป็นพื้นที่สาธารณะ) ของบ้านเขา ขณะที่บ้านเราไม่มีรากฐานเรื่องนั้นเลยไม่ค่อยมีพื้นที่ที่จะเอามาเปิดเป็นสวนให้คนทั่วไปเท่าไหร่ ดังนั้นสวนสาธารณะของกรุงเทพจึงมักเป็นโปรเจ็กต์ขนาดใหญ่ มีรั้วรอบ มีการจัดการด้วยเงินจำนวนมาก ซึ่งก็เข้าใจว่าการจัดสรรงบเป็นเรื่องที่กระเหม็ดกระแหม่พอสมควร ดังนั้นสวนขนาดใหญ่จึงมักเหมือนเป็นเรื่องของหน้าตา และค่อนข้างกระจุกตัวอยู่กลางเมือง
แค่มีสวน ชีวิตก็ดีขึ้นเย้อ
มีงานศึกษาที่บอกว่าการที่คนเมืองใช้ชีวิตโดยมีพื้นที่สีเขียวทั้งสวนเล็กๆ และสวนสาธารณะที่อยู่ใกล้ สามารถเข้าถึงได้ง่ายๆ ส่งผลกับสุขภาพจิตและสุขภาพกาย การเข้าถึงสวนส่งผลต่อสุขภาพจิตและสุขภาพกายอย่างมีนัยสำคัญ ประโยชน์ของสวนอยู่ที่การที่คนเมืองสามารถหลบหนีออกจากความวุ่นวายและเคร่งเครียดจากเมืองและชีวิตประจำวันได้ แถมยังเป็นพื้นที่ของการออกกำลังขยับร่างกายด้วย
ลองจินตนาการถึงเมืองที่เดินทางสะดวก มีสวนสวยแซมอยู่ตามพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ให้คนได้ไปใช้เวลาใกล้ชิดกับธรรมชาติ ถึงจะทำงานเหนื่อยๆ การมีที่หย่อนใจที่ช่วยพัฒนาทั้งสภาพร่างกายและจิตใจ เป็นทัศนียภาพที่สวยงามให้เราได้ไปพักผ่อน ตรงนี้แหละที่เราเรียกว่าเป็นคุณภาพชีวิต
และถ้าเรามีคุณภาพชีวิตที่ดี เวลาเกิดความเครียด อย่างน้อยก็ยังมีที่ให้หย่อนใจ เราก็คงไม่อยากทำอะไรแย่ๆ เนอะ