And the rain was upon the earth forty days and forty nights.
Genesis 7: 12 King James Version
แล้วฝนก็ตกลงบนโลกติดต่อกันสี่สิบวันสี่สิบคืน
ปฐมกาล 7: 12 พระคัมภีร์ฉบับคิงส์เจมส์
สองสามพันปีต่อมาแค่ฝนตกหนักๆ ซักชั่วโมงสองชั่วโมง ชาวกรุงเทพฯ ก็เริ่มเตรียมตัวรับกับหายนะกันได้แล้ว
ตามตำนาน ‘เรือโนอาห์ (Noah Arch)’ ในพระคัมภีร์ฉบับพันธสัญญาเดิม กล่าวถึงฝนที่ตกอย่างไม่เคยตกมาก่อนนับตั้งแต่ที่พระเจ้าสร้างโลกและตกต่อเนื่องกันเป็นเวลาถึง 40 วัน โดยในวันที่ 40 นั้น ตำนานกล่าวว่าน้ำที่ท่วมถึงจุดที่สูงที่สุดในโลกในขณะนั้น และน้ำได้ท่วมแผ่นดินเป็นเวลานาน 150 วัน ทำให้สรรพสิ่งบนโลกตายลงทั้งหมดก่อนที่พระเจ้าจะบันดาลให้น้ำเหือดแห้งไป
ที่ไหนๆ น้ำก็ท่วมโลก – เราคือเพื่อนกัน
ไม่ใช่แค่โนอาห์ หรือพระเจ้าในคริสต์ศาสนาเท่านั้นที่มีตำนานเรื่องน้ำท่วมโลก แต่ว่าตำนานน้ำท่วมโลกเป็นเหมือนเรื่องเล่าเก่าแก่ที่มนุษย์เรามีร่วมกัน ในแทบทุกอารยธรรมโบราณของมนุษย์พบตำนานหรือเรื่องเล่าที่เกี่ยวกับน้ำท่วมโลกด้วยกันแทบทุกที่ ในศาสนาร่วมสมัย อย่างในศาสนาอิสลามก็มีนบีองค์หนึ่งที่พระเจ้าบัญชาให้สร้างเรือยักษ์เพื่อให้รอดพ้นจากมหาอุทกภัย
ในอารยธรรมอินเดียใกล้ๆ เรา ก็มีเรื่องคล้ายๆกัน คือในความเชื่อแบบฮินดูกล่าวถึงตำนานเกี่ยวกับพระมนู พระมนูหมายถึงเทพผู้สร้างมนุษย์ เป็นเจ้าผู้ปกครองและมอบความรู้ในการปกครองให้กับมนุษย์ ในตำนานของพระมนูมีการกล่าวถึงปลาตัวหนึ่งที่มาบอกข่าวว่าเรื่องน้ำท่วมโลก พระมนูจึงสร้างเรือยักษ์และผูกไว้กับปลาตัวนั้น เหตุนี้เองมนุษย์จึงรอดพ้นจากการสูญพันธุ์และการล้างโลกลงไปได้ ในคัมภีร์ปุราณะกล่าวว่าปลานั้นคืออวตารของพระนารายณ์หรือพระวิษณุ เป็นอวตารปางแรกเพื่อช่วยมนุษย์และสัตว์ให้รอดพ้นเรียกว่า มัตสยาวตาร
ในกลุ่มอารยธรรมโบราณเช่นเมโสโปเตเมีย คืออารยธรรมในลุ่มแม่น้ำไทกริสยูเฟรติส ก็พบตำนานการล้างโลกในทำนองเดียวกัน ที่โด่งดังและเป็นลายลักษณ์อักษรที่เก่าที่สุดชิ้นหนึ่งคือมหากาพย์กิลกาเมช (Gilgamesh) เนื้อเรื่องก็ทำนองเดียวกันคือมีการสร้างเรือ และรอดพ้นจากการล้างโลก
ทำไมต้องล้างโลก-เหมือนๆ กัน
คาร์ล กุสตาฟ จุง เป็นนักจิตวิเคราะห์ที่สนใจปรณัมตำนานต่างๆ และจากกรณีเช่น ตำนานการล้างโลก จุงเลยสงสัยว่าทำไมนะ ในอารยธรรมต่างๆ แม้ว่าจะอยู่กันคนละพื้นที่แต่มนุษย์กลับมีจินตนาการ มีความคิดฝัน หรือความเชื่อต่างๆ ที่คล้ายกันจนน่าแปลกใจ เช่น เรื่องการสร้างเรือให้รอดพ้นจากการล้างโลก จุงเลยเสนอแนวคิดที่ว่ามนุษย์เรามีสิ่งที่เรียกว่าจิตเหนือสำนึกร่วม (collective unconscious) คือเป็นคล้ายๆ คลังความคิดฝันบางอย่างที่มนุษย์มีร่วมกัน
ฟังดูเพ้อนิดหน่อย แต่ในอีกทำนองก็ว่า มนุษย์ก็คงเจอเรื่องราว หรือมีความคิดต่ออะไรรอบตัวคล้ายๆ กัน
กรณีน้ำท่วมโลก ก็เป็นเช่นกัน คือมนุษยชาติก็มักจะต้องอธิบายสิ่งต่างๆ รอบตัว ว่ามันเกิดขึ้นมายังไง และในตำนานที่เกี่ยวกับมนุษย์ และความเป็นมนุษย์ สรรพสิ่งย่อมประกอบขึ้นด้วยการเกิดขึ้น เฟื่องฟู และถูกทำลายลง
ในด้านหนึ่ง ที่มนุษย์มองมนุษย์ด้วยกันเอง คือมนุษย์มักจะ ‘เจ๊ง’ หรือเน่าหนอนลงไปง่ายๆ พระเจ้าเลยต้องทำการล้าง หรือทำความสะอาดครั้งใหญ่ เป็นการคัดเลือกผู้ที่ยังศรัทธา หรือเป็นการเตือนสติเกี่ยวกับความอหังการของมนุษย์ เตือนถึงพลังที่ใหญ่โตกว่าตน ไม่ว่าด้วยพระเจ้าในรูปนามของพระเจ้าเอง หรือพระเจ้าในนามของธรรมชาติก็ตาม
ธรรมชาติ – อำนาจที่เหนือกว่ามนุษย์
ทำไมอำนาจแห่งการทำลายคือน้ำ ลองย้อนกลับไปยังมนุษย์ยุคก่อนอุตสาหกรรม ในยุคนั้น มนุษย์ต่างก่อร่างสังคมและพึ่งพาการดำรงชีวิตด้วยการทำเกษตรกรรม และแน่นอนว่าสิ่งที่สำคัญคือน้ำ อารยธรรมมนุษย์ยุคแรกๆ จึงเป็นอารยธรรมแบบลุ่มน้ำ มนุษย์ต้องพึ่งพาและยอมรับอำนาจแห่งสายน้ำในการเฟื่องฟูและเจริญงอกงาม ทั้งตัวพืชผักและรวมไปถึงตัววัฒนธรรมของตนเองด้วย
ลองนึกภาพวงจรของสายน้ำ เช่นแม่น้ำไนล์จะมีวงจรของตัวเอง คือที่แม่น้ำจะไหลบ่าลงมาอย่างรุนแรงและท่วมเอาผลผลิตต่างๆ ไปจนหมด จนกระทั่งปริมาณน้ำค่อยๆ ลดน้อยลงจนสามารถทำการเกษตรได้ ไปจนกระทั่งน้ำเหือดแห้ง ในอียิปต์แบ่งฤดูไปตามวงจรของการเก็บเกี่ยว เรียกว่า Akhet (ฤดูน้ำหลาก), Peret (ฤดูเพาะปลูก), and Shemu (ฤดูเก็บเกี่ยว) ดังนั้นวงจรของชีวิตที่มนุษย์น่าจะมีร่วมกันก็อาจจะมีความสัมพันธ์กับวิถีแบบกสิกรรมอันสัมพันธ์กับฤดูกาลทั้งสาม โดยในอารยธรรมอื่น ก็อาจจะแบ่งเป็นฤดูหนาว ใบไม้ผลิ และใบไม้ร่วง ซึ่งแม้จะต่างภูมิอากาศ แต่ก็มีลักษณะใกล้เคียงกัน
ดังนั้น สิ่งที่มนุษย์เห็น และสยบยอม จนเกิดเป็นเรื่องเล่าตำนานเกี่ยวกับตัวมนุษย์เอง ก็สะท้อนถึงความกระจ้อยร่อยของมนุษย์ที่ต้องอาศัยพึ่งพาธรรมชาติ ที่ในที่สุดแล้ว ธรรมชาติก็มีอำนาจที่ยิ่งใหญ่เหนือตนอย่างแท้จริง เช่น การเข้าท่วมท้นของสายน้ำที่ยังหายนะมาแก่มนุษย์