“ลองทำงานนี้ดูไหม ไม่ได้เงินเพิ่ม แต่ได้พัฒนาสกิลนะ”
“เห็นว่าชอบงานแนวนี้ ช่วยทำให้ฟรีได้ไหม”
‘งาน’ (work) ในทางเศรษฐศาสตร์และสังคมวิทยา หมายถึง กิจกรรมและแรงงานที่จำเป็นต่อการอยู่รอดของสังคม ซึ่งหลายคนอาจจะนึกถึงภาพการนั่งหน้าคอมพ์ ประชุมงาน เสิร์ฟอาหาร ดูแลลูกค้า ที่แลกมาด้วยค่าตอบแทนและสวัสดิการต่างๆ
แต่กิจกรรมบางอย่างที่ต้องใช้แรงกาย แรงใจ เวลา และสร้างผลลัพธ์ที่ขับเคลื่อนสังคมได้ กลับไม่ถูกนับรวมหรือนิยามว่าเป็น ‘งาน’ จนกลายเป็นที่มาของประโยคข้างต้นที่ชวนให้คนฟังรู้สึกเจ็บจี๊ดทุกครั้งที่ได้ยิน โดยงานที่มองไม่เห็นแต่มีอยู่จริงเหล่านี้ เรียกว่า ‘invisible work’
Invisible Work งานที่แม้แต่คนทำก็มองไม่เห็น
คำว่า ‘invisible work’ ปรากฏครั้งแรกในบทความของนักสังคมวิทยา อาร์ลีน แดเนียลส์ (Arlene Daniels) เมื่อปี ค.ศ.1987 โดยแดเนียลส์ใช้เรียกงานที่ไม่ได้รับค่าจ้าง ไม่มีใครสังเกตเห็น รับรู้ และออกกฎระเบียบควบคุม โดยเฉพาะผู้หญิงที่ต้องรับผิดชอบ ‘งานบ้าน’ ไปพร้อมกับงานประจำของตัวเอง
แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป นิยามของ invisible work เริ่มไม่ได้จำกัดอยู่แค่งานบ้านหรือแค่เพศใดเพศหนึ่งเท่านั้น โดย invisible work ในปัจจุบัน หมายถึงกิจกรรมใดๆ ที่ได้รับมอบหมายจากนายจ้างโดยตรงและโดยนัย ซึ่งกิจกรรมนั้นมีความสำคัญต่อรายได้หรือความอยู่รอดขององค์กร แต่มักถูกมองข้าม ละเลย และ/หรือลดทอนคุณค่าโดยนายจ้าง ผู้บริโภค ระบบกฎหมาย หรือแม้แต่คนที่ทำงานนั้นเอง
อย่างงานที่ได้รับมอบหมายให้ทำในวันหยุด งานที่อยู่นอกเหนือ job description การเป็นแม่งานจัดปาร์ตี้หรืออีเวนต์เชื่อมสัมพันธ์ให้คนในแผนก หรือในสายงานบริการที่เราเห็นบางคนต้องแต่งหน้า ทำผม จัดการอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง เพื่อสร้างความรู้สึกที่ดีให้กับลูกค้า โดยที่งานเหล่านี้ ไม่ได้ถูกระบุไว้ว่าเป็นหน้าที่ และไม่ได้รับการชดเชยหรือค่าตอบแทน เพราะไม่ถูกนิยามว่าเป็น ‘งาน’ ตั้งแต่แรก
นอกจากนี้ invisible work ยังรวมถึงงานที่ถูกผลักออกจากสายตาของคนในเชิงพื้นที่และภูมิศาสตร์ เช่น โฆษณาผลไม้ของสหรัฐที่เต็มไปด้วยคนผิวขาวเดินเก็บผลไม้ ทั้งที่แรงงานจริงๆ กลับเป็นชาวลาตินและเอเชีย
สิทธิที่หายไปพร้อมกับงาน
การถูกลดทอนไม่ให้มองเห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นงาน หรือไม่รู้ว่าใครเป็นคนทำงานนี้อยู่ จึงเท่ากับการลบตัวตนและสิทธิของคนคนนั้นไปด้วย สิ่งที่ตามมาจึงเป็นภาพพ่อแม่วัยทำงานที่หมดไฟจากการหักโหมงานทั้งนอกและในบ้าน พนักงานออฟฟิศกระเป๋าแห้ง ปวดหลัง แต่ก็ยังไม่มีเวลาดูแลตัวเอง คนงานในโรงงานอันห่างไกลที่ถูกกดขี่เรื่องรายได้ คุณภาพชีวิต ความปลอดภัย บ้างก็เป็นการใช้แรงงานเด็ก
จากงานวิจัยของ มาร์จอรี เดอวัลต์ (Marjorie DeVault, 1994) ชี้ให้เห็นว่ากิจกรรมอย่างการเตรียมมื้อเย็น ถูกมองในฐานะงานการแสดงออกถึงความรัก หรือบทบาทตามธรรมชาติมากกว่าจะเป็น ‘การทำงาน’ เช่นเดียวกับงานวิจัยของ อาร์ลี ฮอกส์ไชลด์ (Arlie Hochschild,1983) ที่พบว่าแอร์โฮสเตสต้องใช้ทักษะการจัดการอารมณ์ของตัวเองและลูกค้า เพื่อสร้างความรู้สึกทางบวกให้ลูกค้าอยากกลับมาใช้บริการอีก แต่ ‘ทักษะ’ เหล่านี้กลับถูกมองว่าเป็นลักษณะนิสัย หรือธรรมชาติของผู้หญิงมากกว่า
งานวิจัยเหล่านี้ก็พอจะทำให้เราได้เห็นว่า invisible work อาจมาจากการแทนที่คำว่า ‘งาน’ ด้วยนิยามอื่นๆ เช่น ความรัก ความหลงใหล ลักษณะนิสัย โอกาส การพัฒนาตัวเอง อาสาสมัคร ฯลฯ ทั้งที่กิจกรรมเหล่านี้ล้วนใช้ความพยายามและเวลาทุ่มเทออกมาจนเกิดผลลัพธ์ที่ช่วยขับเคลื่อนองค์กรหรือส่งผลต่อรายได้ขององค์กรเช่นเดียวกัน
เปลี่ยน invisible work ให้เป็น visible work
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยน invisible work ให้เป็น visible work นั้น ไม่ได้หมายความว่าต้องแก้ปัญหาด้วยการ ‘จ่ายเงิน’ ให้ทุกๆ งาน แต่การทำให้คนรับรู้ว่ามีงานๆ นี้อยู่ ทำให้ผู้คน (หรือแม้แต่คนที่ทำงานนั้น) ตระหนักถึงสิทธิของตัวเอง และมองเห็นปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไขมากขึ้น อย่างการตีพิมพ์งานเขียนของ อาร์ลี ฮอกส์ไชลด์ ในปี ค.ศ.1989 ที่พูดถึง ‘กะที่สอง’ (the second shift) ของผู้หญิงที่ต้องกลับมาทำงานในบ้านหลังจากเลิกงานที่ออฟฟิศ ทำให้สังคมเกิดการเคลื่อนไหวที่นำไปสู่นโยบาย เช่น การได้รับค่าจ้างระหว่างลาเพื่อเลี้ยงดูบุตร เงินอุดหนุนสำหรับการดูแลเด็ก
หรืออีกตัวอย่าง คือ พนักงานในคลังสินค้าของ Amazon ซึ่งก่อนหน้านี้บางคนต้องเผชิญกับปัญหากับโรคลมแดดบ่อยๆ เพราะคลังสินค้าระบายความร้อนได้ไม่ดี แต่เมื่อเราสั่งของออนไลน์ ก็อาจจะรู้สึกเหมือนกำลังทำงานกับ AI หรือเว็บไซต์มากกว่า จนลืมไปว่ามีพนักงานที่อยู่ในคลังสินค้า ซึ่งการลดทอนตัวตนของเขาโดยไม่รู้ตัวทำให้ปัญหาเหล่านี้ไม่ถูกพูดถึง เช่นเดียวกับอุตสาหกรรม fast fashion หลายแห่งที่มีโรงงานอันห่างไกลและตรวจสอบไม่ได้ว่ามีการใช้แรงงานที่ถูกกฎหมายหรือเปล่า
หากมองในระดับปัจเจก ปัญหา invisible work ก็พอจะแก้ไขได้ตั้งแต่การแบ่งงานกันในครอบครัว การพูดคุยเพื่อหาทางออกภายในองค์กร แต่ในระดับสังคม อาจต้องอาศัยการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย เช่น การรวมตัวกันของสหภาพแรงงาน เพื่อเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขปัญหา หรือเสนอนโยบายต่อผู้มีอำนาจ
แต่สิ่งสำคัญและเริ่มต้นได้ตั้งแต่ตอนนี้ คงเป็นการสังเกต และพูดคุยกันมากขึ้นว่า invisible work ที่มีร่วมกันในสังคมมีเรื่องใดบ้าง เพราะการรับรู้ว่ามีงานๆ หนึ่งอยู่ในสังคม เท่ากับการมองเห็น ‘ตัวตน’ และ ‘สิทธิ’ ของคนทำงาน รวมทั้งปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนเหล่านั้น
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Sutanya Phattansitubon