ปีนี้ไปงานบอลฯ ไหม? หลายคนคงตั้งตารอวิจารณ์เสื้อเชียร์ เอ้ย รอติดตามเข้าร่วมงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 74 เพราะนอกจากงานนี้จะเป็นโอกาสดีที่สองสถาบันได้กระชับความสัมพันธ์ผ่านการเตะฟุตบอล ศิษย์เก่ากลับมาสูดกลิ่นวันคืนที่คิดถึง และศิษย์ปัจจุบันมีโอกาสแสดงพลัง งานบอลฯ เป็นฉากแสนสำคัญที่ในแต่ละปีเสียงของนักศึกษาจะออกมาสะท้อนความคิดของพวกเขาต่อบ้านเมือง สังคม และการเมือง โดยเฉพาะขบวน ‘ล้อการเมือง’
ก่อนจะถึงงานฟุตบอลประเพณีฯ Young MATTER พาเปิดสถิติ 11 ครั้งหลังของขบวนล้อการเมืองแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สีสันของงานบอลประเพณีระหว่างสองสถาบันระดับอุดมศึกษา ธรรมศาสตร์-จุฬาฯ 11 ครั้งที่ผ่านมา ตั้งแต่ครั้งที่ 63-73 ระหว่างปี พ.ศ. 2550 -2562
ล้อมาแล้วเท่าไร
-ใน 11 ครั้งที่ผ่านมามีจำนวนหุ่นรวมทั้งหมด 52 ตัว
-หุ่นล้อการเมืองจำนวนน้อยที่สุด ได้แก่ 3 ตัวในงานครั้งที่ 64
-หุ่นล้อการเมืองจำนวนมากที่สุด ได้แก่ 6 ตัว ในงานครั้งที่ 63 และ 70
หมวดหมู่ที่โดนล้อในขบวนล้อการเมือง
พอมาลองหยิบจับ จำแนกหมวดหมู่ประเภทเนื้อหาที่หุ่นล้อการเมืองนำเสนอ ก็พบว่าล้อการเมืองสะท้อนปัญหาอันหลากหลาย (แม้หลายหุ่นจะวนกลับมาคุยในเรื่องๆ เก่าก็ตาม) โดยเจ้าหุ่นล้อการเมือง 1 ตัวสะท้อนในหลายประเด็นดังนี้
- หมวดวิจารณ์นักการเมือง 24 ครั้ง
- หมวดวิจารณ์การทำงาน และนโยบายรัฐบาลทั้งหมด 15 ครั้ง
- หมวดการต่างประเทศ 9 ครั้ง
- หมวดวิจารณ์รัฐธรรมนูญ 7 ครั้ง
- หมวดวิจารณ์กระแสสังคม 8 ครั้ง
- หมวดวิจารณ์การเมืองไทยที่ไม่เป็นประชาธิปไตย 6 ครั้ง
- หมวดวิจารณ์กระบวนการยุติธรรม 4 ครั้ง
- หมวดวิจารณ์สื่อ 2 ครั้ง
- หมวดสิ่งแวดล้อม 2 ครั้ง
- หมวดสนับสนุนปรองดอง 1 ครั้ง
ใครโดนล้อมากที่สุด
ล้อการเมืองมักหยิบยกเรื่องการเมืองมาสะท้อน และวิพากษ์วิจารณ์บุคคลให้เห็นกันแบบแสบๆ คันๆ นักการเมืองหรือบุคคลที่ต้องมอบเหรียญทองสาขาขวัญใจชาว มธ. โดนล้อประจำ จากการปรากฏบนหุ่นล้อการเมืองมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่
- อภิสิทธ์ เวชชาชีวะ ปรากฏบนหุ่น 6 ตัว
- ทักษิณ ชินวัตร และพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปรากฏบนหุ่น 4 ตัว
- บารัค โอบามา ปรากฏบนหุ่น 3 ตัว
นอกเหนือจากนี้ก็มีบุคคลมากหน้าหลายตาแวะเวียนกันมาถูกล้อแซะ แกะ เกา ไม่ใช่เพียงรัฐบาลทหาร หรือรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง
ล้อฯ อินเตอร์ : ใคร และประเทศไหนบ้างโดนล้อ
แม้ส่วนใหญ่ล้อการเมืองจะสะท้อนปัญหาภายในประเทศ แต่หลายครั้งก็เห็นว่าล้อการเมืองมีการหยิบประเด็นนานาชาติ หรือพูดถึงประเทศที่มีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับประเทศไทย โดยประเทศที่ปรากฏสัญลักษณ์บนหุ่นล้อการเมืองมากที่สุด คือสหรัฐอเมริกา 7 ครั้ง รองลงมาคือ จีน 3 ครั้ง กัมพูชา 2 ครั้ง ถัดมาคือสิงคโปร์ และญี่ปุ่นปรากฏ 1 ครั้ง
เพศในล้อการเมือง
หมวดของการวิจารณ์นักการเมืองเป็นอันดับหนึ่งของประเด็นที่กลุ่มอิสระล้อการเมืองแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นำเสนอ ลองคำนวณออกมาเล่นๆ พบว่าในหุ่นทั้งหมด 52 มีคนดังในเมืองไทยมาปรากฏตัวมากหน้าหลายตา จากหุ่นที่พูดถึงบุคคลทั้งหมด 38 ตัว มีตัวละครชายอยู่ 35 ตัว คิดเป็น 92.11% มีคนดังเพศหญิง 3 ตัว คิดเป็น 7.89% ได้แก่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และเจ๊เกียว สุจินดา เชิดชัย สะท้อนให้เห็นว่าการเมืองไทยยังเน้นในเรื่องตัวบุคคล และเพศหญิงยังคงมีบทบาทน้อยในหน้าการเมืองไทย
ล้อการเมืองเป็นกิจกรรมหนึ่งที่สะท้อนเสียงของนักศึกษา และฉายภาพสังคม การเมืองไทยในสายตาของหนุ่มสาว แม้ว่าจากข้อมูลตลอด 10 ครั้งที่ผ่านมาจะฉายภาพชัดว่าในหลายประเด็นเรายัง ‘วนกลับมาที่เก่า’ กลับมาพูดเรื่องยังต้องแก้ไข ล้อการเมืองก็หมุนต่อไปจนกว่าสิ่งที่พูดไว้จะมุ่งไปข้างหน้า
อ้างอิงข้อมูลจาก
- “ล้อการเมืองเสียบสิงคโปร์ บอลจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์กระหึ่ม!”, แนวหน้า. 21 มกราคม พ.ศ.2550. หน้า 1,7.
- “ริ้วขบวน ‘สมัคร’ นอมินีแม้ว แซว ‘ปู่ชัย’ ปลุกเปรตสู่แผ่นดิน”, มติชน. 18 พฤษภาคม พ.ศ.2551. หน้า 13.
- “ฟุตบอล ‘จุฬา-ธรรมศาสตร์’ เสมอ 0-0 พาเหรดล้อ ‘มาร์ค-แม้ว-ฮุนเซน’ สุดแสบ”, มติชน. 17 มกราคม พ.ศ.2553. หน้า 15.
- “จุฬา-มธ. ล้อ‘นางอัป(ปรี)สิทธิ์’ ”, ข่าวสด. 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2554. หน้า 11.
- “ล้อการเมืองแสบทรวง บอลจุฬาฯ-มธ. รัฐบาล‘ยิ่งลักษณ์’ อ่วม! ”, แนวหน้า. 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2555. หน้า 1, 11.
- “มธ.-จุฬาจัดหนักเพื่อ‘ปู’ สวยไร้สมอง ขบวนล้อการเมืองกระหึ่ม ”, แนวหน้า. 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2556. หน้า 1,10.
Facebook : กลุ่มอิสระล้อการเมืองแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, https://www.facebook.com/TUPoliticalParody/