“หากไร้ซึ่งเสรีภาพ จะมีศิลปะไว้ทำไม”
ข้อความจากป้ายผ้า ในการเรียกร้องของนักศึกษาสาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ (Media Arts and Design) คณะวิจิตรศิลป์ ม.เชียงใหม่ ซึ่งเกิดเป็นข่าวใหญ่โต หลังทางคณะไม่ให้คำตอบเรื่องการจัดนิทรรศการ โดยอ้างว่ามีงานบางส่วนเกี่ยวข้องกับการเมือง ทางมหา’ลัยเองก็ไม่ช่วยจัดการ จนสุดท้าย กลุ่มนักศึกษา และอาจารย์ตัดสินใจตัดกุญแจ เข้าไปยึดหอศิลป์ เพื่อจัดแสดงงาน
แต่เหตุการณ์แบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกในคณะวิจิตรศิลป์ ม.เชียงใหม่ เพราะเมื่อต้นปีก็มีเหตุการณ์ที่คณบดีพยายามเอางานศิลปะของนักศึกษาไปทิ้งมาแล้ว เมื่อมหาวิทยาลัย ที่เป็นเสมือนพื้นที่ให้นักศึกษาได้ทดลอง เรียนรู้ปิดกั้นในการแสดงออกของนักศึกษา และไม่ได้กลายเป็นพื้นที่ปลอดภัย
เรามาพูดคุยกับนักศึกษาปี 4 และ ปี 5 ของคณะวิจิตรศิลป์ ถึงเหตุผลที่ทำให้พวกเขาต้องตัดกุญแจ ยึดหอศิลป์ และทวงคืนเสรีภาพในการแสดงออก โดยเขาย้ำว่า กว่าจะมาถึงจุดนี้ พวกนักศึกษาพยายามเจรจา พูดคุย กับทั้งคณบดี และอธิการบดีแล้ว แต่ไร้ซึ่งการตอบรับ จนทำให้พวกเขาต้องนำเรื่องไปสู่สถานีตำรวจ หรือศาลปกครองเพื่อคุ้มครองพวกเขาแทน เพราะมหา’ลัย ไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยของพวกเขาแล้ว
กว่าจะมาเป็นเหตุการณ์ยึดหอศิลป์ กับการพยายามเจรจากับคณบดีคณะวิจิตรศิลป์ และมหา’ลัย
การตัดกุญแจ บุกยึดหอศิลป์ของนักศึกษา สาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะหอศิลป์ปิดประตู ไม่ให้พวกเขาเข้าไป แต่เป้ นักศึกษาปี 4 ของสาขานี้ ได้เล่าเรื่องราวกระบวนการที่ยาวเหยียดของกลุ่มนักศึกษา ที่พยายามในการเจรจา กับผู้มีอำนาจต่างๆ และให้เกิดงานนิทรรศการนี้มาโดยตลอด
งานในปีนี้มีชื่อว่า ‘WHIPLASH : MADs Pre-degree Exhibition 2021’ ซึ่งเป้บอกกับเราว่า งานนิทรรศการแบบนี้ จะเกิดขึ้นทุกๆ ปี เป็นปกติ
“มันคืองานที่รวบรวมงานของทั้ง 4 ชั้นปี ในการจัดแสดง ปกติเป็นงานจัดแสดง on site และมันคืองานที่ปี 4 จะค่อนข้างที่จะมีบทบาทหน้าที่เยอะ เพราะเราจะมีการโชว์ Pre-thesis หรืองานที่เราวิจัยกันมา 1 ปี และแต่ละปีเราจะมีการจัดส่งเอกสารต่างๆ ให้หอศิลป์อยู่แล้วถึงการจัดงาน”
เป้บอกกับเราว่า ในการขอเช่าพื้นที่หอศิลป์ ต้องมีการส่งเอกสารคือ 2 ชิ้น คือ Project management ของตัวนิทรรศการ ธีมงานต่างๆ และอีกอันคือหนังสือที่ออกโดยสาขาวิชา ซึ่งพวกเขาก็ทำทุกอย่างเหมือนปีที่ผ่านมา แต่ปีนี้ ทางหอศิลป์กลับขอเอกสาร Proposal คือรายละเอียดชิ้นงานโดยเฉพาะ เกี่ยวกับแต่ละชิ้นที่จะเข้าไปจัดแสดง ทั้งๆ ที่ปกติ จะส่งแค่รายละเอียดแค่ว่า งานชิ้นนั้น มีเจาะผนังไหม ขนาดชิ้นงานเท่าไหร่ แค่ไหนเท่านั้นเอง
นักศึกษาปี 4 บอกกับเราว่า พวกเขาจะมีการติดตั้งงานแสดงกันวันที่ 16-17 ตุลาที่ผ่านมา โดยทางนักศึกษาได้ส่งเอกสารทั้งหมดตั้งแต่ต้นเดือน และปกติแล้วการพิจารณาขอใช้พื้นที่ จะใช้เวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์ แต่หลังจากผ่านไป และพวกเขาไม่ได้รับคำตอบ จึงไปทวงถามกับทางหอศิลป์ แต่ได้คำตอบว่า เพราะมีงานบางชิ้นเกี่ยวข้องกับการเมือง
“พนักงานก็บอกว่า มันมีชิ้นงาน 4-5 ชิ้นงานไม่ผ่าน เราก็สงสัยว่าทำไมไม่ผ่าน เพราะตัวชิ้นงานทั้งหมดที่จะตัดสินได้ว่าผ่านหรือไม่ผ่าน คือคณาจารย์ที่ปรึกษาของนักศึกษาของเรา ทางหอศิลป์ไม่มีสิทธิชี้ว่าผ่านหรือไม่ผ่าน และชิ้นงานมันเป็นงานรายวิชา ในวันแรกที่เราจัดแสดง เราจะมีการตรวจงาน เราก็จะได้เกรด มันเป็นโปรเจ็คไฟนอล พอเราถามไปว่าทำไมงานไม่ผ่าน เขาก็บอกว่า ‘งานเหล่านั้นมันเกี่ยวข้องกับการเมือง’ โดยตัวหอศิลป์ คณะวิจิตรศิลป์เป็นคณะบริหารอยู่ และตัว ผอ.หอศิลป์ ก็คือ รองคณบดีคณะวิจิตรศิลป์”
“หลังจากนั้น เขาบอกเราว่าจะขอประชุมอีก ในวันจันทร์ที่ 11 ตุลา 64 และจะมาแจ้งผล แต่วันนั้นเขากลับออกหนังสือ ขอรายละเอียดงานที่ละเอียดกว่านี้อีก เราก็รวบรวมส่งไปให้ครบ แต่เขาก็บอกว่าจะมีคณะกรรมการประชุมอีกในวันที่ 14 ตุลา ซึ่งเราจะจัดงานแล้วในวันที่ 16 ตุลาแล้ว เรายังไม่ได้คำตอบเลย ทางเราก็เริ่มจะไม่โอเคแล้ว”
เป้บอกกับเราว่า งานนิทรรศการของพวกเขา ต้องมีการจัดเตรียมสายไฟ เพราะไม่ใช่งานจิตรกรรม ประติมากรรมที่เอามาแปะเฉยๆ แต่ยังมีคอมพิวเตอร์ มีจัดพื้นที่ มีขั้นตอนการติดตั้งงานอีก ซึ่งนักศึกษาบางคนก็จัดจ้างคนภายนอกมาติดตั้งงานให้ ทำให้พวกเขาต้องเร่งหาคำตอบ เพราะหากทางหอศิลป์ไม่ให้จัด พวกเขาก็จะไปหาพื้นที่ใหม่ แต่การยื้อเวลา ทำให้นักศึกษารู้สึกเหมือนโดนทางคณะเตะถ่วง และให้ความหวังไปเรื่อยๆ
“พอไม่ได้คำตอบเราก็เข้าไปคุยกับ ผอ.หอศิลป์ เพราะเราคิดว่าเขามีอำนาจมากที่สุดในการเซ็นต์ให้นิทรรศการจัดแสดง แต่เขาก็บอกเราว่าเขาไม่ได้มีอำนาจตัดสินใจ คนตัดสินใจคือคณบดี ซึ่งตัวเขาเป็นแค่รองคณบดี และเขาเองก็บอกว่า เขากังวลเรื่องงานที่อาจเกี่ยวกับการเมือง จึงพยายามขอเซ็นเซอร์แมททีเรียล หรือวิดีโออาร์ทต่างๆ ขอรายละเอียด ขอรูปถ่ายงานอีก ซึ่งเรามองว่ามันไม่เห็นสมควรที่เราต้องส่งให้ เขาจึงอ้างกฎการใช้พื้นที่มหา’ลัย ที่มีประมาณว่า ไม่อยากให้มีการเมืองมาเกี่ยวในมหา’ลัย และอ้างว่างานของเราเป็นงานการเมือง
เราก็อธิบายไปแล้วว่า งานของเราคือการวิจัยเชิงความรู้ เรามีการอ่าน literature มีการหาแหล่งข้อมูลอ้างอิงทางวิชาการ มาเป็นงานศิลปะ มันผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์ มันไม่ใช่การทำงานเอามัน เอาความโกรธมาแสดง ไม่ใช่แบบนั้น และงานวิชานี้มันคือตัวต่อในวิชาจบของเรา เราวิจัยเรื่องนี้มา 1 ปีเต็มๆ แล้ว
เรารู้สึกว่าสิ่งที่เขาทำ มันคือการดูถูกในสิ่งที่เราวิจัยมา ซึ่งเราก็พยายามบอกว่ามันไม่เกี่ยว งานของเรามันไม่ใช่การประท้วง มันคือการตีแผ่บางเรื่อง ที่นักศึกษาทำการวิจัยมา เขาก็บอกว่าเขาต้องการเซ็นเซอร์ส่วนนั้น ซึ่งมันทำไม่ได้ เพราะบางคนเขาทำหัวข้อวิจัยการเมืองตรงๆ เกี่ยวกับสังคม หรือทุนนิยมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชนชั้นนำไทย ซึ่งมันเปลี่ยนไม่ได้ มันไม่สามารถแก้ได้ และเราก็มีสิทธิที่จะไม่เปลี่ยนด้วย เพราะมันคือเสรีภาพในการพูด ทั้งมหา’ลัยเอง ก็ออกตัวว่าได้รับรางวัลว่าเป็นมหา’ลัยเท่าเทียมต่างๆ เราก็ทวงถามในเรื่องนี้”
กระบวนการต่างๆ ในการพยายามเพื่อจัดงานของนักศึกษายังไม่จบเท่านั้น เป้ บอกกับเราว่า เมื่อทางหอศิลป์ และคณะบ่ายเบี่ยง พวกเขาเลยไปร้องเรียนทางมหา’ลัยแทน แต่สุดท้าย พวกเขาก็ไม่ได้รับคำตอบเช่นเดียวกัน โดยพวกเขาเข้าไปด้วย 4 ข้อเรียกร้อง คือ
- ขอใช้สถานที่เดิม คือหอศิลป์
- จะไม่เปลี่ยนแปลงผลงานตามที่คณะพยายามจะเซ็นเซอร์
- ผู้บริหารวิจิตรศิลป์ได้ใช้อำนาจข่มเหงนักศึกษามาเป็นเวลานาน จึงไม่ไว้วางใจให้ผู้บริหารดำรงตำแหน่ง และขอให้มหา’ลัย ถอดถอนคณบดีคนนี้ออกจากตำแหน่ง
- ขอให้มหา’ลัย ยืนยันว่าเหตุการณ์แบบนี้จะไม่เกิดกับสาขาวิชาเรา หรือสาขาไหนๆ ในคณะวิจิตรศิลป์อีก
“เราพยายามไปคุยกับอธิการบดี ในวันที่ 14 ตุลา เขาก็ส่งคนมารับหนังสือร้องเรียนเรา ซึ่งเป็นรองอธิการบดี พอเราบอกว่าเราขอคำตอบ เขาก็บอกเราอีกว่า เขาไม่มีอำนาจตัดสินใจขณะนั้น ซึ่งคำตอบเหมือน ผอ.หอศิลป์ เราก็เลยบอกว่างั้นเราขอคุยกับคนมีอำนาจ แต่หลังจากนั้นเขาก็หายไป เรารอจนหมดเวลาราชการเขาก็ไม่ตอบคำถามเรา พอเราไปใหม่ในรุ่งขึ้น และเรามีการใช้เครื่องขยายเสียง เราพยายามเสียบปลั๊ก ก็เห็นเลยว่าปลั๊กถูกตัด พอเปลี่ยนปลั๊กอีก เขาก็สับไฟตึกอธิการบดีทั้งตึกเลยทั้งๆ ที่นั่นเป็นตึกใหม่ เมื่อเราก็ได้ยินว่าเขาประชุมกันอยู่ เราเลยขึ้นไปรอที่ตึก ซึ่งตอนหลังก็พบว่า อธิการบดี กับรองอธิการบดีต่างๆ หนีเราออกจากทางหนีไฟ ทำให้วันศุกร์นั้น เราก็ยังไม่ได้คำตอบ”
เพราะไม่มีใครให้คำตอบ มีแต่การปิดตึก และตัดน้ำ ตัดไฟ
การถูกแตะถ่วงระยะเวลา ไม่ให้คำตอบ ยิ่งทำให้นักศึกษารู้สึกว่า จะไม่จัดงานไม่ได้ แต่สุดท้ายช่วงเย็น วันที่ 15 ตุลา ก่อนถึงกำหนดการติดตั้งงาน พวกเขาก็เข้าไปติดตั้งงานไม่ได้ เพราะมีการปิดรั้วหอศิลป์ ทั้งๆ ที่ตึกนั้นมีตึกเรียน และแล็ปศิลปะที่นักศึกษาต้องเข้ามาปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง
“วันนั้นช่วงเย็น มีการตัดน้ำ ตัดไฟนักศึกษา โดยที่เรารับรู้ได้เลยว่าคือการกลั่นแกล้ง เพราะเขาเอาฟิวส์ไฟที่อยู่ตรงหม้อแปลงไฟออกเลย ซึ่งคนทั่วไปไม่สามารถทำได้ เพราะมันคือไฟฟ้าแรงสูง เราก็พยายามติดต่อหากรมไฟฟ้า เขาก็บอกให้เราติดต่อไฟฟ้า มช.เอง พอเราบอกไฟฟ้า มช. เขาก็โยนว่า ให้คณบดีอนุมัติคำสั่งมาให้ไฟฟ้า มช.มาดู เขาก็ไม่ส่งคนมาดู จนเราต้องตามช่างไฟนอกมาดู และมันก็เลยเกิดเหตุการณ์ที่ อ.ทัศนัย และนักศึกษารวมตัวกันตัดโซ่ขึ้นมา
“จริงๆ หอศิลป์นี้ เป็นหอศิลป์ของประชาชน ควรจะให้เราเข้ามาใช้ได้ ทั้งนักศึกษายังไม่ได้ใช้หอศิลป์ในทุกๆ เดือน การที่นักศึกษาจะเข้าใช้ได้ เราต้องจ่ายเงิน เราก็งงว่าเราจ่ายค่าเทอม ขอใช้เทอมละ 1 ครั้ง ซึ่งเราจำเป็นต้องจ่ายค่าพื้นที่ เรารู้สึกว่า หอศิลป์ มหาลัยเชียงใหม่ มันควรจะเป็นพื้นที่ของนักศึกษาจริงๆ ซึ่งหลังจากที่คณบดีชุดนี้ ดำรงตำแหน่ง หลายๆ อย่างมันเวนคืนคณะหมดเลย” ทั้งตัวนักศึกษายังบอกว่ากว่าน้ำ และไฟ จะกลับมาก็คือช่วงเย็นของวันที่ 16 ตุลา ทำให้พวกเขาได้รับความเสียหาย และเสียเวลาในการติดตั้งงานแสดงไป 1 วัน
และเมื่อพยายามเจรจากับคณะไม่เป็นผล กับมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้คำตอบ พวกเขาจึงเลือกไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ รวมถึงฟ้องศาลปกครองด้วย
“ก่อนเหตุการณ์ตัดกุญแจ เราเข้าไปแจ้งความ เพราะเรามองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ มันคือการละเลยหน้าที่ ที่จะตอบคำถามเรา และยื้อไปเรื่อยๆ ตอนแรกเราก็คิดว่ามหา’ลัย จะเป็นที่ๆ ซัพพอร์ตเราได้ แต่มหา’ลัยก็เลือกจะไม่ให้คำตอบเรา และโพสต์ว่าให้เรากลับไปถามคณะเอง ซึ่งเรารู้สึกว่ามันเป็นการโยนปัญหากลับไปให้ปัญหาที่แก้ไม่ได้ พอมหา’ลัยไม่ซัพพอร์ตเรา เราก็ไม่รู้จะต้องทำยังไง เลยไปแจ้งความไว้ก่อนว่าเขาละเลยหน้าที่ เพราะทุกอย่างคือความเสียหาย และคนรับความเสียหายก็คือเรา
และวันที่ 18 ตุลา เราไปศาลปกครอง ในการดำเนินคดีละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ให้คำตอบเรา และให้ศาลปกครองออกเป็นหนังสือในการคุ้มครองงานศิลปะของเราที่อยู่ในหอศิลป์ เพราะเราต้องใช้ทั้งคอมพิวเตอร์ หรืออะไรต่างๆ และเป็นชิ้นงานที่มีราคา เรากลัวว่าจะเกิดเหตุการณ์ที่คณะ หรืออะไรเข้ามาเอางานเราไปทิ้ง หรือเก็บงานโดยที่งานเราอาจจะหาย เราเลยขอให้ศาลคุ้มครองชิ้นงาน นักศึกษา และคณาจารย์อีกด้วย เพราะคณบดี ก็เหมือนจะแจ้งความดำเนินคดีกับคณาจารย์ด้วย” เป้เล่าถึงกระบวนการ และขั้นตอนทั้งหมดที่พวกนักศึกษาต้องต่อสู้ เรียกร้องเพื่อจัดแสดงงาน
งานศิลปะที่ถูกเซ็นเซอร์เพราะการเมือง
งานศิลปะ ที่ถูกทางหอศิลป์ชี้แจงว่า เกี่ยวข้องกับการเมืองนั้นมีถึง 4-5 ชิ้น โดยเราได้พูดคุยกับ นักศึกษาปี 5 หนึ่งในเจ้าของผลงานชิ้นหนึ่งที่ถูกเซ็นเซอร์ ซึ่งเธอมองว่า ที่งานของเธอสร้างความกังวล และถูกสั่งให้เซ็นเซอร์ อาจเพราะมีการแตะถึงสถาบันเบื้องสูง
“งานของเรา คือการวิพากษ์วิจารณ์การออกแบบของหน่วยงานรัฐ ที่ต้องเอิงเอย มีลายกนก พระพุทธ พระอินทร์ พระราม พระนารายณ์ต่างๆ บนโลโก้ ซึ่งเรารู้สึกว่าการออกแบบของหน่วยงานรัฐในประเทศไทย ไม่เคยออกไปจากสิ่งที่อยู่สูงกว่าเขา หรือประเด็นล่าสุดอย่างโลโก้ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมที่เปิดกระทรวงใหม่ แล้วโลโก้ชั่วคราวเขาโมเดิร์นมาก มีความสมัยใหม่มาก เข้ากับชื่อกระทรวง แต่สุดท้าย ภายหลังเขาก็กลับไปใช้โลโก้แบบสามเศียร สามกษัตริย์ ซึ่งเรารู้สึกว่าการออกแบบเหล่านี้ มันมีเรื่องความเชื่อมากเกินไป มันเหมือนว่าประชาชนต้องไปกราบไหว้เขา เพื่อให้เขามาทำงานให้เรา เพราะเขาเอาความเชื่อชั้นสูงมาเป็น identity ขององค์กร”
เธอเล่าว่า ได้ทำการวิจัย หาข้อมูลเยอะ โดยการคัดเลือกโลโก้กระทรวงหลักๆ 20 กระทรวง ซึ่งชิ้นนี้ก็ถือเป็นงาน pre-thesis ด้วย ซึ่งด้านอาจารย์ที่ปรึกษาก็ไม่ได้มีปัญหา เพราะงานคือการวิเคราะห์การออกแบบของหน่วยงาน ที่ทำให้เห็นว่าการออกแบบ การเมือง และความเชื่อไม่เคยห่างหายกันไปเลยจากประเทศไทย
ถึงอย่างนั้น เมื่อรับรู้ว่า งานเธอคือหนึ่งในชิ้นงานที่ไม่ผ่าน และถูกขอให้เซ็นเซอร์ ความรู้สึกแรกคือ ความกลัว
“ตอนแรกเรากลัวนะ ทุกคนก็มีความกลัวเพราะเขาก็มีอำนาจ แต่พอเราไปคุยกับเพื่อน ได้ถามความคิดเห็นเพื่อนๆ คิดไปคิดมาเราก็มองว่า เขาก็อาจจะเป็นตัวแปรนึงในงานศึกษาวิจัยของเราก็ได้ว่า อย่างการออกแบบที่เราคิดว่ามันไม่สวย เราอาจจะเป็นฝั่งความข้างเดียว คนอีกฝั่งนึงที่เขารักความเป็นเอิงเอยอาจจะไม่ได้มองแบบเรา เราเลยคิดว่าการที่เขาจะเข้ามา ก็อาจจะเป็นฝั่งที่โต้กลับ เป็นหนึ่งในงานวิจัยของเราก็ได้ เป็นฟีดแบ็ก ถ้าเราคิดในแง่ดีในทางวิชาการ ตอนแรกจากที่กลัว ตอนนี้ก็คิดว่า ให้เขามาเจอหน้าเราก็ได้ แล้วคุยกันว่าตรงไหน ไม่ชอบอะไร
ซึ่งจริงๆ มีอันนึงที่เราคิดว่ามัน sensitive เพราะไปแตะสถาบันเบื้องสูง แต่เขาไม่ได้พูดถึงตรงนั้น เขาไปพูดถึงพานรัฐธรรมนูญ ซึ่งมันคือพานที่ใช้ไหว้ครูปกติเลย ก็เลยงง ด้านอาจารย์ที่ปรึกษาเขาก็บอกให้เราลองแก้ ลองเปลี่ยน เขาก็อยากให้เราจบๆ ไป เราก็ยอมทำให้เขา แต่สุดท้ายเราก็ไม่ได้เปลี่ยน และตัวงานเราก็ยังเป็นตัวงานเราเหมือนเดิม แต่เราก็ส่งไป เพราะตัดปัญหา”
เธอยังบอกว่า หลังจากทำงานชิ้นนี้มานาน เธอก็อยากให้งานของเธอได้เป็นส่วนหนึ่งในการจัดแสดง “เราอยากโชว์งานของเรา เพราะเราไม่ได้เสกขึ้นมา เราก็มีการคิด เสียเงิน ร้องไห้หมดน้ำตาเป็นลิตร กว่าจะถึงงานตรงนี้ได้”
เมื่อมหา’ลัย ไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยในการแสดงออก และนักศึกษารู้สึกไม่ปลอดภัย
งานถูกขอให้เซ็นเซอร์ ปรับเปลี่ยน คณะไม่ตอบนักศึกษา มหา’ลัยเพิกเฉยคำร้องขอ จากเหตุการณ์ทั้งหมด เป้ ในฐานะเด็ก ปี 4 คณะวิจิตรศิลป์ เขาบอกกับเราว่า เขาเสียใจ และเห็นชัดเจนจากเรื่องนี้ว่า มหา’ลัย ไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยในการแสดงออก
“เราเสียใจมากๆ เพราะเรามาเรียนมหา’ลัยนี้ เราค่อนข้างจะศรัทธาคุณภาพของมหาลัย เป็นมหาลัยอันดับต้นๆ ของประเทศ และมหา’ลัยเคลมเรื่องสิทธิความเท่าเทียมกัน เคารพในหลักวิชาการของมหาลัย แต่เหมือนเขาเขียนสิ่งสวยหรูเอาไว้ในวิสัยทัศน์ แต่สิ่งที่เขากระทำกับเรามันสวนทางกับสิ่งที่เขาบอก เพราะสิ่งที่เราพูด เราพูดด้วยเหตุผล ด้วยความจริง ไม่ได้ไปพูดด้วยความรุนแรงอะไรเลย เรามีหนังสือร้องเรียน เราทำทุกอย่างที่มหา’ลัยบอกต้องทำในการยื่นของใช้พื้นที่ เราพยายามไปพูดคุย แต่มันกลับกลายเป็นการเดินหนังสือกันไปมา โดยพนักงาน”
“เรารู้สึกว่ามหา’ลัย คือพื้นที่ปลอดภัย แต่ตอนนี้ มันทำให้เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยของนักศึกษาแล้ว นักศึกษาเรามาเรียนที่นี่ เราต้องการความรู้ ประสบการณ์ แล้วเราคือนักศึกษาศิลปะ การจัดแสดงงานมันคือที่สุดของศิลปิน ไม่ว่าหอศิลป์ไหนก็แล้วแต่ มันคือความภาคภูมิใจของนักศึกษาศิลปะ และศิลปินหลายๆ คน ซึ่งพอเขาทำอย่างนั้นกับเรา
มันทำให้เรารู้สึกว่าเขาดูถูกเรา ดูถูกวิชาการ ความรู้ มันเป็นเรื่องน่าเสียใจ เพราะวิชาการ เราก็เรียนทุกอย่างที่มหา’ลัยให้เราเรียน ได้รับการรับรองจากมหา’ลัย และในหลักสูตรก็พูดถึงเสรีภาพ สังคม มนุษย์ เหมือนเราเรียนมา เราไม่มีพื้นที่ในการใช้มันด้วยซ้ำ
มหา’ลัย ควรจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ให้เราใช้สิทธิ และเสียงนั้น แต่เรารู้สึกว่ามหา’ลัย ไม่ให้พื้นที่เราเลย เราเข้าใจว่า มหา’ลัยอาจจะมีอำนาจต่างๆ ที่เข้ามาแทรกแซง แต่เราคือนักศึกษา มหา’ลัย เกิดขึ้นเพราะให้คนเข้าเรียนรู้ แต่พื้นที่นี้ มันไม่ใช่การเรียนรู้ที่แท้จริง ถึงเราจะเรียนรู้ผิด หรือถูก เราก็ควรจะลองเรียนรู้ที่มหา’ลัยได้ แต่นั่นคือ มันไม่ได้เปิดโอกาสให้เราเรียนรู้เราเลย” เป้บอกถึงความผิดหวังของเขา
ทั้งเหตุการณ์นี้ ยังไม่ใช่เหตุการณ์ในครั้งแรกของคณะวิจิตรศิลป์ ที่อาจารย์พยายามเซ็นเซอร์ หรือจัดการกับผลงานศิลปะของนักศึกษา ซึ่งเป้ก็บอกกับเราว่า การบริหารของผู้บริหารคณะ ทำให้บรรยากาศ และความรู้สึกต่างๆ ในฐานะนักศึกษา ไม่สบายใจเต็มที่
“มันเป็นความฝันของเราในการได้ทำงานศิลปะ การออกแบบงานดีไซน์ ผมรู้สึกว่าทางสาขาวิชาเราเคลมอยู่แล้วว่ามีเสรีภาพ มีหลักสูตรการเรียนการสอนที่เป็นสากล เรารู้สึกว่าเราควรจะพูดในฐานะที่เท่าเทียมกันได้ ถ้าให้พูดปัญหาของคณะ สาขา มันยังมีถึงบรรยากาศในการเรียน ที่แม้แต่ตึกในการเรียน สาขาเราก็ยังเช่าคณะอยู่ ที่เราต้องออกมาร้องเรียน มาพูด เพราะเราจ่ายค่าเทอมที่มากกว่าสาขาอื่นๆ ในวิจิตรศิลป์ แต่เราได้รับการปฏิบัติที่ไม่ดีเลย เพราะก่อนวาระที่คณบดีชุดนี้มา รุ่นพี่เราได้ไปทัศนศึกษา ได้สวัสดิการของนักศึกษาต่างๆ ในการใช้หอศิลป์ เข้ามาใช้อาคารเรียนได้ 24 ชม. แต่ตอนนี้สวัสดิการต่างๆ น้อยลง คณะออกมาห้ามนู่นนี้ ทำให้รุ่นน้องรุ่นหลังๆ ถูกกดทับเรื่องสิทธิ ทำให้เราไม่สบายใจ ที่เราจะยังคงเป็นแบบนี้ต่อไป
สาขาเรา มีแล็บ อนิเมชั่น ซึ่งต้องเรนเดอร์งาน แต่เพื่อนเราประสบปัญหา ตอนที่เขาตัดไฟ เท่ากับว่าคอมพิวเตอร์ดับ ทุกอย่างเป็น 0 ถ้าเพื่อนส่งงานไม่ทันก็อาจจะ F และเป็นตัววิชาต่อเนื่อง กลายเป็นบรรยากาศตอนนี้ พวกเรากลัว เรากลัวว่าคณะจะทำอะไรกับเราอีก ซึ่งผมไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น ผมรู้สึกว่ามันควรเป็นพื้นที่ปลอดภัย คณะวิจิตรศิลป์เขาก็คือศิลปิน เราเองก็คือศิลปินคนนึง และเราเป็นนักศึกษา เขาก็ควรจะต้องอำนวยความสะดวกให้เรา ต้องป้อนสิ่งที่ดีให้กับเรา ซึ่งสิ่งที่เราได้รับมาจากเขา มันเหมือนการกลั่นแกล้งที่เราได้รับมาเรื่อยๆ”
นักศึกษาปี 4 รายนี้ ยังบอกเราว่า หากเรื่องการจัดนิทรรศการจบ ทางนักศึกษาจะทำการล่ารายชื่อ เพื่อถอดถอนคณบดี เพราะเรื่องนี้มันเกิดกับนักศึกษาวิจิตรศิลป์ทั้งหมดมานานแล้ว และที่ไม่ร้องเรียนไปทางมหา’ลัย เพราะมหา’ลัยก็เป็นคนแต่งตั้งคณบดีคนนี้ขึ้นมาเอง จึงกล่าวได้ว่า มหา’ลัยไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยของเราแล้ว เพราะไม่มีใครซัพพอร์ตนักศึกษาเลย
เรื่องแนวทางศิลปะที่แตกต่างกัน ก็เป็นอีกประเด็นที่เขาได้พูดคุยกับเรา โดยเขามองว่า ทางคณะ และมหา’ลัย มีการสนับสนุนศิลปะแบบหนึ่งเป็นพิเศษ แต่ถึงอย่างนั้น มหา’ลัยก็ควรเป็นพื้นที่ที่ให้ความหลากหลายอยู่ร่วมกันได้ และสุดท้ายเขาหวังว่า มหา’ลัย จะเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้นักศึกษาได้จริงๆ
“เขาให้ความสำคัญกับศิลปะล้านนา ความเป็นจารีต ประเพณี ซึ่งสายศิลปะที่สาขาสื่อเรียนมันไม่ใช่ เราเรียนเกี่ยวกับศิลปะที่วิพากษ์วิจารณ์งานสังคม บนพื้นฐานสังคม ซึ่งไม่ใช่ศิลปะต๊ะตอนยอน นี่แหละคือปัญหา เพราะเขาต้องการผลิตศิลปินที่มีความประณีตศิลป์ ผลิตศิลปินเพื่อผลิตซ้ำอำนาจ ซึ่งเราก็รู้อยู่ว่าคืออำนาจอะไรของสังคมไทย อาจจะเป็นลายกนก หรือศิลปะที่อวยชนชั้นนำกลุ่มนึงในสังคม เราเลยรู้สึกว่ามันเลยไม่ปลอดภัย เพราะเรารู้สึกว่า ถ้าเขาเคลมความเท่าเทียม พื้นที่แห่งเสรีภาพ เราไม่ได้บอกว่าคุณเป็นศิลปินจารีต หรือแบบนี้มันไม่ดี เราไม่ได้ล้ำเส้นเขา แต่เขาล้ำเส้นเรา และกดทับเราเข้ามาเรื่อยๆ เรารู้สึกว่าเขาไม่ได้ให้กึ่งกลางว่าแตกต่าง แต่อยู่ร่วมกันได้ ซึ่งนั่นควรเป็นภาพพื้นที่ของมหา’ลัยจริงๆ ที่ควรจะเป็น”
“ผมอยากได้คือพื้นที่ปลอดภัย ที่ทุกคนเท่าเทียมกันไม่ว่าคุณจะคิดเห็นยังไงก็แล้วแต่ จะซ้าย จะขวา หรือยังไง การที่เรามาพื้นฐานวิชาการ คือหลักแห่งความจริง คือ fact และการที่เราเอาความจริงมาคุยกัน มันคือความเท่าเทียมเล็กๆ ที่เกิดในมหา’ลัย ที่พึงทำให้เรารู้สึกว่าเราปลอดภัย เราไม่ได้ถูกข่มเหงโดยใคร ไม่ใช่แค่คณะวิจิตรศิลป์เอง คณะอื่นๆ ก็ตาม ที่ถ้าออกมาพูดในสิทธิของฉันที่ฉันมี โดยที่สิทธิของฉัน ไม่ได้ไปทำให้ใครเดือดร้อน มันเป็นผลประโยชน์ของเรา การออกมาพูดของเราไม่ต้องกลัวว่าจะมีชนชั้นนำ จะมีคณบดี หรืออธิการบดีมาแจ้งจับนักศึกษา นี่คือพื้นที่ปลอดภัยในมุมของผมเอง
ผมมองว่าการที่เราเคารพวิชาการ หรือความจริง เราพูดในสิทธิที่เรามี เราเรียกร้อง และมีคนรับฟัง ความแตกต่าง ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่ปลอดภัย แค่เขารับฟัง และคิดตาม ไม่ใช่ฟัง และคอยจะมาทำอะไรเรากลับ มันก็คือความปลอดภัยเล็กๆ แล้วที่มหา’ลัย ควรให้นักศึกษา
ตอนนี้เหมือนมหา’ลัย กำลังทำกับสินค้า ซึ่งก็คือความรู้ต่างๆ ที่ผลิต หรือได้รับการยืนยันจากมหาลัย ตอนนี้เหมือนทำให้สินค้าไม่มีคุณภาพ คือนักศึกษาหรือคนที่จะตัดสินใจเข้ามาเรียน ไม่กล้าซื้อสินค้านั้น เพราะไม่รู้ว่ามันมีคุณภาพจริงๆ หรือเปล่า เขาอาจจะกลัวว่า ถ้าเขาไปที่นี่ จะพูดเรื่องนี้ไม่ได้ หรือบางคนอาจจะมีความฝัน เป็นนายก เป็นคนขับเคลื่อนสังคม ซึ่งพื้นที่เล็กๆ ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาก็ได้ ก็คือมหา’ลัย ซึ่งตอนนี้ มหา’ลัยเชียงใหม่ หรือหลายๆ แห่งเอง ไม่ได้เป็นแบบนั้น”
งานจัดแสดงนิทรรศการ WHIPLASH : MADs Pre-degree Exhibition 2021 ของสาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ จะจัดขึ้นวันที่ 20-23 ตุลาคม 2564 ที่บริเวณ CMU Art Center
ติดตามรายละเอียดงานได้ที่เพจ Facebook : Whiplash Exhibition