เขาว่ากันว่า ‘ภาพหนึ่งภาพมีความหมายเท่าคำเป็นพันคำ’
ไม่ว่าจะเชื่อในคำนี้หรือไม่ ประวัติศาสตร์ก่อนการเข้ามาของกล้องถ่ายรูปนั้นหากจะมีรูปก็คงเป็นรูปที่เกิดจากการวาดโดยใครสักคนที่อยู่ในเหตุการณ์ แต่นอกจากนั้นก็มักถูกบันทึกผ่านข้อความในรูปแบบต่างๆ เป็นหลัก ไม่ว่าจะพงศาวดาร จดหมายเหตุ ศิลาจารึก ตำนาน กฎหมาย ฯลฯ
แต่แล้วถ้ามีอะไรสักอย่างที่แปลงคำเหล่านั้นให้กลายเป็นรูปภาพได้จะเป็นยังไง?
MidJourney เป็นระบบปัญญาประดิษฐ์ (A.I.) ที่สามารถสร้างรูปภาพผ่านการพิมพ์คำสั่งหรือในที่นี้เรียกว่า prompt แล้วมันจะนำคำเหล่านั้นไปหาภาพหรือคำที่เกี่ยวข้องมาเข้าสู่กระบวนการสร้างภาพใหม่ๆ จากคำเหล่านั้น ฉะนั้นถ้าเราเอาคำเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในหน้าหนังสือเรียนไปให้ MidJourney ลองดู ในสายตาของเอไอเหตุการณ์เหล่านั้นจะหน้าตาเป็นยังไงกันนะ?
/imagine prompt: Pho Khun Ram Khamhaeng creating Thai language
‘พ่อกูชื่อศรีอินทราทิตย์ แม่กูชื่อนางเสือง พี่กูชื่อบานเมือง กูมีพี่น้องท้องเดียวกันห้าคน’ ไม่ว่าจะตั้งใจเรียนประวัติศาสตร์ไทยในห้องเรียนมากน้อยขนาดไหน ประโยคข้างต้นน่าจะเป็นที่คุ้นเคยกัน เพราะนั่นคือประโยคแรกๆ ในโลกที่ถูกจารึกลงบนหินด้วยตัวอักษรที่เรียกว่า ‘ลายสือไท’ ตัวอักษรแรกที่วันหนึ่งจะวิวัฒนาการมาเป็นภาษาไทยที่เราใช้ทุกวันนี้ และผู้คิดค้นมันขึ้นมาตามประวัติศาสตร์สมัยรัชกาลที่ 4 ว่า คือพ่อขุนรามคำแหง
ศิลาจารึกหลักที่ 1 น่าจะเป็นหนึ่งในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทู่กกงขามากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย บางเสียงเชื่อว่ามันคือหลักฐานที่ถูกสร้างขึ้นมาในยุครัตนโกสินทร์ บ้างก็บอกว่าถูกสร้างขึ้นโดยพระยาลือไทยเพื่อเสริมภาพลักษณ์ของราชวงศ์พระร่วง บ้างก็เชื่อว่าเป็นของจริง บ้างก็พิสูจน์ผ่านวิธีการทางวิทยาศาสตร์ว่าไม่ได้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 แต่ในการพิสูจน์นั้นก็ไม่ได้บอกว่าสร้างขึ้นมาในสมัยพ่อขุนรามคำแหง
/imagine prompt: King Mangrai, King Ngam Mueng, King Ram Khamhaeng creating Chiang mai
อนุสาวรีย์ 3 กษัตริย์ที่พญามังราย พญางำเมือง และพญาร่วงจับมือร่วมสาบานกันนั้นเป็นตัวแทนสัญลักษณ์ของความร่วมมือโดยมหากษัตริย์ 3 พระองค์ในแดนเหนือและเป็นสัญลักษณ์ของการก่อร่างสร้างเมืองเชียงใหม่ แต่ในปัจจุบันก็ยังเป็นข้อถกเถียงว่า 3 กษัตริย์จาก 3 อาณาจักรร่วมกันสร้างเชียงใหม่จริงๆ หรือไม่
ในงานเสวนา ‘3 กษัตริย์ที่ไม่ได้สร้างล้านนา กับ 1 นางพญาที่ไม่เป็นรองใคร’ สมฤทธิ์ ลือชัย นักวิชาการด้านอุษาคเนย์ศึกษาพูดเกี่ยวกับความเชื่อดังกล่าวว่าในหลักฐานของเชียงแสนและเชียงรายไม่มีการพูดถึง 3 กษัตริย์ แต่พูดถึงเพียงพญามังรายเท่านั้น โดยในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุไว้นี่คือการผูกมิตรกันแล้วกลับไปยังเมืองของตัวเอง และหลักฐานโดยมากที่เกี่ยวข้องกับ 3 กษัตริย์นั้นเกิดขึ้นหลายร้อยปีหลังเหตุการณ์นั้นๆ จึงอาจถูกเติมแต่งเข้ามาเพิ่ม
/imagine prompt: King Naresuan riding Khan Kluay in the elephant duel
พระนเรศวรมหาราชน่าจะเป็นหนึ่งในพระมหากษัตริย์ไทยที่มีการถูกพูดถึงในสื่อหลากหลายรูปแบบมากที่สุด นอกจากในเรื่องราวชีวิตที่มีวีรกรรมมากมายแล้ว หนึ่งในวีรกรรมนั้นยังเป็นการต่อสู้ที่ติดเป็นภาพจำที่สุดในประวัติศาสตร์ของไทย นั่นคือสงครามยุทธหัตถีที่พระนเรศวรและพระมหาอุปราชามังกยอชวาต่อสู้บนหลังช้างในปี พ.ศ.2135 เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนสมรภูมินั้นคงเรียกได้ว่าดราม่ายิ่งหว่าหนังเรื่องใดๆ
แต่เช่นเดียวกันกับทุกอย่างในประวัติศาสตร์ การมองหาหลักฐานที่ขัดแย้งซึ่งกันและกันนั้นอาจนำไปสู่ข้อเท็จจริงได้มากกว่าการมองฝ่ายเดียว เทพ บุญตานนท์ ผู้ช่วยอาจารย์ คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เขียนในบทความของเขาบนเว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรมว่าใน พ.ศ.2375 บนพงศาวดารฉบับหอแก้วเล่าว่าพระมหาอุปราชาทรงสิ้นพระชนจากการถูกยิง ไม่ใช่การถูกพระแสงของ้าวฟันขาดสะพายแล่ง
ในบทความเดียวกันนั้นตั้งข้อสังเกตว่า ตั้งแต่การค้นพบการมีอยู่ของพระนเรศวรมหาราชและการโต้แย้งพงศาวดารฉบับหอแก้วนั้นเกิดขึ้นในสมัยรัชการที่ 6 ที่มีนโยบายชาตินิยมผ่านการยกย่องวีรบุรุษของชาติเพื่อให้เกิดการ ‘ปลุกจิตสำนึกให้คนไทยรักและหวงแหนชาติบ้านเกิดเมืองนอน’
/imagine prompt: Queen Suriyothai sacrificing herself in a battle on elephant
สำหรับบุคคลในประวัติศาสตร์ที่โดดเด่นขึ้นมาที่สุดใกล้ๆ กันกับพระนเรศวรจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากพระสุริโยทัย วีรสตรีอัครมเหสีในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ในพระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)ระบุว่าพระสุริโยทัยเสียสละชีวิตของตนในการต่อสู้กับกองทัพของพระเจ้าแปรเมื่อปี พ.ศ.2090
แต่ในขณะที่เหตุการณ์ระดับนี้ดูจะเป็นหมุดที่ใหญ่ในประวัติศาสตร์ทั้งของไทยและพม่า ในประวัติศาสตร์ของฝั่งพม่ากลับไม่มีการบันทึกชื่อของพระสุริโยทัยให้เราได้เห็นเลย นอกจากนั้นยังมีการเปิดเผยหลักฐาน โยธยา ยาสะเวง หรือ คำให้การชาวกรุงเก่า ที่เรียบเรียงจากฝั่งพม่าจากการให้ปากคำของเชลยศึกชาวอยุธยา ว่าผู้ที่เสียชีวิตในศึกกับพระเจ้าแปรนั้นคือมหาบรมดิลก พระราชธิดาของพระมหาจักรพรรดิต่างหาก
/imagine prompt: Bangrajan Villagers last stand with broken cannon
ใครจะไม่ชอบเรื่องราวของคนเสียเปรียบ? ชาวบ้านไม่กี่หยิบมือผู้สามารถต้านทานกองกำลังข้าศึกไว้ได้อย่างยาวนานก่อนจะถูกกองกำลังเสริมมหาศาลของฝั่งตรงข้ามตีป้อมแตกโดยไร้ความช่วยเหลือจากเมืองหลวง นั่นคือเรื่องที่เราคุ้นเคยที่สุดเมื่อพูดถึงหนึ่งในไม่กี่วีรชนไพร่ในประวัติศาสตร์ไทย ‘ชาวบ้านบางระจัน’
ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ‘ค่ายบ้านระจัน’ นั้นมีอยู่จริง แต่รายละเอียดของหลักฐานที่โผล่ขึ้นมานั้นมีเค้าโครงใกล้เคียงกัน ในจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี และคำให้การขุนหลวงหาวัดมีการให้ความถึงชื่อค่ายเพียงเท่านั้น ส่วนในพระราชพงศาวดารฉบับบริติชมิวเซียม พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) พระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์มีเค้าโครงว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างโดยคร่าว
และในเวอร์ชั่นที่บาหยัน อิ่มสำราย อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เรียกว่า ‘พิสดารกว่าเรื่องบางระจันในพระราชพงศาวดารทุกฉบับที่กล่าวมาแล้ว ทั้งในแง่เนื้อเรื่อง ตัวละคร และการใช้ภาษา’ คือในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ซึ่งมีการโครงเรื่องโดยละเอียดตั้งแต่มูลเหตุที่ทำให้ชาวบ้านลุกฮือ และมีการกล่าวถึงตัวละครที่อยู่ในค่ายโดยละเอียดทั้งในชื่อและบทบาทที่พวกเขาได้รับในค่าย ไปจนมุมมอง
/imagine prompt: King Taksin break the rice pot in Chanthaburi
‘ต่อยหม้อข้าวหม้อแกงให้จงสิ้น ในเพลากลางคืนวันนี้ ตีเอาเมืองจันทบูรให้ได้ ไปหาข้าวกินเช้าเอาในเมือง ถ้ามิได้ ก็ให้ตายเสียด้วยกันเถิด’ พระเจ้าตากสั่งก่อนจะเข้าตีเมืองจันทบุรีตามพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ โดยทำเพื่อสร้างความฮึกเหิมต่อกองทัพ และหลังจากการต่อสู้จบลงด้วยชัยชนะ โควตนี้จึงแปลเปลี่ยนจากคำพูดกลายเป็นตัวแทนเปรียบเทียบการต่อสู้แบบดับเครื่องชน
การต่อสู้ของพระเจ้าตากหลังการเสียกรุงนั้นเป็นหนึ่งในสิ่งที่หลักฐานทางประวัติศาสตร์เชื่อตรงกัน แต่สิ่งที่เห็นจะต่างกันออกไปคือการวางกรอบเล่าการต่อสู้เหล่านั้น โดยพงศาวดารฉบับข้างต้นมักเขียนมันออกมาในเชิงความกล้าหาญ แต่ในทางกลับกัน การวางกรอบภาพของการยกทัพไปที่จันทบุรีที่ถูกกล่าวถึงโดยพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาที่เขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 กลับเรียกการไปจันทบุรีว่า ‘ยกทัพหนี’ แทน
/imagine prompt: Lady Suranari overpowering and driving away invaders
ท้าวสุรนารีหรือที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายว่า ‘ย่าโม’ เป็นหนึ่งในวีรสตรีที่เป็นที่รู้จักที่สุดคนหนึ่งของไทยผ่านการมีอนุสาวรีย์ของย่าโมอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา โดยวีรกรรมที่ย่าโมสร้างคือการเป็นหัวหอกการปราบกบฏอนุวงศ์เจ้าเมืองเวียงจันทร์ที่ต้องการปลดแอกออกมาจากการปกครองของไทย
แต่ในขณะที่การมีอยู่ของคุณหญิงโมนั้นถูกยืนยันด้วยเอกสารใบลาน วีรกรรมของเธอถูกตั้งคำถามในวิทยานิพพนท์หัวข้อ ‘การเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี’ โดยสายพิณ แก้วงามประเสริฐ โดยตั้งข้อสังเกตว่าในขณะที่เหตุการณ์การปราบกบฏในปี พ.ศ.2369 นั้นมีอยู่จริง แต่ในหลักฐานไม่มีการกล่าวถึงท้าวสุรนารี และการสร้างอนุสาวรีย์ของย่าโมในปี พ.ศ.2477 นั้นทำขึ้นเพราะกบฏบวรเดชในปี พ.ศ.2475 เพื่อเสริมน้ำหนักของการ ‘จงรักภักดีต่อส่วนกลาง’
แล้วถ้าใครอยากรู้ว่า MidJourney จะวาดภาพประวัติศาสตร์อื่นๆ ยังไง ก็ลองตามไปเล่นดูได้ผ่านการดึง MidJourney bot เข้าห้อง Discord แล้วะพิมพ์คำสั่ง ‘/imagine prompt…’ กันได้เลย
อ้างอิงข้อมูลจาก