อย่างที่รู้กันว่า.. ปี ค.ศ.2021 นี้ เป็นปีที่ทั่วโลกต้องปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อก้าวผ่านวิกฤตโรคระบาด ในปี ค.ศ.2022 ที่กำลังจะถึง โลกก็จะยังต้องปรับตัวให้เข้ากับสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นตามมา ไม่ว่าจะเป็นผลจากวิกฤตในปีนี้ อย่างเช่นวิถีการทำงานและการท่องเที่ยวแบบใหม่ ไปจนถึงเทรนด์ที่กำลังจะเกิดขึ้นและอาจทำให้เจอกับสถานการณ์ที่ไม่เคยเจอมาก่อน อย่างการผงาดขึ้นของจีนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างรวดเร็ว
นี่คือ 10 เทรนด์ของโลกที่ The Economist บอกให้เราทุกคนคอยจับตามองในปีหน้า
ประชาธิปไตย vs เผด็จการ (Democracy vs Autocracy)
ปีหน้าจะมีการเลือกตั้งมิดเทอมของอเมริกา และการประชุมใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เราน่าจะได้เห็นความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญจากสองระบอบการเมืองจากสองขั้วมหาอำนาจของโลก ฝ่ายไหนจะสร้างความมั่นคง การเติบโต และนวัตกรรมได้มากกว่ากัน? ทั้งในด้านการค้าขาย การกำกับดูแลด้านเทคโนโลยี การพัฒนาวัคซีน ไปจนถึงเรื่องของสถานีอวกาศ
โรคระบาดใหญ่ที่กลายเป็นโรคประจำถิ่น (Pandemic to Endemic)
ในปีหน้า เราจะได้พบกับยาต้านไวรัสชนิดใหม่ การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันที่พัฒนาขึ้น และวัคซีนอื่นๆ ที่กำลังพัฒนาตามมา สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนในประเทศที่พัฒนาแล้ว ไวรัสจะไม่เป็นอันตรายถึงชีวิตอีกต่อไป แต่มันจะยังคงก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงในประเทศกำลังพัฒนา เว้นแต่จะสามารถเพิ่มวัคซีนได้ และ COVID-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นอีกโรคหนึ่งที่สร้างความทุกข์แก่คนจน แต่ไม่ใช่คนรวย
เงินเฟ้อ ราคาของขึ้น (Inflation)
การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานและความต้องการพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้ราคาของทุกอย่างสูงขึ้นตามไปด้วย แม้ธนาคารกลางจะบอกว่าเป็นเรื่องชั่วคราว แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เชื่อแบบนั้น มีการคาดเดาว่าสหราชอาณาจักรมีความเสี่ยงเป็นพิเศษที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจซบเซา เนื่องจากการขาดแคลนแรงงานหลัง Brexit และการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติที่มีราคาแพง
อนาคตรูปแบบการทำงาน ทั้ง Hybrid Work และนโยบายต่างๆ (Future of Work)
หลายคนเห็นตรงกันว่า การทำงานในอนาคตจะเป็นรูปแบบไฮบริด และผู้คนจะทำงานจากที่บ้านมากขึ้น แต่ก็ยังมีประเด็นถกเถียงกันในรายละเอียดหลายอย่าง เช่นควรทำงานกี่วัน วันไหนบ้าง มันจะยุติธรรมทั้งกับพนักงานและธุรกิจหรือไม่ รวมถึงเรื่องของข้อตกลงด้านภาษี วิธีการวัดและประเมินพนักงานที่ทำงานจากทางไกลด้วย
การโต้กลับของกระแสความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี (New Techlash)
หน่วยงานกำกับดูแลในอเมริกาและยุโรปพยายามที่จะควบคุมยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีมาหลายปีแล้ว แต่ยังไม่เห็นความคืบหน้าอย่างชัดเจนเท่าไหร่นัก ขณะที่ตอนนี้จีนกลับลงมือจัดการกับบริษัทเทคโนโลยีในประเทศด้วยการปราบปรามอย่างเด็ดขาด พร้อมกันนั้น ประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง ก็ต้องการผลักให้ทิศทางด้านเทคโนโลยีของประเทศ มุ่งเน้นไปที่เทคโนโลยีขั้นสูงอย่างการสร้างความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ ไม่ใช่ด้านการพัฒนาเกมและช็อปปิ้งออนไลน์ แต่ก็ยังเป็นที่สงสัยว่ากลยุทธ์นี้จะส่งเสริมนวัตกรรมหรือยับยั้งพลวัตของอุตสาหกรรมจีนกันแน่
คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency)
Cryptocurrency กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด ขณะเดียวกันก็จะถูกควบคุมโดยหน่วยงานกำกับดูแลอย่างเข้มงวดเช่นเดียวกับเทคโนโลยีอื่นๆ ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ บรรดาธนาคารเองก็กำลังพยายามที่จะเปิดตัวสกุลเงินดิจิทัลของตนเองเพื่อรวมศูนย์อีกครั้ง ดังนั้นเราน่าจะได้เห็นการแข่งขันอย่างเข้มข้นขึ้นจาก 3 ฝ่ายหลักสำหรับอนาคตในวงการการเงิน นั่นก็คือกลุ่ม crypto-blockchain-DeFi บริษัทเทคโนโลยีเดิมๆ ที่พยายามจะเข้าสู่วงการ และบรรดาธนาคารกลาง
ปัญหาสภาพอากาศที่รุนแรง (Climate Crunch)
แม้ว่าไฟป่า คลื่นความร้อน และภัยน้ำท่วมจะเกิดบ่อยขึ้นในหลายๆ ที่ทั่วโลก แต่ยังขาดความเร่งด่วนอย่างเห็นได้ชัดเมื่อพูดถึงนโยบายสำหรับการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยิ่งไปกว่านั้น การลดการปล่อยคาร์บอนยังต้องการความร่วมมือระหว่างชาติตะวันตกและจีน ซึ่งดูจะเป็นไปได้ยากท่ามกลางการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้ปัญหาสภาพอากาศจะยิ่งรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม
ปัญหาธุรกิจท่องเที่ยว (Travel Trouble)
เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวเมื่อผู้คนเริ่มออกมาใช้ชีวิตอีกครั้ง แต่บางประเทศที่ยังยึดนโยบายการลดตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 ให้เหลือศูนย์ อย่างเช่นออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ อาจต้องเผชิญกับความยากลำบากในการจัดการการเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกที่ไวรัสชนิดนี้กลายเป็นโรคประจำถิ่น ในขณะเดียวกัน ครึ่งหนึ่งของการเดินทางเพื่อธุรกิจก็หายไปอย่างถาวร นั่นอาจจะเป็นสิ่งที่ดีสำหรับโลก แต่ไม่ดีสำหรับผู้ประกอบการที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวอย่างแน่นอน
การแข่งขันของธุรกิจเกี่ยวกับอวกาศ (Space)
ปี ค.ศ.2022 นี้จะเป็นปีแรกที่มีผู้คนจ่ายเงินให้กับบริษัทท่องเที่ยวอวกาศเพื่อเดินทางไปอวกาศมากขึ้น ทำให้มีการแข่งขันระหว่างบริษัทเหล่านี้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ส่วนจีนก็กำลังจะสร้างสถานีอวกาศใหม่เสร็จ ในขณะที่ผู้ผลิตภาพยนตร์กำลังแข่งขันกันสร้างภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับอวกาศเช่นกัน นาซ่าเองก็กำลังมีภารกิจพุ่งชนกลุ่มดาวเคราะห์น้อยเหมือนพล็อตภาพยนตร์ฮอลลีวูดยังไงยังงั้น
การเมืองในโลกฟุตบอล (Political Football)
โอลิมปิกฤดูหนาวที่กรุงปักกิ่งและฟุตบอลโลกในกาตาร์ น่าจะเป็นเครื่องเตือนใจให้ชาวโลกได้ว่า กีฬาอาจจะนำโลกมารวมกันได้อีกครั้ง ขณะเดียวกัน ก็อาจจะกลายเป็นสัญลักษณ์ของการแข่งขันทางการเมืองก็ได้เมื่อเกมจบลง เป็นไปได้ว่าอาจมีการประท้วงที่มุ่งเป้าไปที่ทั้งสองประเทศเจ้าภาพ
อ้างอิงข้อมูลจาก