โลกจะเป็นแบบไหนในอีก 10 ปีข้างหน้า? สถานการณ์หลายอย่างไม่ว่าจะมลพิษในอากาศ โลกร้อน เศรษฐกิจถดถอย หรือความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นไม่รู้จักจบสิ้น ทำให้หลายคนไม่อาจจินตนาการถึงอนาคต หรือแม้กระทั่งหมดหวังกับโลกข้างหน้า
แต่ในงาน ‘Global Future Councils 2019’ เวทีระดมสมองของ World Economic Forum ที่จัดขึ้นเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา บรรดาผู้เชี่ยวชาญจากทุกสาขาความรู้และวิชาชีพ (หรือเรียกว่ารวมตัวท็อปทั่วโลก) ก็ยังพูดถึงอนาคตที่ทำให้เราพอจะมีความหวังอยู่ พวกเขาได้ช่วยกันคิดช่วยกันเสนอความเห็น ว่าโลกกำลังจะเจออะไรอยู่ตอนนี้ และจะเจออะไรได้บ้างในอนาคต รวมถึงเราควรทำและไม่ทำอะไร เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องหยิบเอาความรู้และความคิดเห็นเหล่านั้นไปใช้ต่อ
แม้พวกเขาจะชวนฝันถึงโลกที่ดีกว่าเดิมในอนาคตในปี ค.ศ.2030 แต่ทุกอย่างก็เป็นการคาดการณ์ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า “ถ้าเราทุกคนกำลังทำสิ่งที่ควรทำกันอยู่” เท่านั้น (..if we get things right)
1. CO-topia : Ida Auken สมาชิกรัฐสภาของเดนมาร์กมองว่าเรามีโอกาสเอาชนะภัย climate change ได้ และถ้าเราทำได้แบบที่สัญญาต่อกันทั้งโลก ในปี ค.ศ.2030 อัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกจะลดลงอย่างมาก อากาศที่เราหายใจเข้าไปจะสะอาดขึ้น ธรรมชาติจะมีโอกาสฟื้นตัว และอย่างน้อย เราทุกคนน่าจะมีความสุขกันมากกว่านี้
ขณะที่ Chen Wei Nee ประธานด้านกลยุทธ์จาก Sustainable Energy Development Authority ของมาเลเซียบอกว่า ถ้าทุกประเทศทั่วโลกสามารถดำเนินการลดคาร์บอนได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ปริมาณความเข้มข้นของคาร์บอนทั่วโลก (carbon concentration) จะลดลงจาก 407 ppm เหลือ 350 ppm ในปี ค.ศ.2030 ถึงตอนนั้น พลังงานส่วนใหญ่ที่ใช้กันก็จะเป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งครึ่งหนึ่งก็น่าจะมาจากแหล่งพลังงานที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้
แหล่งพลังงานจะมีความหลากหลายมากขึ้น ส่งผลให้โรงงานไฟฟ้าจะไม่ได้เป็นของส่วนกลางหรือรัฐเพียงผู้เดียว แต่จะกระจายโอกาสการถือครองให้คนที่มีความสามารถดำเนินธุรกิจกับแหล่งพลังงานเหล่านั้น แถมยังคาดการณ์ว่าการแจกจ่ายพลังงานจะดำเนินการด้วยระบบดิจิทัล ซึ่งทำให้มีโอกาสเกิด sharing economy ขึ้น อย่างเช่นเราสามารถขายพลังงานที่เหลือใช้ให้เพื่อนข้างบ้าน หรือหารค่าพลังงานไฟฟ้าสำหรับการเดินทางกันได้ด้วย
2. Violent Crime in Half : Robert Muggah ผู้อำนวยการ Igarapé Institute จากบราซิลบอกว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นบนโลกตอนนี้ มีโอกาสลดลงเหลือแค่ครึ่งเดียวในอีก 10 ปีข้างหน้า อย่างแรกเลยคือเราต้องเข้าใจความรุนแรงให้ถูกที่ถูกเวลาเสียก่อน เพราะตอนนี้คนยังเข้าใจกันผิดว่าพื้นที่สงครามทำให้มีผู้คนที่เสียชีวิตจากความรุนแรงมากที่สุด แต่ความจริงแล้ว ข้อมูลจาก UN Office for Drugs and Crime บอกว่ามีผู้คนที่เสียชีวิตจากความรุนแรงนอกพื้นที่สงครามมากว่าถึงห้าเท่า ซึ่ง Robert ไม่ได้หมายความว่าเหตุรุนแรงในพื้นที่สงครามนั้นไม่สำคัญ แต่การกำกับดูแลอย่างจริงจังเกี่ยวกับความรุนแรงนอกพื้นที่สงคราม รวมถึงการค้นหาสาเหตุเพื่อป้องกันและแก้ไข จะช่วยให้ลดเหตุรุนแรงและผู้เสียชีวิตได้ อย่างที่มีงานวิจัยเคยคาดการณ์ไว้ว่าถ้าเข้าใจความรุนแรงให้ถูกที่ถูกเวลา เราจะสามารถต่อชีวิตผู้คนได้ถึง 12,000 ชีวิตต่อปีในสหรัฐฯ และอีก 365,000 ชีวิตต่อปีในลาตินอเมริกา
3. Water from the Moon : Takeshi Hakamada ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ iSpace Inc. คาดการณ์ว่า ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอวกาศจะทำให้เราสามารถสกัดหรือได้มาซึ่งทรัพยากรจากในอวกาศได้ อย่างเช่นน้ำจากดวงจันทร์ ที่สามารถนำมาดื่มหรือปลูกพืชผักในระหว่างดำเนินภารกิจนอกโลกได้ แถมสารประกอบไฮโดรเจนและออกซิเจน (H2O) ยังสามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ด้วย ทำให้นอกจากจะช่วยให้การดำรงชีวิตระหว่างปฏิบัติภารกิจของมนุษย์อวกาศสะดวกขึ้น ยังมีประโยชน์ต่อสิ่งก่อสร้างบนอวกาศอย่างดาวเทียม ที่สร้างประโยชน์ให้มนุษย์บนโลกอีกต่อด้วย อย่างไรก็ตาม Takeshi ย้ำว่าโลกอนาคตแบบนี้ ต้องอาศัยการมีส่วนร่วม และการตกลงยินยอมจากทั้งระดับรัฐบาลและภาคธุรกิจของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ในการถือครองและใช้งานทรัพยากรในอวกาศ ภายใต้การคำนึงถึงความยั่งยืน และความสงบสุขของมนุษยชาติเป็นหลัก
ขณะที่ Daniela Genta จาก Airbus Defence and Space ก็มองเห็นโอกาสในการนำเทคโนโลยีอวกาศมาผนวกกับความสามารถที่ก้าวหน้าของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะสามารถช่วยวางแผนแก้ปัญหาต่างๆ ทั่วโลกได้ อย่างเช่นการสูญเสียป่า การรั่วไหลของน้ำมัน การก่อการร้ายข้ามแดน หรือการอพยพย้ายถิ่นฐาน รวมถึงเป็นข้อมูลที่มีค่าสำหรับการวางแผนระบบเศรษฐกิจร่วมกันทั่วโลก แต่ก่อนจะใช้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงข้อมูลดาวเทียมและปัญญาประดิษฐ์ร่วมกันทั้งโลกนั้น เขามองว่าต้องมีมาตรการและมาตรฐานในการกำกับดูแลการใช้งาน AI และ big data ที่เข้มแข็ง การคุ้มครองความปลอดภัยของข้อมูลและความเป็นส่วนตัวที่เหมาะสม รวมถึงความโปร่งใสและการตรวจสอบ AI ที่แข็งแรงเสียก่อน
4. No More Preventable Suffering : Jenniffer Maroa จาก Department of Global Health, Washington University มองว่าในอนาคต เราจะไม่เจ็บปวดกันแบบไม่จำเป็นอีกต่อไป โดยเฉพาะความเจ็บปวดจากการเจ็บป่วย เพราะความสามารถของเทคโนโลยีอย่างบล็อกเชน IoT หรือปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะช่วยให้การเข้าถึงการรักษานั้นง่ายขึ้นและเป็นไปได้มากขึ้น แม้กระทั่งในประเทศที่กำลังพัฒนา ยกตัวอย่างเช่นการพัฒนาอัลกอริธึมที่สามารถคำนวณความสัมพันธ์ระหว่างผลการรักษาของยากับลักษณะทางพันธุกรรมและปัจจัยแวดล้อม เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาและลดผลข้างเคียงของยาได้ หรือการใช้บล็อกเชนเพื่อให้ทุกคนใช้ข้อมูลเปิด (open data) ในการพัฒนางานวิจัย อย่างไรก็ตาม โลกที่ความเจ็บปวดลดน้อยลงจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อเราสามารถลดค่าใช้จ่ายในการนำเทคโนโลยีเหล่านี้ไปใช้ พร้อมกับการเพิ่มโอกาสให้ผู้คนในประเทศกำลังพัฒนา ได้เข้าถึงการบริการทางสาธารณสุขอย่างทั่วถึงกัน
5. New Capitalism : Sonja Haut จาก Novartis มองว่าระบบเศรษฐกิจในปี ค.ศ.2030 จะเป็นระบบที่คำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากขึ้น การประเมินความสามารถหรือความสำเร็จขององค์กรจะขึ้นอยู่กับผลกระทบต่อผู้คนและสังคมในภาพใหญ่ (social impact) ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนในรูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้น โดยจะมุ่งเป้าไปที่ปัญหาระดับสากล อย่างเช่นเรื่องของความยากจนและสิ่งแวดล้อม เพื่อหาทางแก้ปัญหาเหล่านั้นร่วมกัน และเมื่อภาคธุรกิจเกี่ยวโยงถึงสังคมมากขึ้น ปัญหาแรงงานหรือคอร์รัปชั่นก็มีแนวโน้มจะลดลง และเมื่อการประเมินความสำเร็จของธุรกิจขึ้นอยู่กับผลกระทบทางสังคม ก็ส่งผลต่อไปยังผู้บริโภคและนักลงทุน ในการประเมินความน่าสนใจของธุรกิจนั้นๆ ว่าแต่ละเม็ดเงินที่ได้มา เอื้อประโยชน์กับสังคม ประชากรโลก สิ่งแวดล้อม หรือส่งเสริมความยั่งยืนแค่ไหน (SDGs)
6. System Leadership : ความท้าทายที่เกิดขึ้นบนโลกตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นมลพิษในอากาศหรือการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยี ทำลายขอบเขตของพรมแดนและสาขาวิชาชีพไปเรียบร้อยแล้ว เพราะไม่ว่าคุณจะอยู่ทวีปไหนบนโลก หรือเชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่งเป็นพิเศษ คุณจำเป็นที่จะต้องทำงานร่วมกับคนที่อยู่คนละที่กับคุณ รู้คนละเรื่องกับคุณเพื่อเผชิญหน้ากับความท้าทายเหล่านั้น
Lee Howell กรรมการผู้จัดการ World Economic Forum จึงมองว่าลักษณะผู้นำของโลกอนาคต จะแตกต่างไปจากผู้นำแบบที่เราเห็นกันทุกวันนี้ คือจะมีลักษณะเป็น ‘system leader’ มากขึ้น คือยังคงมีวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นเหมือนกัน มีทักษะการบริหารจัดการที่ดี แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องมีความสามารถในการจัดการและใช้งานความสามารถที่หลากหลายของคน มีความเข้าใจเบื้องต้นในทุกศาสตร์และศิลป์ พร้อมกับการต้องอ่อนน้อม เป็นผู้ฟังที่ดี รวมถึงมีความสามารถในการจัดการมุมมองและความต้องการที่หลากหลายของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่าย เพราะโลกของการเชื่อมต่อทำให้ทุกคนเข้าถึงกันหรือมีโอกาสรวมตัวกันมากขึ้นก็จริง แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้โครงสร้างสังคมและระบบต่างๆ ซับซ้อนมากขึ้นด้วย คนเป็นผู้นำจึงต้องทำหน้าที่เหมือนเป็นผู้ผลักดัน ให้โอกาสทุกคน มากกว่าที่จะโดดเด่นอยู่เพียงคนเดียว
ลองดูการคาดการณ์อนาคตแบบอื่นๆ จาก Global Future Councils 2019 เพิ่มเติมได้ที่ www.weforum.org