ตัวเลขผู้เสียชีวิตรายวันจาก COVID-19 ในไทย เตะเข้าสู่เลขสองหลักไปแล้ว ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยังไม่มีวี่แววว่าจะคลี่คลายลงได้ แถมยังมีข้อสังเกตจากข้อมูลเบื้องต้นของผู้เสียชีวิตในการระบาดระลอกนี้ ที่มีอายุน้อยลงและมีอาการทรุดอย่างรวดเร็วด้วย
ยอดผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 รายวันในไทย เริ่มเข้าสู่เลขสองหลักครั้งแรก เมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา ด้วยจำนวนผู้เสียชีวิตถึง 11 คน และในวันนี้ (27 เมษายน) ที่มีผู้เสียชีวิตถึง 15 คน ทำให้อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วย COVID-19 ในไทย ขึ้นมาเป็น 0.27% แล้ว
เราลองไปสำรวจข้อมูลของผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 ล่าสุด 30 ราย ตามแถลงการณ์ของ ศบค. ซึ่งเป็นข้อมูลตั้งแต่วันที่ 25-27 เมษายน เพื่อดูว่า ระยะเวลานับตั้งแต่ที่ผู้ป่วยได้รับทราบผลว่าติดเชื้อ ไปจนถึงวันที่เสียชีวิตนั้น นับเป็นกี่วัน และมีค่าเฉลี่ยเท่าไหร่
จากข้อมูลนี้ พบว่า ระยะเวลาที่สั้นที่สุดนับตั้งแต่ผู้ป่วยได้รับแจ้งว่าติดเชื้อ ถึงวันที่เสียชีวิต คือ 1 วัน หรือก็คือ ได้รับแจ้งวันนั้น และเสียชีวิตในวันเดียวกัน และระยะเวลาที่นานที่สุด คือ 16 วัน ของผู้ป่วยรายหนึ่งที่ได้รับแจ้งตั้งแต่ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของจำนวนวันที่ได้รับแจ้ง ถึงวันที่เสียชีวิตนั้น อยู่ที่ประมาณ 4 วัน
ยิ่งกว่านั้น จากแถลงการณ์จากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ยังระบุว่า ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ที่พบในช่วงหลังมากนี้เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ตรวจพบเชื้อระหว่างกักตัว อาการทรุดอย่างรวดเร็ว แม้จะเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง ทั้งยังมีอายุน้อยลง
ถึงอย่างนั้น ข้อมูลที่ไม่ปรากฏในแถลงการณ์จาก ศบค.ในช่วงหลังๆ ที่ผ่านมา คือวันที่ผู้ป่วยแต่ละรายได้รับเตียงเพื่อรักษาตัวในโรงพยาบาล ซึ่งจากหลายๆ กรณีของผู้เสียชีวิตที่พบเห็นตามโซเชียลจะพบว่า บางรายถึงมือแพทย์ช้าเกินไป อย่างกรณีของกุลทรัพย์ วัฒนผล อดีตนักกีฬาอีสปอร์ต ที่พยายามติดต่อหาโรงพยาบาลเพื่อรักษาตัวอยู่หลายวัน และเสียชีวิตในอีก 2 วัน หลังได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
และกรณีของ ‘อาม่า’ 3 คน ที่ได้รับการยืนยันแล้วว่าเป็นผู้ติดเชื้อ และอยู่ระหว่างรอรถพยาบาลมารับตัวไปรักษา แต่สุดท้ายหญิงชราวัย 84 ปี ผู้เป็นพี่สาวคนโต ก็เสียชีวิตลงภายในบ้านพัก โดยมีน้องสาววัย 75 และ 70 ปีนั่งอยู่ข้างๆ พลางเฝ้ารอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์ สร้างความสะเทือนใจ และทำให้เกิดคำถามต่อมาตรการและการรับมือของระบบสาธารณสุขอย่างหนัก
แต่ในวันที่ 27 เมษายนนี้ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. กล่าวถึงจำนวนผู้ป่วย COVID-19 ติดค้างรอเตียงที่บ้านว่า เมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมานี้ สามารถพาผู้ป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาลได้ 1,182 ราย และในวันที่ 26 เมษายน ยังเหลือผู้ป่วยที่ต้องรอเตียงอีก 201 ราย ด้วยความร่วมมือจากสายด่วน 1668 ระบบโรงเรียนแพทย์ กทม. และโรงพยาบาลเอกชน
การเข้าถึงเตียงและได้รับการรักษา เป็นประเด็นสำคัญอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะยิ่งผู้ป่วยถึงมือแพทย์เร็วเท่าไหร่ โอกาสในการรอดชีวิตของผู้ป่วยโรค COVID-19 ก็ยิ่งเพิ่มสูงขึ้นเท่านั้น
อ้างอิงข้อมูลจาก
แถลงการณ์จากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันที่ 25-27 เมษายน พ.ศ.2564