อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ – สโลแกนที่ได้ยินมานานจนต้องถามกลับว่า แล้วจะให้อยู่บ้านไปถึงเมื่อไหร่ อยู่เฉยๆ แล้วการระบาดจะดีขึ้นจริงหรือ?
วันนี้ (17 สิงหาคม) นับเป็นวันที่ 37 ของการประกาศล็อกดาวน์ กทม.และพื้นที่ปริมณฑลแล้ว หลังมียอดผู้ติดเชื้อรายวันขยับเข้าใกล้หลักหมื่น (ในตอนนั้น) โดยมาตรการนี้ครอบคลุมตั้งแต่การจำกัดการเดินทาง การออกนอกเคหสถาน กำหนดเวลาการเปิด-ปิดร้านค้า กำหนดเวลาเปิด-ปิดบริการของระบบขนส่งสาธารณะ การทำงานที่บ้าน การปิดสถานที่ต่างๆ
แล้วที่ผ่านมาตัวเลขของการติดเชื้อเป็นอย่างไร ทำไมล็อกดาวน์แล้ว แต่สถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้น ? The MATTER ขอพาทุกคนมาดูสิ่งที่เกิดขึ้น หลังการประกาศมาตรการล็อกดาวน์กรุงเทพฯ และพื้นที่ปริมณฑลกัน
มีผู้ติดเชื้อรายวันเท่าไหร่?
เราลองย้อนไปดูตัวเลขผู้ป่วยรายวันในแต่ละสัปดาห์เพื่อให้เห็นถึงยอดผู้ติดเชื้อช่วงเวลาหลังจากประกาศล็อกดาวน์มาจนถึงปัจจุบัน จะพบว่า ไทยมีผู้ติดเชื้อสูงขึ้นเรื่อยๆ จากหลักพันข้ามมาเป็นหลักหมื่น และตอนนี้ก็อยู่ในช่วงที่พบผู้ติดเชื้อรายวัน 20,000 กว่าราย
คำถามสำคัญก็คือ ยอดการตรวจในแต่ละวันนั้นเป็นเท่าไหร่กันแน่? นี่คือข้อมูลที่เรายังไม่ทราบแน่ชัด แต่ก็มีข้อมูลคร่าวๆ ว่ายอดการตรวจอยู่ที่หลักหมื่นกว่ารายต่อวันเช่นกัน ซึ่ง นพ.บวรศม ลีระพันธ์ จากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี หนึ่งในทีมพัฒนาโมเดล ‘แบบจำลองสถานการณ์เพื่อพิจารณาแนวโน้มการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยระลอกที่สาม ภายหลังการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ เดือนกรกฎาคม 2564’ เคยให้สัมภาษณ์กับ The MATTER ว่า
“ผมไม่แน่ใจว่า วิธีการคุมโรคแบบแทงกั๊ก มันจะมีประโยชน์อะไร กลับเห็นโอกาสพัฒนาโรคเยอะกว่าเดิมด้วยซ้ำ โดยเฉพาะการตรวจที่น้อยมากนี่ไม่รู้จะแก้ตัวอย่างไร ตรวจ ATK เพิ่มขึ้น แต่กลายเป็นว่าไปลด PCR ก็ตลกร้าย มันไม่มีประเทศไหนในโลกนะที่ตรวจประมาณ 50,000 คนแล้ว ติดเชื้อ 20,000 คน คิดดูที่ไหนในโลกมัน Positive 40% น่ากังวลมาก”
อีกทั้งจากรายงานของ ศบค. ประจำวันที่ 17 สิงหาคม (ข้อมูลวันที่ 20 กรกฎาคม – 16 สิงหาคม) ระบุว่า การตรวจเชิงรุกด้วย ATKในพื้นที่กรุงเทพฯ พบผู้ที่มีผลเป็นบวก 11.68%
แต่ยอดผู้ป่วยจากการตรวจแบบ ATK ก็ยังไม่ถูกนับรวมเข้ามาในยอดผู้ติดเชื้อ เพราะกรมควบคุมโรคระบุว่า ต้องเป็นผู้ที่ผ่านการตรวจแบบ RT-PCR แล้วมีผลเป็นบวกเท่านั้น จึงจะนับเข้าในจำนวนผู้ป่วย นั่นแปลว่า คนที่มีผลตรวจ ATK เป็นบวกแล้ว ต้องผ่านการตรวจซ้ำอีกครั้งด้วยแล็บทดลองจึงจะถูกนับรวมได้
ปัญหาคือ การตรวจแบบ RT-PCR ยังไม่ครอบคลุม ยิ่งกว่านั้น ATK ที่สามารถตรวจเองที่บ้านได้ ประชาชนก็ยังต้องเสียค่าใช้จ่ายกันเอง กลายเป็นคำถามว่า เมื่อการเข้าถึงการตรวจก็ยังไม่ครอบคลุมประชาชนกันเสียที ทำให้ตอนนี้ล็อกดาวน์กันมามาเดือนกว่าแล้ว แต่ก็เป็นการขังคนอยู่ในบ้านเท่านั้นหรือเปล่า?
นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมว่า การล็อกดาวน์นี้ ถ้าจะทำ ‘ต้อง’ ตรวจทุกคนให้แน่ใจก่อน ไม่เช่นนั้นจะเป็น ‘บับเบิ้ล’ เอาคนติดเชื้อเข้าไปรวมกับคนอื่นในบ้าน ในชุมชนแออัด และซีลต่อจนติดหมด และปล่อยออกมาใหม่
ดังนั้นแล้ว หากการติดเชื้อลงมาอยู่ในระดับครัวเรือน การเร่งตรวจให้ครอบคลุม ให้คนเข้าถึงการตรวจอย่างทั่วถึงและฟรีนั้น จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นด้วย ไม่ใช่เพียงการปิดทุกอย่างให้คนอยู่แต่บ้านเท่านั้น
เสียชีวิตรายวันเท่าไหร่?
สำหรับยอดผู้เสียชีวิต นับตั้งแต่มีประกาศให้ล็อกดาวน์นั้น จะเห็นว่ายอดผู้เสียชีวิตยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากหลักสิบมาเป็นหลักร้อย และกลายมาเป็นผู้เสียชีวิต 200 กว่ารายต่อวัน แน่นอนว่า ตัวเลขเหล่านี้ไม่ใช่เพียงสถิติที่ไร้ชื่อเสียงเรียงนาม แต่มีชีวิตและเป็นบุคคลสำคัญในชีวิตของใครหลายคน
เมื่อผู้ติดเชื้อเยอะ พื้นที่ในสถานพยาบาลก็เนืองแน่นขึ้น จนล้นทะลักและไม่สามารถรับผู้ป่วยเพิ่มได้ กลายเป็นว่าหลายคนต้องนอนความตายอยู่ที่บ้าน และจากไปในที่สุด ยิ่งกว่านั้น ยังมีอีกหลายกรณีที่มาตรวจพบหลังเสียชีวิตไปแล้วว่า ติดเชื้อโคโรนาไวรัสด้วย แต่ก็ไม่ได้รับการรักษา และเสียชีวิตไป
ประเด็นเรื่องผู้เสียชีวิตคาบ้านนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยกล่าวว่า รัฐบาลไม่อยากให้มีคนเสียชีวิต ถ้าทำตามมาตรการทุกอย่าง อย่างน้อยก็ป้องกันตัวเองและครอบครัว คนที่ออกไปนอกบ้านต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบถ้วนแล้ว ระบบต้องปรับเพิ่มเติม มาตรการเดิมต้องปรับปรุงในเรื่องการรักษา เช่น นำชุดตรวจเร็ว ATK เข้ามาใช้ ไม่ให้เกิดความแออัดในระบบรักษาพยาบาล
แต่ประชาชนก็อยู่บ้านแล้ว ทำตามมาตรการกันแล้ว ถึงอย่างนั้น สิ่งที่ประชาชนไม่ได้จากรัฐบาลคือการแก้ปัญหาให้ประชาชนเข้าถึงการป้องกันโรคและระบบสุขภาพที่สามารถรองรับผู้ป่วยได้
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท เคยให้สัมภาษณ์กับเราว่า โครงสร้างพื้นฐานในการดูแลประชาชนเรื่องสุขภาพของกรุงเทพฯ ยังต้องการการระดมทุน การพัฒนาอย่างจริงจัง การเพิ่มบุคลากรอีกชุดใหญ่
“ความเป็นเมืองหลวงศิวิไลซ์ ต้องการการดูแลผู้คน ผู้คนในชุมชนแออัดเขาต้องการสิ่งเหล่านี้นะ เขาไม่สามารถเข้าถึงโรงพยาบาลเอกชน เขาไม่สามารถเข้าถึงโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยได้ เพราะเข้าถึงยาก เขาไม่สามารถเข้าถึงคลินิกเอกชนได้บางครั้ง เพราะรายได้น้อย บางคนอยู่ที่ 300-320 บาท หรือน้อยกว่านั้นก็มี”
นพ.สุภัทรยังกล่าวด้วยว่า ควรให้โรงเรียนในกรุงเทพฯ เข้ามาสู่กระบวนการช่วยดูแลชาวบ้าน ซึ่งภาครัฐต้องเร่งทำความเข้าใจ ไม่อย่างนั้นการแพร่ระบาดลุกลามไปทั่ว และไปเพิ่มความต้องการเตียงในโรงพยาบาล และเพิ่มอัตราเสียชีวิตที่บ้านด้วย
นั่นแปลว่า ระบบสาธารณสุขของกรุงเทพฯ ซึ่งไม่ได้มีแต่การรักษาคน แต่รวมถึงเรื่องอื่นๆ อย่างการควบคุมโรคด้วยนั้น ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ จนเห็นผลได้เด่นชัด และหากสถานพยาบาลไม่สามารถรองรับผู้ป่วย COVID-19 จนเตียงไม่เพียงพอ ผู้ป่วยโรคอื่นๆ เองก็จะถูกเบียดบังคิวเข้ารักษาไปด้วย จนทำให้เกิดอัตราการเสียชีวิตส่วนเกินในช่วงวิกฤตนี้ ซึ่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เปิดเผยว่า ไทยกำลังมีอัตราการตายส่วนเกินเพิ่มมากขึ้นกว่าช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยเป็นการเสียชีวิตทางอ้อมจากผลของการระบาดของ COVID-19
ดังนั้นแล้ว แม้ประชาชนจะทำตามมาตรการทุกอย่างแล้วก็ตาม แต่เมื่อผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้ล้าช้า และรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เสียที ความตายก็กลายเป็นสิ่งที่เลี่ยงได้ยาก
ฉีดวัคซีนไปเท่าไหร่?
แม้คำว่า ‘วัคซีน’ จะเป็นคำแรกที่อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอ้างว่าถึงนึกทันทีที่ COVID-19 แพร่ระบาด แต่จนแล้วจนรอด วัคซีนก็ยังไม่มาเต็มอ้อมแขนคนไทยเสียที
หากดูยอดการฉีดวัคซีนตอนนี้ จะพบว่า เราฉีดวัคซีนกันไปแล้ว 24,100,631 ราย (นับตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธุ์ – 16 สิงหาคม) โดยมียอดสะสมของเข็มที่ 1 อยู่ที่ 18,370,997 ราย และเข็มที่ 2 อยู่ที่ 5,228,157 ราย
ตัวเลขเหล่านี้ หากลองนำมาคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ จะพบว่า สัดส่วนประชากรที่ได้ฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มของไทย อยู่ที่ 27.76% ขณะที่ สัดส่วนของประชากรที่ได้ฉีดอย่างน้อย 2 เข็ม จะอยู่ที่ 7.90% นับเป็นตัวเลขที่ยังไม่เยอะมากพอที่จะทำให้การระบาดชะลอลงได้
ปัญหาอีกอย่างนึงในเรื่องวัคซีนของไทย คือจำนวนวัคซีนที่ไม่เพียงพอ ซึ่งตอนนี้ วัคซีนที่เรามีอยู่คือวัคซีนยี่ห้อ Sinovac Sinopharm AstraZeneca และ Pfizer ซึ่งใน 4 ยี่ห้อที่เรามีนี้ มีวัคซีนที่รัฐบาลไทยจัดหามาเพียง 2 ยี่ห้อเท่านั้น นั่นคือ Sinovac และ AstraZeneca ขณะที่วัคซีน Sinopharm นำเข้ามาจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และยังเป็นวัคซีนที่คนไทยต้องเสียเงินฉีดเอง
ส่วนวัคซีนชนิด mRNA ที่หลายคนเรียกร้องกันมาตลอดอย่าง Pfizer นั้น มาจากการบริจาคของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา และยังมีปัญหาอีกมากมายว่า บุคลากรด่านหน้า และกลุ่มเป้าหมายที่กรมควบคุมโรคกำหนดว่าจะเป็นผู้ได้รับวัคซีนนั้น กลับไม่ได้รับวัคซีน Pfizer เสียอย่างนั้น
อีกปัญหาก็คือ ความหลากหลายของวัคซีนที่ยังไม่ครอบคลุมมากพอ เพราะวัคซีน AstraZeneca ที่นำมาฉีดให้คนมีอายุมากกว่า 18ปีนั้น ก็ยังมีข้อกังขาเรื่องลิ่มเลือด ซึ่งพบได้มากในผู้หญิงอายุ 40 ปีลงมา หลายประเทศ เช่น เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เดนมาร์ก เยอรมนี อินโดนีเซีย จึงระงับการฉีด AstraZeneca ไป และเป็นอีกเหตุผลให้หลายคนไม่มั่นใจในประสิทธิภาพของวัคซีน
หรือกรณีของวัคซีน Sinovac ที่มีกระแสเรื่องผลข้างเคียงที่น่ากังวล และประสิทธิภาพที่ไม่ได้ป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ได้อย่างดีนั้น ก็ยิ่งทำให้หลายคนไม่กล้าเข้ารับวัคซีน เพราะตัวเลือกที่มีน้อยเกินไป
ยิ่งกว่านั้น ยังมีคำถามถึงการที่ไทยไม่เข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ (COVAX) ซึ่งเมื่อเดือนตุลาคมปีก่อน อนุทิน เคยกล่าวว่าได้ส่งหนังสือแสดงเจตนารมณ์เข้าร่วมโครงการนี้ไปแล้ว แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีความคืบหน้าอะไร จนเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้กล่าวว่า ไทยจัดอยู่ในประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง จึงไม่ได้สิทธิ์รับวัคซีนฟรี
อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้แถลงว่า ไทยยังอยู่ในการเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ เพียงแต่ยังไม่ได้มีการลงนาม และสถาบันฯ ได้เริ่มประสานงานขอเจรจาจัดหาวัคซีนร่วมกับโครงการ เพื่อให้ได้รับวัคซีนของปี 2565 แล้ว แต่ก็เว้นช่วงจากที่อนุทินเคยให้สัมภาษณ์ไว้นานถึง 9 เดือนเลยทีเดียว
ซึ่งแปลว่า การออกมาตรการล็อกดาวน์ให้คนอยู่บ้านอย่างเดียว แต่ไม่ได้จัดสรรวัคซีนให้ครอบคลุม เพียงพอ ทั่วถึง และไม่นำเข้าอย่างหลากหลาย เพื่อไว้ใช้รับมือกับเชื้อกลายพันธุ์นั้น อาจไม่ช่วยให้การแพร่ระบาดของ COVID-19 ยุติลงได้
ล็อกดาวน์มานาน ถึงจุดที่คาดว่าจะพีคหรือยัง?
กรมควบคุมโรคเคยแถลงถึงแบบจำลองคาดการณ์สถานการณ์ COVID-19 ไว้ตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นแบบจำลองที่คาดการณ์ไปอีก 3-4 เดือนข้างหน้า โดยเปรียบเทียบระหว่างไม่มีมาตรการล็อกดาวน์ กับใช้มาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งการใช้มาตรการล็อกดาวน์ ก็แบ่งออกเป็นแบบที่ล็อกดาวน์อย่างได้ผล 20% และ 25% ตามผลลัพธ์ดังนี้
– ถ้าไม่มีการล็อกดาวน์เลย คาดว่าผู้ติดเชื้อรายใหม่จะเกิน 40,000 ราย และจุดสูงสุดจะอยู่ประมาณวันที่ 14 กันยายน
– ถ้าล็อกดาวน์อย่างมีประสิทธิภาพ 20% นาน 1 เดือน ผู้ติดเชื้อรายใหม่รายวันจะอยู่ที่ 30,000 ราย และจุดพีคสุดคือต้นเดือนตุลาคม
– ถ้าล็อกดาวน์อย่างมีประสิทธิภาพ 25% นาน 1 เดือน ผู้ติดเชื้อรายใหม่รายวันจะอยู่ที่ 30,000 ราย
– ถ้าล็อกดาวน์อย่างมีประสิทธิภาพ 20% นาน 2 เดือน ผู้ติดเชื้อรายใหม่รายวันจะอยู่ที่ 2,000-4,000 ราย
– ถ้าล็อกดาวน์อย่างมีประสิทธิภาพ 25% นาน 2 เดือน ผู้ติดเชื้อรายใหม่รายวันจะลดลงอีก
ขณะเดียวกันก็มีการคาดการณ์ถึงผู้เสียชีวิตรายวันเอาไว้ด้วย โดยระบุว่า ถ้าไม่มีมาตรการล็อกดาวน์ จำนวนผู้เสียชีวิตรายใหม่ต่อวัน จะสูงถึงเกิน 500 ราย จุดสูงสุดจะอยู่ที่ประมาณวันที่ 28 กันยายน
แต่ถ้ามีการล็อกดาวน์อย่างมีประสิทธิภาพ 20% นาน 1 เดือน จำนวนผู้เสียชีวิตรายใหม่ต่อวัน ไม่เกิน 400 รายต่อวัน จุดสูงสุดจะอยู่ที่ประมาณวันที่ 26 ตุลาคม แต่หากล็อกดาวน์นานขึ้น จำนวนผู้เสียชีวิตก็จะลดต่ำลง จุดสูงสุดจะอยู่ที่ประมาณพฤศจิกายน
ที่สำคัญเลยก็คือ แถลงจากกรมควบคุมโรคระบุไว้ว่า หากมีมาตรการล็อกดาวน์มีประสิทธิภาพการลดแพร่กระจายเชื้อ 25% นาน 2 เดือน มาตรการเร่งค้นหาผู้ป่วย และมาตรการเร่งฉีดวัคซีนให้กลุ่มผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ และกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรคได้ตามเป้าหมายภายใน 1-2 เดือน จะทำให้มีผู้เสียชีวิตรายวันอยู่ที่ประมาณ 100 กว่าราย
วันเวลาผ่านไป เมื่อวันที่ 13 สิงหาคมที่ผ่านมานี้ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์ COVID-19 (ศบค.) เปิดเผยตัวเลขคาดการณ์ผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ว่า อาจสูงถึง 45,000 ราย เพราะการล็อกดาวน์มีประสิทธิภาพ 20%
ขณะเดียวกัน ถ้าไม่มีการล็อกดาวน์เลย นพ.ทวีศิลป์ก็กล่าวว่า จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันช่วงปลายเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายนจะสูงถึง 60,000-70,000 รายโดยประมาณ
ทาง ศบค. คาดหวังว่าจะเพิ่มประสิทธิภาพการล็อกดาวน์จาก 20% เป็น 25% นาน 2 เดือน ร่วมกับการฉีดวัคซีนให้กลุ่มเป้าหมาย เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อให้ต่ำกว่า 20,000 รายต่อวัน ซึ่งจะทำให้อัตราการใช้เตียงอยู่ในระดับที่ยังรับไหว และทำให้การเสียชีวิตลดลง
ขณะเดียวกัน วันนี้ (17 สิงหาคม) ข้อมูลจาก ศบค.ก็ระบุถึง อัตราป่วยต่อประชากร 1 ล้านคนของไทย อยู่ที่ 13,550 คน และอัตราเสียชีวิตต่อประชากรไทย 1 ล้านคน ซึ่งตอนนี้อยู่ที่ 114 คน
ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยมหิดล และ Health Sysmtem DD Labs ได้ร่วมกันออกแบบจำลองสถานการณ์เพื่อพิจารณาแนวโน้มการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยระลอกที่สาม ภายหลังการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ เดือนกรกฎาคม 2564 เพื่อคาดการแนวโน้มการระบาดและสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างมาตรการล็อกดาวน์กับจำนวนผู้ติดเชื้อ และพบว่า การล็อกดาวน์ที่ผ่านมานี้ยังไม่สามารถช่วยลดการระบาดได้ดีพอ และคาดว่า เป็นเพราะการระบาดหลัก ลงไปถึงระดับครัวเรือนแล้วนั่นเอง
ทีม The MATTER เคยพูดคุยกับ นพ.บวรศม หนึ่งในผู้พัฒนาแบบจำลองนี้ ซึ่งเขากล่าวไว้ว่า การล็อกดาวน์ที่ผ่านมา ไม่ได้ช่วยลดการแพร่เชื้อในชุมชมมากเท่าที่ควร และถ้าเป็นไปตามโมเดลที่ทีมทำกันนั้น หากเลิกล็อกดาวน์หลังเดือนสิงหาคมนี้ ตัวเลขจะกระโดดเพิ่มขึ้นอีกแน่นอน เพราะยังไม่ถึงจุดพีค
“Scenario ต่างๆ ไม่ได้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ มันเกิดเพราะเราทำอะไรที่แตกต่างจากเดิมหรือเปล่า ทั้งในเรื่องนโยบายสาธารณะ ความร่วมมือของภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจอะไรก็ตาม ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลง มันคงไม่มีเหตุผลที่สถานการณ์จะเปลี่ยนไป”
“และผมคิดว่าถ้าจะล็อกดาวน์เข้มข้นขึ้น มันแปลว่าอะไรต้องพูดให้ชัด ถึงขนาดอู่ฮั่นโมเดลเลยหรือเปล่า แล้วมันจะไปติดกับดักเรื่องการติดเชื้อในครัวเรือนเพิ่มขึ้นหรือเปล่า ดังนั้น ผมสรุปว่าล็อกดาวน์ต่อไป มันช่วยอยู่แล้ว ถ้ามีการตรวจที่ครอบคลุมกว้างขวางเหมือนกับที่ประเทศจีนทำ แต่เรามันไม่ใกล้เคียงเลย”
อ้างอิงจาก
แถลงการณ์จากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และศูนย์บริหารสถานการณ์ COVID-19