มาอีกแล้วเหรอโรคใหม่? ฝีดาษลิงคืออะไร? จะมีโอกาสมาถึงไทยไหม?
‘ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก’ น่าจะเป็นสำนวนโบราณที่กลับมาทันสมัยอย่างไม่น่าเชื่อ หลังพบการระบาดของโรคฝีดาษลิง หรือ Monkeypox จนมีผู้ติดเชื้อผุดขึ้นในหลายประเทศ ทับซ้อนกับโรคระบาดเดิมที่ยังไม่มีทีท่าจะสิ้นสุด
จนถึงตอนนี้บรรดาผู้เชี่ยวชาญ ยังไม่สามารถระบุถึงสาเหตุการระบาดของโรคฝีดาษลิงครั้งนี้ได้ ท่ามกลางจำนวนผู้ติดเชื้อก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ข้อมูล ณ วันที่ 23 พ.ค. ยืนยันพบแล้ว 95 คน กระจายทั้งในสเปน โปรตุเกส อังกฤษ อเมริกา เป็นต้น
The MATTER รวบรวมมาให้ดูว่า โรคฝีดาษลิงคืออะไร น่ากลัวแค่ไหน แล้วคนไทยต้องเตรียมตัวรับมืออย่างไรบ้าง
“เราต้องเผชิญกับการบรรจบกันอันน่าสะพรึงกลัว ระหว่างโรคระบาด ภัยแล้ง วิกฤติอาหาร และสงคราม อีกทั้งยังถูกซ้ำเติมโดยภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ความเหลื่อมล้ำ และการเป็นศัตรูกันในทางภูมิศาสตร์การเมือง”
คำเตือนของผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) เป็นหนึ่งข้อยืนยันว่าโรคนี้ดูไม่ธรรมดาเสียแล้ว พาให้คนนึกไปถึงช่วงเวลาที่โลกต้องรับมือกับโรค COVID-19
แม้ว่าโรคฝีดาษลิงอาจไม่ได้เป็นที่คุ้นหูมาก แต่นี่ก็ไม่ใช้โรคอุบัติใหม่แต่อย่างใด แต่ไวรัสนี้ครั้งแรกในลิง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2501 ก่อนที่จะพบในมนุษย์ในปี พ.ศ. 2513 ซึ่งในช่วงการระบาดนั้น มีรายงานผู้ป่วยมากกว่า 400 คน และมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ประมาณ 10%
ด้วยชื่ออาจทำให้เข้าใจผิดว่าโรคดังกล่าวมีเพียงสัตว์ตระกูลลิงเป็นแหล่งรังของโรคเท่านั้น แต่จริงๆ ก็พบได้ในสัตว์ฟันแทะอื่นๆ เช่นกัน
โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Poxviridae จัดอยู่ในจีนัส Orthopoxvirus เช่นเดียวกับไวรัสอีกหลายชนิด ได้แก่ ไวรัสที่ทำให้เกิดฝีดาษในคน หรือไข้ทรพิษ (variola virus) ไวรัสที่นำมาผลิตวัคซีนป้องกันฝีดาษในคน (vaccinia virus) และฝีดาษวัว (cowpox virus)
อย่างไรก็ดี ข้อมูลส่วนหนึ่งรายงานว่า พบคลัสเตอร์ผู้ติดเชื้อในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย ซึ่งจะแสดงอาการคล้ายกับตุ่มสิวบริเวณอวัยวะเพศ
ติดต่อได้ยังไง
- สัตว์สู่คน ทางเลือด สารคัดหลั่ง กินเนื้อสัตว์ไม่สุก
- คนสู่คน (โอกาสพบน้อย) ทางสารคัดหลั่ง ทางเดินหายใจ ตุ่มผิวหนัง
อาการหลังรับเชื้อ
- ระยะฟักตัวประมาณ 7-14 วัน อาจนานถึง 21 วัน
- มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต หนาวสั่น อ่อนเพลีย
- 1-3 วัน มักมีผื่นตามแขนขา ก่อนจะลามไปใบหน้าหรือลำตัว ต่อมาจะกลายเป็นตุ่มหนอง ท้ายสุดจะกลายเป็นสะเก็ด
- ผู้ป่วยจึงต้องกักตัวให้แผลทุกแผลตกสะเก็ดหมด จึงจะพ้นระยะติดต่อ ซึ่งอาจนานถึง 21 วันตามระยะฟักตัวที่มากที่สุด
วิธีป้องกัน
- เลี่ยงสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ติดเชื้อหรือสัตว์ป่า
- เลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ
- หมั่นล้างมือบ่อยๆ
- ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยง
- สังเกตอาการตนเอง กรณีกลับมาจากประเทศเขตติดโรค
เหตุผลที่คนหนุ่มสาวกลายเป็นกลุ่มเสี่ยง
ตามที่อธิบายมาช่วงต้น ว่าเชื้อของโรคฝีดาษลิงนั้น มีความคล้ายคลึงกับเชื้อฝีดาษอื่น ๆ ประกอบกับยังไม่มีการรักษาเจาะจง จึงเชื่อว่าวัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษ มีประสิทธิภาพป้องกันโรคฝีดาษลิงได้สูงถึง 85%
ย้อนไปในปี 2378 ไทยมีการให้บริการ ‘ปลูกฝี’ ครั้งแรก ก่อนที่ในปี 2456 รัฐบาลจะออกเป็นกฎหมายบังคับให้ทุกคนต้องเข้ารับวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ และยังสนับสนุนบริการวัคซีนกับโรคอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง จนเมื่อมั่นใจว่าโรคไข้ทรพิษหมดไปไทยจึงได้ยกเลิกในปี 2517 ละทั่วโลกยกเลิกในปี 2523
นั่นเท่ากับว่า คนไทยที่เกิดหลังปี 2517 เกือบทุกคนจะไม่ได้รับการปลูกฝีแล้ว
แต่ที่หลายคนยังคุ้นชิน หรือคิดว่าตัวเองยังมีร่องรอยการ ‘ปลูกฝี’ บริเวณต้นแขนนั้น เป็นเพียงการฉีดวัคซีนป้องกันวัณโรค หรือวัคซีน BCG ไม่ใช่การปลูกฝีเพื่อป้องกันโรคฝีดาษอย่างในอดีต
ตามข้อมูล ‘เด็ก’ ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะป่วยหนัก นั่นเท่ากับคงประมาทไม่ได้แล้วว่า คนที่ร่างกายปกติ หรือยังคงเป็นวัยรุ่น ถ้าติดเชื้อโรคฝีดาษลิงแล้ว จะมีโอกาสเจ็บป่วยได้น้อยกว่ากลุ่มผู้มีโรคประจำตัว หรือผู้สูงอายุเสียแล้ว การสังเกตอาการและปฏิบัติตามข้อแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ จึงเป็นสิ่งจำเป็นในตอนนี้
อ้างอิงจาก
Illustration by Krittaporn Tochan