เป็นเรื่องสะเทือนไปทั้งโลกจากผลการลงประชามติของสหราชอาณาจักรครั้งประวัติศาสตร์ ที่ผลก็ออกมาเป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญอีกหน้าหนึ่งของโลกเช่นกัน คือมีมติให้สหราชอาณาจักรออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป
ประเด็นสำคัญในการออกจาก EU เรื่องหนึ่งคือความกังวลเรื่องผู้อพยพ หรือ ‘คนอื่น’ (ในแง่เชื้อชาติและสีผิว) ที่อพยพเข้ามาผ่านการเปิดพรมแดนเสรีภายในกลุ่มประเทศยุโรป ผลกระทบที่น่าตกใจต่อมาก็คือเกิดกระแสการเหยียดเชื้อชาติและสีผิวที่ปรากฏขึ้นทั่วอังกฤษ เช่น มีการต่อต้าน ด่าทอและขับไล่ผู้อพยพให้กลับประเทศของตัวเอง
ซึ่งทั้งหมดนี้ ดูจะเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจและน่าตกใจในเวลาเดียวกัน อะไรที่ทำให้ ‘คนอังกฤษ’ ที่มีภาพลักษณ์ว่าเป็นผู้มีอารยะ เป็นส่วนหนึ่งของประชาคมที่มีความเข้มแข็ง ดูยึดมั่นในแนวคิดพื้นฐานทั้งหลายอย่างความเสมอภาค การไม่แบ่งแยกกีดกันด้วยอคติ เช่น สีผิว เพศ ชาติพันธุ์ เกิดอาการ ‘ถอยหลัง’ กลับไปอย่างรุนแรงได้ เกิดอะไรขึ้นในดินแดนศิวิไลซ์นั้น
The MATTER จึงชวน รศ.นัทธนัย ประสานนาม อาจารย์ทางด้านวรรณคดีและวัฒนธรรมศึกษาที่ปัจจุบันกำลังศึกษาวิจัยในระดับปริญญาเอกอยู่ ณ University of St Andrews สหราชอาณาจักร ว่าในฐานะเป็น ‘คนนอก’ ที่อยู่ในพื้นที่แถมยังมีความสนใจด้านวัฒนธรรม คิดเห็นอย่างไรกับกรณี Brexit และการเหยียดเชื้อชาติ รวมถึงประสบการณ์ตรงต่างๆ ในการศึกษาที่สหราชอาณาจักร
The MATTER: บรรยากาศในสกอตแลนด์ (เมืองเซนต์แอนดรูวส์อยู่ในสกอตแลนด์) หลังผลประชามติเป็นยังไงบ้างครับ
อ. นัทธนัย: บรรยากาศส่วนใหญ่คือ เรื่อง Brexit ยังคงอยู่ในบทสนทนาในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่เฉพาะในสกอตแลนด์เท่านั้น เพราะเมื่อสัปดาห์ก่อนที่เดินทางไปลอนดอน เวลส์ และแมนเชสเตอร์ คนส่วนใหญ่ก็ยังคงพูดเรื่องนี้กัน เพราะมีข่าวออกทุกวัน จากผลการลงประชามติเสียงส่วนใหญ่ของคนในสกอตแลนด์คือ อยู่กับ EU ต่อไป เพื่อนชาวสกอตที่ออกเสียงให้สหราชอาณาจักร (ต่อไปจะขอเรียกว่า UK) อยู่กับ EU เครียดมาก เพราะเขาเป็นกังวลเรื่องงานในอนาคต ทุนสนับสนุนการวิจัย และสิ่งอื่นๆ ที่ EU เคยป้อนให้ ในขณะที่ชาวสกอตที่รู้จักอีกคนหนึ่งที่ออกเสียงให้ UK แยกตัวสารภาพว่ารู้สึกเสียใจ เพราะไม่คิดว่ามันจะเกิดผลสะท้อนกับเศรษฐกิจการเมืองมหาศาลขนาดนี้ อีกอย่างที่พูดกันมากคือความเป็นไปได้เรื่องการลงประชามติแยกสกอตแลนด์ออกจาก UK
The MATTER: ก่อนที่จะถามลงลึก อยากให้อาจารย์เล่าเกี่ยวกับวัฒนธรรมและความทรงจำศึกษาที่อาจารย์กำลังศึกษาอยู่สักเล็กน้อยครับ
อ. นัทธนัย: ต้องบอกก่อนว่าสาขาวิชาที่เรียนอยู่คือ ภาพยนตร์ศึกษา (film studies) ซึ่งเราไม่ได้เรียนสร้างหนัง อยู่ที่นี่มาหลายปี ได้สัมผัสกล้องสำหรับถ่ายหนังจำนวนศูนย์ครั้ง จริงๆ แล้วเหมือนการเรียนการสอนวรรณกรรม อาจารย์จะให้ดูหนังมาก่อนแล้วมาอ่านละเอียดในห้องทีละชอต ทีละซีนที่น่าสนใจ
ส่วนเรื่องความทรงจำนี้เป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ที่กำลังทำอยู่ ความทรงจำศึกษา (memory studies) เป็นศาสตร์ที่กำลังเติบโตมากโดยเฉพาะวงการมนุษยศาสตร์ยุโรป (รวม UK) มีการจัดประชุม ตีพิมพ์หนังสืออะไรออกมามาก แรงผลักดันที่ทำให้เกิดการศึกษาความทรงจำอย่างกว้างขวางคือการค่อยๆ หายไปของคนรุ่นที่มีประสบการณ์ตรงในสงครามโลกครั้งที่สอง สิ่งที่นักความทรงจำศึกษาสนใจคือเรื่องเล่าของคนเล็กๆ ที่ไม่ได้ถูกจัดระเบียบตามวิธีคิดแบบประวัติศาสตร์ (คือเล่าเหตุการณ์ในอดีตร้อยเรียงกันอย่างเป็นเหตุเป็นผลจากต้นจนจบ และเชื่อว่าเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวจากหลักฐานที่ไม่มีอารมณ์ความรู้สึกเจือปน) นอกจากนั้นยังสนใจการรำลึกถึงเหตุการณ์ต่างๆ ในอดีต ผ่านพิธีกรรม อนุสาวรีย์ อนุสรณ์สถาน พิพิธภัณฑ์ วรรณกรรมกับภาพยนตร์ก็ถือเป็นการแสดงออกเรื่องความทรงจำของสังคมด้วยเช่นกัน
เรื่องที่เขียนอยู่คือ ความทรงจำสงครามโลกครั้งที่สองในภาพยนตร์ไทย ซึ่งถ้าไปถามคนไทยจะนึกไม่ค่อยออก จะมีแค่ชื่อ คู่กรรม ที่ผุดขึ้นมา ถ้าเทียบกับความทรงจำว่าด้วยเหตุการณ์การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง สงครามโลกฯ เล็กมากพร่ามัวมาก ก็เลยสนใจศึกษาว่าเป็นเพราะอะไร โดยโยงใยตัวบทภาพยนตร์เข้ากับวรรณกรรมรวมทั้งพื้นที่ความทรงจำอื่นๆ
The MATTER: ถ้าลองให้อาจารย์ลองอธิบายปรากฏการณ์ Brexit ในมุมมองเชิงวัฒนธรรม ว่าทำไมถึงได้เกิดกระแสเหยียดคนต่างชาติและอยากจะโดดเดี่ยวตัวเองออกจากชาวยุโรปด้วยกัน
อ. นัทธนัย: ก็สรุปยาก เพราะข้อมูลที่ได้มามีแค่ไม่กี่แหล่งคือ คนที่มีโอกาสได้พูดคุยด้วยกับข่าว BBC แต่ขอพูดแบบง่ายๆ ว่า เวลาเรามองชาวยุโรปในฐานะ ‘ฝรั่ง’ เราอาจคิดแค่ว่าฝรั่งก็คือฝรั่ง แต่ถ้าฝรั่งเดาว่าเราคือคนจีน คนเวียดนาม หรือคนฟิลิปปินส์ (จากประสบการณ์ตรง) เราก็อาจพยายามอธิบายว่าเรามาจากประเทศไทย ชาวยุโรปเองก็เหมือนกัน มีหนังสือทางภาพยนตร์ศึกษาเล่มหนึ่งเรียกภูมิภาคยุโรปตะวันออกว่า ‘The Other Europe’ คือยุโรปที่เป็นอื่น คำศัพท์ดังกล่าวน่าจะเอามาใช้อธิบายความรู้สึกของชาวอังกฤษที่มีต่อผู้อพยพจากประเทศโปแลนด์หรือลัตเวียที่ปรากฏในข่าวได้ เวลาเราพูดว่า ‘ชาวยุโรปด้วยกัน’ คำนี้จึงมีปัญหามาก เพราะในสังคมอังกฤษเอง ความรู้สึกว่าเป็น ‘อังกฤษด้วยกัน’ บางทีก็ยังนิยามยาก เพราะแบ่งด้วยสำเนียง ภูมิภาคที่อยู่ รสนิยม ฯลฯ ซึ่งอารมณ์เหล่านี้มันเหมือนถูกกดทับไว้ด้วยกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชน ระบบคุณค่าในสังคมที่บีบให้ต้องแสดงออกอย่างมีมารยาท หรืออะไรก็แล้วแต่ อารมณ์นี้มันปะทุขึ้นเมื่อมีการลงประชามติให้แยกตัวออกจาก EU ทำให้บางคนอาจรู้สึกชัดว่าความแตกต่างที่รู้สึกมาตลอดมันมีการขานรับและมีพลังขึ้นมา
จากคำสัมภาษณ์ของผู้ออกเสียงให้แยกตัว หลายคนร้องทุกข์เรื่องการถูกแย่งงานทำกับการถูกแย่งใช้สวัสดิการ เพราะสวัสดิการหลายอย่างเข้าถึงยากอยู่แล้ว ในขณะที่บางคนให้คุณค่าเรื่อง ‘ความเป็นอังกฤษ’ ที่เชื่อว่าการแยกจาก EU จะทำให้อังกฤษเกรียงไกรอีกครั้งหลังการล่มสลายของจักรวรรดิอังกฤษ ที่ประเทศต่างๆ ในอาณัติต่างทยอยประกาศเอกราชหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ความรู้สึกแบบนั้นยังมีอยู่จริง (ไม่ต่างกับปมประวัติศาสตร์ไทย-พม่า) จากการสัมภาษณ์การตัดสินใจจะท่วมท้นไปด้วยความรู้สึก หลายคนรู้สึกว่าความรู้สึกของเขาเป็นสิ่งที่รัฐบาลอังกฤษไม่เคยฟัง ดังที่สำนักข่าวหลายสำนักได้ออกมาวิพากษ์ (คิดว่าตัวอย่างคำสัมภาษณ์เองก็อาจถูกเลือกมาเพื่อสนับสนุนข้อสันนิษฐานดังกล่าวของสำนักข่าว) และในขณะเดียวกัน กลุ่มผู้ที่สนับสนุนการอยู่ร่วมกับ EU ก็ใช้โวหารทำนองว่านี้คือสัญญาณของการล่มสลายของอังกฤษไม่ต่างกับการล่มสลายของจักรวรรดิที่เคยเกิดขึ้น
The MATTER: ถ้าเรามองความคิดกว้างๆ ของโลกที่มองว่าการรวมตัวและร่วมมือคือทางที่ดีของมนุษยชาติ เช่น EU ที่ดูเหมือนจะเป็นประชาคมที่รุ่มรวยสมบูรณ์แบบ แต่จากกรณี Brexit ทำให้เห็นว่าโลกอุดมคติที่ไม่มีการแบ่งแยกเป็นเพียงฝันที่เป็นไปไม่ได้ของมนุษย์รึเปล่า
อ. นัทธนัย: อาจเป็นความฝัน แต่คนจำนวนมากก็พยายามทำความฝันของตัวเองให้เป็นความจริง โดยส่วนตัวเชื่อว่าการรวมตัวหรือความร่วมมือระดับนานาชาติเป็นเรื่องผลประโยชน์ร่วมกัน นักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอาจมองภาพใหญ่มากกว่าอารมณ์ความรู้สึกของคน กรณี Brexit นี้อาจแสดงให้เห็นว่าอารมณ์ความรู้สึกเป็นส่วนสำคัญของการแสดงออกทางการเมือง เพราะฉะนั้นเราอาจต้องหาจุดที่มาพบกันครึ่งทางได้ระหว่างประโยชน์ของประชาชาติกับความรู้สึกของคนในชาติ (ซึ่งรู้สึกไม่เหมือนกัน) ส่วนที่น่าคิดคือ อารมณ์ความรู้สึกเหล่านั้นอาจถูกทำให้ปะทุขึ้นมาเพื่อประโยชน์ของคนบางหมู่บางพวก การเคารพในความแตกต่างเพื่อที่จะวางอารมณ์เหล่านั้นให้อยู่ในที่ทางที่เหมาะสมจึงเป็นทักษะพื้นฐานของพลเมืองทุกคน อย่างไรก็ตาม ‘ประชาคมที่รุ่มรวยสมบูรณ์แบบ’ นั้นไม่มีจริง เพราะเมื่ออยู่ร่วมกันด้วยผลประโยชน์ ความสัมพันธ์จะอยู่บนพื้นฐานของการเจรจาต่อรอง ต้องมีผู้ได้เปรียบ เสียเปรียบ หรือสมประโยชน์กันเป็นรายกรณีไป
The MATTER: จากกรณีของ Brexit ถ้ามันเกิดจากบาดแผลและความทรงจำ ในฐานะนักวิชาการทางความทรงจำ คิดว่าจะมีทางเยียวยารักษาบาดแผล หรือแก้ไขให้ดีขึ้นได้บ้างไหมครับ
อ. นัทธนัย: ความทรงจำที่สร้างปมระดับชาติมีอยู่ทั่วโลก ทางแก้ที่รัฐพยายามทำมาตลอดคือการกล่าวขอโทษ อย่างกรณีรัฐบาลนิวซีแลนด์กล่าวขอโทษชนพื้นเมืองอะบอริจิน รัฐบาลญีปุ่นกล่าวขอโทษเหยื่อสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ในกรณี Brexit ไม่แน่ใจว่าปมที่เกิดจากความทรงจำจะเยียวยาอย่างไรได้ เวลาอาจจะมีคำตอบให้
The MATTER: สุดท้าย ในระดับบุคคล อยากให้อาจารย์แนะนำเกี่ยวกับการเยียวยาบาดแผลและความทรงจำ เช่น ทำยังไงความทรงจำถึงจะทำให้เราเจ็บปวดน้อยลง ให้กับผู้อ่าน The MATTER สักเล็กน้อยครับ
อ. นัทธนัย: จากการที่ศึกษาความทรงจำมาหลายปีมีข้อค้นพบอย่างหนึ่งคือ ปัจจุบันคือนายของอดีต หลายกรณีเรารู้สึกว่าประวัติศาสตร์ชาติเป็นผู้สร้างปม แต่แท้จริงแล้วปมนั้นแค่ถูกผลิตซ้ำถูกทำให้รู้สึกซ้ำๆ ถ้าเราหยุดซ้ำแผล ความเจ็บปวดก็อาจบรรเทาไปตามเวลา ข้อค้นพบอีกอย่างหนึ่งคือ ในความทรงจำมีภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกระหว่าง ‘เจ็บแล้วจำ’ กับ ‘จำแล้วเจ็บ’ ในกรณีเช่นนี้ ‘การลืม’ อาจเป็นผู้เข้ามาไกล่เกลี่ยและทำให้เกิดการเลือกจดจำหรือจดจำใหม่ ที่น่าคิดก็คือ เราจำเรื่องบางเรื่องได้แม่นยำ เพราะเราลืมบางอย่าง เราทำให้เหตุการณ์นั้นจดจำได้ด้วยการลืมองค์ประกอบที่ไม่จำเป็นหรือลืมสิ่งทำให้สับสนไป ดังนั้น ถ้าเราจะจำให้เป็น เราก็ต้องรู้จักลืมให้เป็นด้วย