ท่ามกลางเหตุการณ์การเมืองไทยที่กำลังซับซ้อน แม้มีการเลือกตั้งไป แต่จัดตั้งรัฐบาลกันไม่ได้ ที่ฝั่งยุโรปอย่างอังกฤษเอง ก็กำลังวุ่นวายกับการเตรียมตัวออกจากสหภาพยุโรป ที่ต้องเลื่อน deadline เพราะในสภายังไม่สามารถตกลงกันได้ ถึงข้อเสนอหลังออกจาก EU ทำเอากระบวนการเกิดการ deadlock และรัฐมนตรีลาออกกันหลายคน
ไม่เพียงแค่ในสภาเท่านั้น แต่ด้านประชาชนเอง ก็ออกมาเดินขบวน ประท้วงรัฐบาลที่ไม่สามารถจัดการปัญหาได้ รวมไปถึงการลงชื่อออนไลน์ เรียกร้องการทำประชามติใหม่ ไปจนถึงการยกเลิก Brexit เลยด้วย
เกิดอะไรขึ้นในกระบวนการ Brexit ตอนนี้ รัฐบาลอังกฤษจะนำสหราชอาณาจักรออกจาก EU ได้ทันกำหนดหรือไม่ และทำไมในสภาถึงยังตกลงกันไม่ได้
เกิดอะไรขึ้นกับ Brexit ตอนนี้
สหราชอาณาจักรผ่านกระบวนการทำประชามติแยกตัวจาก EU ตั้งแต่ปี 2016 และมีเส้นตายที่ต้องถอนตัวในวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา แต่รัฐสภายังไม่สามารถตกลงกันได้ ทำให้ EU เลื่อนวันถอนตัวออกไปเป็นวันที่ 12 เมษายน 2019 ในกรณีที่ ไม่สามารถหาข้อตกลงได้ ซึ่งจะทำให้สหราชอาณาจักรต้องออกจาก EU อย่างไม่มีข้อตกลง แต่ถ้าหากรัฐสภาอังกฤษสามารถเห็นชอบในแผน Brexit ได้ ก็จะเลื่อนกระบวนการออกไป เป็นวันที่ 22 พฤษภาคม 2019 แทน
ที่ผ่านมา เทเรซา เมย์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ได้เสนอแผนข้อตกลงไปถึง 3 ครั้ง แต่ก็ล้วนโดน ส.ส. ลงมติไม่รับร่างนี้ทั้ง 3 ครั้ง ทำให้กระบวนการถอนตัวยุ่งยากมากขึ้น เพราะมีโอกาสสูงมากที่จะต้องออกจาก EU ในวันที่ 12 นี้แบบไร้ข้อตกลง
ซึ่งมีการวิเคราะห์ว่า หนึ่งปัจจัยที่ทำให้ข้อเสนอของเมย์ถูกถกเถียง จากประเด็น Soft Brexit (การคงความสัมพันธ์ ใช้กฎเกณฑ์บางอย่างกับ EU) และ Hard Brexit (ตัดความสัมพันธ์หลายอย่างกับEU) ที่ทางพรรคของอนุรักษ์นิยมของเมย์ ต้องการข้อตกลงแบบ Hard ในขณะที่ ส.ส.ในสภาส่วนใหญ่ และประชาชนต้องการแบบ Soft ทำให้เกิดความขัดแย้ง ในขณะที่เมย์เองก็ยอมรับว่าไม่สามารถหาเสียงสนับสนุนในสภาเพิ่มขึ้นได้
ทำให้เธอถูกกดดันอย่างหนักให้ลาออก เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ ทั้งจากฝ่ายค้าน ส.ส. ในสภาและจาก ส.ส. พรรคเดียวกับเธอ โดย Steve Baker รองประธานกลุ่มวิจัยยุโรป ของพรรคอนุรักษ์นิยมที่สนับสนุน Brexit ยังกล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่นางเมย์ต้องลาออกเป็นความพ่ายแพ้ของเมย์ และเราต้องเดินหน้าต่อไป
แต่ถึงอย่างนั้น เมย์ก็ได้ประกาศแล้ว ว่าเธอจะยอมลาออก ให้มีการเลือกตั้งใหม่ ถ้าหากข้อตกลงของเธอผ่านมติกระบวนการ Brexit ได้ และยังก็ยืนยันว่า เธอจะเสนอข้อตกลงอีกเป็นครั้งที่ 4 ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในสัปดาห์นี้
แต่ไม่ใช่เพียงข้อเสนอของเมย์ ที่ไม่ผ่านมติ จนทำให้เกิด deadlock แต่ในกระบวนการลงมติเชิงเสนอแนะ (indicative votes) ของ ส.ส. ก็ไม่สามารถหามติเสียงข้างมากได้เช่นกัน
โดยเมื่อวานนี้ สภาอังกฤษได้ลงมติเชิงเสนอแนะ เป็นครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นกระบวนที่ผ่านการลงมติเสียงข้างมาก ยึดอำนาจจากเมย์ เพื่อเสนอให้สภาสามารถลงคะแนนความเห็นชอบทางเลือกอื่นๆ แทนร่างข้อตกลงของรัฐบาลได้ ซึ่งมีการเสนอ 4 ข้อ ที่มีทั้งข้อเสนอให้อังกฤษอยู่ในตลาดเดียวกับ EU และลงนามอยู่ในสมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) รวมไปถึงให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจขยาย Brexit และมาตราการป้องกันไม่ให้สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรปโดยไม่มีข้อตกลง รวมถึงการลงมติขั้นสุดท้ายว่าจะยกเลิก Brexit ไปพร้อมกันหรือไม่
แต่สุดท้ายทุกแผนก็ไม่ได้รับการโหวตเสียงข้างมากอีกเช่นกัน ทำให้ต้องรอดูในวันที่ 3 เมษายน ในการลงมติเชิงเสนอแนะอีกครั้งของ ส.ส. ที่จะเกิดขึ้นครั้งที่ 3 ว่าจะมีข้อเสนอไหนที่ผ่านเสียงข้างมากหรือไม่ ซึ่ง Stephen Barclay เลขาธิการของ Brexit กลับก็มองว่า “ทางเลือกเพียงอย่างเดียวที่เหลืออยู่ในขณะนี้ในการให้สหราชอาณาจักรออกจาก EU ได้อย่างมีข้อตกลงคือ ข้อเสนอจากนายกฯ เมย์”
จะเกิดอะไรขึ้น ต่อจากนี้
มีความเป็นไปได้ว่า ถ้าข้อเสนอของเมย์ ครั้งที่ 4 สามารถผ่านได้ จะทำให้ Brexit สามารถถอนตัวจากกรอบเวลาที่กำหนดได้ แต่ในตอนนี้ หลายฝ่ายกลับคาดการณ์ว่าเป็นไปได้ยากที่ข้อเสนอของเมย์จะผ่านเสียงข้างมาก เพราะข้อถกเถียงต่างๆ และความไม่เห็นด้วย ทำให้มีการมองว่า มีโอกาสเป็นไปได้สูงมากที่ Brexit จะถอนตัวโดยไม่มีข้อตกลงใดๆ เลย
ซึ่งในกรณีนั้น หมายความว่า สหราชอาณาจักรจะไม่มีช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านหลังจากแยกตัว และกฎหมายของ EU ก็จะไม่มีผลบังคับใช้กับอังกฤษโดยทันที
โดยสหภาพ EU เองก็ได้ออกมาประกาศในวันที่ 25 มีนาคม ที่ผ่านมาว่า EU พร้อมที่จะรับมือหากสหราชอาณาจักรถอนตัวแบบไร้ข้อตกลง โดยแถลงการณ์ระบุว่า “แม้ว่าการถอนตัวแบบไร้ข้อตกลงจะไม่เป็นที่ต้องการ แต่ EU ก็เตรียมพร้อมรองรับ”
หรือถ้าหากมีการเลื่อนระยะเวลาถอนตัวเพื่อเจรจาออกไป ในช่วง 22 พฤษภาคม ก็หมายความว่า สหราชอาณาจักรจะต้องส่งผู้แทนเข้าร่วมการเลือกตั้งสหภาพ EU ที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งจะยิ่งทำให้กระบวนการต่างๆ ซับซ้อนมากขึ้นด้วย และเป็นสิ่งที่รัฐบาลอังกฤษต้องการหลีกเลี่ยงเช่นกัน
สหราชอาณาจักรจะออกจาก EU ได้ตามกำหนดเดิมไหม จะเป็นการออกอย่างไร้ข้อตกลง หรือจะมีแผนต่อเวลาอย่าง เราคงต้องติดตามกันในตลอดสัปดาห์นี้ ทั้งในการเสนอมติเชิงเสนอแนะของ ส.ส. รวมไปถึงความพยายามครั้งที่ 4 ของเมย์ ว่าจะสามารถได้เสียงข้างมาก และนำประเทศเดินหน้าสำเร็จ หรือจะ Deadlock ต่อไป
อ้างอิงจาก
https://www.washingtonpost.com/world/2019/03/29/brexits-latest-twist-britain-may-end-up-european-election-if-it-doesnt-leave-soon/?utm_term=.a63f77b14fad
https://www.theguardian.com/politics/2019/apr/01/brexit-indicative-votes-round-2-what-happened-and-what-next
https://www.bbc.com/news/uk-politics-47783127?intlink_from_url=https://www.bbc.com/news/topics/cwlw3xz0lvvt/brexit&link_location=live-reporting-story