หากจะมองหาหนึ่งใน ‘พรรคการเมือง’ ที่มีสีสันที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ไม่ต้องมองไปไหนไกล คือ ‘พรรคประชาธิปัตย์’ (ปชป.) นี่เอง
ด้วยความยาวนานที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2489 ทำให้มีโอกาสอยู่ร่วมในเหตุการณ์สำคัญของบ้านเมืองมากมาย บางครั้งเป็นตัวละครเอก บางครั้งเป็นตัวประกอบ, บางช่วงก็โจมตีวิพากษ์วิจารณ์ทหาร บางช่วงก็หันมาจับมือกับทหาร, หลายครั้งต้องรับมือกับการชุมนุมโค่นล้ม แต่มาช่วงหลังกลับไปจัดการชุมนุมเสียเอง ฯลฯ
ในวันนี้ยังตรงกับวันที่ ปชป. ฉลองวันเกิดครบรอบอายุ 73 ปี (แม้ว่าวันเกิดจริงๆ จะตรงกับวันที่ 5 เม.ย. ทว่าได้เลื่อนมาฉลองวันที่ 6 เม.ย. ให้ตรงกับวันจักรี ได้พักใหญ่แล้ว)
และนี่คือเส้นทางตลอด 7 ทศวรรษของ ปชป. ที่เดินเคียงคู่กับการปกครองระบอบประชาธิปไตยของไทย อันลุ่มๆ ดอนๆ
ยุค ควง อภัยวงศ์ (2489 – 2501)
2489 – ตั้งพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 5 เม.ย. ที่บ้านแถวราชวงศ์ ด้วยวัตถุประสงค์คือเป็นฝ่ายค้านของปรีดี พนมยงค์ / ให้ ‘ควง อภัยวงศ์’ อดีตสมาชิกคณะราษฎรฝ่ายพลเรือน และอดีตนายกฯ เป็นหัวหน้าพรรคคนแรก / ไปจดทะเบียนจัดตั้งพรรค วันที่ 30 ก.ย. ต่อกระทรวงมหาดไทย ถือเป็นพรรคลำดับที่ 2 ในประวัติศาสตร์ต่อจากพรรคเสรีมนังคศิลา ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม
2490 – รับเป็นรัฐบาลให้ทหาร เกิดรัฐประหารนำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ / ควงยอมรับเป็นนายกฯ ให้ทหาร ก่อนจะถูกทหารจี้ออก เพื่อเปิดทางให้จอมพล ป. ขึ้นเป็นนายกฯ
2501 – พรรคถูกยุบ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าคณะปฏิวัติ ประกาศให้รัฐธรรมนูญ รัฐสภา และพรรคต่างๆ สิ้นสุดลง
(2501 – 2511 ไม่มี ปชป.)
ยุค ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช (2511 – 2522)
2511 – ควงเสียชีวิต ด้วยโรคระบบทางเดินทางหายใจขัดข้อง / วันที่ 6 พ.ย. ปชป.กลับมาจดทะเบียนเป็นพรรคการเมืองใหม่ (เกิดคดีฟ้องร้องแย่งชื่อพรรค) / ‘ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช’ อดีตนายกฯ ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคคนที่สอง
2519 – เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ชนะเลือกตั้ง ม.ร.ว.เสนีย์เป็นนายกฯ แต่ถูก พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ รัฐประหาร ในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ สมาชิกบางคนต้องหนีเข้าป่าเพราะถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เช่น ชวน หลีกภัย
ยุค ถนัด คอมันตร์ (2522 – 2525)
2522 – ‘ถนัด คอมันตร์’ อดีต รมว.ต่างประเทศ เป็นหัวหน้าพรรคคนที่สาม แทน ม.ร.ว.เสนีย์ ที่วางมือหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ถือเป็นยุคที่ตกต่ำที่สุด
ยุค พิชัย รัตตกุล (2525 – 2534)
2525 – ‘พิชัย รัตตกุล’ เป็นหัวหน้าพรรคคนที่สี่ แทนถนัดที่ครบวาระดำรงตำแหน่ง
2529 – ชนะเลือกตั้ง แต่หลีกทางให้ป๋า ปชป.ชนะเลือกตั้ง แต่หลีกทางให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งเป็นนายกฯ มาตั้งแต่ปี 2523 ได้อยู่บนเก้าอี้ต่อ แต่เป็นสมัยสุดท้าย ก่อนประชาชนเบื่อหน่าย นักวิชาการ 99 คน ถวายฎีกา กระทั่งเจ้าตัวต้องประกาศว่า “ผมพอแล้ว” ไม่รับตำแหน่งนายกฯ อีก ปิดฉากประชาธิปไตยครึ่งใบ
2530 – ‘กบฎ 10 มกรา’ เกิดเหตุการณ์กบฎ 10 มกราฯ ไม่ใช่กบฎระดับชาติ แต่เป็นกบฎภายใน ปชป.เอง เมื่อสมาชิกพรรคกลุ่มหนึ่งจะเสนอชื่อ เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ เป็นหัวหน้าพรรคแทนพิชัย ในวันประชุมใหญ่วิสามัญ 10 ม.ค. แต่สุดท้ายก็พ่ายแพ้ และ ส.ส.จำนวนหนึ่งลาออกไปตั้งพรรคใหม่ (พรรคประชาชน)
ยุค ชวน หลีกภัย (2534 – 2546)
2534 – ‘ชวน หลีกภัย’ เป็นหัวหน้าพรรคคนที่ห้า แทนพิชัยที่ครบวาระดำรงตำแหน่ง / ในปีเดียวกัน เกิดเหตุ รสช. รัฐประหาร
2535 – พฤษภาทมิฬ ประชาชนขับไล่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร แกนนำ รสช.และ ผบ.ทบ. ที่เสียสัตย์เพื่อชาติ มีการแบ่งพรรคการเมืองออกเป็น 2 ฝ่ายโดยสื่อมวลชน คือพรรคเทพและพรรคมาร ด้วยจุดยืนว่าสนับสนุนทหารหรือไม่ / ปชป.ชนะเลือกตั้ง ชวนได้เป็นนายกฯ / อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เป็น ส.ส.สมัยแรก และได้เป็นโฆษกรัฐบาล
2540 – ‘กลุ่มงูเห่า’ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เลขาธิการ ปชป.ขณะนั้น ดึง ส.ส.พรรคประชากรไทย 12 คน ที่ถูกเรียกว่า ‘กลุ่มงูเห่า’ มาร่วมจัดตั้งรัฐบาลได้ หลัง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ลาออกเพราะวิกฤตต้มยำกุ้ง
ยุคบัญญัติ บรรทัดฐาน (2546 – 2548)
2546 – ทศวรรษใหม่ vs ผลัดใบ ‘บัญญัติ บรรทัดฐาน’ เป็นหัวหน้าพรรคคนที่หก แทนชวนที่ครบวาระดำรงตำแหน่ง / เกิดจากแย่งตำแหน่งหัวหน้าพรรคระหว่างกลุ่มทศวรรษใหม่ (บัญญัติ) vs กลุ่มผลัดใบ (อภิสิทธิ์-สุเทพ) กระทั่งทีวีหลายช่องต้องถ่ายทอดสดในวันประชุมใหญ่ของพรรค
ยุคอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (2548 – 2562)
2548 – ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ เป็นหัวหน้าพรรคคนที่เจ็ด แทนบัญญัติที่ลาออกเพื่อรับผิดชอบหลังแพ้เลือกตั้ง
2549 – บอยคอตเลือกตั้ง / คมช.รัฐประหาร
2551 – ‘ตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร’ อภิสิทธิ์พลิกมาเป็นนายกฯ หลังชนะโหวตในสภา เมื่อพรรคพลังประชาชนถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค มีการดึง ส.ส.กลุ่มเพื่อนเนวิน 23 คนมาร่วมรัฐบาล ปชป. ที่เกิดขึ้นภายใต้ข้อครหาจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร เพราะมีการพาแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลไปหารือกับ ผบ.ทบ.ขณะนั้น ในค่ายทหาร
2556 – ‘ม็อบนกหวีด’ สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ ปชป.พร้อมด้วยแกนนำพรรคจำนวนหนึ่งไปร่วมกันจัดตั้งม็อบคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ก่อนจะยกระดับเป็นขับไล่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย โดยมีการใช้ ‘นกหวีด’ เป็นสัญลักษณ์ มีการเคลื่อนไหวดาวกระจายหลายครั้ง และตั้งเวทีหลายจุดใน กทม. และแม้ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ จะยุบสภา หรือพ้นจากตำแหน่ง ม็อบนี้ก็ยังอยู่ต่อไป โดยอ้างว่าเพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปประเทศ
2557 – บอยคอตเลือกตั้ง / คสช.รัฐประหาร
2562 – แพ้เลือกตั้ง อภิสิทธิ์ลาออก
ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอสรรหาหัวหน้าพรรคคนที่แปด
(ในภาพหน้าปก จะเห็นอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ถึง 3 คน และอดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ อีก 1 คน เป็นเหตุการณ์เมื่อปี 2556 ที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เดินประท้วงการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ก่อนการถือกำเนิดขึ้นของกลุ่ม กปปส. ปลายปีเดียวกัน)