“ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร” คำประกาศคณะราษฎร พ.ศ. 2475
ย่ำรุ่งในวันนี้เมื่อ 90 ปีที่แล้ว คณะราษฎรอันประกอบด้วยนายทหารและนักเรียนนอกได้ร่วมกันยึดอำนาจ และประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเรียกได้ว่าเป็นการเปิดศักราชที่ 0 ของประชาธิปไตยใน ประเทศไทย
ในวาระครบรอบ 90 ปี The MATTER ชวนมาดูว่านับตั้งแต่วันนั้นถึงวันนี้ ประชาธิปไตยไทยล้มลุกคลุกคลานอย่างไรบ้าง คนไทยอาศัยอยู่ภายใต้รัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง หรือรัฐบาลที่ถูกคณะรัฐประหารยึดและสืบทอดอำนาจมามากกว่ากัน
ใต้รัฐบาลพลเรือนหรือรัฐบาลทหารมากกว่า?
นับเป็นเวลา 90 ปี หรือ 32,872 วัน ตั้งแต่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 – 24 มิถุนายน พ.ศ. 2565 โดย The MATTER ได้ลองนับระยะเวลาที่สังคมไทยอยู่ใต้การปกครองของรัฐบาลพลเรือนและรัฐบาลทหาร หรือรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารและมีการสืบทอดอำนาจพบว่า
รัฐบาลพลเรือนและรัฐบาลจากการเลือกตั้งครองตำแหน่งทั้งหมด 14,971 วัน หรือคิดเป็น 45.54% โดยแบ่งเป็น
- ระยะที่หนึ่ง 281 วัน ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 – 31 มีนาคม พ.ศ. 2476
ตั้งแต่คณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครอง ถึงก่อนพระยามโนปกรณ์นิติธาดาประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร
- ระยะที่สอง 5,254 วัน ตั้งแต่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 – 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490
ตั้งแต่พระยาพหลพยุหเสนายึดอำนาจถึงก่อน พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ยึดอำนาจ พ.ศ. 2490
- ระยะที่สาม 1,087 วัน ตั้งแต่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 – 5 ตุลาคม พ.ศ. 2519
ตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลา ถึงก่อนล้อมปราบนักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ 6 ตุลา
- ระยะที่สี่ 934 วัน ตั้งแต่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2531 – 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534
ตั้งแต่ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ รับตำแหน่งนายกฯ ถึงก่อน รสช. รัฐประหาร
- ระยะที่ห้า 5,110 วัน ตั้งแต่ 23 กันยายน พ.ศ. 2535 – 18 กันยายน พ.ศ. 2549
ตั้งแต่ ชวน หลีกภัย เข้ารับตำแหน่งนายกฯ สมัยแรก ถึงก่อนรัฐประหาร คมช.
- ระยะที่หก 2,305 วัน ตั้งแต่ 29 มกราคม พ.ศ. 2551 – 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2557
ตั้งแต่ สมัคร สุนทรเวช เข้ารับตำแหน่งนายกฯ ถึงก่อน คสช. รัฐประหาร
รัฐบาลทหารและสืบทอดอำนาจครองตำแหน่งทั้งหมด 17,901 วัน หรือคิดเป็น 54.46% โดยแบ่งเป็น
- ระยะที่หนึ่ง 80 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 – 19 มิถุนายน พ.ศ. 2476
ตั้งแต่พระยามโนปกรณ์นิติธาดาประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎรจนถึงพระยาพหลพยุหเสนายึดอำนาจ
- ระยะที่สอง 9,471 วัน ตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 – 13 ตุลาคม พ.ศ. 2516
ตั้งแต่ พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ยึดอำนาจจากรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ จนไปถึงเหตุการณ์ 14 ตุลา ซึ่งเป็นยุคที่เต็มไปด้วยกบฏ การรัฐประหาร และการเลือกตั้งอันไม่ชอบมาพากล
- ระยะที่สาม 4,320 วัน ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 – 3 สิงหาคม พ.ศ. 2531
ตั้งแต่หลังเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาใน ม.ธรรมศาสตร์ จนถึง พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เข้ารับตำแหน่งนายกฯ
- ระยะที่สี่ 577 วัน ตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 – 22 กันยายน พ.ศ. 2535
ตั้งแต่คณะ รสช. รัฐประหาร ถึง ชวน หลีกภัย เข้ารับตำแหน่งนายกฯ ในสมัยแรก
- ระยะที่ห้า 497 วัน ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 – 29 มกราคม พ.ศ. 2550
ตั้งแต่ คมช. รัฐประหาร ถึง สมัคร สุนทรเวช เข้ารับตำแหน่งนายกฯ
- ระยะที่หก 2,956 วัน ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 – 24 มิถุนายน พ.ศ. 2565
ตั้งแต่ คสช. รัฐประหาร ถึง ปัจจุบัน
รัฐประหาร 13 ครั้ง
เป็นที่ทราบกันดีว่าไทยเรานั้นขึ้นชื่อเรื่องลับ ลวง พราง และการยึดอำนาจ โดยตลอดระยะเวลา 90 ปีที่ผ่านมา ประชาธิปไตยของไทยเผชิญกับการรัฐประหารทั้งหมด 13 ครั้ง โดยตัวแสดงหลักไม่ใช่ใครที่ไหน แต่คือกองทัพนั่นเอง
- รัฐประหารครั้งที่ 1 วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476
พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ซึ่งเป็นนายกฯ คนแรกและมาจากการแต่งตั้งของคณะราษฎรได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร พร้อมงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา
- รัฐประหารครั้งที่ 2 วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476
พล.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ยึดอำนาจรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ทำให้อำนาจทางการเมืองหลังจากนี้ตกอยู่ในมือของคณะราษฎรโดยแท้จริง
- รัฐประหารครั้งที่ 3 วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490
พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
- รัฐประหารครั้งที่ 4 วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2491
ห่างไปไม่ถึงขวบปี คณะนายทหารกลุ่มเดิมที่ทำการรัฐประหาร เมื่อ 5 เดือนที่แล้ว ได้บังคับให้ ควง อภัยวงศ์ นายกฯ รัฐมนตรีขณะนั้นลาออก แล้วยกตำแหน่งให้แก่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม หนึ่งในขุนพลสำคัญของคณะราษฎร
- รัฐประหารครั้งที่ 5 วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494
จอมพล ป. พิบูลสงคราม ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง
- รัฐประหารครั้งที่ 6 วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500
และแล้วปฐมบทของยุคมืดก็เริ่มต้น เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประกาศยึดอำนาจจากรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม สิ้นสุดยุคครองอำนาจของคณะราษฎรโดยสมบูรณ์
- รัฐประหารครั้งที่ 7 วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501
เรียกว่าเตี๊ยมกันไว้ก็ไม่ผิดนัก เมื่อจอมพลสฤษดิ์ยึดอำนาจจากรัฐบาลที่ตนตั้งขึ้นมาเองของจอมพลถนอม กิตติขจร และเป็นจุดเริ่มต้นของยุคอันน่าหวาดหวั่น จาก ม.17 ที่ให้อำนาจนายกฯ อย่างล้นฟ้า
- รัฐประหารครั้งที่ 8 วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514
ภายหลังการชัยชนะในการเลือกตั้งของ จอมพลถนอม รัฐสภาเต็มไปด้วยความวุ่นวาย เมื่อพรรคการเมืองต่างทวงผลประโยชน์ที่จอมพลถนอมเคยสัญญาไว้ ทำให้เขาประกาศยึดอำนาจรัฐบาลตนเองเสียเลย
- รัฐประหารครั้งที่ 9 วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519
ภายหลังการล้อมปราบนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ก็ได้ประกาศยึดอำนาจจากรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และแต่งตั้ง ธานินทร์ กรัยวิเชียร เจ้าของสมญานาม “รัฐบาลก้นหอย” ขึ้นเป็นนายกฯ
- รัฐประหารครั้งที่ 10 วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520
แต่เพราะบริหารไม่ถูกใจ จัดสรรผลประโยชน์ไม่ลงตัว นำโดย พล.ร.อ.สงัด จึงประกาศยึดอำนาจอีกครั้ง และคราวนี่แต่งตั้ง พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ขึ้นเป็นนายกฯ แทน
- รัฐประหารครั้งที่ 11 วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534
ภานหลัง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ตัดสินใจลงจากอำนาจได้เพียง 4 ปี กองทัพก็เข้ามาปกป้องบ้านเมืองอีกครั้ง โดยคราวนี้ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ได้นำลังทหารเพื่อยึดอำนาจรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ก่อนปูทางสู่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ และวลีอันโด่งดังว่า “เสียสัตย์เพื่อชาติ” ของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร
- รัฐประหารครั้งที่ 12 วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549
หลังม็อบพันธมิตรที่นำโดย สนธิ ลิ้มทองกุล ปักหลักเรียกร้องให้กำจัดระบอบทักษิณ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ก็ได้ประกาศยึดอำนาจจากรัฐบาลของ ทักษิณ ชินวัตร และแต่งตั้ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุฬานนท์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี
- รัฐประหารครั้งที่ 13 วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557
และมาถึงการรัฐประหารครั้งล่าสุดที่หลายคนน่าจะจำได้ดี เพราะหลัง ‘มวลมหาประชาชน’ ที่นำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ พยายามปิดคูหาล้มการเลือกตั้ง และศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำตัดสินให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ได้ประกาศยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และครองอำนาจเรื่อยมาถึงปัจจุบัน
กบฏ 10 ครั้ง
คำว่า ‘กบฏ’ ถ้าจะอธิบายให้เข้าใจได้ง่ายคือ ความพยายามรัฐประหารที่ล้มเหลวนั่นเอง โดยการกบกฎทั้ง 10 ครั้งหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเกิดขึ้น ดังนี้
- ครั้งที่ 1 กบฏบวรเดช วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2476
นับว่าเป็นการตอบโต้คณะราษฎรครั้งแรกจากฝ่ายนิยมเจ้า นำโดย พระองค์เจ้าบวรเดช ที่ได้นำทัพจากศูนย์บัญชาการในโคราชเข้ามาปะทะกับกองกำลังของฝ่ายคณะราษฎร ก่อนพ่ายแพ้และนำไปสู่ที่มาของอนุสาวรีย์หลักสี่ หรืออนุสาวรีย์ปราบกบฏในเวลาต่อมา
- ครั้งที่ 2 กบฏนายสิบ วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2478
นายหนหวย นักหนังสือพิมพ์รุ่นเก่าอธิบายว่า ความพยายามก่อกบฏครั้งนี้เกิดขึ้นจากความผูกผันระหว่างนายทหารชั้นประทวนกับระบบเจ้านาย อย่างไรก็ตาม การกบฏที่เตรียมการไว้ว่าจะมีขึ้นในวันที่ 6 สิงหาคม ก็ไม่เกิดขึ้น เพราะจอมพล ป. พิบูลสงครามล่วงรู้เข้าเสียก่อน
- ครั้งที่ 3 กบฏพระยาทรงสุรเดช วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2481
กบฏพระยาทรงสุรเดช หรือกบฏ 18 ศพ กบฏครั้งนี้เกิดจากความขัดแย้งระหว่างคณะผู้ก่อการคณะราษฎร จอมพล ป. และพระยาทรงสุรเดช โดยภายหลังที่จอมพล ป. ขึ้นมามีอำนาจ ได้มีคำสั่งให้พระยาทรงสุรเดชพ้นจากราชการ ก่อนมีการคุมตัวผู้ต้องหาหลายรายด้วยข้ออ้างว่ามีความพยายามก่อกบฏ ซึ่งในที่สุด นำไปสู่การประหารชีวิตผู้ต้องหา 18 ราย โดยการไต่สวนจากศาลพิเศษที่จอมพล ป. ตั้งขึ้นเอง
- ครั้งที่ 4 กบฏเสนาธิการ วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2491
การกบฎครั้งนี้เกิดขึ้นจากความไม่พอใจการรัฐประหารของ พล.ท.ผิน ทำให้นายทหารระดับเสนาธิการหลายคนเตรียมตัวที่จะก่อกบฏ อย่างไรก็ตาม ทางรัฐบาลทราบเรื่องเสียก่อนและได้เข้าจับกุมตัวคณะผู้ก่อการทั้งหมด
- ครั้งที่ 5 กบฏวังหลวง วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492
เรียกได้ว่าเป็นความพยายามโต้กลับหลังการรัฐประหารติดต่อกัน 2 ครั้งของ พล.ท.ผิณ โดยการกบฏครั้งนี้นำโดย ปรีดี พนมยงค์, ขบวนการเสรีไทยบางส่วน และคณะนายทหารเรือได้นำกองกำลังเข้ายึดสถานที่สำคัญหลายแห่งในกรุงเทพฯ อย่างไรก็ตาม สุดท้ายฝ่ายก่อการก็พ่ายแพ้ให้แก่ฝ่ายของจอมพล ป. ในที่สุด
- ครั้งที่ 6 กบฏแมนฮัตตัน วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2494
เรียกได้ว่าเป็นทศวรรษแห่งการต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจทางการเมือง โดยกบฏกลุ่มนี้เรียกตัวเองว่า ‘คณะกู้ชาติ’ ได้นำเรือรบหลวงศรีอยุธยาเข้าจับตัวจอมพล ป. ระหว่างเป็นประธานในพิธีรับมอบเรือขุดสันดอนสัญชาติอเมริกัน ชื่อ ‘แมนฮัตตัน’ อย่างไรก็ตาม ฝ่ายรัฐบาลก็ใช้อาวุธจมกองเรือของฝ่ายก่อการได้สำเร็จ และทางจอมพล ป. ก็สามารถว่ายน้ำกลับเข้าฝั่งและรอดชีวิตกลับมาได้อย่างหวุดหวิด
- ครั้งที่ 7 กบฏสันติภาพ วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495
กบฏครั้งนี้สืบเนื่องจากที่จอมพล ป. ได้มีคำสั่งให้ควบคุมตัวฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองหลายราย ซึ่งหลายคนในนั้นเป็นสมาชิกคณะกรรมการสันติภาพแห่งประเทศไทย ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อต่อต้านสงครามเกาหลี และการเข้ามาแทรกแซงของรัฐบาลสหรัฐฯ โดยผู้ที่ถูกจับในครั้งนี้ อาทิ กุหลาบ สายประดิษฐ์ นักหนังสือพิมพ์, ทองใบ ทองเปาต์ บ.ก.หนังสือพิมพ์ไทยใหม่ และมารุต บุนนาค ประธานกรรมการสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ครั้งที่ 8 กบฏทหารอากาศ วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2507
ความพยายามก่อการในครั้งนี้ไม่ค่อยได้ถูกพูดถึงมากนัก โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้งหมด 10 คน ซึ่งอ้างว่าวางแผนก่อการในวันที่ 3 ธันวาคมปีเดียวกัน โดยมีหัวหน้าคือ พล.อ.อ.นักรบ บิณศรี อดีตรองผู้บัญชาการทหารอากาศ
- ครั้งที่ 9 กบฏ 26 มีนา วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520
ความพยายามครั้งนี้เกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา ได้ไม่นาน โดยในรุ่งเช้าของวันที่ 26 มีนาคม พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ และนายทหารกลุ่มหนึ่ง ได้นำกองกำลังทหารจากกองพลที่ 9 เข้ายึดสถานที่สำคัญหลายแห่งในกรุงเทพฯ พร้อมทั้งออกประกาศทางวิทยุอ้างถึงความเสื่อมโทรมหลังการยึดอำนาจ
อย่างไรก็ตาม ในที่สุดทางคณะรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร (พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่) ก็ได้เข้าควบคุมสถานการณ์และเจรจาให้คณะผู้ก่อการเดินทางออกนอกประเทศ ยกเว้น พล.อ.ฉลาด ที่ถูกยิงเป้า และกลายเป็นกบฏคนสุดท้ายที่ถูกตัดสินโทษประหารชีวิต
- ครั้งที่ 10 กบฏเมษาฮาวาย วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2524
กบฏเมษาฮาวาย หรือรู้จักกันในชื่อกบฏยังเติร์ก เป็นความพยายามยึดอำนาจการปกครองของกลุ่มนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ารุ่น 7 โดยเป็นการกบฏที่มีนายทหารเข้าร่วมมากถึง 42 กองพัน หรือนับว่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย แถมการกบฏครั้งนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากประชาชนบางส่วน
และถึงแม้ คณะผู้ก่อการจะประกาศยุบสภา, ยกเลิกรัฐธรรมนูญ รวมถึงถอดถอนรัฐมนตรี แต่การกบฏครั้งนี้ก็ต้องล้มเหลวเนื่องจากในหลวง ร.9 ไม่รับรอง ทำให้คณะผู้ก่อการยอมแพ้และต้องหลบหนีออกนอกประเทศในที่สุด
รัฐธรรมนูญไทย 20 ฉบับ
ตลอดระยะเวลาเปลี่ยนแปลงการปกครอง 90 ปี ไทยมีรัฐธรรมนูญมาแล้วทั้งหมด 20 ฉบับ นับเป็นชาติที่มีรัฐธรรมนูญมากที่สุดเป็นอันดับ 4 รองจาก เฮติ (23 ฉบับ), เวเนซุเอลา (26 ฉบับ) และโดมินิกัน (39 ฉบับ)
สำหรับรัฐธรรมนูญไทยฉบับที่โดดเด่น เช่น รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ซึ่งได้รับการพูดถึงว่ามีความเป็นประชาธิปไตยสูงที่สุด โดยกำหนดว่านายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง กล่าวคือเป็น ส.ส. ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ หนึ่งใบสำหรับ ส.ส. เขต อีกหนึ่งใบสำหรับ ส.ส. บัญชีรายชื่อ รวมถึงกำหนดให้ ส.ว. ทั้ง 200 คนต้องมาจากการเลือกตั้ง
หรือฉบับที่โดดเด่นไปอีกด้าน เช่น ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 ซึ่งถูกใช้ในสมัยจอมพลสฤษฏิ์ และจอมพลถนอม โดยจุดที่โดดเด่นมากของรัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่ในมาตรา 17 ซึ่งให้อำนาจนายกฯ สามารถกระทำการใดๆ เพื่อระงับเหตุโดยชอบด้วยกฎหมาย นำไปสู่เหตุการณ์ อาทิ เหตุการณ์เพลิงไหม้ที่ ต.บางยี่เรือ กรุงเทพฯ จอมพลสฤษฏิ์ได้สั่งประหารชีวิต ซ้ง แซ่ลิ้ม โดยให้เหตุผลว่าเขาจ้างวางเพลิง นอกจากนี้ยังมีอีกหลายกรณีที่กฎหมายมาตรานี้ถูกใช้แทนอำนาจที่ไม่ต่างจากศาลเตี้ย
เลือกตั้ง 28 ครั้ง
ไทยมีการเลือกตั้ง ส.ส. มาแล้วทั้งหมด 28 ครั้ง โดยครั้งแรกเกิดขึ้นในวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 หรือภายหลังพระยาพหลพยุหเสนายึดอำนาจจากพระยามโนปกรณ์นิติธาดา
เมื่อนึกถึงการเลือกตั้ง ครั้งที่โดดเด่นมากครั้งหนึ่งคือ การเลือกตั้งครั้งที่ 9 ที่มีขึ้นในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 โดยในครั้งนั้นมีพรรคลงสนามมากถึง 23 พรรค เพื่อแย่งชิงเก้าอี้ ส.ส. 160 ที่นั่งในสภา อย่างไรก็ตาม พรรคที่กวาดที่นั่งไปได้มากที่สุดคือ พรรคเสรีมนังคศิลา ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม
แต่ที่ว่าโดดเด่นไม่ได้พูดในเชิงชื่นชม เพราะในการเลือกตั้งครั้งนั้นมีรายงานเหตุผิดปกติมากมายทั้งการใช้พลร่ม หรือกลุ่มคนที่เวียนลงคะแนนให้พรรคเสรีมนังคศิลาซ้ำแล้วซ้ำอีก การส่งอันธพาลเข้าไปก่อกวน จนทำร้ายกรรมการเลือกตั้งแล้วบุกเข้าไปลงคะแนนให้พรรคจอมพล ป. หรือกรณีเขตเลือกตั้งลุมพินีไฟดับกลางคัน แล้วหลังจากกลับมานับต่อพบว่ามีบัตรลงคะแนนเกินผู้มาเลือกตั้ง และถึงแม้จอมพล ป. จะปฏิเสธว่านี่ไม่ใช่ ‘การเลือกตั้งสกปรก’ เป็นเพียง ‘การเลือกตั้งที่ไม่เรียบร้อย’ แต่เหตุการณ์นี้เองเป็นชนวนให้ประชาชนจำนวนมากไม่พอใจ และเปิดทางให้จอมพลสฤษฏิ์ทำการยึดอำนาจ สิ้นสุดยุคของคณะราษฎรโดยสมบูรณ์
Top 5 นายกฯ ครองอำนาจนานที่สุด
สำหรับนายกฯ ที่ครองอำนาจนานที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ (แตน แต่น แต๊นน)
- จอมพล ป. พิบูลสงคราม 5,505 วัน
สำหรับ แปลก พิบูลสงคราม หนึ่งในแกนนำของคณะราษฎรนั้นครองอำนาจอยู่หลายช่วง ทั้งระหว่างที่เขามีอายุเพียง 41 ปี ในช่วง พ.ศ. 2481 – 2487 ก่อนลาออกหลัง พ.ร.ก.นครบาลเพชรบูรณ์ หรือความพยายามย้ายเมืองหลวงแห่งใหม่ไม่ผ่านสภา และกลับมามีอำนาจอีกครั้งหลัง พล.ท.ผินรัฐประหารในช่วง พ.ศ. 2491 – 2500
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจอมพลสฤษฎิ์ยึดอำนาจหลัง พ.ศ. 2500 จอมพล ป. ก็ต้องลี้ภัยไปที่ญี่ปุ่น ก่อนเสียชีวิตที่นั่นในวัย 67 ปี
- จอมพลถนอม กิตติขจร 3,889 วัน
อีกหนึ่งนายทหารระดับสูงที่ครองอำนาจยาวนานกว่า 10 ปี โดยจอมพลถนอมเริ่มมีอำนาจช่วงแรกหลังจอมพลสฤษฎิ์ยึดอำนาจใน พ.ศ. 2500 และภายหลังที่จอมพลสฤษฏิ์เสียชีวิตใน พ.ศ. 2507 เขาก็ขึ้นครองอำนาจต่ออย่างยาวนาน ร่วมกับ จอมพลประภาส จารุเสถียร และ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ก่อนสิ้นสุดยุคสมัย 3 นายพลในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516
- พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ 3,076 วัน
เจ้าของตำแหน่ง ‘รัฐบุรุษ’ และเจ้าของฉายาอีกมากมายรวมถึง ‘ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ’ และ ‘นักฆ่าแห่งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา’
สำหรับช่วงที่ ‘ป๋าเปรม’ ขึ้นมามีอำนาจถูกนักรัฐศาสตร์จำกัดความไว้ว่าเป็นช่วงประชาธิปไตยครึ่งใบกล่าวคือ มีการดีลผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มชนชั้นนำของไทยทั้งข้าราชการ ทหาร นักการเมือง และนักธุรกิจ จึงทำให้ไม่ว่าในสภาจะมีพรรคไหนอยู่บ้าง คนที่นั่งหัวโต๊ะจะเป็นป๋าเสมอ
- พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 2,924 วัน
คงไม่ต้องพูดอะไรมากมายกับชายคนนี้ แต่ที่น่าสนใจคือถ้าหากเขายังมีโอกาสได้รับเลือกตั้งในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้า [ที่คาดว่าเกิดขึ้นปีหน้า หรือ 2566] เขาจะมีโอกาสไต่อันดับขึ้นไปถึงตำแหน่งนายกฯ ครองอำนาจนานที่สุดตลอดกาลอันดับ 2 แซงทั้งจอมพลถนอม และ พล.อ.เปรมได้เลย … แต่จริงๆ แล้วพอเถอะ
- ทักษิณ ชินวัตร 2,042 วัน
ทักษิณเป็นนายกฯ จากการเลือกตั้งคนเดียวที่โผล่เข้ามาในลิสต์นายกฯ ที่ครองอำนาจนานที่สุด โดยเขาชนะการเลือกตั้ง พ.ศ. 2544 ก่อนอยู่จนครบวาระ และชนะอีกครั้งคราวนี้ด้วยคะแนนที่ถล่มทลายใน พ.ศ. 2548 อย่างไรก็ตาม ในที่สุดเขาถูกรัฐประหารด้วยมือของ คมช.
“.. ประเทศจะมีความเป็นเอกราชอย่างพร้อมบูรณ์ ราษฎรจะได้รับความปลอดภัย ทุกคนจะต้องมีงานทำ ไม่ต้องอดตาย ทุกคนจะมีสิทธิเสมอกัน และมีเสรีภาพพ้นจากการเป็นไพร่ เป็นข้าเป็นทาสของพวกเจ้า หมดสมัยที่เจ้าจะทำนาบนหลังราษฎร สิ่งที่ทุกคนพึงปรารถนา คือความสุขความเจริญอย่างประเสริฐ ซึ่งเรียกกันเป็นศัพท์ว่า “ศรีอาริย” นั้น ก็จะพึงบังเกิดขึ้นแก่ราษฎรถ้วนหน้า” ข้อความตอนท้ายจากประกาศคณะราษฎร 2475