ในการชุมนุมครั้งที่ผ่านมาไม่นานนี้ เราคงเห็นภาพของกลุ่มชายหนุ่ม (ส่วนใหญ่) ที่ปัดผมแสกกลาง สวมเสื้อกระสอบลายยุค 90 กางเกงยีนส์ขากระบอก และรองเท้าคอนเวิร์สหัวกลมมน พร้อมสวมปลอกแขนสีขาวมีตัวหนังสือเขียนว่า ‘ฟันเฟืองประชาธิปไตย’ คู่กับแมสก์สีดำที่มีข้อความ ‘อาชีวะเพื่อนประชาธิปไตย’ คอยดูแล ร่วมเดิน และเป็นหูเป็นตาให้กับกลุ่มผู้ชุมนุม
ถามไปก็ไม่ใครปฏิเสธว่า เด็กอาชีวะขึ้นชื่อในเรื่องของความบ้าพลัง ใจถึง รักพวกพ้อง จนหลายคนมีภาพติดตาว่ากลุ่มอาชีวะนั้น ‘น่ากลัว’
แต่ขณะเดียวกัน ไม่มีใครปฏิเสธเช่นกันว่า เมื่อใดก็ตามที่พวกเขารวมตัวกันและประกาศยืนข้างประชาชนและประชาธิปไตย พวกเขาคือกำลังสำคัญที่ประชาชนสามารถเอนหลังพิง ไว้เนื้อเชื่อใจได้
เรามีโอกาสพูดคุยกับ ‘หมู’ ผู้ประสานงานจากลุ่มฟันเฟืองประชาธิปไตยและกลุ่มอาชีวะเพื่อนประชาธิปไตย ถึงจุดยืน หน้าที่ และความหมายของ ‘ใจแลกใจ’ ที่ทำให้กลุ่มอาชีวะมารวมตัวกัน ตลอดจนเรื่องราวการต่อสู้ส่วนตัวในชีวิตเขา และความฝันที่เขาวาดหวังให้สังคมเดินไป ทั้งในแง่การเมือง และภายในกลุ่มอาชีวะเอง
(1)
หมู อาชีวะ
หมูเกิดและเติบโตในจังหวัดนนทบุรี ในสมัยวัยรุ่น เขาก็เหมือนเด็กวัยรุ่นคนอื่นทั่วไปที่เฮละโลตามเพื่อน หรือรุ่นพี่ที่คิดว่าเท่ ใช้ชีวิตเสเพลและไม่ยอมคน แต่เมื่ออายุได้ 21 ปี ชีวิตเขาก็พลิกผัน หลังศาลนั่งบัลลังก์ ตัดสินโทษ ‘ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา’ ให้แก่เขา
หมูหวนถึงเหตุการณ์ครั้งเป็นชายหนุ่มเลือดร้อน และได้รับการยกย่องจากกลุ่มพี่น้องว่าเป็น ‘ประธานสาย’ ว่า “ตามวิถีช่าง พี่ก็นำน้องลุยแล้วเจอคู่อริ คู่อริที่เจอเนี่ยเป็นเด็กปี 1 แต่รุ่นพี่ปี 3 ของโรงเรียนมันกอดคอกินเหล้าด้วยกัน พี่ก็ไล่มัน เพราะไม่อยากมีเรื่อง แต่ว่าเขาไม่ไป ก็อย่างว่าเด็กปี 1 เขาก็ห้าว เขาก็ปะทะกับพี่”
หมูเว้นจังหวะหายใจก่อนเล่าต่อถึงวินาทีที่เปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาล “ด้วยความที่ฝั่งเราคนน้อย ตอนนั้นเด็กช่างก็จะพกปืนปากกากัน เราก็ยิง ตอนแรกก็ไม่คิดว่าจะโดนคนตาย” เขาเบนสายตาออกไปนอกหน้าต่าง ก่อนเล่าต่อว่า “ตอนนั้นกลุ่มพี่มันจะมี 5-6 คน พี่ก็ปัดทุกคนออกหมดเลย เพราะว่าปืนมันมีแค่กระบอกเดียว ก็รับคนเดียว โดนเต็มๆ”
หมูถูกศาลตัดสินโทษรวมทั้งหมด 22 ปี แต่เมื่อรับสารภาพเขาจึงได้รับการลดโทษเหลือ 16 ปี 19 เดือน 6 วัน ก่อนได้รับการพระราชทานอภัยโทษ 2 ครั้ง ทำให้ติดจริง 8 ปี 11 เดือน 5 วัน
แววตาของหมูเป็นประกาย เมื่อย้อนคิดถึงพระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ 9 เขากล่าวว่า “พี่ถึงกล้าบอกกับเด็กอาชีวะเถื่อนว่า อย่าหาว่ากูไม่รักสถาบัน กูนี่โคตรรักสถาบันเลย โคตรรักในหลวง ร.9 เลย เพราะท่านพระราชทานอภัยโทษให้พี่ 2 ครั้ง”
หมูเล่าถึงวันเวลาที่ติดอยู่ในเรือนจำว่า มันเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก อาหารการกินหรือน้ำที่ใช้ในแต่ละวันก็ไม่ได้สะอาด ที่หลับที่นอนก็คับแคบอึดอัด เพียงแค่ลุกเดินไปห้องน้ำก็ถูกคนอื่นแย่งที่นอน รวมถึงการละเมิดสิทธิในร่างกายของผู้ต้องหาโดยผู้คุมเรือนจำ ซึ่งหมูเล่าว่า เพียงสามเดือนที่เพื่อนของเขาเข้าไปอยู่ในเรือนจำ ก็ถูกเจ้าหน้าที่ซ้อมจนช้ำในเสียชีวิต ซึ่งเขากล่าวว่ามันเป็นบทเรียนในการวางตัวอยู่ในโลกสี่เหลี่ยมแห่งนั้น
แทนที่จะถลำลึกลงไปในความมืด หมูเลือกที่จะไม่สุงสิงกับใครมากนักภายในเรือนจำ และใช้วิชาทางด้านศิลปะที่ร่ำเรียนมาหาเลี้ยงตัวเอง โดยการรับวาดรูปบ้าง ทำงานศิลป์ในเรือนจำบ้าง หรือรับจ็อบเขียนจดหมายรัก ส่งถึงคนรักของเพื่อนในโลกข้างนอก เพื่อแลกกับ ‘สบู่’ ที่ก้อนนึงมีมูลค่าเท่ากับเงินสิบบาท สามารถนำไปใช้แทนเงิน ไม่ว่าซื้อขนม บุหรี่ หรืออาหารที่อยากกินได้
ถึงแม้มันจะเป็นช่วงเวลายาวนานกว่า 8 ปี แต่หมูกลับมองว่าสิ่งหนึ่งที่เขาได้เรียนรู้จากโลกสี่เหลี่ยมข้างในนั้นคือ “คำว่าเพื่อนต้องดูเวลาท่ีเรามีปัญหา” เขาเล่าถึงเพื่อนด้วยท่าทีสบายว่า หลังผ่านไปเพียงสองเดือน เพื่อนที่เคยมาเยี่ยมเยือนก็ค่อยๆ หายหน้าหายตา จดหมายที่เคยเขียนมาถึงกันทุกเดือนก็เริ่มเว้นระยะนานขึ้นจนหายไปในที่สุด เหลือเพียงแต่ครอบครัวเท่านั้น ที่ยังคงมาเยี่ยมเยือนอยู่เสมอ
และอีกอย่างที่เขาเล่าอย่างภูมิใจคือ 8 ปีในโลกหลังกรงเหล็ก ทำให้เขาเลิกสูบบุหรี่ได้ขาด ด้วยเหตุผลสองประการคือ เขาเคยถูกบังคับให้กินน้ำผสมยาตั้งเข้าไปอึกใหญ่ จนอาเจียนออกมา และสอง ตอนนี้เขามีลูกสาวสองคนแล้ว คนหนึ่งอายุ 11 ปี และอีกคนหนึ่งอายุ 13 ปี
เขาพูดจบก็หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาอวดรูปเด็กสาวสองคนชูสามนิ้วให้กับกล้องโทรศัพท์ ก่อนเขาจะหันไปพิมพ์ข้อความลงในไลน์ต่อถึงหนึ่งในเด็กสาวสองคนนั้น
(2)
ครอบครัว
ภายหลังที่หมูออกมาจากเรือนจำ เขาออกมารับงานทาสีอยู่พักหนึ่ง ก่อนที่จะได้พบกับอดีตภรรยา ซึ่งเป็นแม่ของลูกสาวทั้งสองคนของเขา เขาเล่าถึงเธอว่า “เธอนับถือศาสนาอิสลาม อายุน้อยกว่าพี่หนึ่งรอบ (12 ปี) แต่แม่เขาแก่กว่าพี่ 2 ปี พี่ก็สนิทกับแม่ยาย กอดคอกันเลย เขาโอเคดีกับพี่มาก ก็อยู่ด้วยกันเกือบ 7-8 ปี”
“แต่ด้วยความอะไรหลายๆอย่าง พอพี่เริ่มหันมาเล่นเฟซบุ๊ก ก็เริ่มเสียคน (หัวเราะ) เริ่มกลับมาเจอเพื่อน เริ่มเที่ยวกับเพื่อน เริ่มติดผู้หญิง สุดท้ายเขา (แฟน) ก็ทนไม่ไหว ก็จากกันด้วยดี” หมูยังคงยิ้มเมื่อสิ้นประโยคดังกล่าว ผิดกับนัยตาที่ดูสับสน
คนทั้งคู่ตกลงกันว่าจะให้หมูเป็นคนเลี้ยงลูกทั้งสองคน ซึ่งแฟนเก่าของหมูก็ยินยอมแและตกลงที่จะขอแวะมาหาเป็นระยะๆ ทำให้ตอนนี้หมูรับหน้าที่เป็นทั้งพ่อและแม่ของเด็กสาวตัวน้อยทั้งสองคน
และดูเหมือนว่าเด็กสาวทั้งสองคนจะคล้ายเขาไม่ใช่น้อย เพราะทั้งคู่ชอบศิลปะเป็นชีวิตจิตใจ ทุกครั้งที่หมูกลับถึงบ้าน ลูกสาวทั้งสองจะผลัดกันมาอวดรูปที่วาดให้เขาดู
ทุกวันนี้ หมูเลิกรับงานช่างทาสีแล้ว และหันมาเปิดร้านขายเสื้อผ้ามือสองและถุงเท้าอยู่ตามตลาดนัดในอยุธยา ซึ่งเขาก็ต้องแบ่งเวลาระหว่างธุรกิจของตัวเขาเอง กับหน้าที่ในฐานะผู้ประสานงานกลุ่มเพื่อนอาชีวะเพื่อนประชาธิปไตย และกลุ่มฟันเฟืองเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเขาก็ยอมรับว่ามันหนักหนาสาหัสอยู่ เพราะไม่ใช่แต่เพียงเรื่องเวลา และหน้าที่การงานที่ซ้อนทับกันเท่านั้น พิษเศรษฐกิจก็เป็นอีกเรื่องที่ท้าทายอยู่ตลอด
เขาเล่าถึงคำพูดที่พูดกับพี่น้องในกลุ่มว่า “เออ เดี๋ยวกูจบงานนี้ กูกลับไปขายของแล้วนะ ไม่ไหวแล้ว” แต่พี่น้องในกลุ่มก็ดูเหมือนจะไม่ยอมให้เขาไปง่ายๆ และผลัดกันรวงบรวมเงินมาให้หมู แทนรายได้และเวลาที่สูญเสียไป ซึ่งหมูก็น้อมรับน้ำใจแต่โดยดีทุกครั้ง เขาจะเก็บส่วนหนึ่งไว้ให้ตัวเอง และแบ่งอีกส่วนไว้เป็นค่าขนมลูก
เขาพูดจบก็หัวเราะเหมือนมันไม่ใช่เรื่องใหญ่ใดๆ ในหมู่ผู้คนที่ยึดวลี ‘ใจแลกใจ’ เป็นเข็มทิศนำชีวิต
(3)
ฟันเฟืองและอาชีวะเพื่อนประชาธิปไตย
“ใจตรงกัน” คือคำที่หมูใช้อธิบายที่มาของกลุ่มฟันเฟืองประชาธิปไตย และกลุ่มอาชีวะเพื่อนประชาธิปไตย เขาขยายความข้อความดังกล่าวให้ฟังว่า “ใจตรงกัน เพราะเรารักในประชาธิปไตย”
กลุ่มฟันเฟืองเพื่อประชาธิปไตยรวมตัวขึ้นจากพี่น้องอาชีวะฝั่งธนบุรีที่ไม่พอใจการบริหารงาน และที่มาของรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรม ส่วนกลุ่มอาชีวะเพื่อนประชาธิปไตยเริ่มต้นขึ้นจากการรวมตัวของกลุ่มศิษย์เก่าอาชีวะหลายสถาบัน
หมูกล่าวว่า หน้าที่หลักของทั้งสองกลุ่มคือปกป้องมวลชน โดยจะแบ่งงานกับกลุ่มการ์ดอาสา กลุ่มอาชีวะจะรับหน้าที่ดูความปลอดภัยของมวลชน ขณะที่กลุ่มการ์ดอาสาจะดูแลแกนนำและผู้ปราศรัยเป็นหลัก
โดยจะมีสัญลักษณ์สองอย่างที่แจกให้กับสมาชิกกลุ่มคือ แมสก์สีดำที่มีข้อความเขียนว่า ‘อาชีวะเพื่อนประชาธิปไตย’ และปลอกแขนสีขาวที่สกรีนคำว่า ‘ฟันเฟืองอาชีวะประชาธิปไตย’ ซึ่งผู้รับหน้าที่ในการผลิตและแจกจ่ายปลอกแขนทั้งหมดก็คือเขาเอง
เขากล่าวถึงเงินทุนในการทำสัญลักษณ์ทั้งสองชิ้นว่า มาจากการรวบรวมกันเองของกลุ่มอาชีวะ เพราะหลายคนก็มีหน้าที่การงานดี แต่มาร่วมชุมนุมไม่ได้ เขาก็ช่วยสมทบเงินมาแทน เขากล่าวติดตลกว่า “เราไม่มีท่อน้ำเลี้ยง เรามีแต่ท่อประปา”
แม้กลุ่มอาชีวะจะกลมกลืนกับกลุ่มชุมนุมจนเป็นเนื้อเดียวกัน แต่สิ่งหนึ่งที่หมูยึดมั่นไว้ในใจคือ กลุ่มอาชีวะไม่ขอสนับสนุนเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เพราะสำหรับเขาสถาบันกษัตริย์ยังเป็นสถาบันที่ต้องเคารพ และการพาดพิงสถาบันกษัตริย์ ทำให้ผู้ชุมนุมสูญเสียแนวร่วมมากกว่า
อย่างไรก็ตาม หมูยอมรับว่าเรื่องสถาบันกษัตริย์ควรเป็นเรื่องที่ถกเถียง พูดคุยกันได้ หมูกล่าวว่า “ถ้าเราอยากอยู่ร่วมกัน สิ่งสำคัญคือการพูดคุยด้วยสันติ คุณไม่ชอบอย่างนี้ ผมไม่ชอบอย่างนี้ มาปรึกษากัน ลองดูว่าไปด้วยกันได้ไหม ถ้าไม่ได้คุณถอยนิดนึง ผมถอยนิดยึง แล้วเราก็เดินคู่กันไปได้”
(4)
ความฝัน
สำหรับหมู การต่อสู้ครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อตัวเขา หรือเพื่อนอาชีวะเท่านั้น แต่มันก็คือการส่งต่อสังคมที่ดีให้แก่ลูกสาวทั้งสองคนในอนาคต
เขาหวังว่าหากมวลชนได้รับชัยชนะ สังคมจะเกิดการเปลี่ยนแปลง ความเท่าเทียมและความเสมอภาค ระหว่างคนรวยและคนจนจะเกิดขึ้น ไม่มีการดูถูกกันเพราะหน้าที่การงานหรือฐานะ และความยุติธรรมจะกลายเป็นมาตรฐานหลักของสังคมไทย ไม่ใช่ว่าเหมือนในอดีตที่มีวลี ‘คุกไว้ขังคนจน’ แต่เพียงเท่านั้น
ความฝันอีกอย่างหนึ่งของเขาคือ ทำให้กลุ่มอาชีวะทุกสถาบันเลิกตีกัน เขากล่าวถึงมันว่า “จบม็อบแล้วมันก็ยังเป็นเพื่อนเป็นอะไรกันเหมือนเดิม อยากให้ทุกคนจำภาพที่กินน้ำขวดเดียวกันเอาไว้ มันจะได้ไม่ต้องมีปัญหาในสังคมอาชีวะ”
หลังจากนี้ หมูวางแผนที่จะนัดเตะบอลในกลุ่มพี่น้องอาชีวะให้บ่อยขึ้น เปิดวงสังสรรค์ร่ำสุราให้บ่อยขึ้น เพื่อทำให้สังคมภายในอาชีวะเปลี่ยนแปลงไป และเพื่อสังคมภายนอกหันมายอมรับอาชีวะมากขึ้น
“ทุกวันนี้ พอเราไม่ได้ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน ประชาชนกลับรักเรา แล้วถ้าจบจากม็อบแล้ว เรายังเป็นเหมือนเดิม ยังสามัคคีกันเหมือนเดิม ประชาชนก็จะรักเราเหมือนเดิม มันดีกว่า”