หลังจากการตรวจ COVID-19 กลายเป็นเรื่องยากลำบากในประเทศไทย เมื่อหลาย รพ.ไม่รับตรวจ คิวตรวจฟรีก็ยาวข้ามคืน จนมีการพูดถึงการปลดล็อกวิธีตรวจแบบ Rapid Antigen Tests ให้ใช้ในประเทศไทยได้
ซึ่งการตรวจแบบนี้ หลายประเทศเริ่มปลดล็อกให้ประชาชนเข้าถึงได้ รวมถึงไทยที่ก็มีการปลดล็อก และจะเริ่มให้ประชาชนทั่วไปมีการใช้ในไทยในวันพรุ่งนี้ (13 ก.ค.2564) ท่ามกลางคำถามว่า จะตรวจฟรีไหม หากขาย จะมีราคาเท่าไหร่ ?
The MATTER รวบรวมข้อมูลของประเทศที่มีการใช้อุปกรณ์ตรวจ Rapid Antigen Tests เป็นหนึ่งในวิธีตรวจหาเชื้อเบื้องต้นเช่นกันว่า พวกเขามีนโยบาย หรือมาตรการการใช้อย่างไร ประเทศไหนฟรีบ้าง หรือหากขาย มีราคาเท่าใด หาซื้อกันได้ที่ไหนบ้าง มาให้ดูเพื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทยกัน
อังกฤษ
อังกฤษ มีการประกาศแจกอุปกรณ์ Rapid Antigen Tests kit ให้กับประชาชนในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยหวังว่าการเข้าถึงการตรวจจะทำให้เจอเชื้อได้ไว และลดการแพร่กระจายเชื้อต่อๆ กันไปได้ โดยจะเป็นการแจกฟรีให้ประชาชนสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ผ่าน Home delivery, ที่ทำงาน, จุดตรวจตามชุมชน และจุดตรวจแบบ PCR ด้วย ซึ่งหากตรวจเองที่บ้าน จะมีเว็บไซต์ให้แต่ละคนที่รับชุดตรวจนั้น เข้าไปกรอกผลออนไลน์ และหากว่าพบว่าติดเชื้อ ก็จำเป็นจะต้องไปตรวจเชื้อแบบ PCR ภายใน 2 วัน เพื่อเป็นการยืนยันด้วย
สวิสเซอร์แลนด์
การแจกอุปกรณ์ตรวจ Rapid Antigen Tests kit ในสวิตเซอร์แลนด์เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายนเช่นกัน โดยเป็นการแจกฟรีสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะมีอาการหรือไม่ก็ตาม โดยจะมีโควตาให้ได้รับอุปกรณ์นี้ 5 ชุดต่อ 1 เดือน ตามร้านขายยาทั่วไปของประเทศ
แคนาดา
แคนาดามีนโยบายการแจกอุปกรณ์ Rapid Tests Kit ฟรีแก่องค์กรต่างๆ เพื่อการตรวจคัดกรองพนักงานที่ใกล้ชิดในสถานที่ทำงานเป็นประจำ โดยจะมีเว็บไซต์ให้ธุรกิจ และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร กรอกเพื่อขอรับอุปกรณ์ตรวจเหล่านี้ ซึ่งจะไปรับอุปกรณ์ได้ตามร้านขายยา, หอการค้า และสภากาชาดแคนาดาด้วย
เยอรมนี
เยอรมนีเป็นอีกประเทศที่มีการรับรอง ให้ขายอุปกรณ์ Rapid Tests ตามร้านขายยา และซูเปอร์มาเก็ตได้ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยในช่วงนั้นมีรายงานว่า ร้านค้าและซูเปอร์มาเก็ตแต่ละแห่ง จะขายอุปกรณ์นี้ในราคาที่แตกต่างกันไป โดยจะเป็นแพ็กละ 5 ชุด ตกประมาณ 22-25 ยูโร เฉลี่ยชุดละ 170-193 บาท โดยล่าสุด เพจพ่อบ้านเยอรมนีได้อัพเดตว่า ราคาของ Rapid Test ในปัจจุบันลดลงไปเหลือเพียง 80 เซนต์ หรือชุดละ 30 บาทเท่านั้น ซึ่งเกิดจากอุปสงค์ และอุปทาน ที่ตอนนี้คนเข้าถึงการตรวจได้ง่าย และสะดวกมากขึ้นแล้ว
นอกจากการขายชุดตรวจ Rapid Tests แล้ว ตามสถานที่ต่างๆ ในเยอรมนี เช่น ร้านกาแฟที่ปิดตัว ไนท์คลับที่ยังไม่ได้เปิด ก็มีการปรับมาเป็นศูนย์ตรวจ Rapid Tests ฟรีทั่วประเทศด้วย ทำให้การเข้าถึงการตรวจด้วยวิธีต่างๆ เป็นเรื่องที่สะดวกสบาย และง่ายดายมากต่อประชาชน
เกาหลีใต้
เกาหลีใต้ ได้เริ่มขายอุปกรณ์การตรวจ Rapid Tests ในร้านขายยาในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยยี่ห้อ SD Biosensor Inc and Humasis Co Ltd ซึ่งเกาหลีใต้เป็นผู้ผลิตเองนั้น ถูกส่งออก และอนุมัติในยุโรปตั้งแต่ปลายปี 2020 แต่ก่อนหน้านี้ทางเกาหลีใต้ ได้ให้อุปกรณ์ตรวจนี้ไว้ใช้สำหรับบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น ก่อนที่จะขยายให้มีการใช้และขายในประชาชนทั่วไปในเวลาต่อมา โดยราคานั้นอยู่ที่ประมาณ 9,000 – 10,000 วอน หรือชุดละ 280-300 บาท ซึ่งนอกจากตามร้านขายยาแล้ว ยังมีขายทางช่องทางออนไลน์ด้วย
ไต้หวัน
องค์กรอาหารและยาของไต้หวัน ได้อนุมัติการขายอุปกรณ์ตรวจ Rapid Tests ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยจะวางขายตามร้านมินิมาร์ทขนาดใหญ่ 4 แห่งของประเทศอย่าง 7-eleven, Family Mart, Hi-Life และ OK Mart โดยราคาจะแตกต่างกันไป มีทั้งแบบชุดเดี่ยว ที่ราคา 350 ดอลล่าร์ไต้หวัน หรือ 407 บาท ราคาแบบแพ็กละ 5 ชุด 1,700-1800 ดอลล่าร์ไต้หวัน เฉลี่ยชุดละ 395-418 บาท และแบบแพ็กละ 20 ชุด 5,800 ดอลล่าร์ไต้หวัน เฉลี่ยชุดละ 337 บาท
สิงคโปร์
สิงคโปร์ที่ประกาศแผนการอยู่ร่วมกับ COVID-19 เอง ก็ประกาศการวางขายชุดตรวจ Rapid Tests แก่ประชาชน เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเช่นกัน โดยยี่ห้อที่วางขายนั้น ผ่านการรับรองจากหน่วยงานวิทยาศาสตร์สุขภาพ และจะอยู่ที่ชุดละ 10-13 ดอลล่าร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 241-313 บาท ซึ่งจะวางขายตามร้านขายยาทั่วประเทศ และร้านค้าอย่าง Watson Singapore และ Unity Store ด้วย
โดยการเข้าถึงการตรวจที่สะดวก และรวดเร็ว ถึงเป็นหนึ่งในแผนการของสิงคโปร์ที่จะให้ประชาชนใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับ COVID-19 ควบคู่ไปกับการฉีดวัคซีน การรักษาที่มีประสิทธิภาพ และการรักษาระเบียบวินัยของประชาชน
ไทย
ล่าสุด ไทยเองก็ประกาศปลดล็อกการใช้อุปกรณ์ Rapid Tests แล้ว โดย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้แถลงในวันนี้ (12 ก.ค.64) ว่าในช่วงแรกจะให้อุปกรณ์นี้ใช้ในสถานพยาบาลก่อน “ได้แก่ รพ. หรือคลินิก หรือคลินิกชุมชนอบอุ่น หรือคลินิกต่างๆที่ใกล้เคียง สามารถไปขอใช้บริการ ซึ่งเมื่อผลออกมาบวกหรือลบ ทางคลินิกจะช่วยเหลือต่อไป และจะสอนวิธีการตรวจ อีกทั้ง ในอนาคตจะทดสอบด้วยตัวเอง น่าจะเป็นสัปดาห์หน้า วางจำหน่ายในร้านขายยา หากผลบวกลบอย่างไรให้ติดต่อคลินิกใกล้บ้าน เพื่อรองรับตัวท่านต่อไป”
โดยสำหรับการใช้ในไทยนั้น จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 13 ก.ค.64 เป็นต้นไป ซึ่งหากพบผลเป็นลบ แพทย์ได้ขอให้ตรวจซ้ำ 3-5 วัน แต่หากผลบวกให้ติดต่อหน่วยบริการใกล้บ้าน ซึ่ง นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ระบุว่า “ขณะนี้สปสช. กำลังดำเนินการและจะกำหนดว่า สถานพยาบาลแห่งใดบ้าน ที่ประชาชนสามารถร้องขอชุดตรวจที่ไหนบ้าง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่อนาคตจะเปิดช่องให้สามารถซื้อขายได้ต่อไป ซึ่งเมื่อมีมากราคาก็จะถูกลง”
โดยการขายต้องขายผ่านร้านขายยามีเภสัชกร แต่จะไม่มีการให้ขายในอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีการคาดว่าในการขายราคาจะอยู่ที่ชุดละประมาณ 300-400 บาท
อ่านข้อมูลการแถลงเรื่อง Rapid Antigen Tests ของไทยได้ที่: www.hfocus.org
อ้างอิงจาก