เราอยู่ในยุคสมัยที่อะไรๆ ก็ต้อง 4.0 เนอะ หลากหลายหน่วยงานก็ออกนโยบายมาประชันผลงานกันเต็มที่ เพื่อหวังให้ประเทศเราเดินหน้าสู่ยุคแห่งนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ก้าวไกลอย่างเต็มตัว และเพื่อที่จะเป็นสังคมอันมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน
ยิ่งหลายวันมานี้ คงไม่มีใครที่จะเสนอแนวคิดได้ท็อปฟอร์มไปกว่าสมาชิก สปท. ด้านสื่อสารมวลชนอีกแล้ว โดยเฉพาะสารพัดข้อเสนอว่าด้วยการปฏิรูปโลกออนไลน์ และถ้าย้อนไปดูผลงานอื่นๆ ที่ผ่านมาด้วยแล้วก็ยิ่งสะท้อนได้ถึงความหวังดีที่เค้ามีให้กับพวกเราได้ไม่น้อย
The MATTER จึงไปรวบรวมสุดยอดไอเดียการปฏิรูปประเทศสู่สังคม 4.0 จากคุณอา คุณน้า สปท. ผู้อาสามาขับเคลื่อนการปฏิรูปสื่อฯมาให้ดูกัน รับรองว่าน่าสนใจทั้งนั้น
ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมสื่อฯ
สถานะ: ที่ประชุม สปท.เห็นชอบแล้ว
ถึงแม้จะตั้งชื่อร่างกฎหมายว่า ‘คุ้มครอง’ สื่อฯ แต่เนื้อหาด้านในก็ถูกวิจารณ์ไม่น้อยว่าเน้น ‘ควบคุม’ กันเสียมากกว่า ร่างกฎหมายเวอร์ชั่นล่าสุดนิยามสื่อมวลชนว่า ครอบคลุมไปถึงสื่อออนไลน์ และเจ้าของแฟนเพจที่มีคนติดตามนับหมื่นๆ โดยสื่อทั้งหมดนี้จะต้องมีใบรับรองที่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนเป็นผู้ออกให้
นอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการวิชาชีพและกรรมการจริยธรรมสื่อมวลชน ทำหน้าที่กำกับดูแลการทำหน้าที่ของสื่อ ซึ่งเรื่องนี้ก็ถูกมองว่ามีปัญหาเหมือนกัน เพราะ สปท. ให้มีตัวแทนของฝ่ายการเมืองเข้าไปนั่งด้วย เค้ามองว่ามันจะเป็นการเอาการเมืองมาแทรกแซงสื่อรึเปล่า สื่อหลายสำนักก็เคยตั้งคำถามว่า รูปแบบการควบคุมเช่นนี้มันคล้ายกับย้อนเวลาไปในอดีตเลยเนอะ
ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์
สถานะ: ที่ประชุม สปท.เห็นชอบแล้ว
เป็นร่างกฎหมายที่เนื้อหาร้อนแรงไม่แพ้กัน ถึงกับมีคนตั้งฉายาว่าเป็น ‘กฎอัยการศึกออนไลน์’ กันเลยทีเดียว ถึงแม้ สปท. จะอธิบายว่าบ้านเราจำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันภัยคุกคามความมั่นคงทางไซเบอร์นะ แต่ก็มีข้อน่าสังเกตว่า เนื้อหาในหลายมาตรามันเข้าข่ายละเมิดสิทธิเสรีภาพการแสดงออกในโลกออนไลน์รึเปล่า
ที่เป็นห่วงกันคือการนิยามคำว่า ‘ความมั่นคงไซเบอร์’ กว้างขวางมาก จนอาจตีความให้เจ้าหน้าที่ทำอะไรได้หลายอย่างเลย ซึ่งอาจส่งผลต่อการใช้อำนาจที่ไม่ชัดเจน อีกเรื่องคือการให้อำนาจเจ้าหน้าที่สามารถเข้าถึงข้อมูลการติดต่อสื่อสารทั้งทางไปรษณีย์ โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ในการสื่อสารของประชาชนได้ โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งศาลก่อนในกรณีที่เจ้าหน้าที่เชื่อว่า มันเป็นสถานการณ์เร่งด่วน หรือเห็นว่าคนๆ นั้นเป็นภัยต่อความมั่นคง ตรงนี้แหละที่ทำให้มันดูเหมือนจะเป็น ‘กฏอัยการศึกออนไลน์’ ที่ทำงานตลอดเวลา และอาจน่ากลัวกว่าเวอร์ชั่นออฟไลน์เสียอีก
ม.44 ตั้งศูนย์กลางความมั่นคงไซเบอร์
สถานะ: เสนอให้รัฐบาลแล้ว
เป็นข้อเสนอที่ต่อเนื่องมาจากร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ จากรองประธานกรรมาธิการด้านสื่อของ สปท. พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ คือเค้าเห็นว่า ในร่างกฎหมายเดิมมีข้อเสนอให้จัดตั้ง ‘คณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ’ (กปช.) ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางด้านความมั่นคงไซเบอร์ มีอำนาจเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ของรัฐและเอกชนได้ เมื่อเกิดเหตุที่เป็นภัยคุกคามทางไซเบอร์
พล.ต.ต.พิสิษฐ์ ลุกขึ้นมาเสนอเรื่องนี้กลางที่ประชุมใหญ่เลยว่า รัฐบาลควรใช้ ม.44 จัดตั้งศูนย์นี้ขึ้นมาได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องรอให้ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ผ่านสภาก่อน เพราะมันจำเป็น ทุกวันนี้มีภัยคุกคามที่พวกเราต้องตามให้ทัน (เสนอกันอย่างนี้เลยเนอะ)
รายงานปฏิรูปโซเชียลมีเดีย
สถานะ: ที่ประชุม สปท.เห็นชอบแล้ว
เพิ่งจะผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่ไปสดๆ ร้อนๆ ข้อเสนอที่ สปท. ชงให้กับรัฐบาล และ กสทช. ก็คือ ควรมีการใช้ระบบสแกนใบหน้า สแกนลายนิ้วมือ รวมถึงใช้ข้อมูลจากบัตรประชาชนเพื่อลงทะเบียนก่อนจะเล่นโซเชียลมีเดียผ่านมือถือ เจตนาคือเพื่อจัดระบบการเข้าถึงสื่อออนไลน์ สปท. เห็นว่าจะช่วยลดปัญหาการใช้สื่อที่ไม่เหมาะสม และคนทำผิดจะเกรงกลัวการถูกตรวจสอบตัวตน
ในระยะยาว สปท. เสนอให้ทุกกระทรวงบูรณาการช่วยกันสร้างความรู้เท่าทันสื่อ ข้อเสนอที่น่าสนใจคือ ให้กระทรวงวัฒนธรรมจัดอบรมพระภิกษุและนักบวชเพื่อเป็น ‘ตันแบบ’ การรู้เท่าทันสื่อ ขณะเดียวกัน ก็เสนอให้กระทรวงดิจิทัลร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกมาตรการลงโทษเจ้าของสื่อออนไลน์ต่างประเทศ ที่ปล่อยให้มีเนื้อหาที่สร้างความรุนแรงกับเยาวชน ยังไม่หมด! เค้ายังเสนอให้รัฐบาลส่งเสริมการสร้างโซเชียลมีเดียแบบไทยๆ เอาไว้ใช้เองด้วย เพื่อป้องกันการสูญเสียรายได้และแก้ปัญหาที่กฎหมายไทยดูแลได้ไม่ทั่วถึง
**หมายเหตุ: กระบวนการออกกฏหมายในช่วงเวลานี้ หลังจากที่ สปท.เห็นชอบรายงานหรือร่างกฎหมายต่างๆ แล้วจะส่งต่อไปให้กับที่ประชุม ครม. เห็นด้วยกับเรื่องที่ส่งมา ก็จะส่งต่อไปให้กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาเพื่อออกกฎหมายอย่างเป็นทางการต่อไป (แต่อาจมียกเว้นสำหรับการใช้ ม.44 ที่สามารถประกาศให้มีคุณสมบัติเป็นกฎหมายได้เลยจ้า)
อ้างอิงจาก