“เราไม่ได้เสิร์ฟเนื้อหาที่ทันต่อเวลา แต่เราเน้นงานบทความที่มีน้ำเสียงและลีลาการเล่าเรื่อง พูดง่ายๆ คือใช้บทความนำข่าว” นิ้ว-อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา บรรณาธิการบริหารหญิงของ The MOMENTUM กล่าวถึงแนวคิดในการทำงาน
หากใครยังจำกันได้ ต้นปี 2560 สื่อออนไลน์แห่งนี้ ยังมีหัวเรือใหญ่ชื่อ เคน-นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ ก่อนจะเกิดความเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ ทำให้ทีมงานเดิมบางส่วนย้ายไปร่วมก่อตั้ง The STANDARD เวลาต่อมา อรพิณก็ถูกชักชวนให้เข้ามาขับเคลื่อนสื่อออนไลน์นี้ต่อไป ถือเป็นสื่อตระกูล The เจ้าแรกๆ ที่ก้าวเข้าสู่ ‘รุ่นที่สอง’
ต้นปี 2561 The MOMENTUM ก็เพิ่งจะเปลี่ยนทั้งโลโก้และหน้าจองเว็บไซต์ใหม่ ซึ่งดูสวย ทันสมัย สะอาดตา เพื่อเริ่มต้นสร้างอัตลักษณ์ใหม่ ให้สะท้อนตัวตนของทีมงานชุดปัจจุบัน ที่มีส่วนผสมทั้งผู้มาก่อนและผู้มาใหม่
สิ่งที่เปลี่ยนไปในยุคของอรพิณ ผู้เคยเป็นบรรณาธิการของ iLaw และเคยร่วมงานในทีมข่าวของ WorkpointTV อยู่ช่วงสั้นๆ ก็คือการปรับเปลี่ยน ‘จุดยืน’ จากเดิม ที่วางตัวไว้เป็น ‘สำนักข่าวออนไลน์’ ให้กลายมาเป็น ‘สื่อออนไลน์’ ที่ไม่ได้เน้นแข็งขันเรื่องความเร็ว อีกต่อไป
“แบรนด์ของ The MOMENTUM มีการปรับหลายอย่าง เช่น เปลี่ยนคาแรกเตอร์ที่ไม่ได้เป็นสำนักข่าวอีกแล้ว เนื่องจากส่วนผสมของทีมงานใหม่ที่ทำงานเชิงสกู๊ป บวกกับความสนใจที่หลากหลายทั้งเรื่องศิลปวัฒนธรรม ไลฟ์สไตล์ ไปจนกระทั่งเรื่องหนักๆ อย่างผลกระทบจากนโยบายรัฐบาล”
จุดเด่นของบทความในสื่อออนไลน์แห่งนี้ ก็คือ ทุกเรื่องเล่า ทุกบทความ จะต้องมี ‘น้ำเสียง’ ของผู้เขียน
อรพิณยอมรับว่า The MOMENTUM ไม่ได้เข้าแข่งในสนามความเร็วเฉกเช่นเดียวกับสื่อออนไลน์สำนักอื่นๆ โดยเธอตีความมิติเกี่ยวกับเวลาใหม่ อยากนำเสนองานที่สามารถอ่านได้แบบไร้กาลเวลา
“ถ้าที่ไหนจะนำเสนอเร็วแบบวินาทีต่อวินาที ก็ไม่ใช่เรื่องผิดนะ แต่เราอยากให้บทความของเรามันไร้กาลเวลา สมมติโพสต์วันนี้ จะกดอ่านในอีก 3 วันข้างหน้าก็ยังได้อยู่ เพราะฉะนั้นการทำงาน 1 ชิ้น จะต้องมีความกลมกล่อมของเนื้อหา แบบที่ต่อให้พ้นสถานการณ์ในบทความนั้นไปแล้ว เมื่อยังกลับมาอ่าน ก็ยังเข้าใจได้อยู่ พูดง่ายๆ โจทย์ของเราก็คือจะทำงานทุกชิ้นยังไงไม่ให้เน่า หรือเน่าช้าที่สุด (หัวเราะ)”
นอกจากเรื่องน้ำเสียงและความกลมกล่อม เท่าที่เราได้สนทนากับอรพิณ ก็พบว่า ยังมีอีก 3-4 เรื่องที่ทีมงาน The MOMENTUM ยึดถือในการผลิตเนื้อหา
1.การปูพื้นข่าว ให้รู้เบื้องลึกเบื้องหลัง นอกเหนือจากสกู๊ปหรือบทความ ในปัจจุบัน สื่อออนไลน์นี้ยังนำเสนอ ‘ข่าวสั้น’ ที่เรียกว่า Update อยู่บ้าง แต่ละโพสต์จะมีการบอกว่า ที่มาที่ไปของเรื่องราวในข่าวนั้นๆ เป็นอย่างไร
2.ไม่ยึดติดวิธีเขียนแบบ ‘ปิรามิดหัวกลับ’ ซึ่งเป็นหลักการเขียนข่าวที่พื้นฐานที่สุด คือเข้าประเด็นเร็วๆ เพราะมีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ แต่ในโลกออนไลน์ เรื่องพื้นที่ไม่ใช่ข้อจำกัดอีกต่อไป พอเลิกใช้วิธีเขียนแบบนี้ ก็ทลายข้อจำกัดในการสื่อสารกับคนอ่าน
3.เล่าเรื่องให้สนุก ด้วยชั้นเชิงทางภาษาที่ทีมงานแต่ละคนมี และเล่าให้เป็นมิตรกับคนอ่านมากขึ้น พร้อมเสริมมุมมองต่างๆ เพื่อให้งานชิ้นนั้นมีน้ำหนักและแข็งแรง
4.หาเรื่องราวใหม่ๆ ที่แตกต่างจากสื่ออื่น
“สโลแกนของเรา คือ stay curious, be open งานทุกชิ้นจึงอยากชวนให้คนอ่านได้ร่วมกันขบคิด ตั้งคำถาม โดยเราพร้อมเปิดรับฟังความเห็นในประเด็นนั้นๆ จากคนอ่าน เพราะ The MOMENTUM เป็นสื่อที่มีความเห็น แล้วเราก็ไม่อยากจะอ้างว่าเรามีแต่ข้อเท็จจริง ดังนั้นการเปิดใจกับคนอ่าน จึงมีความสำคัญ”
งานที่มีน้ำเสียง มีความเห็น แล้วจะรักษาความเป็นกลางอย่างไร? เราแอบสงสัย
อรพิณอธิบายว่า พื้นฐานการเขียน อย่างไรก็หนีไม่พ้นความเห็น ตั้งแต่การเลือกประเด็น ว่าจะให้ความสำคัญกับเรื่องไหน บวกกับที่เราไม่ได้เป็นสำนักข่าวแล้ว ทีมงานจึงอยากเปิดเผยอย่างตรงไปตรงมา ว่าเราคิดเห็นอย่างไร ด้วยลีลา น้ำเสียง และจุดยืน แต่น้ำเสียงของเราจะต้องไม่ไปรบกวนใคร กระทั่งคนที่เห็นต่างกับเรา ก็ยังมาเปิดอ่านได้ โดยไม่รู้สึกว่าอยากกดปิดทันที
ปัจจุบัน รายได้หลักของ The MOMENTUM ยังมาจากการรับโฆษณาไม่ต่างจากสื่อออนไลน์อื่นๆ ขณะที่ความถี่ในการนำเสนอเนื้อหา อรพิณตั้งเป้าไว้ว่า อยากให้ยืนพื้นที่ 8 โพสต์/วัน เพิ่มจากในอดีตที่เฉลี่ย 5-8 โพสต์/วัน และจะเพิ่มความหลากหลายของวิธีการเล่าเรื่องให้มากขึ้น เช่น มีคลิปวีดิโอให้มากขึ้น
ถามถึงอนาคตข้างหน้า เธอหัวเราะแล้วตอบว่า “อยากเอาวันนี้ให้รอดก่อน” แต่ก็คาดหวังว่าเมื่อสถานการณ์เริ่มนิ่งแล้ว สื่อออนไลน์ต่างๆ จะหันมาแข่งกันนำเสนอเนื้อหาที่ดีขึ้น เพื่อช่วยกันขยับประเทศและสังคมของเราให้ไปในทางที่ดีขึ้น ..อย่างน้อยๆ ก็ดีกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้