หากมีใครถามว่า ถ้าต้องการอ่านสื่อที่นำเสนอบทความเนื้อหาเข้มข้น เต็มไปด้วยความรู้เชิงวิชาการแต่ถูกย่อยให้เข้าใจง่ายๆ โดยเหล่าผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ ควรจะไปอ่านสื่อไหนดี?
The101.world สื่อออนไลน์ที่ก่อตั้งและนำทีมโดย ‘ปกป้อง จันวิทย์’ อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นชื่อแรกๆ ที่เราจะนึกถึง
“เราเชื่อว่าความรู้เป็นฐานในการทำความเข้าใจและเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้นได้ ยิ่งถ้าเราเอาความคิดสร้างสรรค์มายกกำลังเพิ่มให้กับความรู้อีก ก็จะยิ่งทำให้ความรู้มีพลังในการแผ่ออกไปอย่างกว้างขวาง ถ้าไปดูโลโก้ของเรา ใต้ชื่อ 101 จะมีคำว่า knowledge ที่ยกกำลังด้วย creativity หรือใช้ความคิดสร้างสรรค์มาเพิ่มกำลังให้ความรู้”
คือเบื้องหลังแนวคิดในการทำงานของปกป้องและทีม
แต่นอกเหนือจากย่อยความรู้ให้เข้าใจง่าย หรือเพิ่มเติมความสร้างสรรค์ลงไปในงาน สื่อออนไลน์ที่หลายคนเรียกด้วยชื่อเล่นว่า ‘วันโอวัน’ ซึ่งเป็นเลขรหัส 3 ตัว ที่ในแวดวงการศึกษามักใช้แทนวิชาเบื้องต้นในสาขาความรู้แขนงนั้นๆ ..ก็ยังมีเรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจซุกซ่อนอยู่ โดยเฉพาะ ’เป้าหมาย’ ที่สื่อนี้ต้องการจะไปให้ถึง ซึ่งทั้งยากและสูงชัน ทว่ากลับเป็นความท้าทายที่ทำให้อาจารย์มหาวิทยาลัยหนุ่มคนหนึ่งเลือกหันหลังให้กับการถ่ายทอดความรู้ด้วยวิธีที่ตัวเองถนัด-ในฐานะผู้สอนหน้าชั้นเรียน หันมาถ่ายทอดความรู้ด้วยวิธีการอีกแบบ-ในฐานะสื่อสารมวลชน
เป้าหมายที่ว่านั้นคืออะไร? ด้วยความใคร่อยากรู้คำตอบเช่นกัน Young MATTER จึงไปนั่งสนทนากับปกป้อง ในฐานะผู้ก่อตั้ง The101.world เพื่อหาค้นคำตอบ
The101.world เรียกตัวเองอย่างไร เป็นสื่อออนไลน์ที่นำเสนอความรู้หรือเรื่องราวทางวิชาการ หรือไม่
เราเรียกตัวเองว่าเป็น ‘สื่อความรู้สร้างสรรค์’ เราไม่ได้วางตัวเองเป็นสำนักข่าวที่ทำข่าวรายวัน แต่เราวางตัวเองเป็นสื่อความรู้ที่พยายามจะเชื่อมโลกวิชาการกับสังคมวงกว้าง เป็นสื่อมวลชนที่ทำตัวเป็นสะพานเชื่อมเข้าสองโลกนี้เข้าด้วยกัน คนที่ร่วมงานกันที่นี่ก็หลากหลาย มีทั้งนักวิชาการ นักวิจัย ครีเอทีฟ ผู้กำกับ กราฟิกดีไซเนอร์ ฯลฯ
เรื่องราวความรู้ที่จะหยิบนำเสนอมาจากไหนบ้าง แค่ในงานวิจัยหรือหนังสือทางวิชาการหรือเปล่า
เราเป็นสื่อความรู้ คนเราเรียนรู้ได้จากหลายทาง เราเรียนรู้ได้จากงานวิจัย ก็เอางานวิจัยที่น่าสนใจมาเล่าต่อให้คนฟังในรูปแบบต่างๆ เราเรียนรู้ได้จากการลงพื้นที่จริง ผ่านการลงสนาม ผ่านการทำสารคดี ผ่านการคุยกับคน ผ่านการสัมภาษณ์ และเราก็เรียนรู้จากข่าวได้เช่นกัน คือข่าวจะเป็นจุดตั้งต้นที่เราจะลองขุดเข้าไปดูข้างใน ว่าข่าวต่างๆ มันสะท้อนปรากฎการณ์อะไรในสังคม เราจะใช้แว่นต่างๆ ในการมองมันได้อย่างไรบ้าง เห็นความเชื่อมโยงของสิ่งต่างๆ เหล่านั้นในโลกอย่างไร
เราพยายามทำสื่อที่คล้ายๆ กับเป็นตลาดวิชา เป็นที่เรียนรู้โลก เป็นที่รวมความรู้ในสาขาวิชาที่หลากหลาย การเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ไลฟ์สไตล์ อาจจะมีเทคโนโลยีบ้าง พูดถึงการเปลี่ยนแปลงของโลก เห็นเบื้องลึกเบื้องหลังของปรากฏการณ์ นี่คือความฝันที่อยากทำ แต่จะทำได้จริงขนาดไหน คนอ่านต้องเป็นคนตัดสิน เราเองตั้งไข่มาได้ครบปีพอดี เริ่มต้นปล่อยไปเดือนมีนาคมของปี 2560 ยังอยู่ในขั้นลองผิดลองถูก ขั้นสะสมกำลัง พยายามที่จะตั้งหลักกันอยู่
อะไรคือโจทย์ในการผลิตงานของ The101.world แต่ละชิ้น
เราอยากให้งานของเราแต่ละชิ้นมันอยู่นาน เก็บไว้อ้างอิงได้ระยะยาว เพราะฉะนั้นแต่ละชิ้นต้องออกแรงกันพอสมควร ทุกโพสต์ที่โพสต์ไปต้องอยู่นาน ไม่อยากให้ขึ้นเร็วลงเร็ว หรือว่าตามกระแสมากๆ
โอเค เราอาจจะทำเรื่องเร็วได้บ้าง แต่มันต้องโยงเราไปสู่เบื้องหลัง ไปสู่ความลึก ความเข้าใจ หรือต่อยอดไปมุมอื่นๆ ในสังคม ให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างศาสตร์ต่างๆ จะเห็นได้ว่างานของเรา เช่นเรื่องเศรษฐศาสตร์ ก็จะไม่ได้มีแค่เรื่องเศรษฐกิจในเชิงเทคนิคเท่านั้น แต่ยังมีมิติทางการเมือง สังคม และวัฒนธรรม ซ้อนทับกันอยู่ เราอยากทำให้เห็นว่าความรู้แต่ละศาสตร์มันเชื่อมโยงกันหมด
แต่แน่นอนว่า เมื่อเราทำสื่อ เราก็อยากจะให้คนอ่าน ทำเหนื่อยแทบตายแต่ไม่มีคนอ่าน นั่นคือความผิดพลาดและล้มเหลว ไม่ใช่คิดว่าตั้งใจทำงานคุณภาพแล้ว ไม่มีคนอ่านก็ไม่เป็นไร หรือโทษคนอ่าน เราต้องกลับมาโทษและทบทวนตัวเองว่าเก่งพอหรือยัง การเขียนงานแต่ละชิ้นจึงต้องพิจารณาด้วยว่า จะทำอย่างไรให้คนอ่าน ทำอย่างไรให้น่าสนใจ ถ้าเมื่อไรที่คนอ่านงานของเรามีแต่คนหน้าเดิมๆ ผมถือว่าล้มเหลวมากเลย
เวลาโยนงานออกไป คาดหวังให้เกิดฟีดแบกอะไรจากคนอ่าน
เมื่อไรที่มีคนบอกว่า ชอบงานของเราทุกชิ้น ผมจะรู้สึกว่าเรายังทำได้ไม่ดีพอหรือเปล่า เพราะเราพยายามให้มีความหลากหลาย ฉะนั้นคุณก็น่าจะหงุดหงิดกับงานบ้างชิ้นบ้างสิ
สื่อหมายถึงแพลตฟอร์มที่ทุกคนสามารถใช้พื้นที่นี้เพื่อเรียนรู้ร่วมกันได้ จึงต้องพยายามหาสมดุลที่ผสมแล้วมันกลมกล่อม ผมไม่อยากให้คนบอกว่า The101.world มันเป็นสื่อข้างนี้ แค่ได้ยินชื่อก็ไม่อยากอ่านมันแล้ว ผมอยากให้เราเป็นสื่อที่ต่อให้คุณไม่เห็นด้วยกับเรา ก็ยังสามารถเดินเข้ามาอ่านงานของเราได้ แล้วมาถกเถียงกัน อย่าเพิ่งปักป้ายเราเร็วเกินไป แต่ความยากคือจะทำอย่างไรให้คนที่จะทำให้คนข้ามกลุ่มมาแลกเปลี่ยนกัน เช่น สนใจสุขภาพ ก็มาเรียนรู้เพิ่มเติมเรื่องการเมืองด้วย หรือทำอย่างไรให้ฮาร์ดคอร์การเมือง มาเห็นมิติด้านไลฟ์สไตล์-วัฒนธรรม หรือสายเสรีนิยมก้าวหน้ากับสายอนุรักษนิยมอยากอ่านงานของกันและกัน
ผู้อ่านของ The101.world ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่สนใจงานวิชาการอยู่แล้วหรือไม่ หรือเป็นคนทั่วๆ ไป
เราเคยสำรวจแล้วพบว่า คนที่อยู่ในแวดวงความรู้หรือรักความรู้ก็ยังมากเป็นอันดับหนึ่ง 1 อยู่ แต่เราอยากจะไปให้กว้าง ไปให้ไกลกว่านี้ ไปให้ถึงกลุ่มที่อาจจะเด็กน้อยลงกว่านี้หน่อย หรือกลุ่มคนที่ไม่ได้สนใจความเป็นไปของโลกและบ้านเมืองเราขนาดนั้น เพราะการเป็นสื่อต้องคุยกับคนทั่วๆ ไป ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก ทั้งคนที่สนใจเป็นทุนเดิมและไม่เคยสนใจเลย และสำหรับผม คือไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไร จะทำอย่างไรไม่ให้ความรู้เป็นสิ่งที่คนรู้สึกแปลกแยก ทำอย่างไรให้คนอ่านรู้สึกว่าความรู้ที่เรากำลังเล่าอยู่มันเกี่ยวพันกับชีวิตของพวกเขา นั่นคือสิ่งที่เรากำลังพยายามจะทำมากขึ้น จะหาทางเข้ามันอย่างไร จะใช้อะไรมาดึงดูด ทำอย่างไรให้คนที่ไม่สนใจความรู้หรือการเปลี่ยนแปลง หันมาสนใจให้ได้ การแต่งตัวให้มีสไตล์และดีไซน์จึงมีความสำคัญไม่แพ้ฐานความรู้ มีภาพสวยๆ มีเทคนิคการเล่าเรื่องดีๆ พาดหัวดึงดูด ซึ่งล้วนเป็นวิธีการทั้งสิ้น แต่โดยพื้นฐานคือข้อมูลจะต้องเชื่อถือได้ ไม่ผิด รอบด้าน หลากหลาย ความน่าเชื่อถือสำคัญที่สุด แต่ก็ต้องพยายามเข้าหาคนหมู่มากให้ดีขึ้นโดยไม่ลดคุณภาพลง
ปีนี้เข้าสู่ปีที่สองของ The101.world แล้ว ความท้าทายก็คือ จะทำอย่างไรให้คุยกับคนมากขึ้น กลุ่มคนอ่านของเราตอนนี้ ส่วนใหญ่อายุ 31-40 ปี 40% อายุ 24-30 ปี 30% จบปริญญาตรี 40% ปริญญาโท 40% ด๊อกเตอร์อีก 10% โอเค เราอาจจะมีแฟนพันธุ์แท้จำนวนหนึ่ง สังเกตได้จากที่ยอดไลก์เพจเองก็ไม่ได้เยอะ ประมาณเกือบห้าหมื่น แต่ยอดคนอ่าน ยอดแชร์ หรือยอดวิวเวลาที่เราทำเฟซบุ๊กไลฟ์กลับไม่น้อยเลย ไม่แพ้เพจระดับหลักแสน ถ้าโจทย์ของปีแรกคือการลงหลักปักฐานให้มั่นคง ทำให้ผู้อ่านรู้ว่าเราคือใคร มีจุดยืนในการทำงานอย่างไร โจทย์สำคัญในปีที่สองคือทำอย่างไรถึงจะขยายฐานผู้อ่านไปสู่คนกลุ่มอื่นๆ ให้กว้างไกลขึ้น
แต่แน่นอนว่า เรื่องที่เราจะสื่อสารต้องเป็นเรื่องที่เราสนใจ และมีความถนัด หรือคิดว่ามีความสำคัญต่อสาธารณะ อย่างซีรีส์การปฏิรูปภาษี ซึ่งไม่ค่อยมีสื่ออื่นๆ ทำมากนัก ดังนั้น คำว่า ‘ให้ความสำคัญกับคนอ่าน’ เป็นคนละเรื่องกับ ‘ตามใจคนอ่าน’ เราอยากพาคนอ่านเดินทางทางความคิดต่อจากจุดเดิมที่เขาเคยสนใจเรื่องนั้นๆ อยู่แล้ว ให้ลองคิดอีกมุม คิดกว้างขึ้น คิดลึกขึ้น คิดเชื่อมโยงขึ้น คิดไปข้างหลัง คิดไปข้างหน้า
อะไรคือเป้าหมายสูงสุดในการกระโดดจากอาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัยมาเป็นคนทำสื่อ ซึ่งแม้จะเป็นการถ่ายทอดความรู้เหมือนๆ กัน แต่คนละรูปแบบ
เราพยายามทำสื่อที่ตั้งคำถามที่ ‘ใช่’ ในเรื่องสำคัญของชีวิต ask the right questions
อย่างเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ไม่ใช่ติดตามแค่รัฐมนตรีทะเลาะกับปลัด กระทรวงทะเลาะกับเอ็นจีโอ นั่นเป็นข่าวเชิงเกมการเมือง แต่เราก็พยายามตั้งคำถามที่สำคัญในเรื่องหลักประกันสุขภาพ อะไรควรจะเป็นคำถามที่ควรจะถกเถียงกัน ถ้าระบบหลักประกันฯ เป็นสิทธิที่ทุกคนพึงได้ เราจะปฏิรูปให้ดีขึ้นอย่างไร บริหารทรัพยากรอย่างไรให้มีประสิทธิภาพขึ้น ออกแบบ governance อย่างไรให้ดีขึ้น ไม่ใช่มาเถียงกันแค่ควรมีหรือไม่ควรมี พร้อมหรือยัง เพราะถ้าเราตั้งคำถามไม่ถูก เราก็ไม่ได้คำตอบที่น่าสนใจ ไม่ได้คำตอบที่มีประโยชน์ในการเข้าใจมันมากขึ้น และไม่มีประโยชน์ในการเปลี่ยนแปลงสังคม
งานของเราหลายชิ้นช่วยตั้งคำถามที่น่าสนใจและคำถามใหม่ๆ ในสังคม เราเชื่อว่าคำถามสำคัญในการเปลี่ยนโลก ส่วนคำตอบ คนอ่านก็ต้องไปคิดและถกเถียงกันต่อ งานหลายชิ้นไม่ได้มีคำตอบสำเร็จรูป หรือไม่มีปัญญาตอบ เพราะเป็นปัญหาแห่งยุคสมัย นักคิดระดับโลกยังตอบไม่ได้ แต่อย่างน้อยมันนำไปสู่กระบวนการคิดและถกเถียงหาคำตอบ
แล้วเราในฐานะคนที่อยู่ในโลกแห่งความรู้ เราก็จะไม่เชื่อว่ามันมีคำตอบหนึ่งเดียวที่ถูกที่สุดดีที่สุดจริงที่สุดเหนือคำตอบอื่นๆ ความสนุกของคนทำงานในโลกความรู้อย่างสื่อออนไลน์ก็คือ มันเป็นแพลตฟอร์มที่ให้คนซึ่งมีความเชื่อ ความรู้ มีแว่นตาในการมองโลกแต่ละแบบวิ่งมาเจอกัน ปะทะสังสรรค์กันทางความคิด แว่นตาแต่ละแบบมีจุดมองชัด-มองเบลอไม่เหมือนกัน ความหลากหลายและการถกเถียงกันอย่างเปิดกว้างในบรรยากาศเสรีทำให้เราเห็นจุดแข็งจุดอ่อนของวิธีคิดแต่ละแบบ ของคำอธิบายปรากฏการณ์แต่ละชุด และมองเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ คมชัดขึ้น
ความสนุกคือแบบนี้ เราไม่อยากเป็นสื่อที่นำเสนอแค่ข้อมูลซึ่งเป็นคำตอบที่ถูกต้องเพียงหนึ่งเดียว ชัดเจน ตายตัว สำเร็จรูป แต่จะพยายามเป็นสื่อที่ทำให้คนมองเห็นความงามของความหลากหลาย เพราะเราเชื่อมั่นในพลังของคนอ่านที่จะสามารถคิดและตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง
แต่แน่นอนว่า right questions และ right answers ก็ไม่ได้มีแค่หนึ่งเดียว เวลาผมพูดและเขียนเรื่องนี้ ผมเติม ‘s’ ตลอด ที่ผ่านมาเราก็ประเมินตลอดว่าคำถามที่ The101.world ตั้งในเรื่องต่างๆ มันใช่หรือไม่ หรือยัง wrong อยู่ แต่งานที่เราทำมาหนึ่งปี ก็คิดว่าคงช่วยชักชวนให้ผู้คนได้มาอ่าน ถกเถียง คิดต่อในประเด็นที่เราคิดว่ามีความสำคัญต่อสังคมไทยได้บ้างไม่มากก็น้อย
Content by Nicha Pattanalertpun & Pongpiphat Banchanont
Illustration by Yanin Jomwong