ดูเหมือนกระแสผู้ว่าฯ กทม.ฟีเวอร์ยังแรงไม่ตก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ว่าฯ ชัชชาติเอง ลงพื้นที่และเปิดหน้าคุยในหลายกิจกรรม อีกส่วนอาจจะด้วยประชาชนเอง ก็ขยันตรวจการบ้านรายวัน นั่นจึงยิ่งทำให้ยังเลี้ยงความสนใจของคนได้ต่อเนื่อง แต่นอกจากผู้ว่าฯ แล้ว ยังมีอีกหน่วยงานสำคัญคือ สภา กทม. ที่ได้เปิดให้เลือก ส.ก.กันไปในวันเดียวกับผู้ว่าฯ ด้วย
‘สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร’ ที่คุ้นกันในชื่อ ส.ก. เพิ่งเปิดประชุมนัดแรกไปเมื่อต้นสัปดาห์ The MATTER จึงอยากชวนทบทวนความจำกันว่า ส.ก. เป็นใคร ทำหน้าที่อะไร
ทำความรู้จัก ส.ก.
ย้อนไปทำความเข้าใจก่อนว่า กทม.เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 ซึ่งจะทำให้สามารถจัดการกับเรื่องทั่วไปโดยไม่ต้องผ่านรัฐบาลกลาง ทั้งสาธารณูปโภค สาธารณสุข ผังเมือง เป็นต้น
‘สภา กทม.’ นับเป็นองค์ประกอบหนึ่งของโครงสร้างบริหารราชการ ที่มาจากการเลือกตั้งทางตรงของประชาชนผู้มีสิทธิ์ ซึ่งจะเกิดขึ้นในทุกๆ 4 ปี แต่รอบที่ผ่านมาอาจพิเศษหน่อย ตรงที่ต้องรอนานกว่า 9 ปี เราถึงได้มีโอกาสหยิบปากกาอีกหน
ถ้าจะจินตนาการให้เห็นภาพ กทม. ก็เหมือนเมืองไทยขนาดย่อส่วน ที่มี ส.ก. ทำหน้าที่ควบคุม และตรวจสอบการบริหารราชการที่นำโดยผู้ว่าฯ กทม ผ่านสภา กทม. คล้ายกับ ส.ส.ในระบบรัฐสภา ที่คอยจับตาคณะรัฐมนตรี ที่มีนายกฯ เป็นหัวหน้าคณะ
เดิมจำนวนของ ส.ก. คิดมาจากฐานของประชากรในแต่ละเขต ซึ่งใช้เป็นหน่วยเลือกตั้ง คร่าว ๆ คือ ส.ก. 1 คน ต่อประชากร 150,000 คน มีเศษขาดหรือเกินก็มีเกณฑ์เพิ่มคนหรือปัดทิ้งกำหนดไว้ แต่การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมาสูตรคำนวณนี้ถูกปัดทิ้งทั้งหมด
โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งออกเป็น 50 เขต ส่งผลให้จำนวน ส.ก. ครั้งนี้ถูกกำหนดไว้ที่ 50 คน จะไม่มีเขตใดที่มี ส.ก. มากกว่าคนเดียวเลย
ผลก็อย่างที่รู้กันว่า เพื่อไทยได้ไป 20 เขต ก้าวไกล 14 เขต ประชาธิปัตย์ 9 เขต กลุ่มรักษ์กรุงเทพ 3 เขต ไทยสร้างไทย 2 เขต และพลังประชารัฐ 2 เขต ซึ่งจนถึงตอนนี้กกต. รับรองไปแล้ว 45 คน ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการตรวจสอบ โดยที่ประชุมนัดแรกมีบทสรุปให้ วิรัตน์ มีนชัยนันท์ ส.ก.เขตมีนบุรี จากพรรคเพื่อไทย เป็นประธานสภา กทม.
อย่างหนึ่งที่คนอาจสับสน คือ ไม่ได้มีข้อกำหนดให้การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. ต้องเกิดขึ้นพร้อมกัน ครั้งนี้เป็นเพียงความบังเอิญ ซึ่งเป็นข้อดีให้คนสนใจมากขึ้น ต่างกับที่หลายครั้งที่การเลือก ส.ก. อาจมีผู้มาใช้สิทธิค่อนข้างน้อย
ขอบเขตหน้าที่ ส.ก.
- พิจารณางบประมาณประจำปีของ กทม.
อันนี้ถือเป็นหน้าที่สำคัญลำดับต้นๆ ก็ว่าได้ เพราะโครงการตามแผนของผู้ว่าฯ กทม. จะดำเนินไปได้ก็ต้องใช้เงิน ซึ่งเป็นบทบาทของ ส.ก. ในการพิจารณาตามงบประมาณประจำปี
- ตรวจสอบและติดตามการบริหารราชการ กทม.
คอยควบคุมการบริหารงานของฝ่ายบริหาร ซึ่งนำโดยผู้ว่าฯ กทม. ผ่านการตั้งกระทู้ เสนอญัตติ หรือการเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อให้ข้อเสนอแนะในการเดินหน้าทำงานต่อ
- ให้ความเห็นชอบในการตราข้อบัญญัติ
เราอาจจะคุ้นชินกับคำว่าพระราชบัญญัติ ซึ่งเป็นกฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นตามคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา แต่ในระดับของสภาฯกทม. จะมี ‘ข้อบัญญัติ’ เป็นแนวทางให้สามารถปฏิบัติงานให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งการตราข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ก็ถือเป็นหนึ่งอำนาจหน้าที่ของ ส.ก.
- เป็นกระบอกเสียงแทนประชาชน
เราอาจเห็นบรรยากาศที่ผู้ว่าฯ กทม. ลงพื้นที่ในแต่ละเขตพบปะ และรับฟังปัญหาชาวบ้านด้วยตนเองอยู่หลายครั้ง แต่ต้องยอมรับว่าคนเดียวคงไม่สามารถสอดส่องได้ทั้งหมด ดังนั้น ส.ก. ซึ่งมาจากการเลือกของประชาชนในแต่ละเขตโดยตรงนี่แหละ ที่จะทำหน้าที่ช่วยเหลือ และเป็นสะพานทอดปัญหาไปให้ถึงหน่วยงานรับผิดชอบ
ต่างกับ ส.ส. เขตตรงไหน
คงต้องบอกว่าทั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต และ ส.ก. นั้นมีอำนาจหน้าที่ซึ่งคล้ายคลึงกัน ต่างที่ขอบเขตความกว้างขวางที่ ส.ส. จำเป็นต้องสะท้อนปัญหาเชิงพื้นที่ และผลักดันกฎหมายไปสู่ระดับประเทศ ในขณะที่ ส.ก.เขต ถือเป็นตัวแทนที่ต้องบอกเล่าความต้องการของเขตนั้นๆ สู่กทม.โดยตรง
ข้อแตกต่างอีกอย่างหนึ่ง คือ ตามหน้าที่แล้ว ส.ก. สามารถอภิปรายหรือตั้งกระทู้ถามผู้ว่าฯ กทม.ได้ แต่ไม่สามารถลงมติไม่ไว้วางใจได้ อย่างที่ ส.ส. สามารถทำได้ในรัฐสภา แต่เปิดช่องให้คะแนนเสียง ส.ก. ไม่น้อยกว่าสองในสาม สามารถยื่นเรื่องให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาถอดถอนผู้ว่าฯ ได้
หลายคนมักเปรียบเทียบ ส.ก. ว่าคล้ายกับสมาชิกสภา อบจ. หรือสมาชิกสภา อบต. ก็เพราะจุดเด่นของผู้แทนระดับท้องถิ่น ที่มีความใกล้ชิดกับประชาชน ย่อมทราบปัญหามากกว่าคนไกล รู้อย่างนี้แล้ว ก็อย่าลืมส่งเสียงไปให้ถึงตัวแทนของเรา เพื่อร่วมกันพัฒนาเมืองให้น่าอยู่สมตามที่ตั้งใจ