ไม่นานมานี้ สภากรุงเทพมหานคร (กทม.) มีมติเห็นชอบร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ พ.ศ. … ว่าด้วยการควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ในพื้นที่ โดยกำหนด ‘พื้นที่ขั้นต่ำ’ สำหรับเลี้ยงสัตว์แต่ละประเภท
สาระสำคัญมีอะไรบ้าง? ร่างข้อบัญญัติฯ ดังกล่าว ห้ามไม่ให้เลี้ยงสุนัขและแมวในที่สาธารณะ หรือในพื้นที่ของบุคคลอื่น หากไม่ได้รับความยินยอม อีกทั้งห้ามเลี้ยงสุนัขและแมว เกินจำนวนที่กำหนด ในเขต กทม. โดยหากฝ่าฝืนจะมีบทลงโทษตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การสาธารณสุข พ.ศ.2535
จุดประสงค์ของร่างข้อบัญญัติฯ ฉบับนี้คือ เพื่อลดปัญหาสัตว์จรจัด จากการทอดทิ้งสัตว์เลี้ยง รวมถึงปัญหามลภาวะ จากการเลี้ยงสัตว์อย่างแออัด เช่น กลิ่นและเสียงที่ไม่พึงประสงค์ จนรบกวนผู้อื่น
สำนักข่าวไทยพีบีเอส (Thai PBS) รายงานว่าหากมีการประกาศใช้ร่างข้อบัญญัติฯ ดังกล่าว อาจมีเงื่อนไขดังนี้
- พื้นที่อาคารชุดหรือห้องเช่า ตั้งแต่ 20-80 ตารางเมตรขึ้นไป เลี้ยงได้ไม่เกิน 1 ตัว หากเกิน เลี้ยงได้ไม่เกิน 2 ตัว
- เนื้อที่ดิน ไม่เกิน 20 ตารางวา เลี้ยงได้ไม่เกิน 2 ตัว
- เนื้อที่ดิน 20-50 ตารางวา เลี้ยงได้ไม่เกิน 3 ตัว
- เนื้อที่ดิน 50-100 ตารางวา เลี้ยงได้ไม่เกิน 4 ตัว
- เนื้อที่ดิน 100 ตารางวา ขึ้นไป เลี้ยงได้ไม่เกิน 6 ตัว
เบื้องต้นหลังจากประกาศใช้ข้อบัญญัติฯ นี้ ผู้เลี้ยงสัตว์ต้อง ‘จดแจ้งจำนวนสัตว์เลี้ยง’ อีกทั้งจะมีการบังคับให้ ‘ฝังไมโครชิป’ ในสุนัขและแมว เพื่อระบุตัวเจ้าของสัตว์เลี้ยง
สำหรับสัตว์จรจัด ที่ไม่มีผู้รับผิดชอบ จะมีหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ จากสำนักอนามัย มาให้บริการทำหมัน เพื่อลดจำนวนสัตว์จรจัด ส่วนสุนัขที่มีความดุร้าย หน่วยงาน กทม. จะนำไปดูแล ที่ศูนย์ควบคุมและพักพิงสุนัข กทม. เขตประเวศ และในกรณีเลี้ยงเพื่อประกอบธุรกิจ หรือเลี้ยงเพื่อผสมพันธุ์สัตว์ สามารถขออนุญาตเพิ่มเติมได้ ตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข
นายนภาพล จีระกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตบางกอกน้อย ในฐานะประธานกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติฯ ฉบับดังกล่าว ระบุว่าคณะกรรมการฯ ชุดนี้ได้พิจารณาความคิดเห็นประชาชน พร้อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมปศุสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์พื้นที่กรุงเทพฯ รวมถึงมูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย (Soi Dog Foundation)
ต่อจากนี้ จะมีการเสนอร่างดังกล่าวให้ผู้ว่าฯ กทม. เพื่อพิจารณา และลงนามประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป และจะมีผลบังคับใช้ หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 360 วัน โดยไม่มีบทลงโทษย้อนหลัง
อ้างอิงจาก