หลังจากที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ การสะสางแก้ไขปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวก็เริ่มขึ้น โดยหนึ่งในประเด็นที่จะต้องมีการแก้ไขคือปัญหาสัมปทานการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว (ฺBTS) ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญของการกำหนดราคาค่าโดยสารให้มีความเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจมากที่สุด
ความคืบหน้าล่าสุดหลังมีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารกรุงเทพธนาคมชุดใหม่ 7 คน นำโดย ศ.ดร. ธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ และเมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2565 ที่ผ่านมา ศ.ดร. ธงทองก็ได้ออกมาเปิดเผยว่าพร้อมที่จะเปิดเผยสัญญาสัมปทานต่อสาธารณชนตามขั้นตอนต่อไปเพื่อเดินหน้าแก้ปัญหาที่คาราคาซังมาอย่างยาวนาน
จากเรื่องราวซับซ้อนซ่อนเงื่อนของมหากาพย์รถไฟฟ้าสายสีเขียว ก็ทำให้เราอดสงสัยถึงที่มาที่ไปของกรุงเทพธนาคม ที่แม้แต่ผู้ว่าฯ ชัชาติ ยังเคยพูดถึงกรุงเทพธนาคมว่าคือ หลุมงบประมาณ วันนี้ The MATTER อยากจะชวนไปหาคำตอบพร้อมทำความรู้จัก กรุงเทพธนาคม ให้มากขึ้นนับตั้งจุดกำเนิดที่ไม่ธรรมดาสู่หลุมดำที่รอการเปิดเผย
จุดเริ่มต้นของกรุงเทพธนาคม
เมื่อเราได้ลองสืบเสาะดูประวัติของบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ก็จะพบว่ากรุงเทพธนาคมเองมีประวัติที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก โดยแรกเริ่ม ในวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2498 กรุงเทพธนาคมจดทะเบียนบริษัทในชื่อ บริษัท สหสามัคคีค้าสัตว์ จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท โดยมี พลตรีประภาส จารุเสถียร เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
บริษัท สหสามัคคีค้าสัตว์ จำกัด จัดตั้งขึ้นด้วยมีจุดประสงค์เพื่อผลักดันนโยบายของรัฐบาลเพื่อให้คนไทยเข้ามามีส่วนร่วมในกิจการค้าสัตว์มากยิ่งขึ้นจากนโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยมในสมัยนั้น
อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนสำคัญที่ส่งผลทำให้ กรุงเทพมหานคร ในฐานะองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าไปมีส่วนร่วมกับ บริษัท สหสามัคคีค้าสัตว์ จำกัด หรือ กรุงเทพธนาคม ในปัจจุบันเป็นครั้งแรกเกิดจากการออก พรบ. ควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2502 ที่สงวนสิทธิ์ให้แก่หน่วยงานราชการหรือหน่วยงานเอกชนที่ได้รับอนุญาตจากทางราชการเท่านั้นในการดำเนินการฆ่าสัตว์ ซึ่งคาดว่าเป็นผลให้ “เทศบาลนครกรุงเทพ” (กรุงเทพมหานครในขณะนั้น) เข้ามาถือหุ้นครั้งแรกในจำนวน 3,000 หุ้น เพื่อความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ
ต่อมาหลังจากที่เทศบาลนครกรุงเทพได้รับการยกสถานะเป็นองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในนาม กรุงเทพมหานคร อย่างเป็นทางการแล้วเฉกเช่นปัจจุบัน ในปี พ.ศ. 2519 กรุงเทพมหานครได้กลายมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท สหสามัคคีค้าสัตว์ จำกัด ในจำนวน 49,994 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 99.98% ส่งผลให้กรุงเทพมหานคร
ตลอดระยะเวลานับตั้งแต่มีการจัดตั้ง บริษัท สหสามัคคีค้าสัตว์ จำกัด ขึ้น บริษัทได้ดำเนินกิจการด้านการฆ่าสัตว์มาโดยตลอดในฐานะ “วิสาหกิจมหาชน” ของกรุงเทพมหานคร อย่างไรก็ตามในปี พ.ศ. 2519 กรุงเทพมหานครมีแนวคิดที่จะให้ บริษัท สหสามัคคีค้าสัตว์ จำกัด เป็นเครื่องมือในการดำเนินการทางด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานแต่เนื่องจากชื่อของบริษัทนั้นไม่มีความสอดคล้องกับแนวทางดังกล่าวจึงมีการเปลี่ยนชื่อมาเป็น บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ที่เรารับรู้กับในปัจจุบัน
หลังจากที่มีการเปลี่ยนชื่อและแนวทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทแล้ว บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ก็เข้ามามีบทบาทในการเป็นเครื่องมือลดข้อจำกัดของระบบราชการให้แก่กรุงเทพมหานคร ในการร่วมดำเนินการต่างๆ ระหว่างภาครัฐและเอกชนในหลายโครงการ อาทิเช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย, โครงการรถโดยสารด่วนพิเศษ (ฺBRT), โครงการแฟลตข้าวโพด และอีกมากมาย
คำถามคาใจ กรุงเทพธนาคมเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่?
เชื่อว่าหลายคนพอแรกเริ่มได้ยินชื่อหรือรับรู้ถึงการมีอยู่ของบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ก็คงมีความสงสัยอยู่บ้างถึงสถานะของบริษัท ขณะเดียวกันหลายคนก็อาจจะเข้าใจผิดว่ากรุงเทพธนาคมเป็นรัฐวิสาหกิจโดยมีกรุงเทพมหานครเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
อย่างไรก็ตาม เมื่อเราลองมองในแง่มุมของกฎหมายเราก็จะเห็นถึงปัญหาการตีความสถานะทางกฎหมายของบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เนื่องจากกฎหมายไทยไม่ได้มีการนิยามคำว่า “รัฐวิสาหกิจ” ไว้เป็นการเฉพาะ แต่จะใช้การตีความจาก พรบ. วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 ที่กำหนดนิยามของ “รัฐวิสาหกิจ” ไว้ว่า องค์การของรัฐบาลหรือหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ หรือ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ส่วนราชการมีทุนรวมอยู่ด้วยเกิน 50%
จากการที่การตีความคำว่า “รัฐวิสาหกิจ” โดยอิงจาก ดังกล่าวนั้นไม่ครอบคลุมไปถึงการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถือหุ้นในกิจการเกินกว่า 50% ส่งผลให้กรุงเทพธนาคมไม่ได้มีสถานะทางกฎหมายเป็น “รัฐวิสาหกิจ” ส่งผลให้ กรุงเทธนาคมมีสถานะเป็น “วิสาหกิจมหาชน” ที่ กรุงเทพมหานครเป็นเจ้าของโดยอาศัยมาตรา 94 แห่ง พรบ. ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ในการดำเนินการ
ขณะเดียวกันคณะกรรมการกฤษฎีกาเคยให้ความเห็นในปี พ.ศ. 2550 ไว้ว่า กรุงเทพธนาคมเป็นกิจการที่จัดตั้งขึ้นและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นส่วนราชการท้องถิ่น ดังนั้นบริษัทกรุงเทพธนาคมจึงไม่ถือเป็น “เอกชน” เช่นเดียวกัน เนื่องจาก “เอกชน” หมายถึงบุคคลซึ่งไม่อยู่ในอำนาจควบคุมของรัฐบาล แต่ในความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า กรุงเทพธนาคม มีสถานะเป็น “วิสาหกิจมหาชนท้องถิ่น”
ด้วยสถานะขององค์กรที่เราเห็นได้ไม่บ่อยนัก จึงมักจะเกิดปัญหาในด้านการดำเนินการต่างๆ ร่วมกับหน่วยงานทั้งเอกชนและราชการ ส่งผลในปัจจุบันมีการออกหรือแก้กฎหมายบางตัวเพื่อให้การดำเนินการของกรุงเทพธนาคมเป็นได้ด้วยความราบรื่นตามกรอบของกฎหมาย อาทิ การแก้ไขข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง พัสดุ ในปี พ.ศ. 2552
ข้อมูลของบริษัทในปัจจุบัน
ชื่อบริษัท: บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด
ประธานกรรมการบริหาร: ศ.ดร. ธงทอง จันทรางศุ
ปีที่ก่อตั้ง: พ.ศ. 2498 (67 ปี) ในนาม บริษัท สหสามัคคีค้าสัตว์ จำกัด
ทุนจดทะเบียน: 50,000,000 บาท
สถานะ: วิสาหกิจมหาชนท้องถิ่น*
ผลประกอบการย้อนหลัง 4 ปี
- พ.ศ. 2561 – รายได้ 447.95 ล้านบาท กำไร 26.78 ล้านบาท
- พ.ศ. 2562 – รายได้ 357.29 ล้านบาท กำไร 19.44 ล้านบาท
- พ.ศ. 2563 – รายได้ 467.23 ล้านบาท ขาดทุน -3.11 ล้านบาท
- พ.ศ. 2564 – รายได้ 935.08 ล้านบาท กำไร 63.61 ล้านบาท
ตัวอย่างโครงการที่กรุงเทพธนาคมดูแล
- โครงการรถโดยสารด่วนพิเศษ (ฺBRT)
- โครงการระบบขนส่งมวลชนส่วนต่อขยาย (ฺBTS)
- โครงการแฟลตฝักข้าวโพด
อ้างอิงจาก
https://www.matichon.co.th/economy/news_3406020
http://cuir.car.chula.ac.th/bitstream/123456789/43778/1/5385969934.pdf
https://www.bbc.com/thai/thailand-61850933
https://www.matichon.co.th/economy/news_3406020
https://www.prachachat.net/breaking-news/news-962750