คำว่า BTS กลับมาติดหูอีกครั้งในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา เพราะปัญหารถไฟฟ้าขัดข้อง ทำให้ BTS ถูกผู้โดยสารบ่นถึงอย่างหนักหน่วง โดยหลายคนอาจเห็นภาพ BTS เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเดินรถไฟฟ้า แต่จริงๆ แล้ว จักรวาลหมื่นล้านของบริษัทแห่งนี้มีธุรกิจหลากหลาย แล้วในมือ BTS มีอะไรบ้าง ลองย้อนไปดูตั้งแต่จุดเริ่มต้นกัน
เมื่อ 50 ปีก่อน บริษัท ธนายง จำกัด ได้เกิดขึ้นเพื่อลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ และต่อมาบริษัทแห่งนี้ ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด หรือ BTSC เพื่อก่อสร้างและบริหารรถไฟฟ้าสายแรกของกรุงเทพฯ
รถไฟฟ้า BTS หรือชื่อเต็มๆ ว่า รถไฟฟ้าสายสีเขียว เส้นทางหมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน เปิดวิ่งครั้งแรกในปี 2542 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยยังไม่หายมึนจากวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง โดยทั้ง 2 บริษัทต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ และธนายงเหลือหุ้นใน BTSC เพียง 1%
จนกระทั่งปี 2553 บริษัท ธนายง ได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือที่รู้จักกันดีในนาม BTS พร้อมเข้ามาถือหุ้นใหญ่ในรถไฟฟ้า BTS อีกครั้ง ขณะเดียวกันได้แตกไลน์ธุรกิจเพิ่มเติมจากอสังหาริมทรัพย์และรถไฟฟ้าที่มีอยู่เดิม
มาดูไทม์ไลน์คร่าวๆ กัน
2511 ตั้งบริษัท ธนายง เพื่อพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
2535 บริษัท ธนายงจดทะเบียนตั้งบริษัท BTSC เพื่อสร้างและบริหารรถไฟฟ้าสายแรก
2542 เปิดวิ่งรถไฟฟ้าครั้งแรก
2549-2551 บริษัท BTSC เข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการ
2552 บริษัท BTSC ขยายสู่ธุรกิจสื่อโฆษณา
2553 บริษัท ธนายงเปลี่ยนชื่อเป็น BTS และกลับเข้าถือหุ้นส่วนใหญ่ของ BTSC
กลยุทธ์ธุรกิจของ BTS ในวันนี้ คือ การใช้รถไฟฟ้า BTS เป็นแกนกลาง ประสานการลงทุน 4 กลุ่มธุรกิจไว้ด้วยกัน คือระบบขนส่งมวลชน, สื่อโฆษณา, อสังหาริมทรัพย์ และบริการ
ในปีงบประมาณ 2560/61 เครือ BTS มีกำไรทั้งหมด 4,790 ล้านบาทและรายได้ 14,102 ล้านบาท มาจาก
1) รายได้ระบบขนส่งมวลชนของบีทีเอส 9,112 ล้านบาท
2) รายได้สื่อโฆษณา 3,902 ล้านบาท
3) รายได้อสังหาริมทรัพย์ 639 ล้านบาท
4) รายได้บริการ 449 ล้านบาท
ดูเผินๆ BTS มีรายได้หลักจากระบบขนส่งมวลชน แต่ถ้าลองกระเทาะเปลือกดูจะเห็นว่า รายได้จากการเดินรถและค่าตั๋วเป็นเพียงอันดับ 3 ของรายได้ทั้งหมดเท่านั้น
อันดับ 1 สัดส่วน 41% ของรายได้ทั้งหมด มาจากการจัดหารถไฟฟ้าขบวนใหม่และติดตั้งระบบจำนวน 5,832 ล้านบาท เพื่อจะรองรับเส้นทาง BTS ส่วนต่อขยาย ทิศเหนือที่จะยาวไปถึงคูคตและทิศใต้วิ่งถึงสมุทรปราการ
อันดับ 2 สัดส่วน 16% โฆษณาบนระบบขนส่งมวลชน 2,263 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากรถไฟฟ้า BTS นับตั้งแต่ป้ายโฆษณาบนสถานี สติกเกอร์หุ้มขบวน และทีวีในรถไฟฟ้า แต่ก็มีส่วนหนึ่งมาจากโฆษณาบนรถด่วน BRT เช่นกัน
อันดับ 3 สัดส่วน 13% การเดินรถ 1,822 ล้านบาท โดยเป็นค่าโดยสารที่เราจ่ายให้ BTS รวมถึงค่ารับจ้างกรุงเทพมหานคร (กทม.) เดินรถไฟฟ้า BTS ส่วนต่อขยายและรถด่วนพิเศษ BRT ด้วย
อันดับ 4 สัดส่วน 7% โฆษณากลางแจ้ง 976 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโฆษณาบนบิลบอร์ดและจอแอลซีดีกลางแจ้ง
อันดับ 5 สัดส่วน 7% กำไรจากกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน BTSGIF จำนวน 911 ล้านบาท
อันดับ 6 สัดส่วน 4% อสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์และอื่นๆ จำนวน 613 ล้านบาท โดยกลุ่มนี้จะเป็นโครงการโรงแรม เซอร์วิสอพาร์ทเมนต์ อาคารสำนักงาน และที่ดิน
อันดับ 7 คิดเป็น 12% เป็นรายได้ที่เหลืออื่นๆ รวมกัน 1,685 ล้านบาท
ถ้าลองตัดรายได้อันดับ 1 การจัดหาขบวนรถและติดตั้งระบบ ซึ่งเกิดขึ้นบางครั้งบางคราวออกไป ก็จะเห็นได้ว่า BTS มีรายได้จากค่าโฆษณาบนรถไฟฟ้า แซงหน้ารายได้จากค่าโดยสารและการเดินรถไปแล้ว
เพราะฉะนั้นจงอย่าแปลกใจ ถ้าเราจะได้เห็นสติกเกอร์สินค้าแปะทุกซอกทุกมุมสถานี หรือได้ยินเสียงโฆษณาดังทะลุมาจากจอทีวีบนขบวนรถ เพราะนี่คือรายได้หลักและมีศักยภาพสูงของ BTS
อ้างอิงจาก