“โตแล้วทำไมยังเล่นของเล่นอยู่อีก?”
คำถามนี้มักเกิดขึ้นกับผู้ใหญ่หรือวัยรุ่นที่ยังคงซื้อตุ๊กตา หุ่นยนต์ สะสมของเล่น หรือดูการ์ตูนเรื่องโปรดในวัยเด็ก เพราะกิจกรรมเหล่านี้มักจะถูกมองว่าเป็นเรื่อง ‘สำหรับเด็ก’ มากกว่าวัยผู้ใหญ่
แต่หากเราเป็นหนึ่งในคนที่โตแล้ว แต่ยังน้ำตาซึมกับการอ่านวัน One Piece รอบที่สาม จดจ่อกับการซีเอฟของเล่นในวัยเด็ก หรือวางฟิกเกอร์จากการ์ตูนเรื่องโปรดบนโต๊ะทำงาน อยากบอกว่าไม่ใช่เรื่องเสียเวลาหรือต้องเขินอายอะไร เพราะเราอาจจะเป็นหนึ่งในกลุ่ม ‘kidult’ (มาจากคำว่า kid บวกกับคำว่า adult) คือผู้ใหญ่ที่ยังสนใจหรือสะสมของที่ชวนให้นึกถึงวัยเด็กของตัวเอง
แม้จะฟังดูเป็นเรื่อง ‘เล่นๆ’ แต่กำลังซื้อของ kidult กลับช่วยผลักดันอุตสาหกรรมของเล่นได้อย่าง ‘จริงจัง’ เพราะข้อมูลของ NPD Group ระบุว่า กลุ่ม kidult ช่วยให้ยอดขายของเล่นในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 37% ภายในระยะเวลา 2 ปี และการสำรวจเมื่อปี ค.ศ.2021 โดย US industry’s Toy Association พบว่าในกลุ่มผู้ซื้อที่เป็นผู้ใหญ่ราว 58% ซื้อของเล่นหรือเกมให้กับตัวเอง โดยเทรนด์ kidult ยังนับเป็นข่าวดีของบริษัทของเล่น เพราะความท้าทายของการผลิตของเล่นสำหรับเด็กๆ คือต้องทำให้สินค้าดึงความสนใจของเด็กและผู้ใหญ่ (ที่เป็นคนซื้อ) ได้ในเวลาเดียวกัน แต่เมื่อของเล่นมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ใหญ่ที่มีกำลังซื้อ เลยช่วยตัดปัญหานี้ไปได้ แถมยังช่วยขยายตลาดของเล่นให้กว้างขึ้นอีกด้วย
แต่อะไรที่ทำให้ผู้ใหญ่และวัยรุ่นจำนวนมากยังคงซื้อ ‘ของเล่น’ ให้กับตัวเอง?
เพราะซื้ออดีตไม่ได้ (แต่ซื้อของเล่นได้)
“บางครั้งวิธีดูแลใจตัวเอง ก็เป็นการย้อนกลับไปในวัยเด็กได้เหมือนกัน” โคลอี ดิกสตรา (Chloe Dykstra) นักเขียนและโปรดิวเซอร์วัย 33 ปี ในลอสแองเจลิส (Los Angeles) กล่าว
แน่นอนว่าเหตุผลหนึ่งของการซื้อของเล่นคือเรื่อง ‘ความทรงจำ’ เพราะในชีวิตจริงเราไม่สามารถนั่งไทม์แมชชีนย้อนไปในวัยเด็กได้ ยิ่งในวันที่เติบโตขึ้น ความรับผิดชอบและปัญหาชีวิตอาจทำให้เรานึกอยากจะหลีกหนีจากปัจจุบันชั่วคราว ของเล่นเลยกลายเป็นเหมือนเครื่องย้ำเตือนถึงร้อยยิ้มและความสุขในวันวาน เคยมีงานวิจัยที่พบว่าการเล่นของเล่นนั้นดีต่อวัยผู้ใหญ่ เพราะช่วยฮีลใจและลดความเครียดในชีวิตประจำวันได้ แถมความรู้สึก ‘คิดถึงวันเก่าๆ’ (nostalgia) ยังทำให้เรารับมือกับความเหงา ความเบื่อหน่าย หรือความวิตกกังวลได้ดีขึ้นด้วย ดังนั้นในวันที่ชีวิตสู้กลับ การได้อยู่กับของเล่นเลยเหมือนกับการได้ทิ้งตัวลงบนเตียงนุ่มๆ ที่ชื่อว่า ‘ความทรงจำในอดีต’
อย่างไรก็ตาม ของเล่นบางชิ้นถูกผลิตออกมาด้วยจำนวนจำกัด เลยกลายเป็น ‘ของหายาก’ ที่สามารถเก็งกำไรได้ หรือแม้แต่ของแถมตอนเด็กๆ ก็กลายเป็นของที่มีราคาขึ้นมาเสียอย่างนั้น โดยในเว็บไซต์ marketdecipher.com ระบุว่า ฟิกเกอร์ GI Joe ที่เคยมีขายในปี ค.ศ.1963 ปัจจุบันมีราคา 200,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 7,000,000 บาท) หรือตุ๊กตาเฟอร์บี้เมื่อปี ค.ศ.1998 ปัจจุบันราคาราว 700 ดอลลาร์สหรัฐฯ (25,000 บาท) และคาดว่ามูลค่าตลาดของเล่นสะสมในปี ค.ศ.2032 อาจเติบโตขึ้น 10% จากปี ค.ศ.2021 ดังนั้นของเล่นสำหรับผู้ใหญ่บางคนเลยกลายเป็นทั้งของสะสมและการลงทุนในเวลาเดียวกัน
พื้นที่สานสัมพันธ์กับตัวเองและคนรอบข้าง
นอกจากการหวนถึงวันเก่าๆ แล้ว บางคนยังซื้อของเล่นที่ไม่ได้ผูกพันกับวัยเด็กเป็นพิเศษ แต่อาจจะซื้อมา ‘เล่น’ จริงๆ อย่างบอร์ดเกมที่ต้องเล่นกันเป็นกลุ่ม ซึ่งเว็บไซต์ npr.org ระบุว่าการเล่นของวัยผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเล่นเกม บอร์ดเกม หรือเล่นกีฬาร่วมกัน ช่วยให้พวกเขาสานสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้ดียิ่งขึ้น
อีกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคงเป็นการเปิดตัวแคมเปญ Adults Welcome ของ LEGO ในปี ค.ศ.2020 ที่เจาะกลุ่มวัยผู้ใหญ่ (และราคาก็ย้ำว่าเหมาะกับช่วงวัยนี้จริงๆ) อย่างตัวต่อเซต Vincent van Gogh – The Starry Night ที่ได้แรงบันดาลใจจากภาพวาดชื่อดังของ วินเซนต์ แวน โก๊ะห์ (ราคา 170 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 6,000 บาท) และตัวต่อเซต Flower Bouquet เลโก้ดอกไม้สีสดใส (ราคา 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1,800 บาท) ซึ่งยอดขายและคอลเล็กชั่นใหม่ที่ผลิตออกมาเรื่อยๆ คงเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า ‘ผู้ใหญ่’ ก็ยังต้องการเล่นของเล่นไม่ต่างจากเด็กๆ เช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ จิม แวกเนอร์ ผู้บริหารบริษัท Razor USA ยังกล่าวว่าเทรนด์ kidult สะท้อนให้เราเห็นว่าผู้ใหญ่เริ่มโฟกัสและให้ความสำคัญกับการให้เวลากับตัวเองหรือการใช้เวลากับคนรอบข้างมากขึ้นอีกด้วย เพราะตอนเล่นของเล่นคือช่วงเวลาที่เราได้ละสายตาจากจอคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หรือภาระหน้าที่ต่างๆ เพื่อมาโฟกัสกับสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำงานหรือการพัฒนาตัวเองใดๆ
โตแล้วทำไมยังเล่นของเล่นอีก?
เหล่า kidults แต่ละคงคนมีคำตอบที่แตกต่างกันไป แต่จากเรื่องราวทั้งหมด สิ่งที่แน่ใจก็คือ ไม่ว่าจะอายุเท่าไร ก็ไม่มีคำว่า ‘โตเกินกว่าจะเล่นของเล่น’ หรอกนะ
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Kodchakorn Thammachart