ผักชีกิโลกรัมละ 400 บาท ถือเป็นราคาส่งที่สูงสุดในรอบ 42 ปี ขณะที่ราคาน้ำมันก็ยังไม่ลดลง เครื่องสะท้อนว่า ค่าครองชีพของคนไทยพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก
ปัญหาสินค้าแพงเหล่านี้ เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ทั้งเรื่องของน้ำท่วมที่ส่งผลกระทบในหลายพื้นที่ของภาคกลาง รวมถึงราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นนี้ ทำให้ค่าขนส่งสินค้าเพิ่มมากขึ้นไปด้วย กลายเป็นปัจจัยให้ค่าครองชีพของเราแพงขึ้นมา แม้ว่าค่าแรงขั้นต่ำของประชาชนจะยังคงเดิมอยู่ก็ตาม
โดยตัวอย่างสินค้าที่แพงขึ้นในช่วงเดือนที่ผ่านมานี้ มีดังนี้
ของสด
หากเทียบราคาสินค้าของสดทั้งหลาย ตามข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ จะพบว่า มีสินค้าหลายอย่างที่ราคาสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เช่น
- น้ำมันปาล์ม 50 บาท/ขวด จากเดิม มีราคาประมาณ 30-40 บาท/ขวด
- เนื้อหมู (สะโพก) ประมาณ 137 บาท/กก. จากเดิม มีราคาประมาณ 125 บาท/กก.
- ผักชี (คละ) ประมาณ 220 บาท/กก. จากเดิม มีราคาประมาณ 120-150 บาท/กก.
สำหรับผักสดทั้งหลาย ได้รับผลกระทบมาจากปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของภาคกลาง ทำให้ผักเน่าเสียจนมีปริมาณในตลาดน้อยลง แถมพอน้ำมันขึ้นราคา ก็กลายเป็นว่า ค่าขนส่งก็ปรับขึ้นตามไปด้วย จนกลายเป็นว่า สินค้าเหล่านี้มีราคาแพงขึ้น โดยนอกจากผักชีแล้ว ยังมีผักอื่นๆ เช่น ขึ้นฉ่าย กะหล่ำปลี แตงกวา ใบกะเพรา ที่แพงขึ้นมาด้วย
ส่วนเนื้อหมูก็มีราคาแพงขึ้นด้วยเช่นกัน อย่างตลาดสดเทศบาล 5 เทศบาลนครอุบลราชธานี พบว่า ราคาเนื้อหมู เช่น เนื้อช่วงหัวไหล่ เนื้อสะโพก ซึ่งอยู่ในกลุ่มเนื้อแดง กิโลกรัมละ 130-150 บาท ส่วนสามชั้น เนื้อบด ซี่โครง 140 บาท เนื้อสันนอก สันใน สันคอ 160-185 บาท ซึ่งสาเหตุก็มาจากราคาน้ำมันที่แพงขึ้นและปัญหาน้ำท่วมที่ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกพืชอาหารสัตว์ได้รับผลกระทบไปด้วย
ค่าน้ำมัน
น้ำมันก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่คนพูดถึงกันเยอะมากในช่วงเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากราคาที่พุ่งสูงขึ้น โดยราคาน้ำมันขายปลีกในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล แบ่งเป็น
- น้ำมันดีเซล 29.54 บาท/ลิตร
- น้ำมันเบนซิน 39.96 บาท/ลิตร
ซึ่งหากเทียบกับราคาขายปลีกเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม จะพบว่า ราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 28.29 บาท/ลิตร และราคาน้ำมันเบนซินอยู่ที่ 38.56 บาท/ลิตร หรือก็คือ เพิ่มขึ้นเกือบ 1 บาทเลยทีเดียว
ประเด็นนี้ ทำให้เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) และกลุ่มผีเสื้อกระพือปีก รวมตัวหน้ากระทรวงพลังงานพร้อมผูกริบบิ้นสีเขียวติดกับรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เพื่อเป็นสัญลักษณ์เรียกร้องให้รัฐบาลปรับลดราคาน้ำมันดีเซลเหลือลิตรละ 25 บาท
อิฐบูรณ์ อ้นวงษา ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย กล่าวกับสำนักข่าวไทยพีบีเอสว่า ต้องการให้รัฐบาลปรับลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 5 บาท โดยเห็นว่าปัญหาราคาน้ำมันแพงมาจากโครงสร้างการจัดเก็บภาษีราคาน้ำมัน ซึ่งตอนนี้ การระบาดของ COVID-19 ก็กระทบรายได้ของประชาชนจำนวนมากอยู่แล้ว หากปรับลดการจัดเก็บภาษีก็อาจจะทำให้ลดภาระค่าใช้จ่ายไปได้บ้าง
ขณะที่ อิฐบูรณ์ ยังมองว่า การที่รัฐบาลใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกลิตรละ 2 บาท เพื่อตรึงราคาน้ำมันที่ 30 บาท/ลิตร และเตรียมกู้เงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มนั้น จะทำให้ไปเป็นภาระต่อประชาชนผู้ใช้น้ำมันในอนาคต
ค่ารถไฟฟ้า BTS
รถไฟฟ้า BTS ประกาศยกเลิกตั๋วรายเดือนไปแล้ว ด้วยเหตุผลว่า จากสถานการณ์ COVID-19 แพร่ระบาด ทำให้พฤติกรรมการเดินทางของผู้โดยสารเปลี่ยนไปจากเดิม ผู้โดยสารไม่สามารถวางแผนการเดินทางล่วงหน้าได้นาน และโปรโมชั่นตั๋วเที่ยวเดินทางไม่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ ทาง BTS จึงจะยุติการทำโปรโมชั่นดังกล่าว
ปัญหาที่ตามมาก็คือ ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของผู้ใช้บริการ โดยเกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ให้สัมภาษณ์กับฐานเศรษฐกิจว่า การยกเลิกนี้ส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารทั้งหมด 40.6 ล้านเที่ยวคนทั้งยังทำให้บุคคลทั่วไปมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นประมาณ 40-70% ขณะที่นักเรียนมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นประมาณ 80–130%
หากเทียบกับค่าเดินทางก่อนหน้านี้ บุคคลทั่วไปมีค่าใช้จ่าย อยู่ที่ 465-1,300 บาท จะเดินทางได้สูงสุด 50 เที่ยว ขณะที่นักเรียน มีค่าใช้จ่าย อยู่ที่ 360-950 บาท จะเดินทางได้สูงสุด 50 เที่ยว โดยตั๋วรายเดือนนี้จะสามารถเดินทางได้ทั้งหมด 23 สถานี
แต่ถ้าหากไม่มีบัตรเดินทาง สำหรับบุคคลทั่วไป จากราคาบัตรเดินทางสูงสุด 1,300 บาท จะสามารถเดินทางได้สูงสุด 29 เที่ยว ขณะที่นักเรียน จากราคาบัตรเดินทางสูงสุด 950 บาท จะสามารถเดินทางได้สูงสุด 21 เที่ยว
ค่าทางด่วน
ก่อนสิ้นปีนี้ ทางด่วนเป็นอีกหนึ่งบริการที่จะขึ้นราคาด้วยเช่นกัน โดยทางด่วนพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพ จะปรับราคาขึ้น ในวันที่ 15 ธันวาคม ตามเกณฑ์ดังนี้
- รถ 4 ล้อ จากราคา 50 บาท เป็น 65 บาท
- รถ 6-10 ล้อ จากราคา 80 บาท เป็น 105 บาท
- รถ 10 ล้อขึ้นไป จากราคา 115 บาท เป็น 150 บาท
การปรับราคานี้ เป็นการปรับขึ้นทุกๆ 5 ปี ตามสัญญาสัมปทาน ซึ่งสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ระบุว่า รับทราบถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อค่าครองชีพของประชาชน จึงมอบหมายให้ กทพ.เจรจากับคู่สัญญา คือ บมจ. ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BEM เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือประชาชนต่อไป
อ้างอิงจาก