ผมไปเจอหนังสือเล่มนี้เข้าโดยบังเอิญบนชั้นวางหนังสือหมวดเศรษฐศาสตร์ในร้านคิโนคุนิยะ สารภาพกันตรงๆ เศรษฐศาสตร์ไม่ใช่ศาสตร์ที่ผมถูกโฉลกด้วยสักเท่าไหร่ และบ่อยครั้งก็เลือกจะหลีกเลี่ยงหนังสือใดๆ ที่ปะหน้าด้วยเศรษฐศาสตร์เพียงเพราะเหตุผลง่ายๆ ว่ากลัวอ่านไม่รู้เรื่อง
แต่แม้ว่า The Mushroom at the End of the World เล่มนี้จะปรากฏอยู่ในหมวดเศรษฐศาสตร์ แต่พอลองพลิกผ่านๆ ผมพบว่าเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้น่าสนใจอยู่ไม่น้อยเลย ว่ากันง่ายๆ ก็ตามชื่อของมันนั่นแหละครับ เนื้อหาสำคัญของหนังสือเล่มนี้ว่าด้วยเรื่องของ ‘เห็ด’ ใช่ครับ เห็ดที่มักผุดโผล่ให้เห็นในป่าชื้น และคนไทยก็ชื่นชอบเสียเหลือเกินที่จะหยิบไปเป็นวัตถุดิบหลักในอาหารจานต่างๆ
Anna Tsing นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกันผู้เขียนหนังสือเล่มนี้มีความสนใจเป็นพิเศษในเรื่องเห็ด ซึ่งถ้าจะกล่าวให้เฉพาะเจาะจงขึ้นคือ ‘เห็ดมัตสึตาเกะ’ (Matsutake) ที่หลายๆ คนคงจะคุ้นเคยกันดี ซึ่ง Tsing ก็ได้เริ่มต้นหนังสือเล่มนี้โดยการพาเราไปทำความรู้จักกับเห็ดชนิดนี้เสียใหม่ ผ่านป่าดิบชื้นแห่งรัฐโอเรกอนที่พบเห็ดชนิดนี้เช่นเดียวกับอีกหลายๆ พื้นที่รอบโลก Tsing พาเราไปรู้จักกับเหล่านักเก็บเห็ด พ่อค้า กระทั่งผู้ส่งออกเห็ดที่คอยขับเคลื่อนให้มัตสึตาเกะไปปรากฏโฉมอยู่ในอาหารนานาชนิด อ่านมาถึงตรงนี้บางคนอาจเริ่มงงว่า มัตสึตาเกะกับเศรษฐศาสตร์ที่ผมจั่วหัวไปข้างต้นมันเกี่ยวกันตรงไหน และซึ่งก็เป็นจุดนี้เองครับที่ทำให้หนังสือเล่มนี้น่าสนใจสุดๆ เพราะ Tsing เลือกใช้เรื่องราวของเห็ดมัตสึตาเกะพินิจพิจารณาไปยังสภาพเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ซึ่งตัวเธอเองมองว่า คือความหายนะของระบบทุนนิยม
ลักษณะพิเศษของเห็ดมัตสึตาเกะคือ เป็นเห็ดที่มนุษย์ไม่สามารถเพาะปลูกได้ เติบโตขึ้นเองในธรรมชาติ โดยเฉพาะในผืนป่าที่ได้รับผลกระทบ หรือเสื่อมโทรมจากฝีมือของมนุษย์ อย่างในโอเรกอนเอง ที่มัตสึตาเกะผุดโผล่ขึ้นเป็นจำนวนมาก ก็เป็นผลพวงมาจากการตัดไม้ในอุตสาหกรรมการผลิตซุง ทั้งนี้ความน่าสนใจอย่างหนึ่งที่ Tsing พบในป่าโอเรกอนคือ เหล่านักเก็บเห็ดมัตสึตาเกะส่วนใหญ่ไม่ใช่ชาวอเมริกันแต่อย่างใดครับ แต่เป็นเหล่าผู้อพยพที่เดินทางมาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็นลาว หรือกัมพูชา โดยเฉพาะในช่วงหลังสงครามเวียดนามเป็นต้นมา
แม้จะมีอีกหยิบมือหนึ่งที่นักเก็บเห็ดเป็นคนขาว ที่เป็นเหล่าทหารผ่านศึกในสงครามเวียดนาม นั่นเพราะทั้งเหล่าผู้อพยพ และอดีตทหารผ่านศึกเหล่านี้ ต่างได้รับความคุ้นเคยกับการเคลื่อนที่ และเดินทางในป่าดิบชื้น ทำให้พวกเขาพัฒนาทักษะในการค้นหาเห็ดมัตสึตาเกะที่แอบซ่อนอยู่ตามจุดต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
นักเก็บเห็ดเหล่านี้ไม่ได้มองว่าเห็ดมัตสึตาเกะเป็นสินค้าเสียทีเดียว ในลักษณะที่ว่าพวกเขาก็ไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นแรงงานใดๆ หากเป็นในลักษณะของการแสวงหาโชคลาภในผืนป่าต่างหาก นักเก็บเห็ดเหล่านี้มองว่า การค้นหามัตสึตาเกะคือกิจกรรมที่เป็นอิสระ และการค้นพบเห็ดแต่ละครั้งก็คือถ้วยรางวัลที่ยืนยันถึงอิสรภาพ มากกว่าที่จะมองว่าเป็นการค้นหาสินค้าเพื่อค้าขายต่อ แม้ว่าในกระบวนการถัดๆ ไป มัตสึตาเกะจะถูกแปรรูปเป็นสินค้าภายใต้ระบบทุนนิยมก็ตาม เช่นเดียวกับในญี่ปุ่นเองก็มองมัตสึตาเกะว่าเป็นของขวัญจากผืนป่าเสียมากกว่า
ด้วยการตีความในลักษณะนี้เอง ที่ Tsing ได้เสนอแนวคิดเรื่อง Pericapitalist ขึ้นมา ที่ในทางหนึ่งคือการไม่ยืนหยัดหรือเห็นพ้องกับระบบทุนนิยม แต่ก็ไม่ได้อัปเปหิตัวเองไปอยู่นอกระบบทุนนิยมเสียทีเดียว พูดอีกอย่างได้ว่า Tsing เสนอแนวคิดว่า ในเมื่อระบบทุนนิยมคือความพังพินาศ แล้วมนุษย์ควรจะมีชีวิตอยู่ในระบบที่เน่าเหม็นนี้อย่างไรโดยที่ยังไม่ละทิ้งไปซึ่งความหวังในการดำเนินชีวิต
หากพิจารณาจากการเติบโตของมัตสึตาเกะแล้ว ก็จัดว่าสอดคล้องดีทีเดียวครับ เพราะแม้ผืนป่าจะถูกมนุษย์รุกราน และทำลายสักแค่ไหน มัตสึตาเกะกลับยิ่งเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นเพราะการทำลายผืนป่าดันกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้มัตสึตาเกะแพร่พันธ์ กล่าวคือ มัตสึตาเกะเป็นเห็ดที่เติบโตขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยที่มนุษย์ไม่อาจควบคุมจำนวนได้ และผ่านการบ่อนทำลายทรัพยากรของระบบทุนนิยม ที่ยิ่งกระตุ้นต่อการเจริญเติบโตของเห็ดชนิดนี้ ในที่นี้ มัตสึตาเกะอาจเป็นเห็ดชนิดเดียวที่ระบบทุนนิยมเองไม่อาจเข้ามาควบคุมการผลิตของมันได้ครับ
นอกจากนี้ Tsing ยังชี้ให้เห็นลักษณะสำคัญของมัตสึตาเกะ ผ่านการวิพากษ์ต่อแนวคิดเรื่อง scalability ที่ต้องการให้กระบวนการผลิตอยู่ภายใต้การควบคุมหรือปัจจัยที่กำหนดไว้แล้ว เพื่อรองรับการเพิ่มขยายของผลผลิตในอนาคตได้ โดย Tsing มองว่า การกำหนดกระบวนการผลิตเช่นนี้จะเป็นการลดความหลากหลายของธรรมชาติ รวมถึงลดความเป็นไปได้ต่อกระบวนการที่ Tsing เรียกว่า การปนเปื้อนของการเผชิญหน้า (Contamination of Encounter) ที่อนุญาติให้เกิดการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างสิ่งหนึ่งต่อสิ่งอื่นๆ
กรณีของมัตสึตาเกะคือการที่ประวัติศาสตร์ของอารยธรรมมนุษย์ที่ตัดไม้ทำลายป่าเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยได้ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเห็ดมัตสึตาเกะ อย่างที่มนุษย์เองก็ไม่ได้รู้ว่ากิจกรรมเหล่านี้จะส่งผลต่อเห็ดชนิดนี้ในทีแรก พวกเขาไม่ได้ตั้งใจหรือระแวดระวังที่จะควบคุมการผลิตของตนแต่อย่างใด และผลลัพธ์ที่ได้ก็ไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาคาดหวัง
มัตสึตาเกะคือเห็ดที่ขัดขืนต่อเงื่อนไขการเพาะปลูกตามระเบียบวิธีใดๆ และมัตสึตาเกะเองก็ไม่อาจเติบโตได้หากปราศจากการปฏิสัมพันธ์กับสายพันธ์อื่นๆ นั่นเองครับ