‘รัฐประหาร’ สิ่งที่ไม่ตายไปง่ายๆ จากสังคมไทย ขึ้นชื่อว่าเกิดเป็นคนไทยแล้ว ยังไงทุกคนก็น่าจะเคยอยู่ภายใต้รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารสักครั้งในชีวิต!
ผลการศึกษาและงานวิจัยหลายๆ ชิ้น ถือว่าการรัฐประหาร เกิดขึ้นในประเทศไทยมาแล้วทั้งหมด 13 ครั้ง เริ่มครั้งแรก เมื่อปี 2476 ที่พระยามโนปกรณ์นิติธิดา ออก พรฏ.ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรไม่มีกำหนด เรียกได้ว่า ได้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร มายังไม่ถึง 1 ปีเต็มก็เกิดรัฐประหารขึ้นแล้ว
หลังจากนั้นประเทศเราก็มีการทำรัฐประหารเรื่อยมา จนถึงครั้งล่าสุดในปี 2557 นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ผันตัวกลายมาเป็นนายกฯ คนปัจจุบันของเรานี่เอง
เรื่องรัฐประหารต้องยกให้เรา เพราะเมื่อเฉลี่ยแล้ว บ้านเราจะมีรัฐประหารในทุกๆ 6 ปีครึ่ง ทำให้ไทยกลายเป็น ‘ผู้นำการรัฐประหารระดับนานาชาติ’ ทั้งทำรัฐประหารบ่อยที่สุดในอาเซียน และติด Top 10 ประเทศที่มีการรัฐประหารมากที่สุดในโลก เคียงคู่กับหลายประเทศในทวีปแอฟริกา นอกจากนี้ ปัจจุบันไทยยังคงเป็น 1 ในเพียง 12 ประเทศของโลกที่ยังคงมีรัฐบาลจากการรัฐประหารที่ปกครองประเทศอยู่
ผู้นำรัฐประหารของไทยส่วนใหญ่ มักมาจากผู้มีอำนาจในเหล่าทัพ แม้บางคนจะเคยให้คำมั่นสัญญากันไว้ว่าจะไม่ทำรัฐประหารหรอก แต่สุดท้ายก็ไม่ได้เป็นไปอย่างที่พูดไว้ โดยหลังรัฐประหาร บางคนก็มาเป็นนายกฯเอง แต่หลายคนก็เลือกถอยไปอยู่หลังฉาก ใช้อำนาจอยู่เบื้องหลัง
วิธีการรัฐประหารแต่ละครั้ง ก็มีมากมายหลากหลาย ทั้งออกกฎหมายไม่ให้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร, ประกาศผ่านวิทยุว่ายึดอำนาจตัวเองแล้ว, กดดันจี้ให้นายกคนปัจจุบันลาออก ฯลฯ แต่สุดท้ายก็มักใช้วิธีเดิมๆ คือการใช้กำลังทหาร และเคลื่อนรถถังออกมา
อยู่กับเรามานานขนาดนี้ ความเชื่อที่ว่าการเข้ายึดอำนาจของกองทัพจะเป็นทางออกของปัญหา ก็ยังไม่ตายไปจากสังคมไทย และยังไม่รู้ว่าจะอยู่กับเราไปอีกนานแค่ไหน
อ้างอิงจาก
http://wiki.kpi.ac.th/index.php…
Illustrations by. Namsai Supavong