ผู้ป่วย COVID-19 ในประเทศเรา มีอัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้เท่าไหร่กันนะ?
กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ตอบข้อสงสัยนี้ โดยการเผยผลการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยและเสียชีวิตจากโรค COVID-19 ของไทย ตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค. ถึง 4 เม.ย. ซึ่งมีจุดที่น่าสนใจดังนี้
ผู้ชายมีอัตราการเสียชีวิตจากโรค COVID-19 มากกว่าผู้หญิง โดยผู้ชายมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคของผู้ชายอยู่ที่ 1.6% ในขณะที่ผู้หญิงมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคอยู่ที่ 0.2% ส่วนอัตรากายเสียชีวิตจากโรคของผู้ป่วยโดยรวมอยู่ที่ 0.97%
ผู้สูงอายุมีอัตราการเสียชีวิตจากโรค COVID-19 มากกว่าวัยอื่นๆ โดย กลุ่มอายุ 80 – 89 ปี มีอัตราการเสียชีวิตจากอาการป่วย 16.7% และกลุ่มอายุ 70 – 79 ปี มีอัตราการเสียชีวิตจากอาการป่วย 10.5% ส่วนคนที่อยู่ในกลุ่มอายุ 0 – 29 ปี อัตราการเสียชีวิตจากอาการป่วยเป็น 0%
นอกจากนี้ในกลุ่มผู้เสียชีวิต ยังมีคนที่เป็นโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน (50%) ความดันโลหิตสูง (35%) โรคไตเรื้อรัง (15%) ไขมันในเลือดผิดปกติ (15%) และอื่นๆ เช่น โรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง วัณโรค มะเร็ง
สรุป คือ ผู้ที่เสียชีวิตจากโรค COVID-19 ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ส่วนใหญ่มีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป และส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว ได้แก่ เบาหวาน และความดันโลหิตสูง
ถ้าถามว่าเป็นแค่ประเทศเรารึเปล่าที่ผู้ชายป่วยตายจาก COVID-19 มากกว่าผู้หญิง? คำตอบก็คือไม่ เพราะข้อมูลของหลายประเทศเผยว่า ผู้ป่วยชายเสียชีวิตมากกว่าผู้ป่วยหญิง
Sarah Hawkes ผู้อำนวยการศูนย์ UCL Centre for Gender and Global Health ในสหราชอาณาจักร เผยว่า ทุกประเทศที่เผยข้อมูลแบบแบ่งเพศ แสดงให้เห็นว่าผู้ชายมีแนวโอกาสเสียชีวิตจากไวรัสมากกว่า ตั้งแต่ 10% ไปจนมากกว่า 2 เท่าของปกติ
ด้านนักวิจัยเองก็เห็นว่ามีหลายปัจจัยที่ทำให้ผู้ชายมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคมากกว่าผู้หญิง เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับโคโรนาไวรัสประเภทอื่นๆ เช่น SARS หรือ MERS แสดงให้เห็นว่าพวกมันส่งผลกระทบต่อผู้ชายแบบไม่ได้สัดส่วน
ไลฟ์สไตล์ของผู้ชายเองก็มีส่วนเช่นก้น มีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่า ผู้ชายมักไม่ค่อยรับความช่วยเหลือด้านการแพทย์ เมื่อมีอาการป่วย หรือ มักไม่ทำตามคำแนะนำของสาธารณสุข หรือ มักไม่ค่อยล้างมือหรือใช้สบู่ นอกจากนี้พวกเขายังมีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ดื่มเหล้า หรือสูบบุหรี่ ซึ่งทำให้เสี่ยงเป็นโรคปอดหรือโรคหลอดหัวใจสูง
ผู้สูงอายุทั่วโลกก็มีอัตราการเสียชีวิตจากโรค COVID-19 สูงเช่นกัน โดยปัจจัยที่ทำให้พวกเขามีอัตราการเสียชีวิตสูงก็มีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่เสื่อมลงตามอายุและทำให้พวกเขาอ่อนแอต่อโรค, ผู้สูงอายุมีความชุกของโรคร้ายแรงมากกว่าคนกลุ่มอื่น ทำให้พวกเขาเสียชีวิตจากโรค COVID-19 มากกว่าคนกลุ่มอื่นได้เช่นกัน รวมไปถึงเรื่องปัจจัยทางสังคม เช่น คนชราที่ต้องใช้ชีวิตอยู่คนเดียว อาจรู้สึกเหงา ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพกายและสภาพใจ เป็นต้น
อย่างไรก็ตามเด็กก็อาจจะเสียชีวิตจากโรค COVID-19 ได้เหมือนกัน อย่างใน สหรัฐฯ ก็มีการรายงานเคสที่เด็ก 3 คนต้องสงสัยว่าเป็นโรค COVID-19 เสียชีวิต แต่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของสหรัฐฯ ยังไม่ได้ยืนยันว่าพวกเขาเสียชีวิตจากโรค COVID-19 หรือไม่ ยังคงต้องมีการตรวจสอบต่อไป
Illustration by Waragorn Keeranan
อ้างอิง