ตลอดมิถุนายน เรียกได้ว่าเป็นเดือนที่สถานการณ์ COVID-19 ในไทยยังคงหนักหน่วง และไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น จากจำนวนยอดผู้ติดเชื้อที่มากกว่า 2 พันรายในทุกๆ วัน และยังมีวันที่ทะลุไปถึง 5 พันราย เลยด้วย
แต่ขณะที่สถานการณ์ย่ำแย่ลง เตียงเริ่มหายาก มีข่าวผู้เสียชีวิตระหว่างรอเตียงกลับมาอีกครั้ง นโยบาย และมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลกลับเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ทำงานไม่ตรงกัน และดูเหมือนจะสร้างความสับสนให้กับประชาชน มากกว่าการแก้ไขปัญหา
ในวันสุดท้ายของเดือนมิถุนายนนี้ The MATTER ขอรวบรวมยอดผู้ติดเชื้อเฉพาะในเดือนนี้ว่า สะท้อนสถานการณ์อย่างไร และทั้งเดือนนี้ รัฐมีมาตรการ คำสั่ง หรือท่าทีต่อประเด็นการแก้ปัญหา COVID-19 อย่างไรบ้าง ?
ตัวเลขผู้ติดเชื้อเฉพาะในเดือนมิถุนายน
เดือนมิถุนายนเป็นเดือนที่ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นมากที่สุดในไทย ตั้งแต่มีการระบาดของ COVID-19 โดยเดือนนี้ พบผู้ติดเชื้อใหม่มากถึง 99,509 ราย โดยเฉลี่ยตกอยู่ที่วันละ 3,317 ราย ซึ่งเมื่อเทียบกับยอดผู้ติดเชื้อสะสมในเดือนพฤษภาคมแล้ว พบว่าเดือนนี้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นถึง 38.38 % หรือเป็นจำนวนมากกว่า 1 ใน 3 ของผู้ติดเชื้อทั้งหมดตั้งแต่พบการระบาด
ขณะที่ยอดผู้รักษาหายเพิ่มนั้นอยู่ที่ 99,134 ราย ซึ่งในช่วงครึ่งเดือนแรกเป็นช่วงที่ยอดผู้รักษาหายสูงกว่าผู้ติดเชื้อใหม่ในบางวัน แต่ตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายนจนถึงวันนี้ ยอดผู้ติดเชื้อนั้นมีจำนวนมากกว่ายอดผู้รักษาหายในทุกๆ วัน จนเริ่มมีปัญหาของเตียงที่เต็มมากขึ้น ทั้งในเดือนนี้ยังพบว่ามียอดผู้อาการหนักที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคมถึง 678 ราย
ด้านการฉีดวัคซีน จากการมีวันดีเดย์ฉีดวัคซีนทั่วประเทศ เดือนนี้เราสามารถฉีดวัคซีนได้เพิ่ม 6,062,824 โดส หรือขึ้นมา 8.71 % เมื่อเทียบกับจำนวนประชากร แต่ถึงอย่างนั้นหากเดือนต่อๆ ไปคงสปีดเดือนละ 6 ล้านโดสเหมือนเดือนมิถุนายน ปลายปีเราจะฉีดวัคซีนทั่วประเทศได้เพียงประมาณ 51 ล้านโดสเท่านั้น ซึ่งไม่เป็นไปตามเป้าฉีดให้ได้ 100 ล้านโดสภายในปลายปี อย่างที่รัฐบาลตั้งไว้
มาตรการ–คำสั่ง-ท่าทีจากรัฐบาลต่อประเด็น COVID-19 ในเดือนมิถุนายน
- ดีเดย์ฉีดวัคซีนทั่วประเทศ
สำหรับมาตรการ คำสั่ง และนโยบายของรัฐบาลในเดือนนี้ ก็เริ่มต้นด้วยการลุ้นว่า วัคซีนหลักของไทยอย่าง AstraZeneca จะผลิต และส่งมอบล็อตแรก ทันวันดีเดย์วันฉีดวัคซีน วันที่ 7 มิถุนายนทั่วประเทศหรือไม่ ซึ่งล็อตแรกนั้นก็มาถึงอย่างเฉียดฉิว แต่ไม่ถึง 1 สัปดาห์ โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งก็เริ่มประกาศเลื่อนฉีดวัคซีน เพราะไม่ได้รับการจัดสรรควัคซีนที่เพียงพอ พร้อมๆ กับข่าว AstraZeneca ที่ขอเลื่อนส่งในล็อตที่ 2 ล่าช้า
- กทม. VS กระทรวงสาธารณะสุข และเหตุการณ์เลื่อนฉีดวัคซีนหมอพร้อม-ไทยร่วมใจ
ไม่เพียงโรงพยาบาลเอกชน และระบบหมอพร้อมเท่านั้น ที่ประกาศเลื่อน แต่ต่อมาระบบการลงทะเบียนฉีดวัคซีนไทยร่วมใจ ของ กทม.ก็ประกาศเลื่อนการฉีดในวันที่ 14-20 มิถุนายนอีกเช่นกัน ซึ่งในตอนแรกทางกระทรวงสาธารณสุข ผู้ทำการจัดสรรวัคซีนก็ประกาศว่าตนจัดสรรวัคซีนให้ กทม.และแต่ละจังหวัด ตามที่ ศบค.กำหนดแล้ว ในขณะที่ กทม.ก็ประกาศจำนวนวัคซีนที่ตนได้รับมา ว่ายังไม่ถึงที่ต้องได้ทั้งหมด ทำให้มีการมองว่า เกิดความขัดแย้ง และการไม่สื่อสารกันระหว่างองค์กร โดยภายหลังทั้ง กทม. สธ.และ ศบค. ก็ได้มาแถลงแผนฉีดวัคซีนร่วมกัน และยืนยันว่าไม่ได้ทะเลาะกันด้วย
- ประกาศเปิดประเทศใน 120 วัน
สถานการณ์การระบาดที่ไม่ดีขึ้น ก็ถึงคราวของผู้นำประเทศ อย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ออกแถลงกับประชาชนผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ซึ่งการแถลงครั้งนั้น นายกฯ พูดว่าที่ผ่านมา มีการทำงานกันอย่างดี และแผนสำคัญที่จะประกาศวันนี้ คือจะเตรียมเปิดประเทศใน 120 วัน นับจากวันนี้ (16 มิถุนายน 64) แต่ภายหลังก็เกิดความสับสนอีกว่า 120 วันนั้นเริ่มจากวันไหน เพราะมีรัฐมนตรีที่บอกว่าเริ่ม 1 ก.ค. และโฆษกนายกฯ ที่บอกว่าเป็นเพียงแค่ให้ทุกจังหวัดเตรียมตัว ไม่ใช่เคาท์ดาวน์ด้วย
- รัฐบาลเตรียมสั่ง Sinovac เพิ่ม 28 ล้านโดส ท่ามกลางคำถามถึงประสิทธิภาพ
ขณะที่สถานการณ์การระบาดนั้นรุนแรงขึ้น มาข่าวสายพันธุ์ใหม่ๆ ในไทยมากขึ้น ทั้งเบตา และเดลต้า ที่มีงานวิจัยว่าทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง และตัวเชื้อมีการดื้อวัคซีน แต่ในไทยก็ยังคงให้ความเชื่อมั่นกับวัคซีนจีนอย่าง Sinovac โดยนอกจากแผนเดิมที่จะสั่งเกือบ 20 ล้านโดสแล้ว ยังประกาศแผนจะสั่งเพิ่มอีก 28 ล้านโดสด้วย ท่ามกลางคำถามของประชาชนถึงเหตุผลในการเลือกวัคซีนตัวนี้ จนเกิดแฮชแท็ก #หยุดซื้อSinovac ขึ้นมาด้วย
- รมว.สาธารณสุขบอกว่าไม่มีเรื่องเตียงเต็ม แม้ว่าหลายโรงพยาบาลประกาศปิดรับผู้ป่วย และมีข่าวผู้เสียชีวิตระหว่างรอเตียงเพิ่ม
สถานการณ์ผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 2-5 พันรายตลอดทั้งเดือน โดยในช่วงครึ่งเดือนหลัง ยอดผู้ติดเชื้อเริ่มมากกว่าจำนวนผู้รักษาหาย ดังนั้นจึงเริ่มเห็นข่าวที่มีผู้ป่วยรอเตียงนานขึ้นเรื่อยๆ และบางรายเสียชีวิตขณะรอเตียง รวมไปถึงโรงพยาบาลหลายแห่งก็เริ่มประกาศถึงการปิดรับการตรวจเชื้อ COVID-19 และประกาศว่าเตียงเต็มด้วย แต่ถึงอย่างนั้น รมต.สาธารณสุข อนุทิน ชาญวีรกุล ก็ให้สัมภาษณ์ว่า ตนไม่ได้รับรายงานเรื่อง ‘เตียงไม่พอ’ และยืนยันว่าระบบสาธารณสุขไม่ล่มสลายด้วย ซึ่งดูสวนทางกับข่าว และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายโรงพยาบาล
- ประกาศราชกิจจาพื้นที่ควบคุมสูงสุดตอนเที่ยงคืน ปิดแคมป์คนงาน และปิดร้านอาหารเหลือแค่ซื้อกลับบ้าน
หลังจากที่มีข่าวจะล็อกดาวน์ขึ้น ในวันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน 64 นายกฯ ได้แถลงว่า จะยังไม่มีการล็อกดาวน์ ยังสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ แต่จะมีการปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง และกักตัวแรงงาน ซึ่งหลายแห่งกลายเป็นคลัสเตอร์ และจุดกระจายการระบาด แต่ถึงอย่างนั้นการประกาศของรัฐบาลเกิดขึ้นในวันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน 64 แต่จะมีผลบังคับใช้ในวันจันทร์ทื่ 28 มิถุนายน 64 ทำให้คนงานของหลายแคมป์เดินทางกลับต่างจังหวัดหลังมีคำสั่งปิดด้วย
แต่ไม่ใช่แค่เท่านั้น เมื่อมีการประกาศราชกิจจานุเบกษาออกมาในช่วงประมาณเที่ยงคืน ของวันที่ 27 มิถุนายน 64 ถึงมาตรการพื้นที่ควบคุมสูงสุดใน 10 จังหวัด อย่าง กทม. ปริมณฑล และ 4 จังหวัดในภาคใต้ เป็นแบบกึ่งล็อกดาวน์ ปิดแคมป์คนงาน รวมถึงปิดไม่ให้นั่งกินในร้านอาหาร ให้เหลือแต่การส่งเดลิเวอรี่ หรือสั่งกลับเท่านั้น ซึ่งเป็นการประกาศล่วงหน้าก่อนบังคับใช้เพียง 1 วันเท่านั้น จนร้านอาหารออกมาวิพากษ์วิจารณ์มาตรการนี้ ซึ่งกระทบต่อการเตรียมตัว ไปถึงการดำเนินธุรกิจของร้านด้วย โดยบางร้านเองไม่สามารถรองรับการส่งเดลิเวอรี่ได้
- แถลงข่าวด้วยการชูสองนิ้ว หัวเราะ และพูดน๊ะจ๊ะ ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 จะพุ่งสูงขึ้น
ท่ามกลางสถานการ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดในเดือนนี้ นายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ออกมาแถลงข่าว ในวันที่ 25 มิถุนายน 64 แต่ท่าที และถ้อยคำของนายกฯ นั้น ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก เพราะมีการชูนิ้ว มีการเลือกใช้คำพูดเช่น ‘ไม่ล็อกดาวน์นะจ๊ะ’ รวมถึงหัวเราะระหว่างการแถลงที่เกี่ยวกับสถานการณ์ จนมีการพูดถึงภาวะผู้นำในช่วงเวลาวิกฤต แต่หลังจากนั้น ในวันที่ 28 มิถุนายน 64 ในการแถลงข่าวอีกครั้ง นายกฯ ก็ยังคงเลือกใช้คำพูดอย่างน๊ะจ๊ะ ที่ไม่ได้แสดงถึงท่าทีจริงจัง ในระหว่างการแถลงเรื่อง COVID-19 อีกครั้งนึงด้วย
เดือนมิถุนายน เรียกได้ว่ามีเหตุการณ์ทั้งเรื่องของวัคซีน ผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิต และมาตรการของรัฐที่สับสนเกิดขึ้นตลอด จนสถานการณ์การเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อในไทย ติดอันดับต้นๆ ของโลก ทั้งยังมีแนวโน้มว่า สายพันธุ์เดลต้า ซึ่งระบาดได้ง่ายขึ้น และดื้อต่อวัคซีนมากขึ้น จะกลายเป็นสายพันธุ์หลักของไทยใน 2-3 เดือนข้างนี้ด้วย ดังนั้น ในเดือนกรกฎาคมนี้ เราคงต้องติดตามว่า สถานการณ์การระบาดในประเทศจะเป็นอย่างไร ประชาชนจะยังไหวกันไหม และรัฐบาลจะเยียวยา และแก้ปัญหาได้มากน้อยแค่ไหน